Museum Core
ความศักดิ์สิทธิ์ของชุดครุย
Museum Core
13 ก.ค. 63 884
มิวเซียมสยาม

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของชุดครุย

 

ในวันฉลองความสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือวันรับปริญญาเป็นความใฝ่ฝันและความภาคภูมิใจของบัณฑิตใหม่ที่จะได้รับปริญญาบัตรและสวมชุดครุยแสดงวิทยฐานะประจำสถาบันอันทรงเกียรติ แม้ว่าวัยรุ่นยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรน้อยลง แต่อย่างน้อยก็อดไม่ได้ที่จะใส่ชุดครุยเพื่อถ่ายรูปกับคนในครอบครัว หรือกับเพื่อนสนิท


หากแต่ความเป็นมาของการสวมใส่ชุดครุยแสดงวิทยฐานะของประเทศอื่น ๆ แตกต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การสวมชุดครุยของนักศึกษาในยุโรปสมัยศตวรรษที่12 นั้นเป็นการสวมใส่เสื้อคลุมที่มีหมวกคลุมศีรษะ (Hood) เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นจากภูมิอากาศหนาว หรือในสหรัฐอเมริกานั้นยุคที่อังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคม มหาวิทยาลัยบางแห่งกำหนดให้นักศึกษาสวมเสื้อครุยเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษา ชุดครุยจึงเป็นเพียงเครื่องแต่งกายนักศึกษา แต่หลังจากประกาศเป็นอิสรภาพจากอังกฤษ จึงเกิดธรรมเนียมการสวมชุดครุยเฉพาะวันรับปริญญาเท่านั้น


ในขณะที่ความเป็นมาของชุดครุยวิทยฐานะของไทยนั้น แรกเริ่มนั้นจัดเป็นชุดพระราชทาน ทั้งนี้เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้ “นิสสิต” ผู้สอบไล่ได้ใช้เสื้อครุยและติดเข็มตราโรงเรียนไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้ายของเสื้อครุย ซึ่งทั้งเสื้อครุยและเข็มตราโรงเรียนนี้ถือเป็นการประกาศเกียรติยศว่าสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ต่อมาเมื่อประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งปีพ.ศ.2473 จึงมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ทำการส่งจดหมายเชิญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงต่าง ๆ เอกอัครราชทูตของประเทศที่ส่งมาประจำในประเทศไทย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เพื่อร่วมในงานพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แต่เดิมนั้นครุยเป็นเสื้อคลุมสำหรับข้าราชการเพื่อประดับเกียรติยศ สวมทับบนเครื่องแบบเต็มยศตามหน้าที่ในพระราชพิธี ซึ่งในพระราชกำหนดเสื้อครุย รศ.130 ระบุว่า “ผู้ที่จะสรวมเสื้อครุยนั้น ต่อไปให้สรวมได้แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์หรือมีตำแหน่ง หรือยู่ในจำพวกที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต”


ด้วยเหตุนี้จึงต้องขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน จึงได้มีการออกพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดให้ใช้ผ้าโปร่งสีขาว ผู้สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิตใช้พื้นสำรดสีดำ ระดับดุษฎีบัณฑิตใช้พื้นสำรดสีแดงชาด มีแถบสีประจำคณะบริเวณเส้นแสดงระดับของวุฒิ ติดเข็มบัณฑิตรูปพระเกี้ยวบริเวณหน้าอก โดยรวมมีลักษณะเดียวกับเสื้อครุยของพระยาแรกนาขวัญ เสื้อครุยที่ใช้แสดงเครื่องยศในพระราชพิธีของเสนาบดีต่าง ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตามชุดครุยในความหมายของชุดครุยพระราชทานนั้น หมายถึง ชุดครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ สามารถออกแบบครุยวิทยฐานะขึ้นเองโดยไม่ต้องขอพระราชทาน


ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐจะถูกกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา เช่น “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2554” ที่กำหนดให้ชุดครุยทำจากผ้าแพรหรือผ้าเสิร์จสีดำ ตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมยาวเหนือข้อเท้าพอประมาณคล้ายชุดครุยของเนติบัณฑิต แต่มีพาดบ่าด้วยผ้าสีแบ่งตามคณะและมีเข็มวิทยฐานะเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น และในข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยลักษณะ ชนิด ประเภท ส่วนประกอบ และโอกาสและเงื่อนไขการใช้ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ พ.ศ.2558 ก็กำหนดโอกาสและเงื่อนไขการใช้ชุดครุยวิทยฐานะให้ถูกต้องตามกาลเทศะ และเหมาะสมในพระราชพิธี งานรัฐพิธี.. เป็นต้น


และอาจช่วยตอบคำถามได้ว่าทำไมสังคมไทยจึงมองชุดครุยในภาพรวมว่าเป็นของสูง หรือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และผู้แต่งชุดครุยอย่างไม่เหมาะสมมักได้รับลงโทษทางสังคมโดยการถูกติเตียนว่ากล่าวอย่างรุนแรง

 

ด้วยเหตุนี้ชุดครุยแสดงวิทยฐานะของไทยจึงมีแนวความคิดเดียวกับชุดครุยที่ข้าราชการใช้สวมใส่ในพระราชพิธีของราชสำนัก ที่แสดงให้เห็นชัดในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ขณะที่ประเทศอื่น ๆ วันดังกล่าวเป็นเพียงแห่งการเฉลิมฉลองในการมอบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่จบการศึกษาอย่างเป็นทางการ (Graduation ceremony) เท่านั้นเอง

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของชุดครุย

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

บรรณานุกรม


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เสื้อครุยพระราชทาน. เข้าถึงจาก 

 

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2454. เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก

 

พระราชกำหนดเสื่อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2473. (2473, 6 กรกฏาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 47 หน้า 92-95.

 

ระเบียบการแต่งกายทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2457, 6 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 31 หน้า 2011 เข้าถึงจาก 

 

 

ฝ่ายวิชาการ กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. การแต่งกายเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร. เข้าถึงจาก 

 

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (2554). สูจิบัตรนิทรรศการปรากฏการณ์อินเทรนด์ไม่เว้นวรรค. เข้าถึงจาก


หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.(7 พฤศจิกายน 2552). พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม. เข้าถึงจาก


Siwakorn Nakboonchai. (Oct 19, 2018). เสื้อครุยมาจากไหน แล้วทำไมเรียนจบแล้วต้องสวมเสื้อครุยรับปริญญา. เข้าถึงจาก

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ