การเต้นรำ หรือ ลีลาศ มีความหมายอย่างเดียวกัน คือกิริยาที่เคลื่อนไหวอย่างงดงามเข้ากับจังหวะดนตรี ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Ballroom Dancing” ซึ่งเป็นการการจับคู่เต้นรำอย่างมีแบบแผนระหว่างชายและหญิงตามจังหวะดนตรีเพื่อความสนุกสนานในการออกงานสังคม
แรกเริ่มเมื่อมีลีลาศในประเทศไทย ยังเป็นที่นิยมในวงแคบเฉพาะหมู่เจ้านายชั้นสูง จากบันทึกของนางแอนนา ลีโอโนเวนส์ ทำให้ทราบว่ามีการเต้นรำหรือการลีลาศแล้วในประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากหลังจากที่ได้กลับมาจากดูละคร นางแอนนาได้ทูลเรื่องการเต้นรําพร้อมกับแสดงท่าทางการเต้นวอลซ์โดยพระองค์ทรงฟังอยู่อย่างนิ่งเฉย เมื่อนางแอนนาเริ่มแสดงท่าทางการเต้น พระองค์จึงได้ตรัสกับนางว่า การเต้นวอลซ์ไม่ควรเต้นใกล้กันจนเกินไป พร้อมกับทรงแสดงการเต้นรำให้นางแอนนาได้เห็น สร้างความประหลาดใจให้กับนางแอนนาว่าเหตุใดพระองค์จึงสามารถลีลาศได้ เมื่อทูลถามพระองค์ท่านก็ไม่ได้รับคำตอบว่าผู้ใดเป็นคนสอนพระองค์
รวมทั้งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปิดวังจัดงานเลี้ยงให้แก่ชาวต่างชาติ ซึ่งมีการเต้นรำแบบยุโรปให้คน ไทยได้เห็นกันบ้าง ในหนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok recorder ของหมอบรัดเลย์ได้กล่าวถึงการเต้นรำแบบบอลรูม ซึ่งเป็นที่นิยมมากในประเทศแถบยุโรป โดยงานเต้นรำในครั้งนั้นใช้แตรวงของเจ้าพระยากลาโหมในการบรรเลง
สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ในขณะดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ส่งบัตรเชิญแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานเต้นรำที่บ้านของท่าน ในวาระการเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขอเชิญ “มาประชุมแดนซิ่ง” สมัยรัชกาลที่ 6 ร้านกาแฟนรสิงห์ ถือเป็นสถานที่แรกที่จัดให้มีการเต้นลีลาศในสถานบันเทิง และมีการขยายไปยังภัตตาคารจีน
การเต้นรําในช่วงแรกจำกัดอยู่ในชนชั้นสูงและชาวต่างชาติ เนื่องจากเป็นของแปลกและข้อปฏิบัติหลายอย่างค่อนข้างขัดกับวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะการเต้นรำของชาวยุโรปที่ต้องจับคู่ระหว่างชายหญิง มีการถูกเนื้อต้องตัวอย่างแนบชิด และสามารถเปลี่ยนคู่เต้นรำได้ ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมไทยยังไม่สามารถยอมรับได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากอาจเกิดข้อครหา ถูกตําหนิจากคนในสังคมได้
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม สนับสนุนให้คนไทยเต้นรำภายใต้นโยบายส่งเสริม “วัธนธัม” (วัฒนธรรม) อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศ มีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมารำวงซึ่งดัดแปลงมาจากการำโทน แต่ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองรวมทั้งคนหนุ่มสาวในยุคนั้นไม่นิยม เพราะรู้สึกว่าไม่ทันสมัยเหมือนกับการลีลาศ
มีการก่อตั้ง “สมาคมสมัครเล่นเต้นรํา” ในปี พ.ศ.2475 มีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ เป็นนายกสมาคม และนายหยิบ ณ นคร เป็นเลขาธิการสมาคม ต่อมาเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น จึงจัดงานลีลาศขึ้นที่สมาคมคณะราษฎร์ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร์จัดงานเลี้ยงฉลองที่วังสราญรมย์ เมื่อมีการลีลาศบ่อยขึ้น จึงได้ริเริ่มการจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกที่วังสราญรมย์
ในปีพ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) บัญญัติศัพท์คำว่า “ลีลาศ”ขึ้นมา เนื่องจากชื่อเดิมของสมาคมถูกล้อเลียนจากกลุ่มนักศึกษาในสมัยนั้นโดยการผวนคํา “เต้นรํา” จึงได้บัญญัติคําใหม่เป็น “ลีลาศ” และความนิยมในการเต้นลีลาศขยายวงกว้างสู่ประชาชนเกือบทุกชนชั้น ดังเห็นได้จากการจัดทําคู่มือเพื่อการเต้นลีลาศในจังหวะมาตรฐาน พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2494 โดยร้อยเอกประสบ วรมิตร
และวงลีลาศประจำกรมโฆษณาการ ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2482 การการดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบหมายให้พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์เป็นผู้ควบคุมวง มีส่วนสำคัญทำให้การลีลาศแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ลีลาศเป็นที่แพร่หลายมากสู่ประชาชนทั่วไป ทั้งสถานที่สาธารณะและ โรงแรมภัตตาคาร ร้านอาหาร เช่น เช่น สวนลุมพินี สวนอัมพร สถานตากอากาศบางปู ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร) โรงแรมยุโรป โรงแรมทร็อคคาเดโร โรงแรมสยาม โรงแรมโอเรียลเต็ล ไนต์คลับ เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถานที่มีจุดเด่นเฉพาะแบบของตน เช่น เวทีลีลาศสวนลุมพินี สามารถหมุนสลับการบรรเลงระหว่างวงดนตรีสองวงได้ ทันสมัยมาก
มีการคิดค้นเพลงเต้นรำที่มีจังหวะแบบไทย โดยครูล้วน ควันธรรม หนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีกรมโฆษณาการนำจังหวะของหนังตะลุงที่เป็นศิลปะการแสดงเอกลักษณ์ของภาคใต้มาพัฒนาให้เป็นบทเพลงเต้นรำ เรียกว่า ตะลุงเท็มโป (Taloong tempo) จังหวะตะลุงนี้ได้รับการพัฒนาและเป็นที่นิยมในสังคมไทย และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาการลีลาศได้รับความนิยมน้อยลงเป็นเพราะเป็นการเต้นรำที่ต้องเคลื่อนไหวตามจังหวะอย่างมีแบบแผน ถูกแทนที่ด้วยการเต้นรำแบบใหม่ที่มาจากความนิยมในดนตรีร็อคแอนด์โรล และดิสโก้ ซึ่งเน้นการเต้นรำในท่วงท่าอย่างอิสระไม่ถูกบังคับด้วยแบบแผนการเต้น
อย่างไรก็ตามการเต้นลีลาศยังคงได้ร้บความนิยมเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะวัยรุ่นยุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีแล้ว ซึ่งเกิดและเติบโตมาในยุคลีลาศเฟื่องฟู มีสถานที่ให้บริการเต้นลีลาศมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนราชดำเนินที่สมัยหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมบันเทิง สถานบันเทิงไนต์คลับต่างจัด “ฟลอร์” ไว้สำหรับนักเต้นโดยเฉพาะ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม กิจกรรมที่ผู้สูงวัยไทยให้ความนิยมสูงสุดคือ กิจกรรมลีลาศและร้องเพลง ดังพบเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่พยายามจัดกิจกรรมให้ผู้สูงวัยทำหลังเกษียณ เพราะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานคลายเครียด และทำให้ผู้สูงวัยได้ย้อนระลึกถึงอดีตที่ “เฟี้ยวฟ้าว” ของตนเอง
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม
กมลธรรม เกื้อบุตร. (2557). ดนตรีเต้นรำในสังคมและวัฒนธรรมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ดนตรี). มหาวิทยาลัยมหิดล, สาขาวิชาดนตรี, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. เข้าถึงจาก https://dric.nrct.go.th/Search/SearchDetail/289426
กมลธรรม เกื้อบุตร. (2559). ดนตรีแจ๊สในสังคมไทยในยุคเริ่มต้น ใน นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 12: วิจัยและนวัตกรรมกีบการพัฒนาประเทศ. เข้าถึงจาก http://conference.nu.ac.th/nrc12/dFiles/proceeding/NRC12v3.pdf
มณิศา วศินารมณ์ และ สวภา เวชสุรักษ์. (2561). การสร้างสรรค์นาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง. Veridian E-Journal, มหาวิทยาลัยศิลปากร. ฉบับภาษาไทยสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปะ
ปีที่11ฉบับที่3 เดือนกันยายน– ธันวาคม. เข้าถึงจาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/161095/116166
ยุวรี โชคสวนทรัพย์. (2554). กิจการสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2488-2545. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าถึงจาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000006624