Museum Core
จดหมายถึงพรานบุญ : สิ่งที่รัชกาลที่ 6 พบเห็นจากภาคใต้
Museum Core
29 ก.ย. 63 625

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

จดหมายถึงพรานบุญ : สิ่งที่รัชกาลที่ 6 พบเห็นจากภาคใต้

 

 

 


จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เนื้อหาเป็นการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจตามเส้นทางการเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. 2452 (ร.ศ. 128) ระหว่างวันที่ 8 เมษายน – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 รวม 54 วัน

 

พระราชหัตถเลขาฯ มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุรายวันจำนวน 12 ฉบับ บันทึกเหตุการณ์นับแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช ตามลำดับดังนี้

 


เป็นที่น่าสังเกตว่าพระราชหัตถเลขาฯ ทุกฉบับนั้น ทรงใช้พระนามแฝงในฐานะข้าราชบริพาร ชื่อ “นายแก้ว” บันทึกเหตุการณ์ตามเส้นทางเสด็จฯ ในแต่ละวัน และทยอยส่งจดหมายกลับกรุงเทพฯ เพื่อรายงานแก่ “ท่านพรานบุญ” ซึ่งทรงใช้เป็นพระนามแฝงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนกนาถ


ซึ่งที่มาของนามแฝงที่ใช้ในไทย เริ่มจากนักเขียนไทยเริ่มใช้นามปากกาหรือนามแฝงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้านายชั้นสูง และขุนนางไปศึกษาต่อในต่างประเทศกันมาก การอ่านและการแปลวรรณกรรมจากต่างประเทศ คงเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนไทยริเริ่มแต่งวรรณกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร ผู้แต่งเหล่านี้จึงเริ่มใช้นามปากกาในการเขียนหนังสือเช่นเดียวกับนักเขียนต่างประเทศ เช่น พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงรุ่นแรก ใช้นามปากกา แม่วัน ในการแปลนวนิยาย เรื่อง ความพยาบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ว่า ท้าวสุภัตติการภักดี เป็นพระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลงนิราศท้าวสุภัตติการ

 

ความสำคัญของเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดนี้มีเนื้อหาเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานที่เสด็จประพาสต่าง ๆ โดยละเอียดตลอดเส้นทางแล้ว ยังสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำนานท้องถิ่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน และข้อคิดต่าง ๆ ไว้อย่างแยบยล ด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย ยังผลให้ผู้อ่านได้รับสาระอย่างเพลิดเพลิน


ฉบับที่ 1 ระหว่างวันที่ 8 – 12 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ทรงบรรยายถึงบรรยากาศการเสด็จทางทะเล และเรื่องราวของผู้ที่ตามเสด็จ เมื่อถึงปากน้ำชุมพร เสด็จทอดพระเนตรการเก็บรังนกที่เกาะลังกาจิว และประทับแรมที่เมืองชุมพร

ฉบับที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองชุมพรโดยกระบวนช้างเพื่อเดินทางสู่เมืองระนอง ประทับแรมที่อำเภอกระบุรี

ฉบับที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 – 19 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จถึงเมืองระนองและประทับ ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองระนอง เช่น สุสานเจ้าเมืองระนอง บ่อน้ำพุร้อน เป็นต้น

ฉบับ 4 ระหว่างวันที่ 20 – 25 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองระนองโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมืองตะกั่วป่า เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองระนอง เช่น สุสานเจ้าเมืองระนอง เช่น เขาพระนารายณ์ เขาเวียง และทอดพระเนตรเทวรูปที่เขาเหนอ เป็นต้น จากนั้นเสด็จโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมือภูเก็ต

ฉบับที่ 5 ระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จถึงเมืองภูเก็ต มีพระราชกรณียกิจสำคัญ เช่น ทรงเปิดถนนเทพกษัตรีย์ ถนนวิชิตสงครามเห และโรงเรียนปลูกปัญญา

ฉบับที่ 6 ระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากภูเก็ตโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมืองพังงา เสด็จประสถานที่ต่าง ๆ เช่น เขาพิงกัน ถ้ำพุงช้าง ถ้ำน้ำผุดเป็นต้น

ฉบับที่ 7 ระหว่างวันที่ 4 – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองพังงาโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมืองกระบี่ เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ถ้ำลอด และเกาะปันหยี เกาะลันตา จากนั้นเสด็จต่อไปยังเมืองตรัง โดยเรือพระที่นั่งถลาง

ฉบับที่ 8 ระหว่างวันที่ 8 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จถึงเมืองตรังจากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อทอดพระเนตรสถานที่ราชการ และตลาดเมืองตรัง

ฉบับที่ 9 ระหว่างวันที่ 12 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองตรัง

ฉบับที่ 10 ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองตรัง เช่น เขาขาว เขาปินะ เป็นต้น

ฉบับที่ 11 ระหว่างวันที่ 21 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จเมืองนครศรีธรรมราชทอดพระเนตรวัดพระเนตรวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โบสถ์พราหมณ์ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ ฯลฯ และทรงเปิดการแสดงเรื่อง “ปล่อยแก่”

ฉบับที่ 12 ระหว่างวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองนครศรีธรรมราชโดยเรือพระที่นั่งถลาง และเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ

 

ภายหลังที่เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 ต่อมาโปรดให้พิมพ์หนังสือ “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้” ขึ้นในปีเดียวกัน ดังปรากฏหลักฐานจากคำชี้แจงในการพิมพ์ครั้งแรก ความว่า

 

“จดหมายเหตุเหล่านี้ ความตั้งใจเดิมก็ชั่วแต่จะส่งข่าวแต่โดยย่อ ๆ มาลงในหนังสือพิมพ์ “ชวนหัว” เพื่อให้ผู้ที่อยู่ทางสวนจิตรลดาได้ทราบระยะทางที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่ครั้นเขียน ๆ ไป ข้อความก็พิศดารขึ้นทุกที และจดหมายเหตุแต่ละฉบับก็ยืดยาวมากขึ้น แม้จะลงใน “ชวนหัว” ก็จะต้องแบ่งลงไปคราวละเล็กละน้อย จนอีกนานกว่าจะได้ลงตลอด เห็นว่ากว่าจะได้รู้เรื่องราวตลอดก็จะเนิ่นนานไปมาก จะชักให้ผู้อ่านคอยเบื่อนัก และเรื่องราวที่เล่าก็จะไม่เป็นเรื่องสดเสียแล้ว จึ่งตกลงรวบรวมจดหมายเหตุเหล่านี้ พิมพ์ขึ้นเสียในคราวเดียวเป็นเล่ม เพื่อจะได้จำหน่ายไปในหมู่ผู้ที่มีน่าที่เกี่ยวข้องอยู่ในส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ให้อ่านกันเล่นพอเป็นที่เพลิดเพลินในหมู่กันเองเท่านั้น”

 

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. (2558). จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้. กรุเทพฯ : กรมศิลปากร.


http://119.46.166.126/self_all/selfaccess9/m3/193/lesson3/page1.php

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ