Museum Core
จักรพรรดิเคลาดิอุส กอธิคุส ผู้สั่งประหารนักบุญวาเลนไทน์
Museum Core
08 ก.พ. 64 8K
.

ผู้เขียน : พีริยา จำนงประสาทพร

          ในปี ค.ศ. 268 (ตรงกับ พ.ศ. 811 ซึ่งเท่ากับช่วง 969 ปีก่อนการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย) อาณาจักรโรมันตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แผ่นดินกว้างใหญ่ที่ครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่สเปนไปจรดซีเรียกำลังถูกคุกคามจากรอบด้าน โรมันมีนายพลผู้เก่งกล้าก้าวขึ้นมานำกองทัพมากมาย ส่งผลให้เกิดจลาจลแย่งชิงอำนาจกันอยู่บ่อยครั้ง

            เย็นวันหนึ่งในฤดูร้อนเดือนกันยายน จักรพรรดิกาลลิเอนุส (Gallienus) เสวยพระกระยาหารค่ำอยู่ในที่ประทับในค่ายทหาร พวกชนเผ่าเยอรมานิกกำลังล่องเรือผ่านเอเชียไมเนอร์เข้ามาที่กรีซ หมายโจมตีอาณาเขตของโรมัน ทันใดนั้น ก็มีคนเข้ามากราบทูลพระองค์ว่ามีกองทหารม้าทรยศที่เมืองมิลานและกำลังยกทัพมาทางนี้

            กาลลิเอนุสรีบเสด็จออกไปทันที แต่ยังไม่ทันได้เข้าเมืองมิลาน พระองค์ก็ถูกแทงสวรรคต...โดยฝีมือของคนในกองทัพของพระองค์เอง!

            ที่จริงในเวลานั้น ไม่มีนายพลใกล้ชิดคนใดอยากทนรับใช้พระองค์อีกต่อไป หลายปีที่ผ่านมา กาลลิเอนุสมักล้มเหลวด้านการรบ โรมันเสียการปกครองดินแดนสเปน อังกฤษ เยอรมาเนีย และอื่น ๆ ให้แก่เปอร์เซียไปอย่างน่าขายหน้า นอกจากนี้ นายพลในพื้นที่ห่างไกลบางคนก็ถึงกับตั้งตนเป็นจักรพรรดิ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบัลลังก์ของกาลลิเอนุสนั้นพังทลายลงก่อนพระชนม์ชีพจะดับสูญจริง ๆ กลุ่มผู้ก่อการส่งข่าวการสวรรคตไปยังเมืองหลวง และสภากรุงโรมก็ตอบรับ ด้วยการสั่งฆ่าสมาชิกราชวงศ์และผู้สนับสนุนของกาลลิเอนุสทิ้ง

            ผู้ที่ได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิคนใหม่ คือ นายพลเคลาดิอุส หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการ ชายวัย 53 ได้รับการเฉลิมพระนามเป็น จักรพรรดิเคลาดิอุสที่ 2 (Cladius II)

 

 ภาพที่ 1 เหรียญทองคำแกะสลักภาพจักรพรรดิเคลาดิอุส

ที่มาภาพ: Museum of Fine Arts Boston. (n.d.). Medallion (8 aurei) with bust of Claudius II Gothicus.

Retrieved January 25, 2021, from https://collections.mfa.org/objects/199

 

            เคลาดิอุสเดิมเป็นคนเถื่อนจากบัลแกเรีย เข้ามารับราชการในกองทัพโรมัน เขาค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาด้วยผลงานการรบอันกล้าหาญและชาญฉลาด จนได้รับตำแหน่งระดับสูงทั้งที่ไม่มีเชื้อสายผู้ลากมากดี เคลาดิอุสยังเคยเป็นแชมป์มวยปล้ำ ซึ่งในสมัยนั้นแข่งขันเพื่อบูชาเทพแห่งสงคราม เขามีชื่อเสียงด้านพละกำลัง ความทรหดอดทน รวมถึงความดุร้ายต่อศัตรู เล่ากันว่าเคลาดิอุสสามารถใช้มือเปล่าชกม้าจนฟันหลุดกระเด็น นับเป็นโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ สำหรับอาชีพจักรพรรดิโรมัน

            แต่กระนั้น สิ่งแรกที่จักรพรรดิเคลาดิอุสทรงทำ กลับเป็นการออกพระราชโองการยกเลิกคำสั่งของสภา ห้ามมิให้ฆ่าล้างสมาชิกราชวงศ์และผู้สนับสนุนของกาลลิเอนุส รวมถึงให้ยกฐานะกาลลิเอนุสขึ้นเป็นเทพ ด้วยเหตุผลว่าควรให้เกียรติและรักษาความทรงจำเกี่ยวกับผู้ที่ผ่านบัลลังก์มาก่อน เผยให้เห็นหลักการและความใจกว้างของพระองค์มาถ่วงน้ำหนักกับภาพลักษณ์โหดเถื่อนได้อย่างน่าประหลาดใจ

            หลังจากนั้นจักรพรรดิหมาด ๆ พระองค์นี้ก็ทรงเดินหน้าต่อสู้กับข้าศึกของโรมันอย่างรวดเร็ว ไม่แม้แต่จะมีพระราชดำริเสด็จไปเยือนเมืองหลวงสักครั้ง เรื่องด่วนที่สุด คือ การล้อมฆ่าผู้บัญชาการกองทหารม้าในมิลานที่ทรยศต่อโรมัน ตามด้วยการขับไล่ชนเผ่ากอธ (Goths) ซึ่งเป็นชาวเยอรมานิกที่มายึดครองจังหวัดอิลลิริคุม (Illyricum) และพันโนเนีย (Pannonia) หรือปัจจุบันคือพื้นที่ในประเทศสโลวีเนีย เซอร์เบีย อัลเมเนีย มอนเตเนโกร บอสเนีย และโครเอเชีย

 

ภาพที่ 2 แผนที่โรมันในรัชสมัยของจักพรรดิเคลาดิอุส

ที่มาภาพ: Blank map of South Europe and North Africa.svg: historicair 23:27, 8 August 2007 (UTC) –

Blank map of South Europe and North Africa.svgRomanworld271AD.jpg, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6044672

 

          เคลาดิอุสทรงเผชิญหน้ากับพวกกอธที่เมืองไนซัส (Nysos) ปัจจุบันคือเมืองนีช (Niš)  ในประเทศเซอร์เบีย และสู้กันอย่างหนักหน่วงยาวนานจนเสียไพร่พลไปมากทั้งสองฝ่าย ในที่สุด พวกโรมันจึงวางแผนทำทีเป็นถอยหนี เพื่อล่อให้พวกกอธฮึกเหิมไล่ตามมาสู่บริเวณที่เตรียมไว้แล้วซุ่มโจมตี สมรภูมิครั้งนี้ส่งผลให้มีชาวกอธเสียชีวิตหรือถูกจับเป็นทาสรวมกว่า 50,000 คน

            ด้วยเหตุนี้ เคลาดิอุสจึงทรงได้รับพระสมัญญานามว่า กอธิคุส (Gothicus) “ผู้พิชิตชนเผ่ากอธ” ซึ่งจะเป็นชื่อที่ชาวโรมันเรียกพระองค์จนติดปากไปตลอด แม้ว่าต่อจากนี้ พระองค์จะทรงมีชัยชนะเหนือข้าศึกอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าอลามันน์ (Alamanni) ซึ่งเป็นชาวเยอรมานิกที่บุกข้ามเทือกเขาแอลป์เข้ามา หรือว่าชาวอาณาจักรกอล ซึ่งก่อตั้งโดยนายพลโรมันที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิและแยกแผ่นดินออกไปโดยพลการ จนกระทั่งอาณาจักรโรมันได้คาบสมุทรฮิสเปเนีย (Hispania) (ปัจจุบันคือพื้นที่ในประเทศโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส อันดอร์รา และยิปรอลตาร์) กลับคืนมาอยู่ใต้การปกครองอีกครั้งก็ตาม

 

ภาพที่ 3 ภาพแกะสลักทหารโรมันต่อสู้กับชาวกอธ

ที่มาภาพ: Relief panel of the Great Ludovisi sarcophagus By Unknown artist - Jastrow (2006), Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1350228

 

         แต่ท่ามกลางวีรกรรมทั้งหลายของเคลาดิดุส กอธิคุส ที่พระองค์ทรงโลดแล่นเป็นตัวเอกอย่างยิ่งใหญ่เหล่านี้ ดูเหมือนว่าโลกจะเล่นตลก และไปเลือกหยิบเฉพาะเรื่องเล็กน้อยเรื่องหนึ่ง ที่พระองค์ทรงเป็นตัวร้าย มาเล่าสู่กันฟังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุก ๆ ปี นั่นก็คือ การประหารนักบุญวาเลนไทน์

         นักบุญวาเลนไทน์ หรือ วาเลนตินุส (Valentinus) เป็นบาทหลวงในเมืองแตร์นี (Terni)แคว้นอุมเบรีย (Umbria) ประเทศอิตาลี เป็นแคว้นที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงโรม เนื่องจากวาเลนตินุสเป็นนักบวชศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่อาณาจักรโรมันสมัยนั้นไม่ยอมรับเพราะมองว่าเป็นความงมงายที่อันตรายต่อสังคม รวมถึงเล่ากันว่า วาเลนตินุสช่วยเหลือชาวคริสต์ที่ถูกโรมันกวาดล้าง และช่วยประกอบพิธีแต่งงานให้แก่หนุ่มสาวชาวคริสต์ แม้ว่าจักรพรรดิจะสั่งห้ามเพราะต้องการเกณฑ์คนหนุ่มเป็นทหาร วาเลนตินุสจึงถูกศาลสั่งกักบริเวณอยู่ในบ้าน

 

ภาพที่ 4 ภาพวาดนักบุญวาเลนไทน์

ที่มาภาพ: Hanes, E. (2013, February 14). 6 Surprising Facts About St. Valentine. Retrieved January 25, 2021, from https://www.history.com/news/6-surprising-facts-about-st-valentine

 

            ผู้พิพากษาของศาลขณะนั้นคือ อัสเตริอุส (Asterius) เขาเดินทางมาหาวาเลนตินุส และสอบสวนเรื่องความเชื่อทางศาสนาคริสต์ เขาตัดสินให้วาเลนตินุสพิสูจน์ให้เห็นว่า ปาฏิหาริย์ของพระเจ้ามีจริงหรือไม่ โดยอัสเตริอุสได้นำจูเลีย ลูกสาวบุญธรรมของตน ซึ่งเป็นเด็กตาบอดออกมา หากวาเลนตินุสรักษาเธอได้สำเร็จจึงจะพ้นจากความผิด

            วาเลนตินุสตอบตกลง เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า ก่อนวางมือลงบนเปลือกตาของเด็กหญิง... จะเป็นเพราะปาฏิหาริย์จริง ๆ หรือวิธีการใดก็ไม่อาจทราบได้ ดวงตาทั้งสองข้างของจูเลียหายเป็นปกติ!

            เมื่อเห็นเป็นอัศจรรย์เช่นนี้ อัสเตริอุสกับครอบครัวของเขา รวมถึงบ่าวรับใช้ในบ้าน รวมทั้งหมด 46 คน จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์และนับถือวาเลนตินุส

            แต่แม้จะรอดจากศาลนี้ไป วาเลนตินุสก็ไม่เข็ดกับประสบการณ์โดนจับและยังเผยแพร่ศาสนาต่อ เขาจึงโดนจับอีกครั้ง คราวนี้ถูกส่งตัวไปให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของโรมันที่เรียกว่า พรีเฟ็ค (Prefects) และก็ถูกส่งต่อไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิ

            เคลาดิอุส กอธิคุส นั้นทรงยุ่งอยู่กับการรบเกือบตลอดทั้งพระชนม์ชีพ เรื่องนักบวชนอกรีตเชื่อในปาฏิหาริย์ของพระเจ้า ลอบประกอบพิธีแต่งงาน จูงใจให้คนหนุ่มหนีทัพไปสร้างครอบครัว คงเป็นปัญหาที่แปลกและไร้สาระสำหรับพระองค์อยู่พอสมควร ก็ความรักมันจะมาสำคัญเท่าชัยชนะของอาณาจักรโรมันได้อย่างไร ตัวพระองค์เองยังไม่ทรงมีพระมเหสีและพระโอรสธิดาเลย!

 

            ถึงอย่างนั้น เคลาดิอุส กอธิคุส ก็ไม่ได้ทรงตัดสินพระทัยจะลงโทษวาเลนตินุสในทันที และแรก ๆ ก็ทรงโปรดที่ได้ฟังเขาพูดเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อวาเลนตินุสพยายามโน้มน้าวให้พระองค์หันมานับถือศาสนาคริสต์ พระองค์ก็ไม่พอพระทัยมาก ตรัสปฏิเสธที่จะเปลี่ยนศาสนา และมีพระราชโองการให้วาเลนตินุสเลิกนับถือศาสนาคริสต์ มิฉะนั้นจะถูกประหาร

            แน่นอนว่าวาเลนตินุสปฏิเสธ เขาจึงถูกทุบตีด้วยไม้กระบองและก้อนหิน จากนั้นก็นำไปตัดคอที่หน้าประตูฟลามิเนียน (Flaminian ปัจจุบันคือบริเวณจัตุรัสเปียซซา เดล โปโปโล) ในกรุงโรม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 269

            เสร็จจากเหตุการณ์เล็ก ๆ นี้ไป เคลาดิอุส กอธิคุส ก็ทรงกลับไปสนพระทัยสงครามต่อ รัชสมัยของพระองค์กินระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะทรงติดโรคระบาด (สันนิษฐานว่าคือไข้ทรพิษ) สวรรคต เช่นเดียวกับทหารโรมันที่ล้มตายกันจำนวนมาก แต่ถือว่าทรงเป็นนักรบผู้เจนสนามกว่ากษัตริย์อีกหลายองค์ที่ครองราชย์นานกว่านี้หลายเท่า จึงทรงได้เป็นขวัญใจของนักเขียนโรมันรุ่นหลัง ที่ชอบเขียนแต่งเติมให้พระองค์มีเชื้อสายร่วมกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่นในหนังสือฮิสตอเรีย ออกุสตา (Historia Augusta) สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 4 ที่ระบุว่า ทรงเป็นพระญาติของพระบิดาจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช เพื่อจะได้ทรงมีความชอบธรรมในการล้มล้างอำนาจของกาลลิเอนุสมากขึ้น

            สายธารแห่งประวัติศาสตร์เป็นสิ่งแปลก บางครั้งก็พัดไหลไปในเส้นทางที่ไม่คาดคิด นักบวชคนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือชาวคริสต์ที่รักกัน และยึดมั่นในความเชื่อของเขา ทำให้ต้องถูกประหารและเหยียดหยามหน้าประตูเมือง วันหนึ่งกลับได้เป็นนักบุญที่คนรู้จักไปทั่วโลก ในขณะที่จักรพรรดิผู้ทรงอำนาจสูงสุด ได้รับชัยชนะในสงครามใหญ่และครองใจราษฎร สุดท้ายกลับเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน

            คนฆ่ากลับตาย ส่วนคนตายกลับรอด... ใครเล่าจะรู้ว่า เรื่องราวการกระทำที่ดูเล็กน้อยในวันนี้ จะได้รับการบันทึกอย่างยิ่งใหญ่ในวันหน้าอย่างไร เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน ชัยชนะที่ผู้คนอยากจดจำไว้ชั่วกาลนานอาจไม่ใช่จากความรุนแรงเข่นฆ่า แต่เป็นชัยชนะของความรักความเมตตาก็เป็นได้

 

บรรณานุกรม

Catholic Online, Y. (2021). St. Valentine - Saints & Angels. Retrieved January 25, 2021, from https://www.catholic.org/saints/saint.php?saint_id=159

Hekster, Olivier (2015). Emperors and Ancestors: Roman Rulers and the Constraints of Tradition. Oxford University Press.

Historia Augusta, The Life of Claudius. (2018, April 21). Retrieved January 25, 2021, from http://penelope.uchicago.edu/Thayer/E/Roman/Texts/Historia_Augusta/Claudius*.html

Schedel, Pleydenwurff, Wolgemut. (1493, July 12). The Nuremberg Chronicle. Retrieved January 25, 2021, from https://www.wdl.org/en/item/4108/

Weigel, R. D. (2001, June 19). Claudius II Gothicus (268-270). Retrieved January 25, 2021, from http://www.roman-emperors.org/claudgot.htm

 

พีริยา จำนงประสาทพร 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ