Museum Core
เมื่อเจ้านายขุนนางจัดงานฉลองวันเกิดใหญ่โตกว่าวังหลวง
Museum Core
29 ก.ย. 63 489

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

เมื่อเจ้านายขุนนางจัดงานฉลองวันเกิดใหญ่โตกว่าวังหลวง

 

 

 

ธรรมเนียมการจัดงานวันเกิด เพิ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยจะมีใครเห็นว่าเป็นวันที่พิเศษกว่าวันอื่นแต่อย่างใด ทั้งนี้การจัดงานวันเกิดมักเกี่ยวของกับเรื่องทำบุญ ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมจึนหรือประเทศยุโรป อย่างไรก็ตามในพระราชพิธีสิบสองเดือนส่วนที่ว่าด้วยการเฉลิมพระชนมพรรษา กล่าวไว้ดังนี้

 

การเปลี่ยนปีสมัยก่อน นับเมื่อขึ้น 1 ค่ำเดือนห้าเป็นวันเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ เป็นวันทีอายุเพิ่มขึ้นอีกปีหนึ่ง หากเป็นเจ้านายก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ส่งเทวดาเก่า รับเทวดาใหม่ อาจมีการทำบุญเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน ทั้งนี้อยู่ในกรอบแบบพราหมณ์ที่มีพิธีกรรมทางพุทธเข้ามาเจือปนอย่างเล็กน้อย หากผู้ใดทำก็ต้องทำต่อเนื่องทุกปีไป หากว่างเว้นไปก็จะเชื่อว่าจะทำให้ไม่สบายหรือเกิดอันตรายกับตัวเอง ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมทำกัน อีกทั้งก็ไม่มีแบบแผนตายตัวว่าต้องทำอย่างไร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมาเกิดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เป็นบำเพ็ญพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี แต่ก็ไม่ตรงตามกำหนดวันที่บรรจบรอบ ตามสุริยคติกาลหรือจันทรคติกาลอย่างหนึ่งอย่างใด ลงลัทธิล่วงเข้าถึงปีใหม่ นับว่าพระชนมพรรษาเจริญขึ้นอีกปีหนึ่ง ก็สร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง

 

การทำบุญวันเกิดทุกๆ ปี ในเมื่อบรรจบรอบตามทางสุริยคติกาล เช่นทำกันทุกวันนี้เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นต้นเดิมมาแต่ยังทรงผนวชใช่ว่าจะตามอย่างจีนหรืออย่างฝรั่ง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าการซึ่งมีอายุมาถึงบรรจบครบรอบปีไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ควรยินดี เมื่อผู้มารู้สึกยินดีเช่นนั้น ก็ควรจะบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น สมกับที่มีน้ำใจยินดี และควรที่จะทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ควรที่จะบำเพ็ญการกุศล และประพฤติหันหาสุจริตธรรม วันเกิดปีหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปใกล้ต่อความมรณะอีกก้าวอีกคั่นหนึ่ง เมื่อรู้สึกมีเครื่องเตือนเช่นนี้ ก็จะได้บรรเทาความเมาในชีวิต ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นตัวอกุศลธรรมนั้นเสีย

 

การพระราชกุศลที่ทรงมาแต่ยังทรงผนวชก็ดี การเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทำเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วก็ดี จะว่าลงเป็นแบบอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่ได้เพราะไม่เหมือนกันทุกปี เคยมีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระปั้นหยา 10 รูป เป็นการอย่างน้อยๆ เงียบๆ เสมอมา

 

การจัดงานฉลองวันเกิดโดยเฉพาะวันแซยิด เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่เจ้านาย เมื่อคราวรัชกาลที่ 4 มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในครั้งนั้นมีเจ้านายขุนนางทำบุญวันเกิดกันชุกชุมขึ้นแล้ว เรียกว่าซายิดบ้าง แซยิดบ้าง เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาอายุห้าสิบเอ็ดคือห้าสิบถ้วน พวกจีนที่ประจบฝากตัวอยู่ทั่วกัน จะแนะนำขอร้องให้ทำอย่างไร จึงได้ทำกันขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังการทำบุญเช่นนั้นก็ดูทำทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ใหญ่ เป็นแต่ประชุมคนแสดงเกียรติยศให้ปรากฏว่ามีผู้นับถือมาก ตั้งโรงครัวเลี้ยงกันไปวันยังค่ำ ค่ำแล้วมีละคร และผู้ใดที่นับถือก็มีของไปช่วยไปให้กันอย่างของกำนัล การโรงครัวก็ไม่ต้องออกเงินออกทองอันใด เมื่อผู้ใดได้บังคับการกรมใดมีเจ้าภาษีสำหรับกรม ก็เกณฑ์เจ้าภาษีนั้นมาเลี้ยง แล้วขอแรงตั้งโต๊ะอวดป้านกันบ้าง เป็นการสนุกสนานครึกครื้นมาก ไม่เงียบๆ กร่อยๆ เหมือนการหลวง จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็พลอยพระราชทานของขวัญ ตามทางคำนวณวันเดือนปี ที่โปรดทรงคำนวณอยู่ คือพระราชทานทองทศเท่าปี เงินบาทเท่าจำนวนเดือน อัฐตะกั่วเท่าจำนวนวัน สำหรับให้ไปแจกจ่ายทำบุญ พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พรด้วย

 

เมื่อถึงงานแซยิดใครๆ ก็เป็นการเล่าลือกันไปหมู่ใหญ่ ตั้งแต่เริ่มงานจนงานแล้ว ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถึงเจ้านายลูกเธอต้องออกไปนอนค้างอ้างแรมกันก็มี เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีผู้ใดขาดได้ ถ้าไม่ช่วยงานแซยิดกันแล้วดูเหมือนเกือบไม่ดูผีกันทีเดียว เมื่องานข้างนอกๆ เป็นการใหญ่โตอยู่เช่นนี้ แต่การเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบรมมหาราชวังกร่อยอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่แต่จะมาเฝ้าก็ไม่มี แต่ที่สมเด็จเจ้าพระยานั้น ยิ่งมโหฬารดิเรกมากขึ้น งานแต่ก่อนๆ เคยทำมาทั้งตัวงานและบริวารเพียงเจ็ดวันแปดวัน “ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น มีละครมีงิ้วเลี้ยงดูเรื่อยเจื้อยไปกว่าสิบห้าวัน บรรดาเจ้าภาษีนายอากรที่มีงิ้ว หรือมีพวกพ้องมีงิ้วก็หางิ้วไปเล่นและเลี้ยงดูด้วย คนละสองวันสามวันจนทั่วกัน การทำบุญวันเกิด หรือที่เรียกว่าซายิดนั้น ผู้ใดทำได้ผู้นั้นจึงเป็นผู้มีเกียรติยศยิ่งใหญ่”

 

จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้การเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการครึกครื้นบ้าง อาศัยที่พระชนมายุครบ 60 ปี ต้องแบบข้างจีนเรียกว่าบั้นสิ้วใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็เห็นด้วย จึงได้คิดจัดการเป็นการใหญ่ มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่ท้องพระโรงหกสิบรูปเท่าพระชนมายุ แล้วป่าวร้องให้เจ้านายข้าราชการทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระทุกวังทุกบ้าน แล้วให้จุดประทีปตามวังเจ้าบ้านขุนนางราษฎรทั่วไป เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น จัดของถวายต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะคิดทำคิดสร้างขึ้น แต่ไม่สู้ทั่วกันนัก เจ้านายถวายมากกว่าขุนนาง พวกจีนก็ถวายเทียนดอกไม้และแพร มีเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมคล้ายออกแขกเมือง เจ้านายและขุนนางอ่านคำถวายชัยมงคลทีละคราว แล้วพระราชทานเหรียญทองคำตรามงกุฎหนักตำลึงทองแจกจ่ายทั่วไปเป็นอันมาก

 

งานเฉลิมพระชนมพรรษานั้นทำอยู่สามวัน มีเทศนา 5 กัณฑ์ มีสรงมุธาภิเษก การทั้งปวงนั้นก็เป็นรูปเดียวกันกับเฉลิมพระชนมพรรษาทุกวันนี้ทุกอย่าง เป็นแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยที่บ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น และคนทั้งปวงเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ในครั้งนั้นก็เป็นการเอิกเกริกสนุกสนานมาก โปรดให้มีหมายประกาศห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษานั้นด้วย แต่การต่อมาในปีฉลูปีขาลปีเถาะก็กร่อยๆ ไปเกือบจะลงรูปเดิม คงอยู่แต่พระราชกุศลแต่การข้างนอกยิ่งครึกครื้นใหญ่โตมากขึ้น ถึงมีจุดฟืนจุดไฟเลียนอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาออกไปอีกด้วย

 

ขณะการพระราชกุศลในวันประสูติ (การทำบุญวันเกิด) รัชกาลที่ 5 ทรงทำอย่างเงียบๆ ต่อมาเริ่มมีแบบแผนมากขึ้น แต่วันอาจมีการเลื่อนไปมา การเฉลิมพระชนมพรรษา ที่มีกำหนดงานอยู่เป็นปรกตินั้น เป็นสี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง คือวันที่ 19 เดือนกันยายน เป็นวันเริ่มสวดพระพุทธมนต์สะเดาะพระเคราะห์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ 20 เวลาเช้าพระสงฆ์ฉัน เวลาค่ำพระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ 21 เวลาเช้าฉันแล้วสรงพระมุรธาภิเษก เวลาเที่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการถวายชัยมงคล ถ้าปีที่เป็นปรกติไม่มีการไว้ทุกข์ในราชตระกูล มีการเลี้ยงโต๊ะในเวลาค่ำ ก็งดสวดมนต์ ไว้ต่อวันที่ 22 พระสงฆ์มหานิกายจึงได้สวดมนต์ที่ท้องพระโรง วันที่ 23 เช้าฉัน แล้วจึงได้มีเทศนาต่อไปอีก 4 กัณฑ์ ถ้าเช่นนี้งานเป็น 5 วัน ถ้าไม่มีเลี้ยงโต๊ะ พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์ ในวันที่ 21 วันที่ 22 ฉัน งานก็เป็น 4 วัน แต่การเทศนานั้นไม่แน่ บางเวลามีพระราชกิจอื่นหรือไม่ทรงสบาย ก็เลื่อนวันไปจนพ้นงานก็มี สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 3 วัน มักจะเริ่มในวันที่ 19,20,21 บางปีเลื่อนไปวันที่ 20,21,22 การที่เลื่อนไปเลื่อนมามักจะเป็นด้วยการเฉลิมพระชนมพรรษากระชั้นกันกับฉลองพระชนมพรรษานั้นอย่างหนึ่ง กระชั้นพระราชพิธีถือน้ำสารทอย่างหนึ่ง เป็นปีเปลี่ยนทักษา ซึ่งต้องสรงพระมุรธาภิเษก ตรงกำหนดเวลาเต็มนั้นอย่างหนึ่ง จึงจะกำหนดเอาแน่ทีเดียวนักไม่ได้ จำจะต้องฟังหมายสงกรานต์ หรือหมายที่ลงในราชกิจจานุเบกษาตามปีเป็นประมาณด้วย

 

หลังจากนั้นความนิยมจัดงานวันเกิดก็ขยายจากเจ้านายขุนนางชั้นสูงไปสู่สามัญชนทั่วไป

 

 

สรวิชญ์  ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

อ้างอิง

 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชพิธีสิบสองเดือน. เข้าถึงจาก

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ