"ซุ้มรับเสด็จฯ" งานฉลองแรกที่ราชดำเนิน

Museum Core

12 ก.ค. 63
2K
“ซุ้มรับเสด็จฯ” งานฉลองแรกที่ราชดำเนิน
ภายหลังจากที่ถนนราชดำเนินสร้างเสร็จ มีงานฉลองที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรก คือ งานฉลองรับเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร จากการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 โดย ยุวดี ศิริ ได้ศึกษาไว้ในหนังสือ “ซุ้มรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งการรับเสด็จครั้งนี้เพื่อเป็นการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากเสด็จไปรักษาพระองค์นานถึง 7 เดือน และยังเป็นการเตรียมงานรัชมังคลาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีที่รัชกาลที่ 5 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า และสมโภชสิริราชสมบัติในงานมหามงคลที่พระองค์ปกครองแผ่นดินยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น โดยพระราชพิธีดังกล่าวได้รวมเอางานพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้าเข้าไว้ด้วย ประชาชนจึงเฝ้ารอคอยและต้อนรับการเสด็จกลับมาอย่างปีติยินดี และร่วมใจกันบริจาคทรัพย์เพื่อการสร้างซุ้มรับเสด็จ
“ซุ้มรับเสด็จ” ตลอดแนวถนนราชดำเนินตั้งแต่พระบรมมหาราชวังไปจนถึงพระราชวังดุสิตมีทั้งสิ้น 10 ซุ้ม ตามความรับผิดชอบของกระทรวงต่าง ๆ และโรงเรียนนายร้อยทหารบก ซุ้มที่คนส่วนใหญ่พูดถึงความสวยงามคือ ซุ้มช้างของกรมยุทธนาธิการ ซึ่งตกแต่งบริเวณท้องสนามหลวง ตามที่ข่าวของหนังสือบางกอกไทม์ลงข่าวว่า
“ซุ้มช้าง” เป็นซุ้มที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นซุ้มที่สวยงามที่สุด ประกอบด้วย ช้างศึกสองเชือก แต่ละเชือกอยู่บนฐานสีทอง ยืนอยู่คนละฝั่งของถนน ชูงวงขึ้นอันเป็นการถวายการต้อนรับ โดยปลายงวงได้เทินรับพระเกี้ยวขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ตรงกลางของถนน เข้าใจว่าซุ้มนี้ได้รับการออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมทหาร (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงษ์วรเดช) หลังของช้างทุ้งสองเชือกคลุมด้วยผ้าลายสีทอง เชือกและบังเหียนก็เป็นสีทอง และมีควาญช้างขนาดเท่าคนจริงเชือกละ ๒ คนนั่งอยู่ บนเสี่ยงมีฉัตรทอง ๕ ชั้น”

นอกจากความสวยงามของซุ้มแล้ว ประติมากรรมของซุ้มรับเสด็จยังบ่งบอกถึงการศิลปะที่หลากหลาย เช่น ซุ้มกระทรวงกลาโหมที่จัดสร้างเป็นศิลปะแบบไทย
ซุ้มกระทรวงนครบาลที่จัดสร้างเป็นศิลปะแบบจีน

ซุ้มกระทรวงยุติธรรมที่จัดสร้างเป็นศิลปะแบบล้านนา

ซุ้มกระทรวงการเกษตราธิการ จัดสร้างเป็นศิลปะแบบอิสลาม

ซุ้มกระทรวงมหาดไทยที่มีลักษณะคล้ายหอไอเฟล โดยซุ้มนี้เลียนแบบโครงสร้างเหล็กและแนวความคิดส่วนหนึ่งมาจากหอไอเฟล โดยตัดฐานและยอดออก คงไว้แค่ส่วนตรงกลาง ในขนะนั้นหอไอเฟลนับเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เน้นด้านโครงสร้างที่มีความสูงที่สุดในโลก และเป็นประตูทางเข้าสู่งาน International Exhibition Paris 1889 - 1910 ส่วนตอนบนของซุ้มได้ถูกสร้างเป็นศาลาคล้ายหอคอยที่มุมทั้งสองข้างมีหลังคาแบบตะวันตก มีเฉลียงรอบ

และในการเตรียมงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทางกระทรวงโยธาธิการจึงจัดสร้างซุ้มจำลองให้ประชาชนได้เห็นภาพตัวอย่างพระบรมรูปทรงม้าที่จำทำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยสร้างรูปจำลองพระพฤหัสทรงกวางและบริเวณรอบซุ้มคล้ายกับพระราชวังในอิตาลี ตั้งอยู่ในตำแหน่งของลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะเสด็จเข้าในพระราชวังดุสิต หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์รายงานข่าวว่า
“ซุ้มของกระทรวงโยธาธิการ ออกแบบเป็นแบบตะวันตก สูงสง่าและรองรับด้วยแถวเสารูปโค้ง ซุ้มนี้เป็นซุ้มที่ชื่นชมกล่าวขวัญของคนส่วนใหญ่เช่นกัน ได้มีการวางแผนไว้ว่าจะมีการสร้างตามแบบจำลองนี้ใหม่ด้วยหินอ่อนเพื่อเป็นที่ระลึกเฉลิมฉลองรัชกาล”
นอกจากนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเกี่ยวกับซุ้มกระทรวงโยธาธิการว่า “ทำเทียบเป็นตัวอย่างที่จะสร้างพระบรมรูปทรงม้า”

ซุ้มรับเสด็จฯเหล่านี้นอกจากเป็นการก่อสร้างซุ้มขนาดใหญ่ที่แสดงถึงความสวยงามแล้ว ยังแสดงถึงวิวัฒนาการความเจริญของประเทศ ทั้งในด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ซึ่งงานฉลองรับเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร จากการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 นี้เป็นครั้งแรก ๆ ที่นำมาสู่ความสำคัญของถนนราชดำเนินในฐานะพื้นที่การจัดงานพระราชพิธี

รัชนก พุทธสุขา
แหล่งอ้างอิง
Museum Siam Knowledge Center