Museum Core
เดินตามโตโตโร่ไปดูพิพิธภัณฑ์สุดแสนน่ารัก Ghibli Museum, เขตมิตากะในประเทศญี่ปุ่น
Museum Core
12 ม.ค. 64 1K
ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

          ไม่ว่าเด็กที่ไหนต่างก็ชอบดูการ์ตูนด้วยกันทั้งนั้น  และเชื่อว่าในช่วงวัยเด็กของเด็กไทยทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับการดูการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะเด็กที่เกิดในช่วงทศวรรษ 70 – 90 เรียกได้ว่าเติบโตขึ้นมาพร้อมการ์ตูนเรื่องโปรดเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อไปนี้  ได้แก่ โดราเอมอน อิ๊กคิวซัง นินจาฮัตโตริ ด็อกเตอร์สลัมกับหนูน้อยอาราเล่ หน้ากากแก้ว ไฮดี้ ดาร์ก้อนบอล เซ็นต์เซย่า
สลัมดังก์ เซเลอร์มูน ชินจังจอมแก่น มารูโกะ เป็นต้น

 

          สำหรับผู้เขียนเองผูกพันและนิยมชมชอบการ์ตูนญี่ปุ่นมากจนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังชอบดูการ์ตูน จนกระทั่งในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยได้เช่าวีดิโอการ์ตูนเรื่อง My Neighbor Totoro (ค.ศ.1988) มาดูและเกิดความประทับใจในเนื้อหาและภาพการ์ตูนที่วาดออกมาอย่างสวยงามตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงชื่นชอบตัวเอกของเรื่องคือ “โตโตโร่” เจ้าตัวประหลาดคล้ายแมวผสมกระต่ายสีเทาตัวใหญ่ขนปุกปุยหนา จากนั้นจึงเริ่มติดตามดูภาพยนตร์การ์ตูนอนิเมชันที่สร้างโดยสตูดิโอจิบลิ (Ghibli Studio)
มาโดยตลอด รวมถึงความพยายามไปชมพิพิธภัณฑ์จิบลิด้วย (ลองอ่านไปเรื่อยๆ จะรู้ว่าทำไมผู้เขียนต้องใช้ความพยายาม)

 

         สตูดิโอจิบลิ (อ่านว่า จิ-บลิ) เป็นสตูดิโอสร้างภาพยนตร์อนิเมชันที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 และกลุ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์อนิเมชัน รวมถึงแหล่งรวมตัวศิลปินนักวาดการ์ตูนและนักภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ลองมาดูกันว่าผลงานมากมายของสตูดิโอนี้ มีผลงานอะไรที่เรารู้จัก หรือเคยดูบ้าง?

 

          เริ่มต้นจากเรื่อง Nausicaa of the Valley of the Wind (ค.ศ.1984) ซึ่งเป็นภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องแรกที่เปิดตัวด้วยความสำเร็จอย่างสวยงาม (ทำให้กลุ่มสมาชิกสามารถจัดตั้งสตูดิโอขึ้นได้อย่างเป็นทางการในปีถัดมา) และมีชื่อเสียงมากขึ้นด้วยเรื่อง Laputa: Castle in the sky (ค.ศ.1986) จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1988 นับเป็นปีที่รุ่งโรจน์ของสตูดิโอจิบลิ เมื่อผลงานในปีนั้นทั้ง 2 เรื่องประสบความสำเร็จสูงสูดทั้งด้านชื่อเสียงและรายได้ โดยเรื่องแรก My Neighbor Totoro นั้นกลายเป็นหนังการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ และสร้างให้โตโตโร่กลายมาเป็นมาสคอตโชคดีของสตูดิโอ ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลจากการผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกออกมาจำหน่ายยาวนานมากกว่า 30 ปี ทุกวันนี้สินค้าที่เกี่ยวกับโตโตโร่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย ส่วนเรื่องที่สอง Grave of the Fireflies หรือในชื่อภาษาไทย “สุสานหิงห้อย” ได้รับการสรรเสริญอย่างมากจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับนานาชาติให้เป็น 1 ในภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องสงครามโลกที่ดีที่สุดตลอดกาล ควบคู่ไปกับภาพยนตร์ที่ถูกโหวตให้เป็นอนิเมชันที่เศร้ากินใจที่สุด และคนดูออกปากว่า “ไม่ว่าดูครั้งไหนก็ร้องไห้ไปทุกครั้ง” ดังนั้นภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้จึงกลายเป็น “ภาพยนตร์อนิเมชันญี่ปุ่นระดับตำนาน” ที่ผู้คนยังกล่าวถึงอยู่ตลอด นอกจากนี้อนิเมชันอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงในที่นี้ คือ เรื่อง Spirited  Away (ค.ศ.2001) ที่โด่งดังยิ่งกว่าเสียงพลุแตก ด้วยการเก็บรางวัลชนะเลิศจากเวทีต่างๆ ทั่วโลกมาอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะรางวัลใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์โลกอย่างรางวัล Best Animated Feature จากเวทีรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 75

 

          อย่างไรก็ตาม ความมีชื่อเสียงของสตูดิโอจิบลินั้นไม่ใช่ได้มาเพราะมีรางวัลมากมายการันตี หากแต่การยอมรับนั้นมาจากเอกลักษณ์เฉพาะที่พบในผลงานอนิเมชันของสตูดิโอ ดังที่มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคนกล่าวตรงกันว่า “การ์ตูนของสตูดิโอจิบลิไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กซะทีเดียว” หากมองข้ามโทนสีของเรื่องที่มีสีสันสดใสสวยงามและตัวละครน่าตาน่ารัก ลองสังเกตเนื้อหาแต่ละเรื่องจะเห็นความลุ่มลึกที่แฝงประเด็นบางอย่าง หรือบางเรื่องที่สอดแทรกให้แง่คิดอย่างแนบเนียน แล้วจะพบว่าให้สาระมากกว่าความบันเทิง หรือบางเรื่องก็สร้างออกมาได้เศร้าสะเทือนใจร้องไห้น้ำตาไหลพรากจนลืมไปเลยว่าดูการ์ตูนอยู่ เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่ทำให้คนดูคิดอะไรได้เยอะ ส่วนใครที่อยากชมการ์ตูนย้อนหลังผลงานเก่าๆ ของสตูดิโอจิบลินั้นสามารถรับชมได้ผ่านช่องเน็ตฟริกซ์ที่รวบรวมไว้ให้แล้วแม้จะไม่ครบทุกเรื่อง แต่ก็มีมากถึง 21 เรื่อง

 

           ย้อนกลับมาที่พิพิธภัณฑ์จิบลิ (Ghibli Museum) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมิตากะ ห่างจากโตเกียวไปทางทิศตะวันตก นั่งรถไฟประมาณครึ่งชั่วโมง โดยสตูดิโอจิบลิได้เริ่มวางแผนการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 จนแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2001 แน่นอนว่าความโด่งดังของการ์ตูนทำให้มีคนอยากมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากมายไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวญี่ปุ่น ดังนั้นทางสตูดิโอจึงได้วางแผนบริหารจัดการให้การเข้าชมพิพิธภัณฑ์นั้นค่อนข้างยากกว่าพิพิธภัณฑ์ทั่วไปเพื่อจัดระเบียบและให้บริการได้ทั่วถึง เริ่มจาก

 

           1) จำหน่ายบัตรเข้าชมล่วงหน้าเท่านั้น ด้วยการจองผ่านตู้ขายตั๋วออนไลน์ในร้านสะดวกซื้อชื่อ Lawson (เฉพาะสาขาที่เป็นร้านใหญ่) ระบบจะเริ่มขายตั๋วตั้งแต่วันที่ 10 ของทุกเดือนเพื่อขายตั๋วสำหรับการเข้าชมในเดือนถัดไป เช่น 10 กุมภาพันธ์จะขายตั๋วของวันที่ 10 มีนาคม เป็นต้น ส่วนราคาบัตรผู้ใหญ่ 1,000 ¥ (อายุ 19 ปีขึ้นไป) วัยรุ่น 700 ¥ เด็กประถม 400 ¥ เด็กอนุบาล 100 ¥ และอายุต่ำกว่า 4 ปีเข้าชมฟรี ซึ่งตอนที่ผู้เขียนไปตามหาร้าน Lawson และพยายามกดซื้อบัตรที่ตู้นั้น กว่าจะได้รอบที่มีที่ว่างและจ่ายเงินได้ ต้องไปขอให้พนักงานประจำร้าน (ไม่พูดภาษาอังกฤษ) ช่วยจัดการให้ กว่าจะรู้เรื่องกันก็ทุลักทุเลพอดู

          2) จำกัดรอบการชมต่อวันแบ่งออกเป็น 4 รอบ ได้แก่ 10.00/ 12.00/ 14.00/ 16.00 ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์จะเปิดประตูรับผู้ชมตามรอบที่จองไว้เป็นเวลา 30 นาที เท่านั้นแล้วปิด ใครมาสายเกินเวลาอดเข้าชม

          3) มีกฎเหล็กที่ห้ามผู้เข้าชมถ่ายภาพหรือวีดิโอภายในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น ทุกคนจะสามารถบันทึกภาพได้เฉพาะภายนอกอาคารเท่านั้น (มีเจ้าหน้าที่คอยประจำในแต่ละจุดทุกพื้นที่ คนที่ชอบถ่ายรูป ไม่ถูกใจสิ่งนี้)  

 

          ถึงตอนนี้คนอ่านอาจจะถอดใจไม่ไปตามรอยแล้วคิดว่าทำไมพิพิธภัณฑ์เข้าถึงยากขนาดนี้ นั่นสิ! พิพิธภัณฑ์นี้เป็นธุรกิจของเอกชน 100 % แล้วกล้าปฏิเสธความต้องการของลูกค้าได้เหรอ? คำตอบคือ พิพิธภัณฑ์จิบลิทำได้ค่ะ

 

         ภาพที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์จิบลิที่มีการออกแบบตกแต่งให้เป็นธรรมชาติและกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของ
สวนสาธารณะอิโนกะชิระ (Inokashira Park) 

 

          ด้วยความตั้งใจของอิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) 1 ใน 2 ผู้ก่อตั้งสตูดิโอและร่างออกแบบพิพิธภัณฑ์เอง เขาและทีมร่วมกันออกแบบและตกแต่งอาคารทั้งหมดให้มีส่วนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการ์ตูนที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้น สิ่งละอันพันน้อยรอบพิพิธภัณฑ์จะกระตุกให้ผู้ชมคิดว่ามุมนี้มาจากการ์ตูนเรื่องอะไร แถมด้วยมุมเล็กมุมน้อยที่กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักในลายละเอียด

          ด่านแรกเริ่มจากป้อมตรงทางเดินเข้าสู่พิพิธภัณฑ์มีหุ่นจำลองโตโตโร่ตัวใหญ่ยืนรอต้อนรับทุกคนอยู่ เมื่อถึงประตูอาคารหลักที่มีสีสันสดใส เจ้าหน้าที่จะขอตรวจสอบตั๋วกระดาษที่ซื้อล่วงหน้าแล้วแจกบัตรเข้าชมตัวจริงให้ ลักษณะเป็นซองใส่เนื้อฟิล์มจริงที่ตัดมาจากการ์ตูนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ได้ทั้งตั๋วและของที่ระลึกไปในตัว) จากนั้นจะค่อยๆ เดินลงตามทางที่ลาดเอียงเข้าสู่โถงกลางของอาคาร ซึ่งทุกคนจะตื่นตะลึงกับสิ่งที่เห็นจากมุมแหงนหน้ามอง ทั้งหลังคาโดมกระจก บันไดเวียนเหล็ก สะพานเชื่อมตรงกลาง ใบพัดลมขนาดใหญ่ที่คล้ายปีกเครื่องบิน และลิฟต์ที่เป็นโครงเหล็กเหล็กแบบฝรั่งยุคโบราณ รวมถึงช่องประตูเล็กประตูน้อยที่ไม่รู้ว่านำไปสู่ที่ใด ทั้งนี้ อิซาโอะตั้งใจออกแบบสร้าง  ”มุมมองสายตาหนอน” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดประสบการณ์ทางอารมณ์แบบเด็กอยากรู้อยากเห็นเมื่อมองขึ้นไปบนที่อยู่สูงกว่า  

  

           

           ถัดไปผู้ชมจะเข้าไปในโรงหนังมินิเพื่อนั่งชมภาพยนตร์การ์ตูนสั้นที่โชว์เทคนิคการสร้างการ์ตูนแบบดั้งเดิม จากนั้นจึงเข้าสู่โซนนิทรรศการที่ว่าด้วยกลศาสตร์ของอนิเมชัน และห้องทำงานจำลองที่สร้างให้เห็นถึงกระบวนการและขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนสักเรื่องนึง เริ่มจากใช้ดินสอสเกตซ์ภาพในกระดาษทั้งหมด ตั้งแต่ตัวละคร ฉากหลัง ต้นไม้ใบหญ้าและองค์ประกอบต่างๆ แล้วเริ่มลงรายละเอียดของฉากทีละแฟรม ลงสีด้วยพู่กันเขียนมือ ใส่การเคลื่อนไหวที่ค่อยขยับภาพแต่ละวินาที...งานละเอียดทุกขั้นตอนจริงๆ เมื่อหลุดจากโซนนี้ก็จะเป็นส่วนร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก และห้อง Cat bus room สำหรับเด็กๆ ที่สามารถปีนป่ายสุดสนุกกับตุ๊กตาแมวรถเมล์ตัวใหญ่

 

 

           ภาพที่ 2 โรงหนังฉายภาพยนตร์และห้อง Cat Bus Room

 

ที่มาภาพ: https://www.ghibli-museum.jp/en/

 

           ข้อห้ามเรื่องการถ่ายภาพด้านในอาคารนั้นก็มาจากปณิธานที่แน่วแน่ของพิพิธภัณฑ์ที่ตระหนักว่า อยากส่งต่อความฝันและจินตนาการให้กับผู้ชมโดยเฉพาะเด็กน้อย หากปล่อยให้ผู้ชมสามารถถ่ายภาพได้ตามอัธยาศัย ความตั้งใจหรือความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จะลดน้อยลงมาก จนลางทีอาจจะไม่สนใจเนื้อหาสาระเลยก็เป็นได้ รวมถึงความพะวงกับการถ่ายรูปมากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อตัวเองและผู้อื่นได้ด้วยเช่นกัน

 

            หลังจากชมพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วมาประมวลผลที่ได้ก็เห็นผลดีด้วยตนเองว่าสมองเรานั้นสามารถบันทึกประสบการณ์และความทรงจำได้ดีเมื่อเรามีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งตรงหน้าและจดจำได้ยาวนานแม้จะผ่านเวลามานานหลายปีแล้วก็ตาม และมั่นใจว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มีโอกาสได้มาชมเยี่ยมพิพิธภัณฑ์จิบลิแล้วต่างต้องหลงรักที่นี่ไม่มากก็น้อย

  

 

ภาพที่ 3 หุ่นเหล็กจำลองจากเรื่อง Laputa ยืนตระหง่านเป็นเสมือนผู้พิทักษ์พิพิธภัณฑ์

 

อ้างอิง

Starpics special – Ghibli Story, everything about. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ หสน. ห้องภาพสุวรรณ. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2555

https://www.ghibli-museum.jp/en/

 

ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ