ในสนามแข่ง: วีรกรรมการแข่งรถของเจ้าชายดาราทอง
Museum Core
12 ก.ค. 63
1K
ในสนามแข่ง: วีรกรรมแข่งรถของเจ้าชายดาราทอง
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงโปรดรถยนต์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และยังโปรดการแข่งรถยนต์เป็นอย่างยิ่ง โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงรับเป็นผู้จัดการ
เมื่อต้นฤดูการแข่งรถประจำปี ค.ศ. 1935 (เดือนมีนาคม พ.ศ. 2477) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ได้ทรงเริ่มต้นแข่งรถโดยใช้รถขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อเทียบกับรถแข่งประเภทอื่น ๆ ก็ถือว่ามีความเร็วที่ช้ามาก และการแข่งในช่วงแรก ๆ พระองค์ก็ไม่ทรงประสบความสำเร็จมากนัก ถือเป็นการฝึกหัดในช่วงต้น โดยพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ จนเมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช มีพระชันษาครบ 21 ปี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ทรงซื้อรถแข่งให้ เป็นรถรุ่น อี. อาร์. เอ. (รหัส R2B ขนาด 15,000 ซีซี) ถือเป็น "ของขวัญ" ในวันที่ทรงบรรลุนิติภาวะ
และในต้นปี พ.ศ. 2479 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ซื้อรถแข่งอี. อาร์. เอ. ขนาดเดียวกันอีกคันหนึ่ง กลายเป็นรถคู่กัน และพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ได้ตั้งชื่อรถทั้งสองคันว่า รอมิวลุส (Romulus) และ รีมุส (Remus) ซึ่งเป็นชื่อของลูกฝาแฝด ที่ตามตำนานว่าเป็นผู้สร้างกรุงโรม
ชัยชนะครั้งแรกของการแข่งขันรถของพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2479 ที่เมืองมอนตีคาร์โล ราชรัฐโมนาโก อยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส วันแข่งเป็นวันที่อากาศดีฝนไม่ตก การแข่งขันจะมีถึง 50 รอบ ระยะทางรวม 160 กิโลเมตร เป็นถนนแคบคดเคี้ยว ขึ้นเขาลงเขา วันนั้นพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชขับรถไปอย่างรวดเร็ว และทรงระมัดระวังเป็นอย่างมาก มีรถคู่แข่งเจ็ดคันชนกันอย่างอลหม่าน แต่พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงเอาตัวรอดได้ ไม่โดนชนไปด้วย และเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นอันดับสอง โดยมี โอ. เต็นนี (O. Tenni) นักขับชาวอิตาลี กำลังนำเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ได้ส่งสัญญาณให้พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เร่งความเร็ว พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ไล่กวดใกล้เข้าไปทุกทีในแต่ละรอบ โอ. เต็นนี (O. Tenni) นักขับชาวอิตาลี ก็พยายามจะทิ้งห่าง แต่เมื่อถึงรอบที่ 33 โอ. เต็นนี (O. Tenni) ก็หักหัวเลี้ยวเร็วเกินไป จนบังคับรถไม่อยู่ พุ่งเข้าไปชนกองถุงทรายที่อยู่มุมสนามแข่ง ต้องออกจากการแข่งขัน ดังนั้น พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเห็นว่าทิ้งห่างคู่แข่งที่เป็นอันดับสองอยู่มาก รอบที่ 34 ก็ทรงลดความเร็วลง เนื่องจากถนนลื่น น้ำมันเปรอะไปทั่วถนน และในที่สุดพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงขับครบ 50 รอบ และคว้าชัยชนะเป็นอันดับหนึ่งในที่สุด โดยพระองค์ได้รับถ้วยรางวัลจากเจ้าผู้ครองนครโมนาโก คือ เจ้าชายหลุยส์ (H. S. H. Prince Louis of Monaco) โดยมีนักแข่งที่เป็นอันดับสอง คือ เลอฮูซ์ (Le-houx) ชาวฝรั่งเศส อันดับสามคือ เอมเบอริคอส (Embericos) ชาวกรีก และอันดับสี่คือ เค้าตซ์ (Kautz) ชาวสวิสเซอร์แลนด์
นี่คือชัยชนะครั้งแรกของเจ้านายทั้งสองพระองค์ที่ประสบความสำเร็จจากกีฬาการแข่งรถ และหลังจากนั้นพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงเป็นนักแข่งรถที่มีพระปรีชาสามารถ ยากที่ใครจะมาเอาชนะได้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสยามไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมรถยนต์ระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรอง พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชจึงต้องทรงหาองค์กรที่จะมารับรองด้วยพระองค์เอง และด้วยเส้นสายของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชจึงได้รับอนุญาตให้แข่งในฐานะสมาชิกของสโมสรนักขับรถแข่งแห่งอังกฤษ ด้วยการเป็นสมาชิกนี้ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชจึงมีสิทธิเข้าแข่งขันรางวัลรวมประจำปี หรือ "รางวัลดาราทอง" นั้นเอง ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักแข่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดและถือเป็นรางวัลชนะเลิศสำหรับการแข่งขันในยุโรป
และในที่สุดคะแนนการแข่งขันในรายการต่าง ๆ ก็รวมแต้มออกมา ผลคือ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชได้รางวัลดาราทอง พ.ศ. 2479 สร้างความยินดีให้แก่คนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยที่คนไทยได้ติดตามการแข่งรถจากชัยชนะครั้งแรกของเจ้านายทั้งสองพระองค์ที่ชนะที่โมนาโค ต่อมาเมื่อชนะในรายการอื่น ๆ อีกก็ยิ่งสนใจกันมากขึ้นอีก จนเมื่อได้รับรางวัลดาราทองก็สนใจกันอย่างมาก หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ พากันพาดหัวข่าวชื่นชมกันเอิกเกริก เจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงได้รับโทรเลขแสดงความยินดี จากบุคคลต่าง ๆ ทั้งจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (สมัยรัชกาลที่ 8 ) นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา) รัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกทั้งพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชยังได้รับยศเป็นนายร้อยตรีพิเศษ สังกัดกรมทหารมหาดเล็กอีกด้วย ซึ่งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พอใจเป็นอย่างยิ่งที่การแข่งรถในตอนแรกแค่คิดว่าจะทรงทำเล่น ๆ เพื่อความสนุกสนาน แต่กลับกลายเป็นประโยชน์แก่ชาติ และยังสร้างความปีดีให้กับคนไทยได้อีกด้วย ผลสำเร็จของการแข่งรถใน พ.ศ. 2479 นั้นเกินความคาดหมาย จนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์แต่งหนังสือเพื่อเผยแพร่และเล่าเรื่องความสำเร็จนี้ขึ้น โดยแต่งเป็นภาษาอังกฤษชื่อเรื่องว่า "แข่งรถตามถนน 1936" (Road Racing 1936) และแต่งเป็นภาษาไทยชื่อเรื่องว่า "ดาราทอง" ออกจำหน่ายในปีนั้นและจำหน่ายหมดในเวลาไม่นาน
ความเป็นไทยในสนามแข่ง
ป้ายสัญญาณภาษาไทย
เหตุเกิดที่สนามแข่งนอกเมืองดิเอปป์ (Dieppe) ฝรั่งเศส ในวันซ้อมที่จะเตรียมแข่งรถ อี. อาร์. เอ. วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นวันแรกที่ทีมแข่งของเจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงทำหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับการแข่งขันรถเป็นครั้งแรก และก็เป็นครั้งแรกที่คนในทีมจะต้องคิดหาวิธีให้ผู้ขับเห็นสัญญาณเวลาผ่านที่ซ่อมเสมอ อย่างเช่น การซ้อมครั้งนั้นต้องแข่งกันถึง 40 รอบ แต่ผู้ขับก็ต้องสนใจอยู่แต่กับการขับ จึงไม่รู้ว่าผ่านไปกี่รอบแล้ว การผ่านแต่ละครั้งก็เร็วมาก ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าใครนำใครตามหลังกันอยู่ อาจจะกะเวลาไม่ถูกว่าต้องทำเวลากันด้วยความเร็วแค่ไหน ทั้งหมดนี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการของทีมซึ่งมีตารางอยู่ตรงหน้า คอยจับเวลาดูเวลาระหว่างรถต่าง ๆ ที่กำลังแข่งกัน เพื่อทราบเวลาทั้งหมดเพื่อการวางแผน จึงต้องมีการยื่นป้ายสัญญาณที่มักจะเป็นกระดานดำแผ่นใหญ่ เขียนสัญญาณคำโต ๆ ให้คนขับดูเมื่อผ่านที่ซ่อม แต่ในบางครั้งคนขับมักขับผ่านที่ซ่อมเร็วมาก มองเห็นได้ยาก ประกอบกับตรงแนวที่ซ่อมนั้นมีทีมงานหลาย ๆ ทีมจึงต้องมองหาว่าป้ายไหนเป็นของทีมตนเอง เพื่อให้พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชทรงมองเห็นป้ายได้ง่าย พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และทีมจึงจัดทำสัญญาณเป็นตัวอักษรภาษาไทย นอกจากนั้น ป้ายสัญญาณภาษาไทยนี้ก็กลับกลายเป็นที่สนใจของหนังสือพิมพ์อังกฤษที่ลงความเห็นว่า การที่ทีมของเจ้านายทั้งสองพระองค์ทำเช่นนั้นคงเป็นเพราะว่า ต้องการจะสงวนสัญญาณนั้นให้เป็นความลับต่อคู่แข่งและนอกเหนือจากผลพลอยได้ที่หนังสือพิมพ์อังกฤษให้ความสนใจตีพิมพ์เรื่องนี้แล้ว ยังกลับกลายเป็นว่าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้เผยแพร่ภาษาไทยหรือความเป็นไทยไปในตัวด้วย ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยินดีต่อประชาชนชาวไทยที่ได้รับรู้วีรกรรมของเจ้านายที่เป็นตัวแทนสร้างคุณงามความดีให้ความเป็นไทยได้เป็นที่รับรู้แก่ชาวตะวันตก
“ถ้วยสยาม” อวดฝีมือช่างไทย
ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า การที่จะเป็นผู้เข้าแข่งรถได้นั้น ต้องมีใบอนุญาตขับแข่งยานยนต์สโมสรแห่งชาติของตน และสโมสรนั้นจะต้องเป็นสมาชิกหมู่สโมสรยานยนตร์ทั่วโลก แต่ราชยานยนต์สมาคมแห่งสยามในเวลานั้น เป็นเพียงสมาชิกของหมู่สมาคมยานยนต์ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นคนละหมู่กัน ทีมของเจ้านายทั้งสองพระองค์จึงต้องอาศัยการขอใบรับรองการอนุญาตขับแข่งของราชยานยนต์สโมสรแห่งอังกฤษ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงมีความประสงค์ที่จะแสดงความขอบคุณต่อวงการแข่งรถของอังกฤษ ประกอบกับอยากอวดฝีมือการทำเครื่องถมของคนไทย จึงจัดสั่งทำถ้วยถมมาจากเมืองไทย มอบให้สโมสรบรู๊คแลนด์ เพื่อให้สโมสรจัดการแข่งรถชิง “ถ้วยสยาม” ขึ้น การแข่งขันครั้งนั้นนอกจากจะได้ขอบคุณวงการแข่งรถอังกฤษและได้อวดฝีการทำเครื่องถมของช่างไทยแล้วนั้น ยังมีผลดีต่อตัวเจ้านายทั้งสองพระองค์เองด้วย กล่าวคือ เมื่อข่าวการแข่งครั้งนั้นแพร่หลายออกไปทำให้ชาวอังกฤษที่ชื่นชอบการแข่งรถ ได้รู้จักและคุ้นเคยกับเจ้านายทั้งสองพระองค์ เป็นที่ได้รับความสนใจ ที่มีเจ้านายของไทยมาเล่นการแข่งรถด้วย ทำให้เจ้านายทั้งสองพระองค์ไม่ได้เป็นนักแข่งที่แปลกหน้าของชาวอังกฤษอีกต่อไป
ชาตินิยมจากการตั้งชื่อรถแข่ง
รถแข่ง อี. อาร์. เอ. สองคันที่พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ได้ให้ชื่อว่ารอมิวลุสและรีมุส ที่ตั้งตามชื่อพี่น้องฝาแฝดที่ตามตำนานบอกว่าสร้างกรุงโรม สิ่งนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าเจ้าไทยมีอำนาจเหนือยุโรปโดยเจ้าไทยสามารถควบคุมเทคโนโลยีของยุโรปและแข่งชนะชาวยุโรปได้
สีพีระ และสัญลักษณ์บนรถแข่ง
สีพีระนั้นมีที่มาจาก สีน้ำเงินที่เป็นสีแบบเดียวกันกับสีเสื้อนักแข่งม้าของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ และ หม่อมคัทริน จักรพงษ์ ณ อยุธยา ที่เคยสวมแข่งในเมืองไทย เพราะเห็นว่าสวยดี
ส่วนที่มาของการลงสีเป็นธงชาติไทยติดกับตัวรถนั้น ทรงมีแรงบันดาลใจมาจาก ในตอนแรกที่ทั้งสองพระองค์ทรงมาแข่งรถโดยไม่คาดคิดว่าจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงประเทศไทย ทรงเพื่อความสนุกอย่างเป็นกีฬา ต่อเมื่อในภายหลัง พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเห็นว่า ไหน ๆ ก็ออกทรัพย์มากในการแข่งรถ ประกอบกับพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงทำผลการแข่งขันได้ดี ดังนั้น ก่อนการแข่งขันที่เบิร์น ประเทศสวิชเซอร์แลนด์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงมีพระประสงค์ที่จะให้ชักธงไทยขึ้นทั้ง ๆ ที่ทั้งสองพระองค์แข่งโดยใบขับแข่งอังกฤษ แต่พระองค์ก็ทรงให้เหตุผลว่า เพราะคนไทยเป็นคนขับ ทำให้ที่สนามแข่ง ณ กรุงเบิร์น 25 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ธงไทยจึงรับการอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรกในการแข่งขัน และทั้งสองพระองค์ก็ทรงคิดว่าชาวยุโรปยังไม่รู้จักธงไทย จึงโปรดให้ทาสีธงไทยไว้ที่ถังน้ำมันท้ายรถ และเขียนคำว่า “SIAM” ไว้ตรงกลาง หลังจากนั้นมา ธงไทยก็ได้รับการอัญเชิญทุกแห่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงเดินทางไปแข่ง และชาวยุโรปก็รู้ว่าเป็นธงไทยโดยดูจากข้างรถของพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
ส่วนรูปหนูตัวสีขาว สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งมาจาก ชื่อทีมที่ว่า คณะคอกหนูขาว เนื่องจากทีมอื่นอย่างเช่นคอกอิตาเลียน ชื่อว่าเฟอร์รารี มีตราเป็นม้าสีดำ ทีมของทั้งสองพระองค์ก็ชื่อคณะคอกหนูขาว โดยมีหนูตัวสีขาวเป็นตราประจำทีม เนื่องจากหนูขาวนี้มีที่มาจากพระนามลำลองในพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่ว่า “หนู” ส่วนสีขาวน่าจะเป็นเพราะว่าพระองค์ทรงมีผิวพรรณอย่างคนผิวขาว
ธงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมี
จากชัยชนะที่โด่งดังของเจ้านายทั้งสองพระองค์ คือที่โมนาโก พ.ศ. 2479 เป็นที่ทราบแล้วว่าพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชชนะเลิศอันดับหนึ่ง จึงต้องมาพิจารณาถึงขั้นตอนของการเป็นผู้ชนะ กล่าวคือก่อนหน้าและในระหว่างการแข่งขัน ธงชาติของผู้เข้าแข่งขันประเทศต่าง ๆ ก็ถูกอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเขา แต่เมื่อจบการแข่งขันจะเหลือเฉพาะธงชาติของผู้ชนะเท่านั้น ประกอบกับในพิธีมอบรางวัลก็จะมีการบรรเลงเพลงชาติของผู้ชนะอีกด้วย ซึ่งพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชเป็นผู้ชนะย่อมหมายความว่า ไทยก็คือผู้ชนะไปด้วย ทำให้ธงไทยได้รับการอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสา และในส่วนของเพลงชาติประจำทีมนั้น เพลงที่บรรเลงคือ เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงการแข่งขันและพระองค์เจ้าทั้งสองเข้ากับพระปรีชาสามารถและบารมีของพระมหากษัตริย์ ครั้งนั้นก็นับเป็นครั้งแรกที่ธงชาติไทยได้รับการอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสาและได้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในการแข่งขันกีฬาที่เป็นแบบนานาชาติ ประกอบกับการที่ชาวตะวันตกต่างถอดหมวกแสดงความเคารพธงชาติไทยและยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นเหมือนชัยชนะของคนไทย และเป็นชัยชนะที่นำโดยเจ้านายไทยที่สร้างความดีความชอบผ่านการแข่งขันกีฬารถแข่งกับชาวตะวันตกที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัย
รัชนก พุทธสุขา
อ้างอิง
จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า. (2553). ดาราทอง : ประวัติการแข่งรถของพระองค์พีระฯ. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์.