Museum Core
โรงเรียนดัดสันดาน พื้นที่อบรมเด็กนิสัยชั่วร้ายให้กลายเป็นพลเมืองดี
Museum Core
30 ก.ย. 63 11K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

โรงเรียนดัดสันดาน พื้นที่อบรมเด็กนิสัยชั่วร้ายให้กลายเป็นพลเมืองดี

 

 

 

แต่เดิมคำว่าดัดจริต ไม่ได้มีมีความหมายในเชิงลบ แต่เป็นคำที่มีความหมายกลาง ๆ กล่าวคือ ทำจริตให้น้อมไปตามต้องการ ดังเช่นในคำนำของหนังสือพิมพ์ดัดจริตที่ระบุถึงวัตถุประสงค์การพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว โดยเชื่อว่าการออกหนังสือพิมพ์นั้นช่วยชักนำความเจริญมาสู่ประเทศ    

 

“ดัดจริตจิตรประสงค์บรรจงดัด     ที่คดคัดง้างลงให้ตรงที่

ชี้แยบคายหลายกระบวนที่ควรชี้    ตามวิธีควรยึดประพฤติตาม

คะณะเรา, เขาสนุกทุกคะณะ       ห้ามโมหะหน่วงรั้งดังเราห้าม

ความสังเกตเหตุผลยุบลความ      จะพาข้ามห่วงโม่ห์โชว์รูปเอย” 

 

แต่ทว่าในเวลาต่อมาคำว่าดัดจริต กลับมีความหมายที่เปลี่ยนไป

                                              

ส.พลายน้อย ได้เล่าไว้ในหนังสือ เกร็ดภาษาหนังสือไทย เล่ม 1 โดยใช้นามปากกาว่า โสมทัต เทเวศร์ ว่า "ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มีโรงเรียนแห่งหนึ่งตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนดัดจริต ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯนี่เอง และอีกโรงเรียนหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาชื่อว่า โรงเรียนดัดสันดาน  โรงเรียนทั้งสองนี้จะแตกต่างกันก็เฉพาะเด็กที่เรียน โรงเรียนดัดจริต มีเด็กนักเรียนธรรมดา คือ นักเรียนที่พ่อแม่ส่งไปเรียนหนังสือเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กเกเรหรือไม่ การปกครองก็เป็นไปตามธรรมดาไม่ได้ใช้อำนาจอะไร ส่วนโรงเรียนดัดสันดานนั้น รับเฉพาะเด็กนักเรียนที่เหลือขอ เป็นเด็กเกเรที่พ่อแม่ไม่สามารถบังคับสั่งสอนให้ดีได้แล้ว ก็จะส่งไปอบรมสั่งสอนที่โรงเรียนนี้ เพื่อที่จะดัดสันดานที่ไม่ดีให้ดีขึ้น”

 

โรงเรียนดัดจริตที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพน ดังที่ ส.พลายน้อย กล่าวถึงนั้นอยู่ที่ไหน จากการสืบค้นเบื้องต้นพบว่า หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์  ผู้กล้าวิเคราะห์วิจารณ์ร่างธรรมนูญการปกครองของคณะราษฎร เป็นผู้หนี่งที่เคยเรียนที่โรงเรียนดัดจริต  โดยระบุว่าตั้งอยู่ในวัดราชผาติการาม ขณะที่ข้อมูลประวัติสมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส คำว่านักเรียนเก่าราชาธิวาสให้หมายถึงนักเรียนที่เคยศึกษาในโรงเรียนวัดราชาธิวาส โรงเรียนวัดส้มเกลี้ยง และโรงเรียนดัดจริต ที่มารวมกับโรงเรียนมัธยมราชาธิวาส เมื่อ พ.ศ.2463 ซึ่งวัดส้มเกลี้ยงดังกล่าวก็คือวัดราชผาติการาม จึงกล่าวได้ว่าโรงเรียนดัดจริตในกรุงเทพฯ นั้นเคยตั้งอยู่ที่วัดราชผาติการาม

 

ส่วนโรงเรียนดัดสันดานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น กล่าวให้ถูกต้อง คือโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับเด็กที่กระทำความผิดที่มีอายุยังไม่ครบ 18 ปี  ซึ่งเดิมชื่อว่าโรงเรียนดัดสันดาน ที่ย้ายมาจากเกาะสีชัง ทั้งนี้โรงเรียนดัดสันดาน ก็คือคุกสำหรับเยาวชนนั่นเอง โดยในสมัยที่ประเทศไทยยังใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 การปฏิบัติต่อเด็กที่กระทำความผิด  ศาลจะพิเคราะห์ถึงความรู้สึกผิดชอบของเด็กประกอบกับลักษณะของความผิดที่เด็กได้กระทำ แล้วจึงกำหนดโทษ ส่วนการควบคุมตัวเด็กที่กระทำความผิดนั้น จะควบคุมไว้ที่โรงเรียนดัดสันดาน

 

โรงเรียนดัดสันดาน ถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2540 และอยู่ภายใต้การดูแลของกองตระเวน  กระทรวงนครบาล  มีลักษณะ “เป็นคุกครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนครึ่งหนึ่ง”  ทำหน้าที่ควบคุมและดัดสันดานเด็กเกเร และเด็กเร่ร่อน ที่สมัยนั้นเรียกว่า “เด็กกลางถนน” และ“เด็กหน้าโรงบ่อน” ที่คึกคะนองและสร้างความวุ่นวายในสังคมเมือง รวมถึงมีแนวโน้มจะกลายเป็นโจรผู้ร้ายในอนาคต  อย่างไรก็ตามโรงเรียนดัดสันดานในยุคต้นนั้น ประสบปัญหาการดำเนินงานที่ไม่เป็นระบบตามหลักวิชา  ทำให้โรงเรียนดัดสันดานที่เกาะสีชังมีสถานะเป็นคุกกลางทะเล มากกว่าเป็นสถานศึกษาสำหรับปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการตราพระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พ.ศ. 2479 ขึ้น โดยบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ให้ปฏิบัติต่อเด็กที่ต้องคำพิพากษาหนักไปในทางฝึกอบรม ไม่ใช่การทำโทษดังเช่นแต่ก่อน กรมราชทัณฑ์จึงทำการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับเด็กที่กระทำความผิดที่มีอายุยังไม่ครบ 18 ปี  โดยหลวงบรรณสารประสิทธิ์ผู้รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เสนอรูปแบบโครงการจัดโรงเรียนดัดสันดานผสมกับโรงเรียนฝึกวิชาชีพ ที่มุ่งเน้นการอบรมปรับเปลี่ยนนิสัยและการฝึกอาชีพเพื่อให้เด็กเป็นแรงงานทางเศรษฐกิจในอนาคต 

 

เมื่อกรมประชาสงเคราะห์เข้ามาดูแล ได้เปลี่ยนจากการควบคุมและสร้างวินัยแก่เยาวชน เป็นการปฏิบัติและอบรมแก้ไขวามประพฤติของเยาวขนผู้กระทำผิดกฏหมายตามหลักสังคมสงเคราะห์ ที่เน้นการช่วยเหลือระยะยาวจนกว่าจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ภายใต้การดูแลของนักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และทำการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พ.ศ.2479 เพื่อโอนโรงเรียนฝึกอาชีพไปยังกรมประชาสงเคราะห์  แต่ถึงกระนั้นแนวคิดและวิธีสร้างวินัยในโรงเรียนฝึกอาชีพของกรมราชทัณฑ์ อาจเป็นต้นแบบให้กับนิคมเด็ก หรือโรงเรียนประชาสงเคราะห์ในเวลาต่อมา

    

แม้โรงเรียนดัดจริต กับโรงเรียนดัดสันดาน จะแตกต่างกันที่ผู้เรียน แต่ว่าอุดมการณ์สูงสุดของการอบรมสั่งสอนเยาวชนของชาติในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ การผลิตพลเมืองดีเพื่อเป็นกำลังของประเทศชาติ ดังโอวาทของพระยาพหลพลหยุหเสนาว่า

 

“ประเทศที่มีความสิวิไลส์ทั้งหลายได้มีการอบรมเด็กที่มีนิสสัย ชั่วร้ายให้เป็นเด็กดี เป็นพลเมืองดี และเป็นกำลังของประเทศชาติ เจ้าก็เป็นเด็กอยู่ในประเทศสยามซึ่งเป็นประเทศที่ได้ย่างเข้าสู่ความสิวิไลส์แล้ว จะต้องตั้งใจรับการอบรมสั่งสอนของผู้บังคับบัญชาจะได้เป็นพลเมืองดีเป็นกําลังของประเทศชาติของเราสืบต่อไปในภายหน้า” 

 

โอวาทดังกล่าวสะท้อนว่าโรงเรียนดัดสันดานก็คือพื้นที่อบรมเด็กนิสัยชั่วร้ายให้กลายเป็นพลเมืองดี

 

 

สรวิชญ์ ฤทธจรูญโรจน์

 

 

บรรณานุกรม

 

บันทึกความรู้ต่าง ๆ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ ทรงบันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ประทาน พระยาอนุมานราชธน. เข้าถึงจาก

 

นรนิติ เศรษฐบุตร. หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ เข้าถึงจาก

 

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (2559). โรงเรียนฝึกอาชีพ : พื้นที่ควบคุมเด็ก ในสถาบันราชทัณฑ์ไทย พ.ศ. 2479–2501.  เข้าถึงจาก

 

ส.พลายน้อย. เกร็ดภาษาหนังสือไทย (ฉบับปรับปรุง). เข้าถึงจาก

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ