Museum Core
การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูวิกฤตต้มยำกุ้ง
Museum Core
12 ก.ค. 63 631

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

 

การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของประเทศ จากการจัดอันดับประเทศที่มีรายได้สูงสุดจากการท่องเที่ยวขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) พ.ศ. 2560 ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการจัดอยู่ในอันดับ 3 โดยรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 49.9 พันล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่สามารถนำเงินตราเข้าสู่ประเทศได้อย่างมาก โดยการดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกประเทศ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดแคมเปญการท่องเที่ยวในแต่ละปี โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลกำหนดปีละ 2 แคมเปญ ซึ่งแต่ละแคมเปญมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น แคมเปญไทยเที่ยวไทย พ.ศ. 2540 เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวไทย แคมเปญ “12 เมืองที่ต้องห้าม...พลาด” เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง เป็นต้น

 

นโยบายการท่องเที่ยวก่อนการประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2540 – 2554


นโยบายการท่องเที่ยวในช่วงนี้มุ่งหวังให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นให้คนไทยและคนต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินตราจากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอยู่ขณะนั้น โดยดำเนินการสนับสนุนแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทย” พ.ศ. 2540 หรือ Amazing Thailand 1998 – 1999 ตามนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย (พ.ศ. 2540 – 2544) การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวในช่วงพ.ศ. 2540 – 2554 เป็นการดำเนินงานก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยนโยบายที่สำคัญในช่วงเวลานี้ ได้แก่ นโยบายส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวภายประเทศ พ.ศ. 2540 – 2546 นโยบายผ่อนคลายระเบียบการเข้าเมือง พ.ศ. 2540 – 2546 นโยบายผ่อนคลายระเบียบการเข้าเมือง พ.ศ. 2540 – 2546 และนโยบายการตลาดเชิงรุก พ.ศ. 2546 – 2549


นโยบายส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวภายประเทศ พ.ศ. 2540 – 2546 มีจุดประสงค์เพื่อลดอัตราการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย และเร่งการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศให้กระจายไปทั่วภูมิภาคตลอดปี เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น คนไทยที่เริ่มมีฐานะได้จะนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะเดินทางไปในประเทศใกล้เคียงแถบเอเชีย เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากและประหยัดเวลาการเดินทาง ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น จึงมีการกำหนดแคมเปญไทยเที่ยวไทย เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว และดำเนินนโยบายส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายนี้ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยในทุกภูมิภาคสูงถึงร้อยละ 51 จากรายได้นักท่องเที่ยวไทยทั้งหมด


นโยบายผ่อนคลายระเบียบการเข้าเมือง พ.ศ. 2540 – 2546 มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองของนักท่องเที่ยวในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เนื่องจากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวภูมิภาคอื่น โดยรัฐบาลกำหนดการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันขอ Visa on Arrival ได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงอนุญาตให้ชาวจีนถือเอกสารผ่านแดนพิเศษที่ได้รับการยินยอมจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนแทนหนังสือเดินทางได้ ซึ่งสามารถใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ทั่วทุกพื้นที่ และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียใช้บัตรผ่านแดนเดินทางไปทั่วประเทศไทย และพำนักอยู่ในประเทศได้ 30 วัน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้กำหนดการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวต่างประเทศที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ขอ Non-immigrant Visa โดยสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นผลจากแนวโน้มประชากรของสังคมที่จำนวนผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มมากอย่างต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลาในการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงมีกำลังในการซื้อ ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10


ช่วง พ.ศ. 2546 – 2549 เป็นช่วงที่การท่องเที่ยวไทยผันผวนอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศที่กระทบถึงด้านการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น วิกฤตโรคซาร์ส สงครามระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอิรัก วิกฤตไข้หวัดนกระบาด และเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิบริเวณชายฝั่งอันดามัน ทำให้การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศลงลด จึงมีการดำเนินนโยบายการตลาดเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง โดยเป็นนโยบายที่ดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544 – 2548)


นโยบายการตลาดเชิงรุก พ.ศ. 2546 – 2549 มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มกอล์ฟ กลุ่มคู่รัก และเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ โดยดำเนินการผ่านการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทย และการจัดการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละประเภท การดำเนินการตลาดเชิงรุกจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามีตัวเลือกในการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง ซึ่งเป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกประเภทเข้ามายังประเทศไทย และการดำเนินการตลาดเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดความได้เปรียบทางการท่องเที่ยวมากกว่าหลายประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรม การกีฬาร่วมไปถึงกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ


ช่วง พ.ศ. 2550 – 2554 การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเป็นหลัก จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศลดลงถึงร้อยละ 45.22 รัฐบาลจึงเน้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยการกำหนดแคมเปญ “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” มีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวคนไทยทุกเพศ ทุกวัยหันมาเที่ยวประเทศไทยตลอดทั้งปี โดยต้องการให้คนไทยท่องเที่ยวไปพร้อมกับรักษาแหล่งท่องเที่ยว


นโยบายการท่องเที่ยวหลังการประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555 – 2561


นโยบายการท่องเที่ยว พ.ศ. 2555 – 2561 มีจุดมุ่งหมายให้การท่องเที่ยวกระจายสู่เมืองรอง เพื่อให้เกิดความสมดุลทางรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยประสบปัญหานักท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก โดยตัวช่วยสำคัญในการดำเนินนโยบายนี้คือ การใช้นโยบายท่องเที่ยววิถีไทยเป็นตัวชูความเป็นไทยในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้กลายเป็นจุดขายและเกิดความน่าสนใจ รวมถึงการใช้มาตรการการลดภาษีให้กับผู้ที่ท่องเที่ยวในเมืองรอง


สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงสามปี (พ.ศ. 2551 – 2553) ที่ผ่านมาส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลต่อรายได้ของประเทศและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ประกอบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการแข่งขันในตลาดโลกสูงและต้องการให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 ให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติขึ้น ทำให้นโยบายการท่องเที่ยวในช่วง พ.ศ. 2555 – 2561 ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยนโยบายที่สำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่ นโยบายการท่องเที่ยววิถีไทย (2015 Discover Thainess) พ.ศ. 2555 – 2559 และนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง พ.ศ. 2560 – 2561


นโยบายการท่องเที่ยววิถีไทย (2015 Discover Thainess) พ.ศ. 2555 – 2559 รัฐบาลได้กำหนดให้นโยบายการท่องเที่ยววิถีไทยเป็นนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติใน พ.ศ. 2558 มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในมุมมองใหม่ และเน้นคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการมาเที่ยวประเทศไทยผ่านวิถีไทย โดยประเทศไทยใช้การท่องเที่ยวแบบวิถีไทยในการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย จัดทำโปรโมชั่น “ท่องเที่ยววิถีไทย ใคร ใคร..ก็บินได้” โดยพิมพ์ลายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์สีเหลืองทองที่เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยววิถีไทยสื่อสารความเป็นไทย เนื่องจากเป็นสายการบินราคาประหยัดที่มีเส้นทางบินหลากหลายครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยนำเสนอราคาบินที่ถูก เพื่อให้ประชาชนสามารถมีกำลังในการซื้อได้ การดำเนินนโยบายนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 47 และนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 10


นโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง พ.ศ. 2560 – 2561 มีจุดประสงค์เพื่อกระจายรายได้และนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยใช้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะสร้างความน่าสนใจใหม่ ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวมาเป็นจุดขายหลัก เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยประสบปัญหาหลัก คือ รายได้จากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่เพียงแค่เมืองใหญ่ ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดอยุธยา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี (พัทยา) จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สมุย) และจังหวัดกระบี่ โดยรัฐบาลกำหนดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง คือ พ.ศ. 2560 แคมเปญ “12 เมืองที่ต้องห้าม...พลาด” และ พ.ศ. 2561 แคมเปญ “Amazing Thailand Go Local : เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลกันและการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่


ผลจากการดำเนินนโยบายการท่องเที่ยว พ.ศ. 2540 - 2561


การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลสามารถแสดงให้เห็นผลกระทบด้านบวกและด้านลบได้ทั้งหมด 3 ด้าน คือ


ด้านเศรษฐกิจ คือ การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างรายได้ทางใหม่แก่ชุมชนที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เนื่องจากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวมีแนวทางในการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศท่องเที่ยวทั่วไทย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้แก่จังหวัดหรือชุมชนและไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในแต่ละจังหวัด เมื่อการท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างมหาศาล รัฐบาลได้นำรายได้ส่วนนี้ไปบริหารจัดการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ด้านคมนาคม การปรับทัศนียภาพ เป็นต้น เพื่อทำให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างความสะดวกสบายในการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามรายได้จากการท่องเที่ยวจะต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดการทุจริตได้ง่าย เพราะมีกำไรมาก


ด้านสังคม คือ ประชาชนในท้องถิ่นได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมประเพณีของตน รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความแตกต่างและแปลกใหม่ทางวัฒนธรรม การดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดหรือชุมชนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในชุมชนบางแห่งจึงได้ยกให้การท่องเที่ยวกลายเป็นรายได้หลักแทนรายได้จากเกษตรกรรม โดยเฉพาะภายหลังจากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งแสดงถึงแนวทางในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองรองอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดกระแสนิยมในการท่องเที่ยวเมืองรองในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีการสร้างรายได้และสร้างงานให้กับประชาชนในจังหวัดหรือชุมชน เพราะเมื่อการท่องเที่ยวขยายตัวขึ้น ชุมชนจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น มัคคุเทศก์ เจ้าของกิจการร้านค้า เป็นต้น แต่สิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพท้องถิ่น จนทำให้วิถีชีวิตเดิมในชุมชนหายสาบสูญไป


ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การดำเนินนโยบายที่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปเพื่อหารายได้เข้าประเทศ โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาสำคัญขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวไทย ตัวอย่างเช่น ขยะมูลฝอย การปล่อยน้ำเสียจากร้านค้า เป็นต้น ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและทัศนียภาพทางการท่องเที่ยวแย่ลง ซึ่งกลายเป็นส่วนที่ลดความได้เปรียบทางการท่องเที่ยวของไทย ในปัจจุบันยังคงปรากฏปัญหาทางสิ่งแวดล้อมภายในแหล่งท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น การประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ใน พ.ศ. 2561 เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งให้กลับสู่ปกติ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวหรือจองทัวร์ล่วงหน้าต้องยกเลิกไป และกระทบต่อการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ รวมถึงประชาชนชาวเกาะที่รายได้จากการท่องเที่ยวขาดหายไป

 

สรุป


การที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักที่รัฐบาลใช้การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นในนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเที่ยวไทยมากขึ้น และกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวทุกปีเพื่อเป็นกรอบทิศทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีต่าง ๆ


การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวในช่วงแรก (พ.ศ. 2540 – 2554) มีจุดประสงค์ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและนำรายได้ไปชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ จากนั้นเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการแข่งขันในระดับโลกสูง ประกอบกับเหตุกรณ์ชุมนุมทางการเมืองทำให้รัฐบาลมีมติให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริมการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งหลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยใช้แนวคิดท่องเที่ยววิถีไทยเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างจุดขายของเมืองรอง


จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองรองและประเทศจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว แต่การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดปัญหาในชุมชนที่ยังไม่สามารถปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ของนักท่องเที่ยวได้ และส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมลง

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ