ภาพ: ฉากและป้ายอธิบายแนวคิดเบื้องหลังการจัดแสดงที่เปลี่ยนแปลงไป
สถานที่: American Museum of Natural History, New York City, USA
ด้วยความที่ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ที่ไหนชอบก็อยากกลับไปซ้ำๆ เพื่อดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ตอนที่ฉันไปนิวยอร์กเมื่อปี 2019 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History: AMNH) ก็เป็นพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่ปักหมุดในใจว่าต้องกลับไปเยี่ยมเยือนให้ได้
เหตุผลที่ฉันชอบ AMNH มาก ไม่ใช่เพราะความใหญ่โตและเก่าแก่ (ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1869 หรือตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 และมีของจัดแสดงมากกว่า 32 ล้านชิ้น!) ของพิพิธภัณฑ์ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ” ชั้นแนวหน้าของโลก แต่เพราะไม่เคยลืมความรู้สึกครั้งแรกตอนเยือนพิพิธภัณฑ์นี้ ความหยุดหายใจชั่วขณะเมื่อได้มาประจันหน้ากับวาฬน้ำเงินยักษ์ที่ถูกแขวนละล่องกลางอากาศ และเพลิดเพลินกับกระดูกไดโนเสาร์น้อยใหญ่ที่จัดวางท่าทางราวกับว่ามันมีชีวิต ยังไม่นับสัตว์แปลกๆ จากทั่วทุกมุมโลก นิทรรศการมากมายที่พิพิธภัณฑ์ช่างขยันปรับปรุงด้วยข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างหอแสดงพื้นเพของมนุษย์ ซึ่งช่วยเติมเต็มความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สายพันธ์ Homo Sapiens ของเราในปัจจุบันนั้นแตกต่างและคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อื่นๆ และบรรพบุรุษของมนุษย์ตรงไหนกันแน่
แต่รอบนี้ได้เจอบางสิ่งบางอย่างที่แปลกใหม่ไม่เคยเจอ และทำให้รู้สึกตื่นเต้นยิ่งกว่าตอนเดินเที่ยวนิทรรศการใหม่ ตื่นเต้นยิ่งกว่าเจอฟอสซิลแมมม็อธหรือวาฬน้ำเงินตัวนั้น
ชั้นล่างของโถงพิพิธภัณฑ์ จัดวางตู้แสดงฉากหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริง (diorama) สะท้อนการพบปะเจรจาทางการทูตในจินตนาการ แต่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ระหว่างปีเตอร์ สตุยเวซานท์ (Peter Stuyvesant) ผู้ว่าการอาณานิคมชาวดัทช์ที่มาตั้งรกรากในทวีปอเมริกาเหนือ กับ ลานาเป ชนเผ่าพื้นเมืองผู้อาศัยอยู่ในบริเวณที่ชาวดัทช์เรียกว่า นิว อัมสเตอร์ดัม ซึ่งต่อมาคือมหานครนิวยอร์ก
ดูเผินๆ ไม่มีอะไร ออกจะน่าเบื่อด้วยซ้ำ แต่ตัวอักษรใหญ่เบิ้มบนกระจก “Reconsidering this scene” ก็กระตุกความสนใจให้เดินเข้าไปดูใกล้ๆ
ฉากนี้มีอะไรต้อง “คิดใหม่” เหรอ คิดใหม่ยังไง ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแล้วย่อมเกิดขึ้นเลย ใครๆ ก็รู้ว่าชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองในอเมริกาพบปะกับชาวยุโรปที่รอนแรมข้ามมหาสมุทรมาจริงๆ แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็ถูกกดขี่บีฑาอย่างเหี้ยมโหด
เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ถึงได้อ่านข้อความใต้คำว่า “Reconsidering this scene”
“การพบปะระหว่างผู้นำชาวดัทช์กับผู้นำเผ่าลานาเปในปี ค.ศ. 1660 ฉากนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชาวดัทช์ผู้ก่อตั้ง “นิวยอร์กเก่า” แต่ฉากนี้กลับแสดงเพียงแบบฉบับที่เหมารวม ละเลยที่จะแสดงว่าการล่าอาณานิคมนั้นซับซ้อนและโหดร้ายกับชนพื้นเมืองเพียงใด”
ป้ายด้านล่างฉากอธิบายเจตนาของพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมว่า
“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันและนิวยอร์กทั้งเมืองตั้งอยู่บนดินแดนที่เคยเป็นของเผ่า ลานาเป ในความพยายามที่จะยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากลัทธิล่าอาณานิคม รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีที่เราแสดงชนเผ่าและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายในพิพิธภัณฑ์นี้ เราจึงได้เริ่มโครงการชุดหนึ่งในนิทรรศการวัฒนธรรมของเรา โครงการเหล่านี้ซึ่งรวมถึงการกลับมาทบทวนฉากหุ่นขี้ผึ้งข้างต้น จะเพิ่มเสียงและมุมมองที่หลากหลายให้กับสิ่งที่แสดงในพิพิธภัณฑ์”
ถ้าไม่อ่านข้อความบนตู้เลย แน่นอนว่าเราย่อมคิดไปเองว่าฉากนี้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์แล้ว กองเรือของชาวดัทช์แล่นอยู่ตรงขอบฟ้า ชายเผ่าลานาเปนุ่งผ้าเตี่ยวคาดเอว ประดับประดาศีรษะด้วยขนนก เดินถือต้นยาสูบและแถบลูกปัด วัมปัม ร้อยจากเปลือกหอยมามอบให้ เรามองเห็นผู้หญิงของเผ่าอยู่ไกลๆ ทางด้านหลัง ทุกคนเปลือยอกถึงเอว สวมกระโปรงพลิ้วยาวคลุมเข่า เดินก้มหัวอย่างสงบเสงี่ยมราวกับจะรู้หน้าที่ “ช้างเท้าหลัง” ของพวกเธอ
ชาวดัทช์สองคนยืนอยู่หน้ากังหันลม ทหารดัทช์แบกปืนยาวบนบ่าหน้าเคร่งขรึม ปีเตอร์ สตุยเวซานท์ ผู้นำอาณานิคม ยื่นมือออกมาเหมือนกำลัง “ลดตัว” ลงมารอรับ “เครื่องบรรณาการ” จากชาวลานาเปที่ดู “ป่าเถื่อน” กว่าพวกเขา
ทว่าวันนี้มีป้ายบนกระจกใสราวสิบป้าย เชื้อเชิญให้เรามองฉากนี้ในมุมใหม่ ด้วยการให้ข้อมูลใหม่ที่ไม่อยู่หรือไม่ตรงกับหุ่นขี้ผึ้งในตู้
ป้ายหนึ่งบอกเราว่า ถ้าหากว่าฉากนี้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์จริงๆ ผู้นำชาวลานาเปจะไม่ได้เดินนุ่งผ้าเตี่ยวมาแบบนี้ แต่จะแต่งตัวเต็มยศ สวมเสื้อคลุมและเครื่องประดับจัดเต็มให้สมกับที่เป็นวันสำคัญ ดูแล้วรู้แน่นอนว่าเขาคือผู้นำ อีกป้ายบอกว่าเรือที่เห็นอยู่ในอ่าวน่ะจะไม่ได้มีแต่เรือของชาวยุโรปนะ แต่เราจะเห็นเรือแคนูของชาวลานาเปลอยลำอยู่ใกล้ๆ ด้วย เพราะแคนูเหล่านี้ขาดไม่ได้เลยในการค้าขายระหว่างอาณานิคมดัทช์กับชนพื้นเมือง ทำให้เข้าถึงทรัพยากรที่อยู่ลึกเข้าไปในป่า ซึ่งเรือใหญ่ของดัทช์แล่นเข้าไปไม่ได้
อีกป้ายอธิบายว่า ผู้หญิงเผ่านี้ไม่ได้ใส่กระโปรงรุ่มร่ามอย่างนี้หรอกนะ อีกป้ายตั้งคำถามว่า “มีใครบ้างที่หายไป” ในฉากการเจรจา ชี้ว่าผู้หญิงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมเจรจาด้วย เพราะผู้หญิงในสังคมลานาเปมักจะมีบทบาทเป็นผู้นำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนป้ายที่แปะตรงชายชาวลานาเปนิรนามบอกว่า ผู้นำคนนี้น่าจะเป็น โอราตามิน ผู้นำและนักการทูต เขามาจากสายมันซีของเผ่าลานาเป
ถ้าไม่มีป้ายเหล่านี้ เราในฐานะคนดูก็คงไม่รู้ว่าฉากนี้เต็มไปด้วยความไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ และแสดงชนพื้นเมืองด้วยทัศนคติเหยียดและเหมารวม (stereotypes) ขนาดไหน
แต่สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่สุดไม่ใช่ป้าย หากเป็น “การตัดสินใจ” ของพิพิธภัณฑ์ที่จะตีแผ่แนวคิดการจัดแสดงของตัวเอง แนวคิดที่ครั้งหนึ่งสังคมเคยมองว่า “ปกติ” แต่วันนี้ถูกมองว่า “ไม่ถูกต้อง” และไม่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ซ้ำเติมการเหมารวมชาวอินเดียนแดง
พิพิธภัณฑ์สามารถจัดการปัญหาของฉากนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการเอาผ้ามาคลุมฉากนี้ ยกมันออกไปเลย หรือสั่งทำฉากนี้ใหม่ แต่พิพิธภัณฑ์กลับเลือกวิธีที่ฉันคิดว่า ทั้ง “โปร่งใส” และ “กล้าหาญ” นั่นคือการเผชิญหน้าและอธิบายอดีตของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้นักท่องพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งความเข้าใจในประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของแนวคิด ความรู้เรื่องวัฒนธรรม และอิทธิพลของพิพิธภัณฑ์ในฐานะ “ผู้คัดสรร” ว่าจะให้ผู้มาเยือนได้เห็นอะไร ไม่เห็นอะไร ในการจัดแสดงของแต่ละชิ้น
ข้อความไม่กี่ประโยคบนป้ายไม่กี่ป้าย จึงสามารถสร้างความหมายใหม่ให้กับของจัดแสดงเก่า และความประทับใจไม่รู้ลืมแก่นักท่องพิพิธภัณฑ์
สฤณี อาชวานันทกุล