พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งจังหวัดฟูกุอิ (Fukui Prefectural Dinosaur Museum)จัดอยู่ในสามอันดับแรกของพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางเกี่ยวกับไดโนเสาร์ของโลก สำหรับแฟนสัตว์โลกล้านปี สถานที่นี้คุ้มค่าทุกประการที่จะมาเยี่ยมชมสักครั้งหนึ่งในชีวิต
จังหวัดฟูกุอิ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะฮอนชู (Honshū) การเดินทางมาที่ฟูกุอิ รวมทั้งจังหวัดอื่นทางด้านตะวันตกนี้ไม่สะดวกสบายเหมือนด้านตะวันออก ต้องต่อรถไฟหลายครั้ง และการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งต้องต่อรถไฟท้องถิ่นแล้วไปต่อรถประจำทางท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง เราจะได้พบสถานีรถไฟเล็กๆ ที่ไม่มีเครื่องขายตั๋ว ยังขายตั๋วด้วยมนุษย์ที่จริงจังกับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานญี่ปุ่น รถไฟและรถโดยสารเข้าออกตรงเวลา เป็นเวลาซึ่งตั้งไว้ไม่ให้เสียเวลา คือลงจากรถคันหนึ่งไปขึ้นอีกคันหนึ่งนั้นฉิวเฉียดกับเวลารถออก เผื่อเวลาให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเล็กน้อย ไปไม่ทันก็ไม่เป็นไรหรอก แค่รอรอบต่อไปอีกครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง
ภูมิประเทศทางแถบนี้โอบล้อมด้วยภูเขา ในพื้นที่เมืองคัทสึยะมะ (katsuyama) มีการค้นพบฟอสซิล (Fossil ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์หรือพืชที่ถูกทับถมไว้ในชั้นหินเป็นระยะเวลายาวนานเกิน 10,000 ปีขึ้นไป) ของไดโนเสาร์มากมายจนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับไดโนเสาร์ของญี่ปุ่น การเลือกที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากเพราะมันเป็นบริเวณที่พบฟอสซิลกระจายอยู่ทั่วไป บรรยากาศท่ามกลางหุบเขาก็ชวนให้นึกถึงเหล่าเจ้าของฟอสซิลที่เคยท่องไปในบริเวณนี้เมื่อหลายสิบล้านปีก่อน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ค่อนข้างมีชื่อเสียงโด่งดัง ก่อนไปผู้เขียนจึงมีความคาดหวังระดับหนึ่ง เมื่อไปถึงปรากฎว่าดีเกินคาดไปมาก ผู้ออกแบบตั้งใจให้เป็นที่เรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย เป็นพิพิธภัณฑ์แบบเล่นเรียนรู้ (play and learn) ที่อยู่ร่วมกับพิพิธภัณฑ์แบบสาระอัดแน่นได้อย่างลงตัว ในหลายๆ โซนเห็นได้ชัดว่าคำนึงถึงผู้ใหญ่ที่พาเด็กมาเที่ยวสามารถจะอ่านข้อมูลแบบของผู้ใหญ่ไปพร้อมๆ กันเพื่อนำมาสนทนาแลกเปลี่ยนกับเด็กได้ ไม่เกิดความรู้สึกเหมือนว่ามีหน้าที่พาเด็กมาปล่อยให้วิ่งเล่นในโลกที่แปลกแยกแล้วก็เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ตัวอย่างเช่นไทม์ไลน์ของการศึกษาค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ แถวล่างสำหรับเด็ก เน้นรูปภาพกับคำอธิบายสั้นๆ รายละเอียดอยู่ในระดับสายตาที่สูงขึ้นมาสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่อ่าน
มีภาพอยากจะให้ดูมากมาย แต่ ด้วยความจำกัดของพื้นที่ จึงจำต้องเอามาแปะรวมกันแบบนี้ พิพิธภัณฑ์มีห้องปฏิบัติการไดโน (Dino Lab) ซึ่งมีฐานเรียนรู้ที่น่าสนุก มีฟอสซิลนิ้วเท้าไดโนเสาร์จริงๆ ให้จับได้แต่จับเบาๆ นะจ๊ะ (ขอกันน่ารักๆ แบบญี่ปุ่น) กระดูกท่อนใหญ่ที่ต้องใช้เหล็กรัดไว้นั้นเป็นหน้าแข้งทีเร็กซ์เชียวล่ะ ส่วนเด็กผู้หญิงคนนั้นกำลังชั่งน้ำหนักดูว่าเธอหนักพอๆ กับไดโนเสาร์ตัวไหน มีกิจกรรมให้น้องๆ วาดภาพพี่ไดโนตัวโปรด มีเกมส์ให้เล่น และอื่นๆ อีกมาก
ทั้งนี้มิใช่ว่าจะไม่มีส่วนของข้อมูลเนื้อหาเชิงลึกสำหรับนักศึกษาหรือแฟนพันธุ์แท้ไดโนเสาร์ มีเนื้อหามากมายอ่านกันได้ทั้งวัน เขียนเรียบๆ สั้นๆ เข้าใจง่าย ชวนให้อ่านต่อไปได้เรื่อยๆ ของจัดแสดงมากมายดูกันตาแตก ไม่มีกระเหม็ดกระแหม่อดออมกับการเอามาเล่าเรื่อง ฝูงไดโนเสาร์จากตัวน้อยจ้อยจิ๊ดจนถึงตัวมหึมา ตัวที่อยู่ในน้ำถึงตัวที่อยู่บนฟ้า ทุกมุมจัดแสงเงาได้สวยงามมาก เนื้อหาก็ครอบคลุมรอบด้านของศาสตร์แห่งไดโนเสาร์ หลายๆ เรื่องก็นึกไม่ถึงว่าจะเอามาอธิบายกันเป็นเรื่องเป็นราว เช่น เรื่องสมองของไดโนเสาร์ เรื่องฟันของไดโนเสาร์ เรื่องผิวหนังของไดโนเสาร์ เรื่องระบบนิเวศน์ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของไดโนเสาร์ประเภทต่างๆ และมีมุมหนึ่งเล่าเรื่องไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยด้วย เหตุที่ใส่เนื้อหาได้มากมายเพราะเขามีพื้นที่ถึง 30,000 ตารางเมตร มีร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหารที่แม้แต่อาหารก็ยังออกแบบในคอนเซ็ปต์ไดโนเสาร์ได้อย่างน่ารัก
ผู้เขียนชอบส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ที่นี่มาก ในพิพิธภัณฑ์ประเภทนี้เรามักคุ้นเคยกับภาพการเข้าแถวของวานรไร้หาง มนุษย์วานร และมีมนุษย์ซึ่งยืนตัวตรงได้ในที่สุดอยู่ตรงหัวแถว ผู้เขียนรู้สึกเบื่อกับภาพนี้มาก ที่นี่เขาลบภาพนั้นออกไปและอธิบายมันแบบมีมิติ ใส่โครงกระดูกอันดับต้นๆ ของไพรเมท (Primate) คือพวกลีเมอร์และลิงลมมาให้ดูด้วย แถมยังจัดท่าทางเจ้าตัวน้อยได้อย่างสวยงาม เขาเล่าถึงผู้ที่มาก่อนลิงตัวแรกที่อยู่ท้ายแถว เขาเปรียบเทียบกะโหลกและฟันของเหล่าไพรเมท และเขาอธิบายว่าเหตุใดมนุษย์วานรจึงยืนตัวตรงไม่ได้ คำอธิบายของเขาเรียบง่ายและตรงจุด ไม่จำเป็นต้องมีศัพท์เทคนิคที่ซับซ้อน มีวัตถุจัดแสดงที่สนับสนุนคำอธิบายอย่างชัดเจน
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งจังหวัดฟูกุอิ เป็นอีกพิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่นที่อยู่ดูได้ทั้งวัน (หรือหลายวัน) สำหรับคนที่ไม่ได้เช่ารถหรือขับรถมาเองอย่าดูเพลินจนเกือบจะตกรถเที่ยวสุดท้ายแบบผู้เขียน พิพิธภัณฑ์ปิดห้าโมงเย็นเพราะทราบว่าผู้ชมจะต้องเดินทางอีกไกลเพื่อกลับเข้าเมือง พิพิธภัณฑ์นี้อยู่กลางป่าเขา พอเย็นลงเห็นแต่เงาภูเขามืดทมึน ทั้งที่รู้อยู่ว่าคนญี่ปุ่นใจดีคงไม่ทิ้งนักท่องเที่ยวไว้แน่ แต่ประสบการณ์ในการยืนคอยรถเที่ยวสุดท้ายในขณะที่ฟ้าเริ่มมืด ลมพัดแรง บนยอดเขามองเห็นหิมะเริ่มโปรยปราย มันช่างวังเวงน่ากลัวจริงๆ
กระต่ายหัวฟู