Museum Core
จากการทำทานสู่ภาวะเงินเฟ้อ: มันซา มูซา จักรพรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลกยุคกลาง
Museum Core
05 ม.ค. 64 1K
.

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

          หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของพระราชาไมดาสผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนทุกสิ่งที่สัมผัสให้กลายเป็นทองคำ ทว่าเทพนิยายกรีกดังกล่าวเป็นเพียงจินตนาการของผู้คนในอดีตเท่านั้น มนุษย์ทุกคนโหยหาความมั่งคั่ง และทองคำคือสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่มีค่าที่สุดมาแต่โบราณ แต่ใครเลยจะรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีผู้นำจักรวรรดิที่เป็นเจ้าของทองคำกว่าสามในสี่ของโลก ชายผู้นี้ถูกขนานนามว่าเป็นคนร่ำรวยที่สุดในพื้นพิภพ และยังเป็นคนๆ เดียวในประวัติศาสตร์แอฟริกาตะวันตกที่สามารถกำหนดมูลค่าทองคำในโลกเมดิเตอร์เรเนียนได้อีกด้วย เขาคือมันซา มูซา (Mansa Musa) มันซา (จักรพรรดิ) องค์ที่ 10 แห่งจักรวรรดิมาลี (Mali Empire)

 

ภาพที่ 1: แผนที่จักรวรรดิมาลีในสมัยมันซา มูซา

 

ที่มาภาพ: Gomez, Michael A.. African Dominion: A New History of Empire in Early and Medieval West Africa. 2018. Page 95.

 

          จักรวรรดิมาลีที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกามีอาณาเขตทอดยาวระหว่างทะเลทรายซาฮาราทางตอนเหนือและป่าดิบชื้นทางตอนใต้ มาลีอาจไม่ใช่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในการเพาะปลูก ทว่าจักรวรรดิแห่งนี้ก็มีทรัพยากรที่มีค่ามากกว่าพืชพันธุ์หลายเท่า ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยแร่ทองมากเสียจนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตทองคำของโลก นอกจากนี้มาลียังเป็นแหล่งเกลือที่เป็นสินค้าสำคัญในยุคโบราณ ทำให้ไม่นานหลังก่อตั้งจักรวรรดิในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มาลีก็กลายเป็นดินแดนที่มั่งคั่งที่สุดในโลก กองคาราวานทุกสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามาทำการค้า ทำให้เมืองสำคัญของมาลีอย่างทิมบัคตู (Timbuktu) และกาว (Gao) กลายเป็นศูนย์กลางการค้าในยุคนั้น นอกจากความมั่งคั่งที่ได้รับจากการค้าแล้วการติดต่อกับผู้คนต่างแดนยังทำให้ชาวมาลีได้แลกเปลี่ยนวิทยาการ วัฒนธรรม และความเชื่อกับคนเหล่านั้น และนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา บรรดามันซาแห่งมาลีก็เข้ารับอิสลามอย่างเต็มตัว เหล่าผู้นำจักรวรรดิต่างประกาศให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้มาลีกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การศึกษา และศาสนาอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันตก

 

          อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงความมั่งคั่งของจักรพรรดิแห่งมาลียังคงจำกัดอยู่ในแวดวงพ่อค้าและผู้แสวงบุญชาวแอฟริกาเหนือเท่านั้น ดังนั้นทันทีที่มันซา มูซา มันซาองค์ที่ 10 แห่งมาลีขึ้นครองราชย์ เขาจึงเริ่มแผนการประกาศศักดาจักรวรรดิมาลีให้โลกได้รับรู้ ซึ่งแผนที่ว่าก็คือ การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในดินแดนอาระเบียนั่นเอง

 

          มันซา มูซาไม่ใช่จักรพรรดิคนแรกที่เดินทางไปอาระเบีย แท้จริงแล้วนับตั้งแต่มันซาองค์ที่ 2 เป็นต้นมา เหล่าผู้นำที่เคร่งศาสนาต่างก็เดินทางไปทำฮัจญ์ยังจุดกำเนิดศาสนาอิสลามทั้งสิ้น ทว่ามันซา มูซากลับต้องการทำให้การไปแสวงบุญของตนเป็นที่จดจำของชาวโลกตราบนานเท่านาน ดังนั้นเขาจึงเลือกวิธีการไม่ธรรมดาในการเดินทาง มันซา มูซาออกเดินทางไปอาระเบียระหว่างค.ศ.1324 ถึงค.ศ.1325 คณะแสวงบุญของเขาประกอบด้วยผู้ติดตาม 6 หมื่นคน ทุกคนแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ตัดเย็บจากผ้าแพรเปอร์เซีย พร้อมด้วยทาสจำนวน 1 หมื่น 2 พันคน แต่ละคนแบกทองคำแท่งหนัก 4 ปอนด์ ม้าจำนวนมากที่มีถุงอานม้าบรรจุเครื่องประดับทองคำ และอูฐ 80 ตัวที่แบกเศษทองกว่า 300 ปอนด์ไว้บนหลัง

 

           เหตุผลที่มันซา มูซา บรรทุกทองคำจำนวนมากไปกับคณะแสวงบุญเป็นเพราะต้องการบริจาคทรัพย์สมบัติเหล่านี้แก่ผู้ยาก ไร้และทำนุบำรุงศาสนาด้วยการสร้างศาสนสถานให้มากที่สุด จักรพรรดิมาลีสั่งให้คนของเขามอบทองคำแก่ผู้ทุกข์ยากตลอดทางไปเมกกะ มาดินะห์ และไคโร นอกจากนี้ยังมีผู้บันทึกว่า มันซา มูซาได้สร้างมัสยิดแห่งใหม่ทุกวันศุกร์ซึ่งเป็นวันแห่งการละหมาดรวมหมู่ของชาวมุสลิมอีกด้วย

 

ภาพที่ 2: ภาพวาดของมันซา มูซาในแผนที่คาตาลัน ระบุที่ตั้งจักรวรรดิมาลี)

 

ที่มา: IBW21. Africa's Lost/Forgotten Kingdoms. (2019). [Online]. Accessed 2020 Dec 9.

Available from: https://ibw21.org/reparations/africas-lost-forgotten-kingdoms/

 

          การเดินทางครั้งนั้นของมันซา มูซาเป็นที่กล่าวขวัญในทุกดินแดนที่เขาเหยียบย่าง จักรพรรดิมาลีมอบทรัพย์ของตนให้แก่ผู้พบเห็นตลอดเส้นทาง เรื่องราวการแสวงบุญของเขาถูกถ่ายทอดกันปากต่อปากกลายเป็นตำนานของจักรพรรดิที่ร่ำรวยที่สุดในโลก บรรดานักแสวงบุญอาหรับและนักเดินทางชาวยุโรปต่างก็บันทึกถึงมันซา มูซาและอาณาจักรทองคำของเขาทั้งสิ้น ภาพเหมือนของจักรพรรดิที่กำลังถือเหรียญทองถูกวาดบนแผนที่คาตาลันในปี 1375 โดยชาวคาตาโลเนียแสดงให้เห็นว่าความมั่งคั่งของมันซา มูซาเป็นที่โจษจันท์ทั่วดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนในขณะนั้น ซึ่งก็บรรลุจุดประสงค์ขององค์จักรพรรดิ

 

           อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายทองคำอย่างไม่เสียดายของมันซา มูซาทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงนับทศวรรษ ทองคำจำนวนมากที่จักรพรรดิใช้ไประหว่างเดินทางทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดจากปริมาณเงินและทองที่มากเกินไป ราคาทองคำในท้องตลาดตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากปัญหาเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือแล้ว ความใจบุญสุนทานของมันซา มูซายังก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและการปกครองในดินแดนของตน จักรพรรดิไม่เพียงแต่ใช้เงินไปกับการบริจาคเท่านั้น เขาใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากเพื่อพัฒนาทิมบัคตูและกาวให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและศาสนา นอกจากนี้งบส่วนหนึ่งยังถูกใช้ในการบำรุงกองทัพในการแผ่ขยายจักรวรรดิ นักขับลำนำประจำถิ่นต่างกล่าวถึงการตัดสินใจของมันซา มูซาว่าเป็นการผลาญทรัพย์สินแผ่นดินอย่างโง่เขลา ความพยายามในการทำให้จักรวรรดิเป็นรัฐอิสลามเต็มตัวยังความไม่พอใจให้กับชนเผ่าใต้อาณัติของมาลีที่ยังนับถือศาสนาดั้งเดิมจนเกิดการกบฏอยู่เนืองๆ และแม้ว่ามันซา สุไลมาน น้องชายของมันซา
มูซา จะใช้เวลานับทศวรรษในการกอบกู้เศรษฐกิจและความมั่นคงของจักรวรรดิคืนมา ทว่าเขาก็ไม่อาจหยุดยั้งการเสื่อมถอยของจักรวรรดิมาลีที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายของมันซา มูซาได้

 

           แม้ว่าการกระทำของมันซา มูซาจะก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้งในและนอกทวีปแอฟริกา ทว่าเขาก็ถูกนับเป็นหนึ่งในจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคกลางอย่างไม่ต้องสงสัย ตลอดรัชสมัยของมันซา มูซา จักรวรรดิมาลีขยายอำนาจกว้างใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มันซา มูซาตั้งใจที่จะรวบรวมอาณาจักรน้อยใหญ่ภายใต้จักรวรรดิเสมอแม้ในยามที่เขาออกเดินทางแสวงบุญ เขาได้ให้บุตรชายของตน มาคัน มูซา (Maghan Musa) คอยอยู่บัญชาการการรบที่ทิมบัคตูแทนตนเอง และที่ทิมบัคตูนี้เองที่มันซา มูซาทุ่มเงินจำนวนมากในการก่อสร้างมหาวิทยาลัย มัสยิด และป้อมปราการ ทำให้ทิมบัคตูกลายเป็นศูนย์รวมนักวิชาการจากทุกสารทิศในขณะนั้น อาคารมัสยิดซันโกเร (Sankore Masjid) ที่ถูกใช้เป็นสถานศึกษาถูกต่อเติมในสมัยมันซา มูซาให้สามารถรองรับนักศึกษาได้มากกว่า 2 หมื่น 5 พันคน นอกจากนี้มันซา มูซายังบัญชาให้นักปราชญ์ในราชสำนักเก็บรวบรวมต้นฉบับลายมือและจดหมายเหตุกว่า 4 แสนฉบับ ทำให้ห้องสมุดทิมบัคตูกลายเป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมเอกสารมากที่สุดในแอฟริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 14

 

 

ภาพที่ 3: มัสยิดซันโกเร ทิมบัคตู เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยของมันซา มูซา

 

ที่มา: Amin Dezfuli. The Sankore Mosque, One of Three Branches of the University of Timbuktu. 2012. [Online]. Accessed 2020 Dec 9. Available from: https://www.researchgate.net/figure/The-Sankore-mosque-one-of-three-branches-of-the-university-of-Timbuktu_fig6_258607544

 

          ภายหลังความรุ่งโรจน์ในสมัยมันซา มูซา มาลีกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกทั้งในและนอกทวีป ผู้คนต่างถิ่นถูกดึงดูดเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ด้วยความละโมบในทรัพย์สินมหาศาลของเหล่ามันซา จักรวรรดิลุกเป็นไฟเพราะการศึกจากภายในและภายนอก ในที่สุดดินแดนเกือบทั้งหมดของมาลีก็ตกเป็นของจักรวรรดิซงไฮ (Songhai Empire) ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก่อนจะอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโมรอคโคและฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 19 ตามลำดับ ปัจจุบันดินแดนอันมั่งคั่งของมันซา มูซากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยนำความเจริญมาสู่มาลีกลายเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งไม่รู้จบ มาลีเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งซ่องสุมกองกำลังก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันตก ส่งผลให้มาลีต้องพึ่งพาสหประชาชาติและอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสด้านการทหาร สาธารณูปโภค และอื่นๆ เกือบทุกด้าน ผลกระทบทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่มีที่มาจากสินแร่ในผืนดินทั้งสิ้น ครั้งหนึ่งมันซาแห่งมาลีอาจคิดว่าเหมืองทองคือของขวัญจากพระเจ้า ทว่าทองคำกลับนำมาซึ่งความละโมบที่กัดกินแผ่นดินนี้ราวกับคำสาป แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ทว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมันซา มูซาเก็บความมั่งคั่งเอาไว้เป็นทุนทรัพย์ในจักรวรรดิโดยไม่ป่าวประกาศให้โลกรู้ หากเขาเลือกที่จะบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้โดยไม่อวดอ้างความร่ำรวยของตน ความขัดแย้งมากมายที่ตามมาเพราะความโลภอาจไม่เกิดขึ้นในดินแดนที่แร่ทองส่องประกายเคียงคู่กับแสงอาทิตย์แห่งนี้ก็เป็นได้...

 

กฤษณรัตน์  รัตนพงศ์ภิญโญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ