Museum Core
‘กินหมาก’ มีอะไรมากกว่าเรื่องในปาก
Museum Core
12 ม.ค. 64 2K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

            ตอนไหนกันที่รัฐบาลเริ่มมาบงการแม้กระทั่งเรื่องในปากของคนไทย หลายคนคงนึกถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ให้มีการยกเลิกการกินหมาก ซึ่งความวุ่นวายเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาช่องปาก

 

เรื่องของในปาก

            ในระหว่าง พ.ศ. 2482-2486 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามประชาสัมพันธ์การห้ามกินหมาก โดยชี้ให้เห็นทั้งโทษในทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ และโทษในทางภาพลักษณ์ของชาติ ตัวอย่างเช่น ในบทความเรื่อง “เท่า ๆ กับหัวใจก็เห็นจะไม่ไกลนัก”: การแพร่ความรู้เรื่องฟันและทันตกรรมสมัยใหม่ในสังคมกรุงเทพฯ งานของปรีดาภรณ์ เอี่ยมแจ๋ ได้อ้างถึงพระยาอนุมานราชธนว่าได้อธิบายผ่านวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2484 เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

 

             “…ในสมัยก่อน ใคร ๆ ก็กินหมาก ดังนั้น ฟันสวยคือฟันที่มีสีดำหรือดำดั่งนิลเจียระไน ถ้าฟันไม่ดำก็ถือว่าไม่สวย
             ริมฝีปากไม่แดงเพราะไม่กินหมากก็ไม่สวย ปากที่ไม่แดงนั้นดูซีดเหมือนปลาตายลอยน้ำ เมื่อหญิงสาวโตเป็นวัยรุ่น
             ก็ต้องถูกสอนให้กินหมาก แต่ต่อมา ก็เริ่มมีผู้ที่มีฟันสีขาวมากขึ้น ทำให้ผู้ที่มีฟันดำกลายเป็นคนบ้านนอก อีกทั้ง
            คนกินหมากยังทาลิปสติกไม่ได้ พระยาอนุมานราชธนเองก็เคยกินหมากแต่ก็ได้เลิกแล้ว เพราะรู้อยู่เต็มใจว่ามันไม่ดี
            และยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า หมากนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสกปรกทั้งมือ ผ้านุ่ง กำแพง ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า
            ฝาห้อง สนามหญ้า ก็เปื้อนไปด้วยน้ำหมาก ทางหนึ่งที่จะแก้ความสกปรกจึงต้องเลิกกินหมาก ซึ่งนโยบายนี้ก็มี
           ผลให้คนต้องเลิก กินหมากเป็นจำนวนมาก…”

            

            อย่างไรก็ตามการเลิกกินหมากของคนไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม บางกลุ่ม ส่งผลให้คนเหล่านั้นกลับไม่ได้มีสุขภาพช่องปากดีขึ้นเลย นั่นเป็นเพราะว่าคนเหล่านั้นเพียงแต่เลิกกินหมากและทำให้ฟันขาวเพื่อภาพลักษณ์ของชาติ แต่ไม่ได้มีแนวคิดของการเลิกกินหมากเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี จึงทำให้เมื่อเลิกกินหมากแล้วคนเหล่านี้มีกลิ่นปากเพราะไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก ในทางกลับกันคนที่ยังไม่เลิกกินหมากกลับไม่มีกลิ่นปาก ทำให้คนที่ยังคงกินหมากและยังฟันดำอยู่ก็พาลคิดไปว่าคนที่ฟันขาวทุกคนเป็นพวกปากเหม็น เนื่องจากความรับรู้เดิมหมากมีคุณสมบัติที่ช่วยไม่ให้มีกลิ่นปากดังที่คนเขารู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว อย่างน้อยที่สุดบันทึกชาวต่างชาติสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในสมัยอยุธยาก็ได้กล่าวถึงสรรพคุณนี้เอาไว้

 

             “ประสิทธิพลอันเห็นได้ง่ายของการใช้ผลไม้และใบไม้ชนิดนี้ก็คือ ทำให้ผู้บริโภคต้องบ้วนน้ำลายอยู่บ่อย ๆ ถ้าไม่
             กลืนน้ำหมากนั้นให้ล่วงลำคอเข้าไป แต่ก็ชอบที่จะบ้วนทิ้งเสียสัก 2-3 ครั้งก่อน เพื่อที่จะมิกลืนปูนเข้าไปด้วย
            มากนัก ประสิทธิผลอย่างอื่นยังเห็นได้ไม่ค่อยถนัดนัก แต่ไม่เป็นที่น่าแคลงใจเลยในประเทศอินเดียว่าคราบปูน
            นั้นเองทำให้เหงือกสกปรกและมีคุณสมบัติในทางคุมธาตุ อาจเนื่องจากน้ำหมากที่เขากลืนเข้าไปตามใจชอบที่
           ทำให้เกิดคุณสมบัติเช่นนั้นขึ้น หรืออาจเนื่องจากการบ้วนความแฉะเกินประมาณทิ้งเสียบ้างดอกกระมัง ฉะนั้น
           ข้าพเจ้าจึงไม่พบคนในสยามที่มีปากเหม็นอันอาจเป็นผลเนื่องจากที่เขากินหมากประมาณตามปกติก็เป็นได้”
 

                                                                                                  (มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์)

 

ภาพที่ 1: ภาพวาดต้นหมากของ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์

 

         “…คนสยามเคี้ยวพลูอยู่เสมอ เช่นที่ชนชาติอื่นเคี้ยวใบยาสูบ กล่าวกันว่าทำให้ธาตุในท้องดี รักษาฟันและกันปากเหม็น…”

(นิโกลาส์ แชรแวส)

 

 

ภาพที่ 2: ผลหมากรากไม้ของประเทศสยาม (จากซ้ายไปขวา) ต้นหมากกับผลหมาก, โสม, พลู

จากบันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส

 

หมากกับเรื่องนอกปาก

          แต่หมากไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนไทยแค่เรื่องของช่องปาก แต่การกินหมากเป็นวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคนไทย ที่มีหมากเป็นส่วนหนึ่ง หรือจะว่าไปก็เกือบทุกส่วนของชีวิตประจำวันก็ว่าได้

 

         อดีตคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กินหมาก เป็นยาบรรเทาความเครียดและเสพติดอ่อน ๆ มีองค์ประกอบสามอย่าง คือ ผลหมาก และ ใบพลู (ในอินโดนีเซียตะวันออก ใช้ช่อ) เป็นพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  องค์ประกอบที่สามคือ ปูน เป็นสิ่งที่ทำง่าย ๆ จากเปลือกหอยป่น

 

         แม้ว่าการกินหมากได้แพร่หลายในอินเดียตอนใต้และภาคใต้ของจีนมาก่อนศตวรรษที่ 15 แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเพิ่งเริ่มรู้จักการกินหมากในศตวรรษที่ 15 นับแต่นั้นในภูมิภาคนี้การกินหมากก็ได้มีส่วนสำคัญในงานพิธีและสังคมของประชาชนทุกแห่ง เอกสารจีนที่ย้อนไปสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวถึงบทบาทของหมากในพิธีแต่งงาน ที่แอนโทนี รีด กล่าวไว้ใน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม ว่า

 “…‘หม่าฮวน’ กล่าวถึงชาวชวาว่า “ชายและหญิงจะเอาผลหมากและใบพลูมาผสมกับปูนที่ทำจากเปลือกหอย   ปากของคนเหล่านี้ไม่เคยเว้นว่างจากส่วนผสมเหล่านี้… เมื่อมีคนมาเยี่ยมเยียนก็จะต้อนรับด้วยหมากพลูเท่านั้น ไม่ใช่น้ำชา” นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกินหมากจากชาวตะวันตก อย่าง ‘ปิกาเฟ็ตตา’ คิดว่าเหตุผลของชาวเกาะที่เขาพบเคี้ยวหมากคือ “มันบำรุงหัวใจ ถ้าเลิกใช้ก็จะตาย” ในโคชินจีนก็คล้าย ๆ กัน ‘กัน โบร์รี’ รายงานว่า “ทุก ๆ บ้านจะมีการมอบหมายใครสักคนหนึ่งทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือหยิบชิ้นหมากห่อในพลู… หมากพลูที่เตรียมเป็นคำ ๆ เช่นนี้จะจัดใส่หีบ และตามปรกติแล้วพวกเขาก็เคี้ยวไปตลอดวัน ไม่เพียงแต่ในบ้านเท่านั้น ไม้เว้นแม้จะเดินไปตามถนน หรือพูดคุยกับผู้ใดในทุกที่ทุกเวลา…”

        

       นอกจากนี้แอนโทนี รีด ยังได้กล่าวในเรื่องของการไปหาสู่กันว่า หมากพลูมีสถานะเหมือนกับกาแฟ ชา เหล้า และบุหรี่ เมื่อไปเยี่ยมเยียนกัน หรือแม้แต่หยุดพูดคุยกันตามถนน ชายและหญิงจะแลกเปลี่ยนหมากพลูและเคี้ยวด้วยกัน เชี่ยนหมากสำริดเป็นหนึ่งในรายการเครื่องใช้จำเป็นทำด้วยโลหะ ในครัวเรือนที่มั่งคั่ง  พวกชนชั้นสูงจะมีคนถือหีบหมากในคณะผู้ติดตามเสมอ ปรกติได้แก่หญิงสาวที่โปรดปราน สำหรับนักเดินทางถุงเครื่องหมากพลูเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากช่วยให้ทนต่อความหิวแสบท้องและความเหนื่อยอ่อนได้ นักรบก็เช่นเดียวกัน ต้องการหมากเพื่อฟื้นกำลังและความกล้า

 

        อีกทั้ง เนื่องด้วยการให้หมากพลูเป็นหัวใจของความสุภาพและการต้อนรับ ดังนั้นวิญญาณของบรรพบุรุษก็จะได้รับสิ่งนี้ด้วยทุกครั้งที่มีงานพิธีสำคัญ ๆ การกินหมาก หรือการถวายผลหมากและใบพลูด้วยกันหรือแยกกันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พิธีต่าง ๆ สมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย หรือการรักษาโรค

 

        นอกจากนี้หมากพลูยังมีความสำคัญพิเศษในการเกี้ยวพาราสีและการแต่งงาน เนื่องด้วยในช่วงเวลานั้นการกินหมากจะช่วยให้ลมหายใจหอมและจิตใจผ่อนคลาย จึงถือว่าเป็นสิ่งปรกติที่จะต้องปฏิบัติก่อนการแสดงความรัก อีกทั้งการป้ายปูน วางชิ้นหมาก และส่วนผสมอื่น ๆ ในใบพลูที่ม้วนอย่างบรรจงเป็นงานเฉพาะตัวอย่างหนึ่งที่หญิงสาวสามารถทำให้ชายหนุ่มได้ ดังนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของการแต่งงานหรือการหมั้นหมาย เป็นการเชื้อเชิญให้รัก ส่วนผสมหลักสองอย่างซึ่งเสริมกันและกันมีการมองว่าเป็นการร่วมรักโดยที่ ‘ความร้อน’ ของหมาก จะถ่วงดุลกับ ‘ความเย็น’ ของใบพลู นอกจากนี้ยังสื่อถึงการเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ เนื่องด้วยฝักของต้นพลูพื้นเมืองซึ่งใช้แทนใบมีความเป็นชาย (บางแห่งกินฝักหรือช่อแตกต่างจากคนไทยที่กินใบ) ที่เข้าคู่กับความโค้งของผลหมากซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหญิง หมากพลูจึงมีความสำคัญในพิธีแต่งงานทั้งนัยยะของการเชื้อเชิญให้รัก และเป็นสัญลักษณ์ทางเพศของชายและหญิงด้วย

 

 

ภาพที่ 3 : การยกหมากพลูให้ กี อาหมัด (Ki Amad) พระเอกในนิยายอิสลามเรื่อง อาหมัด-มุฮัมเหม็ด

(Amad-Muhanmad) ตามที่วาดในต้นฉบับสมุดภาพเขียนจากชวาชายฝั่งทะเล วาดเมื่อ ค.ศ. 1828

 

          จะเห็นได้ว่าหมาก พลู และการกินหมากนั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยทั้งในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวัน และพิธีสำคัญ แม้ว่าในเวลาต่อมาโยบายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะส่งผลให้คนไทยเลิกกินหมากได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ทั้งหมด ยังคงหลงเหลือคนที่ยังเชื่อเรื่องของการกินหมากแล้วดี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ยังคงกินหมากหลงเหลืออยู่ อีกทั้งนอกจากเรื่องในช่องปากหมากยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่หลงเหลืออยู่ในพิธีกรรมต่าง ๆ คนปัจจุบันก็ยังคงคุ้นเคยกับการมีหมากอยู่ในพิธีกรรม เนื่องจากหมากนั้นเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในหลายมิติของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน

 

อ้างอิง

แอนโทนี รีด. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม. แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม. 2548.

 

ปรีดาภรณ์ เอี่ยมแจ๋. “เท่า ๆ กับหัวใจก็เห็นจะไม่ไกลนัก”: การแพร่ความรู้เรื่องฟันและทันตกรรมสมัยใหม่ในสังคมกรุงเทพพฯ. ใน วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 5 ฉบับที่ 2. 2561.

 

มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2557.

 

นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2550. 

  

รัชนก พุทธสุขา

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ