Museum Core
ธรรมเนียมแขวนถุงเท้าในคืนคริสต์มาสอีฟ มาจากไหน?
Museum Core
15 ธ.ค. 63 4K
.

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

            ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า มนุษย์เราเริ่มประดิษฐ์ ‘ถุงเท้า’ ขึ้นมาใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่? พวกนักโบราณคดีเขาก็ได้แต่เดาๆ กันไปเท่านั้นเองว่า คงจะมีความพยายามประดิษฐ์ถุงเท้าขึ้นมาตั้งแต่สมัยยังเป็นมนุษย์ถ้ำกันแล้วกระมัง? (ก็ครั้งหนึ่งโลกมันเคยหนาวเหน็บอย่างสุดขั้วจนถูกเรียกว่า ยุคน้ำแข็ง เลยนี่นะ จะไม่หาอะไรมาทำให้เท้าเราอุ่นขึ้นสักนิดก็ดูจะเป็นการทรมานสังขารอยู่มากเลยทีเดียว)

             และกว่าจะมีอะไรที่พอจะยืนยันได้ว่า มนุษย์เราได้ประดิษฐ์นวัตกรรมที่เรียกว่า ถุงเท้า ขึ้นมาแล้วนั้น ก็ต้องรอจนถึงยุคที่ชาวกรีกโบราณบางคนมาเขียนอะไรบางอย่างทิ้งไว้ ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้อ่านกัน

             ยอดกวีชาวกรีกอย่าง เฮสิโอด (Hesiod) ซึ่งเคยเดินท่อมๆ อยู่ตามเมืองต่างๆ ที่ทุกวันนี้เหลือเพียงซากปรักหักพังอันเรืองรองของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่เมื่อราว 2,750-2,650 ปีที่แล้ว คือใครคนนั้น

             เฮสิโอดได้เคยเขียนถึงชีวิตประจำวันของเกษตรกรชาวกรีกในสมัยนั้น และได้แนะนำพวกเขาว่าให้ใส่อะไรที่คล้ายๆ กับถุงเท้าไว้ใต้บูทหนังวัว เพื่อรับมือกับอากาศอันหนาวเหน็บทารุณ

             แต่นวัตกรรมกันหนาวที่ใช้สอดใส่อยู่ในเกือกนี่คงจะไม่ได้ตกทอดจากกรีกไปสู่โรมัน เหมือนอย่างปรัชญาหรือความรู้อื่นๆ เพราะว่ามีบันทึกของชาวโรมันเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้วที่ดูจะแสดงให้เห็นว่าพวกที่ถือตัวว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของชาวโลกในยุคนั้นอเมซิ่งเอามากๆ ที่ อนารยชนคนป่าเถื่อน (ในหัวของชาวโรมัน) อย่างพวกโกล (Gaul) และพวกเคลท์ (Celt) มีการนำเอาผ้าหรือแผ่นหนังสัตว์ มาพันไว้รอบเรียวขา และบางทีก็บนกางเกงตัวโคร่งของพวกเขา เพื่อให้ความอบอุ่น และบางทีก็ช่วยกันหนามเล็กๆ ยามเดินป่าได้ด้วย

              การค้นพบครั้งนั้นได้ทำให้ชาวโรมันได้นำเอาภูมิปัญญาของชนชาวที่พวกเขาคิดว่าเป็นคนป่าเถื่อน ไปดีไซน์เป็นเทรนด์ล้ำสมัยของชาวโรมันยุคนั้นเลยทีเดียว

             แต่เรื่องราวเกี่ยวกับถุงเท้าที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในโลกตะวันตกกลับเกี่ยวข้องกับวันคริสต์มาส และซานตาคลอส

             เด็กน้อยชาวคริสต์ต่างก็มีธรรมเนียมการแขวนถุงเท้า (หรือถุงรูปทรงคล้ายถุงเท้า) เอาไว้ที่เตาผิงของบ้าน (หรือปลายเตียงของคุณหนูๆ เขาก็ได้) ในคืนสุกดิบก่อนวันคริสต์มาส หรือเรียกว่า คริสต์มาสอีฟ

             แน่นอนว่าเด็กน้อยเหล่านี้ต่างก็มุ่งหวังให้ตื่นเช้าขึ้นมา ภายในถุงเท้าเหล่านั้นจะบรรจุไปด้วยของเล่น ขนม หรือของขวัญอะไรก็แล้วแต่ที่คุณลุงซานตาคนดีนำมามอบให้กับพวกเขา แต่ทำไมซานตาคลอสต้องเอาของขวัญไปยัดไว้ในบรรจุภัณฑ์เหม็นๆ อย่างถุงเท้า?

             ตำนานอธิบายเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่หลายสำนวน แต่สำนวนที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุด เป็นเรื่องของนักบุญนิโคลาส แห่งไมรา (Saint Nicolas of Myra, ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) กับชายยากจน

            เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อนานโขมาแล้ว ชายยากจนคนหนึ่งมีลูกสาวแสนงามอยู่สามนาง ปัญหาที่สุมอยู่ในใจชายคนนั้นก็คือเขาเป็นห่วงลูกสาวทั้งสามว่าหากเขาตายไปแล้วจะมีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร ครั้นจะให้ออกเรือนไปชายคนนี้ก็ยากจนเสียจนไม่มีเงินจะให้ลูกทั้งสามได้แต่งงาน

            สุดท้ายเรื่องไปถึงหูนักบุญนิโคลัส ในยามที่อาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว  นักบุญท่านเลยแอบโยนถุงที่บรรจุไว้ด้วยลูกบอลทองคำสามถุงเข้าไปในบ้านของชายยากจนผู้นั้น และถุงเจ้ากรรมก็ดันไปแลนดิ้งลงในถุงเท้าของสาวๆ ทั้งสามนางที่นำไปตากไปอยู่ที่เตาผิงภายในบ้านพอดี

            ด้วยทานที่นักบุญท่านโปรยมาให้ ตำนานเรื่องนี้จึงได้จบลงอย่างแฮปปี้เป็นที่สุด เพราะลูกสาวแสนสวยทั้งสามนางของชายยากจนนั้นจึงได้ออกเหย้าออกเรือนกันทุกคน และก็ทำให้เกิดประเพณีการแขวนถุงเท้าไว้ในคืนคริสต์มาสอีฟ

            ชาวคริสต์จำนวนมากจะเชื่อว่านักบุญนิโคลัส แห่งไมรา นี่แหละคือ ซานตาคลอสตัวจริง (ส่วนจะจริงหรือเปล่านั่นก็อีกเรื่อง)

 

 

         

          ภาพที่ 1: ภาพถุงเท้าที่ถูกแขวนไว้รอซานตาคลอสในคืนคริสมาสต์อีฟ จากหนังสือบทกวีที่ชื่อ ‘Old Santeclaus with much delight’ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2364 ยังมีแครอทใส่ไว้ในถุงเท้า

         (ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Old_Santeclaus_with_Much_Delight)

            

          แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า เรื่องการให้ทานของนักบุญท่านนี้มีลักษณะเป็นตำนาน อันที่จริงแล้วยังมีเรื่องเล่าทำนองที่นักบุญนิโคลัสทำทานโดยการเอาเหรียญไปยัดไว้ใน ‘รองเท้า’ ของคนยากคนจนอีกหลายเรื่อง

          ใครบางคนจึงเคยตั้งคำถามเอาไว้ว่า เรื่องการทำทานใส่ในรองเท้าหรือถุงเท้าจะเป็นเรื่องที่ชาวคริสต์ไปเอาธรรมเนียมของชนพื้นเมืองเดิมก่อนจะเข้ารีตมาดัดแปลง และโยนให้นักบุญนิโคลัสท่านได้หน้าไปหรือเปล่า? และก็มีหลักฐานอย่างที่พวกเขาสงสัยกันจริงๆ แหละครับว่า พวกเยอรมันนิคและสแกนดิเนเวียนที่นับถือศาสนาดั้งเดิมมีประเพณีคล้ายๆ กันนี้แต่ทำเพื่อบูชาม้าของเทพโอดิน (Odin) มาก่อน (น่าสนใจด้วยว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นพวกที่สืบทอดมาจากกลุ่มคนที่พวกโรมัน เห็นว่าป่าเถื่อน ซึ่งก็คือกลุ่มที่มีถุงเท้าใส่มาก่อนที่จะกลายเป็นของชิคๆ ในกรุงโรม)

           โทษฐานที่โอดินเป็นราชาแห่งทวยเทพของพวกนอร์ส (Norse) ม้าของพระองค์จะเป็นม้ากระจอกทั่วไปอย่างใครเขาไม่ได้ ม้าของพระองค์จึงต้องมีแปดขา สามารถเหาะเหินเดินอากาศและมีชื่อเรียกยากๆ ว่า ‘สเลย์ปนีร์’ (Sleipnir)

            พวกเด็กๆ ชาวเยอรมันนิคและสแกนดิเนเวียนในสมัยโบราณจะเอาแครอท, ฟางข้าว หรือน้ำตาล ใส่ไว้ในรองเท้าบูทของพวกเขาและเอาไปไว้ใกล้ๆ กับปล่องไฟเพื่อมอบให้กับเจ้าม้าสเลย์ปนีร์ตัวนั้น เพราะเชื่อกันว่าเทพโอดินจะทรงตอบแทนความใจดีของเด็กๆ ด้วยขนม หรือของขวัญบางอย่างและคืนลงไปในรองเท้าบูทของพวกเขาแทน

            ตรงนี้แหละครับที่ทำให้ใครบางคนอธิบายเอาไว้ว่า นี่คือที่มาของธรรมเนียมการแขวนถุงเท้าในคืนคริสต์มาสอีฟซึ่งถูกชาวคริสต์เทคโอเวอร์ไปเป็นของตนเอง

            แถมที่มาของธรรมเนียมการเอาอาหารการกินไปยัดไว้ในรองเท้าสำหรับเจ้าสเลย์ปนีร์นี่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะชื่อเจ้าม้า ‘Sleipnir’ ในภาษานอร์สโบราณหมายถึง ‘ลื่น’ (Slippy) หรือ ‘รองเท้ากันลื่น’ (Slipper แต่คนไทยเรามักแปลว่ารองเท้าแตะกันอยู่แค่ความหมายเดียว)

            แน่นอนว่าคนพวกนี้อาศัยอยู่ในเขตที่หนาว ซึ่งปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง รองเท้าและถุงเท้า จึงเป็นเครื่องใช้ไม่สอยสำคัญสำหรับให้ความอบอุ่น และกันลื่นอย่างแหงแซะ

 

 

           

             ภาพที่ 2: รูปซานตาคลอสอยู่บนรถเลื่อนมีกวางเทียมรถปรากฏครั้งแรกในหนังสือบทกวีที่ชื่อ ‘Old Santeclaus with much delight’ ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2364 

            (ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Old_Santeclaus_with_Much_Delight)

 

           ที่สำคัญก็คือ ประเพณีที่ว่านี้กระทำกันในช่วงกลางของฤดูหนาวในทวีปยุโรป หรือช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ซึ่งมีเทศกาลเฉลิมฉลองที่เรียกว่า ยูล (Yule ถ้าอ่านออกเสียงตามสำเนียงชาวนอร์วิเจียนปัจจุบันได้ประมาณว่า อือเล่อะ)

           เทศกาลยูลจะดำเนินติดต่อกันไป 12 วัน ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงวันคริสต์มาสของชาวคริสต์ โดยกลุ่มคนที่ชาวคริสต์เรียกอย่างดูถูกดูแคลนว่าพวกเพเกน (Pagan ในที่นี้แปลตรงตัวว่าพวกนอกศาสนาคริสต์) จะเชื่อกันว่าในระหว่างช่วงเทศกาลยูลนั้นจะมีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเกิดขึ้นถี่มากอย่างผิดปกติ และที่สำคัญคือจะมีขบวนของสิ่งลี้ลับที่เรียกว่า ‘นักล่าแห่งพงไพร’ (Wild Hunt) ปรากฏขึ้นกลางท้องฟ้า

          ขบวนนักล่าแห่งพงไพรนี้คือขบวนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับอันประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่ตายไปแล้ว, พวกเอลฟ์ หรือแม้กระทั่งเทวดาตัวน้อย (fairy) แต่จะมีผู้นำขบวนเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มชน แต่เรียกรวมกันในหมู่ชาวเยอรมันนิคกลุ่มใหญ่ว่า ‘โวดาน’ (Wodan) แต่พวกนอร์สรู้จักกันในชื่อของเทพเจ้าโอดินองค์เดิมนั่นแหละครับ

           แน่นอนว่าระหว่างที่เทพเจ้าโอดินนำฝูงขบวนนักล่าแห่งพงไพรข้ามผ่านฟากฟ้าในช่วงเทศกาลยูลที่ว่านี้ พระองค์ก็ทรงพาหนะเป็นเจ้าม้าแปดขาสเลย์ปนีร์นี่ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นระบุไว้ตรงกันอยู่มากว่า การที่เทพโอดินขี่เจ้าสเลย์ปนีร์นี่ข้ามผ่านฟากฟ้าในช่วงเทศกาลยูลนี่แหละ คือที่มาของความเชื่อที่ว่า ซานตาคลอสขี่รถเลื่อนที่เทียมไว้ด้วยกวางเรนเดียร์

           ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยนะครับที่ในปัจจุบันนี้ชาวนอร์วิเจียนเขายังเรียก เทศกาล ‘คริสต์มาส’ ด้วยภาษาดั้งเดิมของพวกตนเองว่า ‘Yule’ อยู่เลย

           ทุกวันนี้หลายๆ แห่งยังมีธรรมเนียมการมอบคุกกี้ผสมแครอทที่จะมอบให้คุณลุงซานต้าจึงไม่ใช่เหตุบังเอิญ เพราะแน่นอนว่าซานตาคลอสจะไม่ได้เก็บเอาไว้สวาปามคนเดียวหรอกนะครับ คุณลุงเคราเฟิ้มคนนี้จะเอาไปป้อนบรรดากวางเรนเดียร์ที่ใช้เทียมรถเลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแดชเชอร์ (Dasher), แดนเซอร์ (Dancer), แพรนเซอร์ (Prancher), วิเซน (Vixen), โคเม็ต (Comet), คิวปิด (Cupid), ดอนเดอร์ (Donder) และบลิตเซน (Blitzen) (ส่วนเจ้ากวางเรนเดียร์จมูกสีแดงตัวเดียวในฝูงที่ชื่อ รูดอล์ฟ (Rudolph) เพิ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่เมื่อพ.ศ. 2482) และอันที่จริงแล้วความที่เชื่อว่า คุณลุงซานต้ามีรถเลื่อนซึ่งเทียมไว้ด้วยฝูงกวางเรนเดียร์มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในกวีบทหนึ่งที่ชื่อ ‘Old Santeclaus with much delight’ มีข้อความตอนต้นระบุว่า ‘...ลุงซานตาคลอสผู้มากสุขสันต์ เรนเดียร์พาท่านผ่านคืนเหมันต์...’ (Old Santeclaus with much delight/ His reindeer drives this frosty night) พร้อมกับรูปประกอบ ซึ่งตีพิมพ์ในมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2364 เท่านั้น และนั่นก็แปลว่าความเชื่อเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เก่าแก่อะไรมากนัก

           แต่การที่ยังมีธรรมเนียมการใส่ ‘แครอท’ ของโปรดของเจ้าม้าสเลย์ปนีร์ผสมลงในคุกกี้ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเชื่ออย่างดั้งเดิม ก่อนจะกลืนกลายมาเป็นความเชื่อเรื่อง ‘ซานตาคลอส’ อย่างในปัจจุบันนี้ เจ้ากวางเรนเดียร์ทั้งหลายจึงต้องชื่นชอบรสชาติของคุกกี้ผสมแครอทไปด้วยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์อย่างที่ว่านี่เอง

 

 

 

          ภาพที่ 3: เทพโอดินทรงม้าแปดขาสเลย์ปนีร์ในเอกสารโบราณ พบที่ประเทศไอซ์แลนด์ เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2250-2350

         (ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Sleipnir)

 

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ