ม่าน "เฉลิมไทย" ปิดไว้ตลอดกาล
Museum Core
12 ก.ค. 63
674
ม่านเฉลิมไทยปิดไว้ตลอดกาล
ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งแห่งพระนคร หัวมุมถนนราชดำเนินกลาง สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระยะแรกเป็นโรงมหรสพก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตรืในภายหลัง สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความทรงจำแสนมีความสุขและสนุกสนาน ทั้งของหนุ่มสาวที่เคยมาออกเดต หรือครอบครัวที่พากันมาใช้เวลาร่วมกันอยากเต็มอิ่ม
โดม สุขวงศ์ ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “โรงหนังเป็นความจำเป็นสมัยก่อน โดยเฉพาะสมัยที่ยังไม่มีทีวี โรงหนังคือทีวีประจำชุมชน แต่สำหรับผมนะโรงหนังเหมือนโบสถ์ ผมคิดว่าหลายคนไปโรงหนังมากกว่าไปโบสถ์ สมัยที่ไม่มีทีวีคนก็ไปดูหนังเป็นกิจวัตร ไปเรียนรู้ ไปหาความบันเทิง โรงหนังเป็นเหมือนโบสถ์ที่เผยแพร่วิถีชีวิตที่อยู่ในหนัง ความดี ความเลว รัก โลภ โกรธ หลง ทำให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต”
แต่เมื่อพ.ศ.2525 มีแผนการอนุรักษ์และพัฒนาโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแผนนี้กลายเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบกับศาลาเฉลิมไทยในเวลาต่อมา โดยใจความหลักของแผนนี้กล่าวถึงการทุบศาลาเฉลิมำทยเพื่อเปิดมุมมองโลหะปราสาทวัดราชนัดดา
“แนวความคิดในการออกแบบทั่วไปในการสนองนโยบายการใช้ที่ดินตามที่รัฐมนตรีได้มีมติไปแล้ว คือ สร้างบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในให้เป็นอุทยานทางประวัตริศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมเพื่อสภาพแวดล้อมที่พึงปรารถนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ สนับสนุนวัฒนธรรมและประเพณีไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยไม่เน้นความเจริญของเมืองทางวัตถุ ส่งเสริมให้มีที่โล่งว่างให้มากที่สุด มีสวนสาธารณะ ...เน้นภูเขาทอง วัดราชนัดดา วัดเทพธิดา ป้อมมหากาฬเชื่อมโยงกันด้วยลานเปิดโดยรื้อเฉลิมไทยออกเพื่อเปิดทัศนียภาพของโลหะปราสาท และใช้บริเวณเฉลิมไทยจัดให้เป็นศุนย์บริการท่องเที่ยว เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นทำเลที่เหมาะสมเสมือนประตูเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์”
การดำเนินโครงการนี้ก็มีผู้สนับสนุนเห็นด้วยกับการทุบศาลาเฉลิมไทย เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความในคอลัมน์ซอยสวนพลูของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2532 “โรงภาพยนตร์เฉลิมไทยนี้ ได้สร้างขึ้นติดกับวัดราชนัดดา อันเป็นวัดที่สวยงาม สร้างมาแต่รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสิ่งสำคัญซึ่งไม่มี ณ ที่อื่น ก็คือโลหปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นไว้ในที่นั้น เพื่อให้ตรงตามพระบาลีที่ได้กล่าวถึงโลหปราสาทไว้ การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาเสียโดยสิ้นเชิง ใครที่มาตามถนนราชดำเนินนอก ข้างสะพานผ่านฟ้า แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดา อันเป็นสิ่งสวยงาม กลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทย อันเป็นโรงมหรสพ และมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งต่ำทรามกว่าสถาปัตยกรรมของวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง”
ในขณะนั้นฝ่ายคัดค้านก็มีการติดแผ่นป้ายประท้วง ตามคำบอกเล่าของคุณ โดม สุขวงศ์ “ แต่เมื่อเวลาเขาทุบเนี่ย จำได้ว่ามีคนไปประท้วงกันนิดหน่อย มีคนเขียนบทความเสียดายเพราะเป็นโรงหนังสำคัญโรงหนึ่งของประวัติศาสตร์”
แต่เสียงคัดค้านที่มากเท่าใดก็ไม่พอ เพราะท้ายที่สุดแล้วศาลาเฉลิมไทยบนถนนราชดำเนินกลางแห่งนี้ ก็ถูกทุบทิ้งลงไปใน พ.ศ. 2532 ซึ่งในเหตุการณ์นี้ คุณโดม สุขวงศ์ ได้เก็บเศษผ้าม่านของศาลาเฉลิมไทยใส่กรอบไว้ด้วย
“เป็นม่านจอหนังของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อเขาทุบโรงหนังปี 2532 ม่านนี้มีสีแดงเพลิง ประดับเป็นรูปดาวสีทองระยิบระยับ แทนที่จะทิ้งผมก็เอามาใส่กรอบ ตัดข่าวจากวารสารหรือหนังสือพิมพ์ในตอนนั้นที่เขียนถึงการทุบเฉลิมไทยมาประดับ”
บรรยากาศความอบอุ่นและภาพความโอ่อ่าของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยในอดีตกลายเป็นเพียงความทรงจำที่บอกต่อ ๆ กันแล้วจินตนาการตามไปกับเรื่องเล่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้านไอศกรีมป๊อปตราเป็ดบริเวณชั้นหนึ่ง ฟลอร์เต้นรำที่ชั้นสอง หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกายที่ต้องแต่งแบบสุภาพหากมาชมภาพยนตร์ที่นี่
รัชนก พุทธสุขา
สัมภาษณ์
โดม สุขวงศ์ ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน)