รถสามล้อถีบ หายไปจากกรุงเทพฯ ตอนไหน ?
Museum Core
12 ก.ค. 63
15K
รถสามล้อถีบ หายไปจากกรุงเทพฯ ตอนไหน ?
รถสามล้อถีบเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ครั้งสมัครเข้าทำงานในบริษัทเดินอากาศ และได้รับการคำสั่งให้ย้ายไปประจำอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา 5 ปี นายเลื่อน พงษ์โสภณ ได้ใช้เวลาว่างขณะที่ประจำการอยู่ที่นั้นคิดค้นประดิษฐ์รถสามล้อขึ้น โดยนำรถลากหรือรถเจ็กมาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน คือ รถจักรยานสองล้อที่เพิ่มล้อหลังทางด้านซ้ายมือขึ้นอีกล้อหนึ่ง ระยะห่างระหว่างล้อหลังทั้งสองประมาณ 1 เมตร ระหว่างล้อทั้งสองนั้นทำเป็นพื้นด้วยไม้กระดาน บนกระดานขึ้นไปใช้เก้าอี้หวายตั้งไว้ตัวหนึ่ง สำหรับให้ผู้โดยสารนั่ง ใช้เวลาประดิษฐ์ประมาณ 1 ปีก็ประสบความสำเร็จ และนำรถสามล้อถีบเข้ามาจดทะเบียนในจังหวัดกรุงเทพฯ โดยนายเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นผู้ขับขี่ด้วยตนเอง ซึ่งในครั้งนั้นนายพันตำรวจตรี หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ทดลองนั่งรถสามล้อเป็นคนแรก
รถสามล้อถีบของนายเลื่อน พงษ์โสภณถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อที่เห็นในการใช้รับส่งผู้โดยสาร จนมีการเอาแบบอย่างไปทำรถสามล้อถีบของตนเองกันมาก ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดรูปร่างและลักษณะของรถสามล้อไว้เป็นมาตรฐานทั่วกันดังนี้ คือ มีที่สำหรับผู้ขับขี่นั่งอยู่ตอนหน้าและผู้โดยสารนั่งอยู่ตอนหลัง, ตัวรถสำหรับผู้โดยสารนั่ง มีรูปเป็นตัวถัง, มีประทุนกันฝนและแดดสำหรับผู้โดยสาร, ระยะห่างระหว่างล้อหลังไม่น้อยกว่า 1 เมตร และไม่เกินกว่า 1.10 เมตร, น้ำหนักรถไม่เกิน 80 กิโลกรัม, มีโคมไฟข้างละไม่น้อยกว่า 1 ดวง โดยใช้กระจกสีขาวด้านหน้า สีแดงด้านหลังติดไว้ให้เป็นส่วนกว้างของตัวถังรถ โดยให้เห็นแสงไฟทั้งจากข้างหน้าและข้างหลัง, มีห้ามล้อที่ใช้การได้ดีไม่น้อยกว่า 2 อัน
รถสามล้อถีบกลายเป็นที่นิยมมากจนแพร่กระจายไปทั่วกรุงเทพมหานคร หากศึกษาจากภาพเก่าก็จะสังเกตเห็นภาพรถสามล้อถีบเรียงรายรอรับส่งผู้โดยสารในพระนคร โดยเฉพาะในย่านสถานที่ราชการ ออฟฟิศ ชุมชน ที่มีผู้คนสัญจรไปมามากมาย ก็จะมีสามล้อถีบมากเป็นพิเศษ เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนเยาวราช เป็นต้น
ต่อมา พ.ศ. 2502 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ จึงมีประกาศยกเลิกสามล้อถีบในเขตพระนครและธนบุรี ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ของปีหน้าเป็นต้นไป โดยพล.อ. ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า
“เนื่องจากในทั้งสองจังหวัดมีปัญหาการจราจรหนาแน่น สามล้อยิ่งทำให้การจราจรเคลื่อนช้าลง สิ้นเปลืองทั้งเวลาและเชื้อเพลิงของผู้มีรถยนต์ และส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ”
และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติล้อเลื่อน ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2502 ดังนี้
“...มาตรา ๕ ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต่นไปในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้งด
(๑) การจดทะเบียนและออกใบอนุญาตรถจักรยานตั้งแต่สามล้อขั้นไป ที่ใช้สำหรับนั่งส่วนบุคคลและสำหรับรับจ้าง
(๒) การจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานตั้งแต่สามล้อขึ้นไปที่ใช้สำหรับนั่งส่วนบุคคลและสำหรับรับจ้าง...”
อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับนี้ไม่ได้ห้ามรถสามล้อเครื่อง เนื่องจากยังมีประโยชน์ต่อผู้คนที่ต้องการขนส่งสิ่งของ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนถีบสามล้อในกรุงเทพฯ กว่า 15,000 คนต้องตกงาน โดยคนถีบสามล้อกว่า 10,000 คนเป็นคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมประชาสงเคราะห์จะช่วยหางานใหม่ให้คนถีบสามล้อ และจ่ายค่ารถไฟเพื่อให้เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดเท่านั้น
รัชนก พุทธสุขา
แหล่งอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2555). กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485 - 2554. กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์.
เมตต์ เมตต์การุณ์จิต. (2560, 16 ธันวาคม). สามล้อคันแรกของไทย. หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562, จาก อ่านออนไลน์
กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พุทธศักราช 2478. (2479, 3 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 53 หน้า 106.
พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2502. (2502, 1กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่76 ตอนที่ 84 หน้า 361.