ข้อสงสัยที่ผู้เข้าชมมิวเซียมสยามมักจะสงสัย คือ ถอดรหัสไทย ถอดแล้วได้อะไร ทำไมต้องถอดรหัส เพราะผู้เข้าชมคิดว่าเราจะมีกิจกรรมให้เล่นเกมผ่านนิทรรศการ และจะมีของแจกในตอนท้ายกิจกรรม รวมถึงต้องไปเอาของรางวัลที่ไหนหากเล่นกิจกรรมเสร็จแล้ว ในฐานะเจ้าหน้าที่นำชม จึงต้องอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจว่า มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ท่านผู้ชมมาหาความเป็นไทยสำหรับตัวท่านผู้ชมเอง เพราะความเป็นไทยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนของรางวัลทางเราก็บอกไปตรง ๆ ว่าไม่มี ในความรู้สึกแรกที่ได้ยินคำถามเหล่านี้จะรู้สึกสะดุ้ง เพราะเราคิดว่ามิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์ จึงไม่คิดว่าผู้เข้าชมจะมาหาของรางวัลกับเรา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะพบคำถามลักษณะนี้เดือนละครั้ง
ความรู้สึกสบายใจในการเป็นผู้นำชม คือ การที่ผู้เข้าชมตั้งใจฟังเรา ไม่ว่าจะช่วงอายุเท่าใด เราจะดูความสนใจจากผู้เข้าชมได้จากสายตา ถ้าเขาสนใจตาของเขาจะเป็นประกาย การที่มีผู้เข้าชมแต่ละช่วงอายุ ทำให้เราต้องอธิบายเนื้อหาในนิทรรศการแตกต่างกัน เช่น กรณีผู้เข้าชมเป็นเด็กระดับประถมศึกษา เราจะอธิบายว่านี้เป็นชุดไทยต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นผู้เข้าชมระดับมัธยมศึกษา เราอธิบายแบบลงรายละเอียดชุด คือ ชุดราชสำนัก ชุดไทยพระราชทาน ชุดไทยภูมิภาค หรือถ้าเป็นผู้สูงวัย เราจะต้องรอฟีดแบคจากผู้เข้าชมก่อน เราถึงจะตอบคำถามได้ โดยในการนำชมแบบกลุ่ม ทางมิวเซียมสยามจะมีการจัดตารางให้เจ้าหน้าที่นำชมแต่ละคนว่าเราต้องนำชมกลุ่มไหนบ้าง ซึ่งการนำชม ทางมิวเซียมสยามและผู้เข้าชมจะให้เรานำชมในแบบวิธีของเรา ซึ่งจะดีกว่าการที่จะต้องสโคปเนื้อหา หรือรีเควสเนื้อหาเพิ่มเติม เพราะการที่เราได้เป็นตัวเองแล้ว จะทำให้เราทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่นำชมแต่ละคนก็จะมีความถนัดทางเนื้อหาต่างกันหรือมีเทคนิคการนำชมที่ต่างกัน โดยจะมีสอบเจ้าหน้าที่นำชมทุกปี และจะมีการคอมเม้นต์มาว่า เราควรแก้ไขตรงไหน เราควรเก็บข้อดีตรงไหนไว้
ก่อนที่จะเปลี่ยนระบบการนำชมแบบกลุ่ม เจ้าหน้าที่นำชมจะประจำอยู่ห้องของตนเอง เราจะรู้ข้อมูลแต่ละห้องในเป็นประเด็นหลักอย่างคร่าว ๆ ทำให้เราจะต้องหาประเด็นใหม่มาเสริมตลอด โดยเราจะนำเหตุการณ์ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมมาเชื่อมโยงกับข้อมูลในห้อง เช่น ห้องไทยเชื่อ เรามักจะเห็นข่าวสักยันต์หรือชาวบ้านกินน้ำจากบ่อน้ำ หรือไทยอลังกาล เรานำไปเชื่อมกับละครบุพเพสันนิวาส ในช่วงที่ละครกำลังดัง เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น เป็นต้น ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนระบบการนำชมแบบกลุ่ม คือ ให้เจ้าหน้าที่นำชมหนึ่งคน อยู่ประจำกลุ่มหนึ่ง และนำชมทั้งหมด 13 ห้อง ซึ่งรู้สึกชอบแบบปัจจุบันนี้มากกว่า เพราะในแง่ของการจัดการ เราสามารถจัดการได้สบายกว่าและสนุกกว่า
ข้อได้เปรียบของการเป็นเจ้าหน้าที่นำชมที่มิวเซียมสยาม คือ เราได้พูดแล้วไม่มีใครสั่งเรา เราได้เสนอแล้วเขารับรู้ เขาฟัง เขาเชื่อ เขาคิดตาม หรือคนที่ไม่เห็นด้วยเรา เขาจะหาข้อมูลมาแย้ง ซึ่งเราก็จะได้ข้อมูลเพิ่ม ต่างจากการส่งงานแบบออฟฟิศ คือ ถ้าเราส่งงานไปไม่ถูกใจ สิ่งที่เราได้รับกลับมาจะเป็นการตำหนิ หากมีรุ่นน้องสมัครเข้ามาใหม่ เราก็อยากบอกว่า ให้ใจเย็นไว้ อยากเพิ่งใช้อารมณ์ และค่อย ๆ ศึกษาคอนเท้นต์ไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องกดดันตัวเอง สามารถสอบถามพี่ ๆ ได้ตลอด ส่วนข้อเสีย คือ ในช่วงที่ไม่มีผู้เข้าชมจะทำให้เราง่วง เราต้องแก้ปัญหา ด้วยการเดินไปเดินมา
จุดแข็งของมิวเซียมสยาม คือ ไม่กำหนดระยะเวลาในการชม มีห้องให้เล่น ดังนั้นไม่เป็นปัญหาที่มิวเซียมสยามไม่มีวัตถุโบราณจัดแสดง เนื่องจากวัตถุโบราณที่จัดแสดงชั้นสาม มีเพื่อให้รู้ว่าทำไมรัชกาลที่ 4 จึงต้องหาศิลาจารึก ต้องหาหม้อบ้านเชียง เพื่อบอกว่าความเป็นไทยมีมานาน จะได้ไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก หากลงมาชั้นสองจะเป็นการจัดแสดงของร่วมสมัยหรือของปัจจุบันด้วยซ้ำ โดยสิ่งจัดแสดงที่รู้สึกว่าเป็น master piece คือ ห้องไทยตั้งแต่เกิด เพราะมีลูกเล่นเยอะ เนื้อหาครอบคลุมทุกคอนเท้นต์ของทั้งชั้นสาม ถ้าเป็นวัตถุจัดแสดง คือ ห้องที่มีจัดแสดงจาน เนื่องจากผู้เข้าชมจะรู้สึกตื่นเต้นตอนนำจานไปสแกน
สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง คือ อยากเปลี่ยนห้องสถาบัน (ห้องจิ๊กซอว์) เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก และมืดมาก หากผู้เข้าชมแย่งกันเล่นเสียงจะดังออกไป อยากเปลี่ยนให้เป็นห้องที่สว่างขึ้น และจิ๊กซอว์มารวมไว้กับห้องเกม เพื่อความลื่นไหลในการรับชมนิทรรศการ
การแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ชม
ความโชคดีที่สุดของการเป็นเจ้าหน้าที่นำชม คือ ผู้ชมตั้งใจฟัง พอเราได้เล่า เราก็อยากให้เขาตั้งใจฟัง หรือแลกเปลี่ยนกับเราได้ การที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ชมดีว่าที่เขาฟังเราเฉย ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเข้าใจจริงหรือเปล่า ถ้าเราเจอผู้ชมที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้น ๆ จะทำให้เราได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยน คือ เราให้ในส่วนที่เรารู้ เขาก็จะเติมเต็มในส่วนที่เขารู้ อย่างในห้องไทยonly เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้ว่าสนามหลวงเคยเป็นตลาดนัด เราคิดว่าเป็นสนามโล่ง ๆ ผู้ชมยังบอกอีกว่าเมื่อก่อนถุงโชคดีเป็นที่นิยมอย่างมาก ผู้คนมักจะถือถุงโชคดีมาตลาดนัด หรือห้องไทยอินเตอร์ ส่วนที่เป็นตู้มวยไทย ผู้ชมเสนอว่า ประเทศไทยเคยพยายามที่จะนำเสนอมวยสากลออกไป อย่างK-oneที่มีเวทีและกติกา
ในห้องไทยวิทยา กระดานดำของห้องไทยวิทยาจะแสดงให้เห็นว่าพ.ศ. 2475 ประเทศไทยใช้ตัวเขียนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการสะกดอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้สะกดตามราชบัณฑิตยสถาน ผู้เข้าชมจะอธิบายถึงสาเหตุการเปลี่ยนตัวหนังสือของจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนเป็นเพราะ ชาวต่างชาติจะอ่านง่ายกว่า ประกอบกับการอยากเชิดชูความเป็นไทยมากเกินกว่าการที่จะมีภาษาบาลีสันสกฤตปะปนอยู่ จึงตัดทอนภาษาบาลีสันสกฤตออกไป
ในห้องไทยแค่ไหน ผู้เข้าชมมักจะค้านเนื้อหาและมองว่า เราเหยียด ผู้ชมมักจะตั้งคำถามว่า “สิ่งไหนไม่ใกล้ พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ไทยหรอ กะเหรี่ยงไม่ใช่ไทยหรอ ทั้ง ๆ ที่อยู่ภาคเหนือของไทย แล้วทำไมถึงมีแมคโดนัลด์กับเลดี้กาก้าเข้ามา” ซึ่งเป็นคำถามก่อนที่่จะมีกระแสในทวิตเตอร์ ถ้าเป็นผู้เข้าชมที่เป็นผู้สูงอายุจะรับไม่ได้ที่มีการจัดแสดงชุดเลดี้กาก้า เขาให้เหตุผลว่า มันไม่เหมาะสม เราจึงต้องอธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้วชุดเลดี้กาก้าอยู่ห้องหนึ่ง แต่เนื่องจากมีชุดชุมพรมาจัดแสดง เราจึงย้ายชุดเลดี้กาก้ามาไว้ในห้องนี้แทน ประกอบกับช่วงนั้นเป็นกระแสที่เลดี้กาก้าแต่งชุดเซ็กซี่แล้วสวมชฎา รวมถึงอธิบายต่อมว่า ประเด็นสำคัญของห้องนี้ คือ สิ่งใดที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางพระมหากษัตริย์ความเป็นไทยก็จะเข้มข้นมากกว่าสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป หรือในห้องไทยแปลไทย ผู้ชมมักจะถามว่าขอมดำดินนำมาจัดแสดงทำไม เกี่ยวข้องอะไรกับนิทรรศการ ด้วยความที่ในสมัยเรียน เราเคยได้เรียนเรื่องนี้ผ่านแบบเรียนวิชาภาษาไทย ประกอบกับสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเรียนวิชาเสรีคติชนวิทยา จึงได้นำมาอธิบายให้ผู้เข้าชมเข้าใจว่า เรื่องของดำดินเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ เนื้อเรื่องคือ “พระร่วงหนีไปบวช พระยาเดโชดำดินมาตาม เจอพระร่วง แต่พระร่วงปลอมตัวเป็นพระ พระร่วงก็เลยบอกให้รอตรงนี้ ด้วยวาจาสิทธิ์ ก็เลยต้องรอจนกลายเป็นหิน”
ในห้องไทยแปลไทย ผู้เข้าชมชาวต่างชาติมักจะถามว่า ในช่วงรัชกาลที่ 4 ตรงกับค.ศ. ที่เท่าไร เนื่องจากเขาคิดไม่เหมือนกันเรา ซึ่งในห้องนี้เสนอความเป็นไทยในแต่ละยุค จัดแสดงผนังสี่ด้านที่มีสี่ยุค คือ ผนังที่หนึ่ง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผนังที่สอง ช่วงรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 7 ที่มีการนำของต่างชาติเข้ามา ผนังที่สาม ช่วง 2475 ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผนังที่สี่ ช่วงโลกาภิวัตน์ถึงปัจจุบัน
นอกจากคำถามในนิทรรศการแล้ว ยังมีคำถามเกี่ยวกับพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะถามว่าตึกนี้ในอดีตเคยเป็นอะไร เราก็จะบอกว่า เคยเป็นกระทรวงพาณิชย์ หรือเดินมาถามว่าเมื่อก่อนเป็นวังของใคร ในทางกลับกันถ้าเป็นเด็กจะไม่ถามคำถามประเภทนี้ เพราะเด็กมาพิพิธภัณฑ์เพื่อที่อยากจะรู้ว่า เขาจะเจออะไรข้างในมากกว่าที่จะอยากรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นอะไร
การแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ชม ทำให้ได้แรงบันดาลใจที่อยากไปศึกษาต่อ คือ เรื่องไทยเชื่อ ผู้เข้าชมผู้สูงอายุเคยเล่าให้ฟังว่า แถบบ้านเขามีประเพณีการจับผีปอบแบบนี้ จะมีอาจารย์มาสวดมนต์ทำพิธี เด็ก ๆ ก็จะวิ่งเล่นกันสนุกสนาน ทำให้เราสงสัยอยากไปศึกษาดู