สยามที่หมอบลัดเล ไม่คุ้นเคย

Museum Core

12 ก.ค. 63
553
“สยาม” ที่ หมอบลัดเล ไม่คุ้นเคย
หมอบลัดเลเป็นคนสำคัญ ที่เป็นบุคคลสำคัญในคณะมิชชันนารีอเมริกัน คณะ บอด คอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ ฟอเรน มิชชันส์ ซึ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘
หมอบลัดเลดู ร. ๓ เสด็จผ่าน โดยที่ชาวสยามดูไม่ได้
นายกลิ่นเจ้าของที่ดินที่กลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกัน รวมถึงหมอบลัดเล ที่ตั้งที่อยู่เป็นแพอยู่แถว ๆ บริเวณหน้ากุฎีจีน “วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๗๘ นายกลิ่น มาขับไล่พวกมิชชันนารีอีก ว่าถ้าในหลวงเสด็จผ่านมาเห็นเข้าตัวเขาจะต้องถูกลงพระราชอาญาอย่างหนัก และอีกราว ๒๐ วัน ในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค มาทางวัดเกาะ ฉะนั้นขอให้พวกมิชชันนารีรีบย้ายไปเสียก่อนกำหนดเสด็จพระราชดำเนินนี้ให้ได้”
ทำให้วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ จึงต้องย้ายจากที่อยู่เดิมไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตามที่อยู่ของคนรู้จัก หมอบลัดเลและครอบครัวจึงย้ายไปอยู่บ้านสันต ครูส์ (กุฎีจีน) ซึ่งเรื่องที่จะต้องย้ายที่อยู่นั้นเรื่องมาจากว่าราชสำนักสยามรังเกียจด้วยพวกมิชชันนารีอยู่ใกล้ชิดและเป็นผู้ที่พวกชาวจีนนับถือ เกรงว่าเมื่อพวกมิชชันนารีมีพวกจีนเป็นพวกมาก ๆ แล้วจะชักชวนกันกำเริบ ซึ่งต่อมาพวกมิชชันนารีอเมริกันย้ายไปอยู่ฝั่งคลองอีกฟากหนึ่งใกล้กลับพวกโปรตุเกส มีห้างอังกฤษอยู่ระหว่างกลาง (ที่ริมแม่น้ำตรงข้ามวัดประยุรวงศาวาส) พวกมิชชันนารีทำสัญญาเช่ากับเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังปลูกเรือนให้พวกมิชชันนารีอยู่ ๒ หลัง เป็นเรือนขนาดใหญ่คิดค่าเช่าเดือนละ ๖๕ บาท เป็นเรือนไม้ที่มุงด้วยกระเบื้องแบบเดียวกับวัด มีระเบียงรอบและแข็งแรงดี
ในวันที่ รัชกาลที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ พวกมิชชันนารีอเมริกันไปอยู่ที่เรือ “ปิรามัส” เพื่อคอยดูในหลวงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปพระราชพระกฐินตามอารามต่าง ๆ ที่อยู่ริมน้ำ ซึ่งตามธรรมเนียมโบราณถือว่าเป็นการไม่สมควรนักที่จะดูในหลวงเสด็จผ่าน ทุกคนต้องหลบและประตูหน้าต่างก็ต้องปิด เรือต่าง ๆ ก็ผ่านไปมาไม่ได้ เมื่อมีการเสด็จผ่านต้องก้มหน้าทำความเคารพ ส่วนพวกฝรั่งได้รับการผ่อนผันให้สามารถยืนได้แต่ต้องเปิดหมวกถวายคำนับ จึงทำให้หมอบลัดเลถือโอกาสมองดูในหลวงเสียพอใจจากช่องกระจกของเรือปิรามัส ส่วนมิชชันนารีที่อยู่ที่แพต้องวางเวรยามกันคอยห้ามไม่ให้คนใช้และเด็ก ๆ ออกไปดูในหลวงหรือทำเสียงดัง
หมอบลัดเลเดินเกี่ยวแขนกับภรรยาเข้าเฝ้าพระราชินี
วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๘ เจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ส่งเรือมารับหมอบลัดเลและภรรยาให้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี “…ประมาณสักครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ มีข้าหลวงตัวโปรดคนหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าคุณ เข้ามาเฝ้าเจ้าฟ้าน้อย นั่งพับเพียบลงถวายบังคมแล้วทูลว่า เวลานี้เข้าเฝ้าได้แล้ว ครั้นทราบเช่นนั้น หมอบลัดเลกับภรรยาจึงเดินเกี่ยวแขนกันเข้าไป เจ้าฟ้าน้อยทรงพระดำเนินตามไปข้างหลัง การที่หมอบลัดเลกับภรรยาเกี่ยวแขนกันเข้าไปเช่นนั้น ดูเหมือนจะทำให้เห็นเป็นการแปลกมาก…”
“เมื่อได้เฝ้าสมเด็จพระราชินีอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่งแล้วหมอบลัดเลกับภรรยาก็ทูลลากลับ คำนับอย่างธรรมเนียมอเมริกัน เดินเกี่ยวแขนออกมา ส่วนสมเด็จพระราชินีพร้อมด้วยข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในก็พากันแลตามดูหมอบลัดเลกับภรรยา ซึ่งเดินเกี่ยวแขนเช่นนั้น ซึ่งเป็นภาพที่แปลกยังไม่มีใครได้เห็นเลย และแปลกกับธรรมเนียมของไทยมาก”
ข้อสังเกตเรื่องพระสงฆ์ของหมอบลัดเล
“…หมอบลัดเลเล่าว่าในสมัยนั้น คนชั้นต่ำกับพระเป็นแต่แสดงความเคารพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (เพียงยกมือไหว้) ส่วนคนชั้นสูงเคารพอย่างจริง ๆ จัง ๆ ทีเดียว ถึงกับต้องคลานเมื่อพบพระเข้าในที่เช่นนั้น คือเมื่อสองสามวันที่ล่วงมานี้เองมีหญิงชาววังคนหนึ่งมาที่ร้านขายยาเพื่อต้องการยาบางอย่าง ชั้นแรกนางไม่เต็มใจจะเข้าไปข้างในด้วยเห็นมีพระอยู่มาก หมอบลัดเลขอเชิญให้เข้าไป แต่หมอประหลาดใจมากที่ได้เห็นหญิงชาววังผู้นั้น ลงคลานเข่าเข้าไปและไม่ยอมนั่งบนม้าเลย อ้างว่าการที่จะนั่งบนม้าเสมอกับพระสงฆ์เช่นนั้นเป็นการแสดงความไม่เคารพและผิดธรรมเนียม แต่คนสามัญไม่ได้คิดที่จะคลานเช่นนั้นเลย เป็นแต่แสดงความเคารพยำเกรงนิดหน่อยเท่านั้น”
หมอบลัดเลพาภรรยาเข้าเฝ้า ร. ๔
วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ เจ้าฟ้าใหญ่ หรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดสมอราย หรืออีกชื่อว่า วัดราชาธิราช มีรับสั่งให้หมอบลัดเลไปเข้าเฝ้าที่วัด “…หมอบลัดเลรู้สึกหนักใจอยู่บ้างในเรื่องพาภรรยาไปด้วย ดูไม่สู้จะเหมาะนักในการที่จะพาผู้หญิงไปเฝ้าพระองค์ แต่คิดว่าเป็นการดีเหมือนกันที่จะให้คนไทยรู้เสียบ้างว่าชาวอเมริกันไม่นับผู้หญิงว่าเป็นเพศที่เลวกว่าชายเลย พอไปถึงพระองค์ทรงรับรองหมอบลัดเลอย่างดี และเชิญให้นั่งที่โต๊ะแห่งหนึ่งแล้วพระองค์เองก็ประทับที่เก้าอี้ตรงข้ามกับเขาทั้ง ๒ ดูเหมือนว่าพระองค์มิได้ทรงรังเกียจในการที่หมอบลัดเลพาภรรยามาด้วยเลย….”
แต่จะเห็นว่าแม้หมอบลัดเล จะได้พบเจอกับธรรมเนียมต่าง ๆ ในสยามที่หมอบลัดเลไม่คุ้นเคย ในขณะเดียวกันก็จะเห็นการปรับตัวของชนชั้นนำไทยที่มีการปรับตัวเข้ากับชาวตะวันตกอย่างหมอบลัดเลด้วย
รัชนก พุทธสุขา
แหล่งอ้างอิง
บรัดเลย์, แดน บีช. (2512). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่อง มิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศไทย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลงศพ นายสุต เหราบัตย์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2512. คุรุสภาพระสุเมรุ