Museum Core
หนังสือพิมพ์พูดได้ ในนิทรรศการ “ล่องรอย ราชดำเนิน”
Museum Core
25 ส.ค. 63 719

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

หนังสือพิมพ์พูดได้ ในนิทรรศการ “ล่องรอย ราชดำเนิน”

 

 


เชื่อหรือไม่ หนังสือพิมพ์พูด...นี่ไม่ใช่บทความเกี่ยวกับ “แฮรี่ พอตเตอร์” ที่จะมาเล่าความมหัศจรรย์ที่ภาพในหนังสือพิมพ์สามารถกระดุกกระดิกได้ แต่จะมาเล่าหนังสือพิมพ์ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถนำมายืนยันเหตุการณ์พร้อมยกตัวอย่างการนำมาใช้ในนิทรรศการ ล่องรอย ราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย

 

กรณีโลหะปราสาท เป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า ใครพูดความจริง เริ่มจากปัจจุบันและขยับไปหาความจริงในอดีต โดยให้หนังสือพิมพ์เป็นตัวพูด

 

ในขั้นแรกทางทีมทำนิทรรศการได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองเรื่อง “เฉลิมไทยบดบังความสวยงามของโลหะปราสาท” เป็นเหตุผลการทุบโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่เรามักจะเจอระหว่างทางการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำนิทรรศการ เรามีโอกาสได้เดินทางไปสัมภาษณ์บุคคลในปัจจุบันที่คิดว่าจะให้คำตอบได้ จึงสัมภาษณ์ คุณโดม สุขวงศ์ ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า

 

 

 

“เมื่อก่อนโลหะปราสาทยังดูเหมือนสร้างไม่เสร็จ ตรงนั้นถ้าจำไม่ผิดเป็นสลัม เพราะฉะนั้น อาคารศาลาเฉลิมไทยนี้ก็ช่วยบดบังสิ่งที่ครั้งหนึ่งยังดูไม่เรียบร้อย แต่ภายหลัง เขาปรับปรุงจนเสร็จ เฉลิมไทยก็บดบังความสวยงามนั้น ก็เลยถูกรื้อ...ตอนเมื่อเขาทุบเนี่ย ผมจำได้ว่ามีคนไปประท้วงกันนิดหน่อย มีคนเขียนบทความแสดงความเสียดายเพราะเป็นโรงหนังสำคัญโรงหนึ่งของประวัติศาสตร์...

 

...สำหรับผมนะโรงหนังเหมือนโบสถ์ เป็นศูนย์กลางวิถีชีวิต แทบทุกอาทิตย์สมัยที่ไม่มีทีวีคนก็ไปดูหนัง เป็นกิจวัตร เป็นวิถีชีวิต ไปเรียนรู้ ไปหาความบันเทิง โรงหนังเป็นเหมือนโบสถ์ที่เผยแพร่วิถีชีวิต ความดี ความเลว รัก โลภ โกรธ หลง”

 

โดม สุขวงศ์ ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

 

 

 

 


จากนั้นเราจึงหาหลักฐานมายืนยัน นั่นคือหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย ปรากฏว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า

 

 

 

“...โรงภาพยนตร์เฉลิมไทยนี้ ได้สร้างขึ้นติดกับวัดราชนัดดา อันเป็นวัดที่สวยงาม สร้างมาแต่รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสิ่งสำคัญซึ่งไม่มี ณ ที่อื่น ก็คือโลหปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นไว้ในที่นั้น เพื่อให้ตรงตามพระบาลีที่ได้กล่าวถึงโลหปราสาทไว้

 

การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาเสียโดยสิ้นเชิง ใครที่มาตามถนนราชดำเนินนอก ข้ามสะพานผ่านฟ้า แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดา อันเป็นสิ่งสวยงาม กลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทย อันเป็นโรงมหรสพ และมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งต่ำทรามกว่าสถาปัตยกรรมของวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง

 

กรุงเทพฯ จึงเสียวัดราชนัดดา หรือเอาวัดราชนัดดาไปซ่อนไว้ ไม่ให้ใครเห็นได้ง่ายมาเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี ทั้งนี้ก็แสดงให้เห็นว่า คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปหรือวัฒนธรรมของไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญหรือจำเป็นนักอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนั้น…”

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

 

ข้อความดังกล่าวมีที่มาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันอังคารที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ หน้า ๙ (บทความ - ซอยสวนพลู) ซึ่งค่อนข้างจะย้อนแย้งกับข้อมูลของคุณโดม สุขวงศ์ ก็รู้สึกว่าย้อนแย้งดี เป็นข้อมูลที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ผ่านความทรงจำได้ดี ว่าความทรงจำของคนก็อาจจะย้อนแย้งกัน จนได้พบกับหนังสือพิมพ์อีกหนึ่งฉบับที่ทำให้น้ำหนักข้อมูลของคุณโดมมีน้ำหนักขึ้น นั่นคือภาพของโลหะปราสาทที่รกร้าง

 

 

ดังนั้นพูดได้ว่าเฉลิมไทยที่สร้างใน พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ภาพในหนังสือพิมพ์ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นเวลาหลังเฉลิมไทยสร้างไปแล้วนั้น ยืนยันได้ว่าโลหะปราสาทเพิ่งงาม ไม่ได้งามมานานแล้วแล้วมาสร้างศาลาเฉลิมไทยบดบังทัศนียภาพ จึงไม่ค่อยจะยุติธรรมกับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยซึ่งมองว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งการเปรียบเทียบถึงความงามว่าสิ่งใดต่ำทรามกว่าสิ่งใดนั้นน่าจะไม่ค่อยเข้าที

 

ด้วยข้อจำกัดของเวลาในการทำนิทรรศการ การย้อนเวลาไปสอบปากคำจากเจ้าหนังสือพิมพ์เป็นอันจบลงเท่านี้ในกรณีของข้อกล่าวหาว่าเฉลิมไทยบดบังทัศนียภาพโลหะปราสาท หากผู้อ่านรักความยุติธรรมและพอมีเวลา ท่านลองไปนั่งค้นคว้าและจับเจ้าหนังสือพิมพ์มานั่งสนทนาบนโต๊ะของท่าน อาจจะพบหนังสือพิมพ์ที่เรียงรายกันเข้ามาให้ปากคำกับท่าน และท่านจะได้ใกล้เคียงความเป็นจริงในอดีตมากขึ้น

 


…...ก็เพราะหนังสือพิมพ์พูดได้

 

 

 

 


รัชนก พุทธสุขา

 

 

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

 

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันอังคารที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ หน้า ๙


สัมภาษณ์

โดม สุขวงศ์ ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ