บทความนี้ขอเชิญผู้อ่านมารู้จักประวัติศาสตร์ร้านตัดผมในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสำรวจกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่พ.ศ.2481 เพื่อเห็นถึงบทบาทของร้านตัดผมกับการป้องกันโรคระบาด ทั้งนี้ร้านเสริมสวย – แต่งผมสามารถเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคติดต่อต่าง ๆ โดยการสัมผัสโดยตรง จากการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือไม่สะอาดเพียงพอ รวมทั้งจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงกับผู้บริโภค
ไม่มีหลักฐานว่าร้านตัดผมร้านแรกเปิดในสมัยใดและเป็นของผู้ใด แต่ในหนังสือชุด “วชิรญาณวิเศษ” ระบุว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับปีพ.ศ.2429มี “ร้านช่างตัดผมช่างโกนผม” บนถนนเจริญกรุงจำนวน 1 ร้าน และบนถนนบำรุงเมืองจำนวน 6 ร้าน และเมื่อถึงปีพ.ศ. 2434 ปรากฏว่ามีร้านตัดผมเพิ่มมากขึ้นขยายไปยังถนนทุกสาย แต่มีเฉพาะร้านตัดผมผู้ชายเท่านั้น
“ช่างตัดผมผู้ชายเขาตั้งเปนที่รับตัดขึ้นหลายแห่งทุกถนนไม่ต่ำกว่า 50 ตำบล ๆ หนึ่งมีช่างตัดอยู่ใน 2 คน 3 คนทุกแห่ง ......ส่วนช่างผู้หญิงนั้นยังไม่มีใครตั้งที่รับตัดผมเลย ยังคงใช้เครื่องมือกระเดียดกระทาย เที่ยวอยู่เหมือนช่างโบราณ ๆ”
สำหรับบรรยากาศของร้านตัดผมชายในสมัยนั้น เมื่อมีลูกค้าเข้ามาในร้านก็เชิญให้นั่งบนม้าหรือเก้าอี้ แล้วนำผ้าขาวคลุมตัวป้องกันเศษเส้นผมตกลงไปยังเสื้อผ้าและร่างกาย ถามความต้องการว่าต้องการตัดผมทรงอะไร ซึ่งผู้ชายสมัยนั้นนิยมทรงกระทุ่มกลาย กระทุ่มญวน รองทรง (เคยเป็นทรงผมสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์สูงๆ เท่านั้น) และ “ทรงฝรั่ง” (ตัดผมฝรั่ง) ซึ่งเป็นผลจากการประกาศยกเลิกไว้ผมทรงมหาดไทย
อุปกรณ์เครื่องมือประจำร้านตัดผมชาย ช่างตัดผมเปลี่ยนมาใช้ตะไกรฝรั่งแทนตะไกรไทย โดยช่างหนึ่งคนจะต้องมีตะไกรฝรั่ง 3 เล่ม เล่มแรกสำหรับตัดผมที่ยาว เล่มที่สองไว้เก็บผมให้เสมอกัน และเล่มที่สามสำหรับขริบปลายผมตามต้นคอและซอกหู และยังมีมีดโกนฝรั่ง แปรงสำหรับปัดผม แปรงชุบน้ำ ถ้วยน้ำ หวีเขากระบือ น้ำมันใส่ผม (แทนขี้ผึ้งและน้ำมันตานี ) ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือตัดผมวางไว้บนโต๊ะ และยังมีกระจกส่องอีกด้วย
ส่วนร้านตัดผมสำหรับผู้หญิง น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องจากนวัตกรรมของเครื่องมือและผลิตภัณฑ์สำหรับทำผมผู้หญิงเริ่มเข้ามาในประเทศ ขณะนั้นผู้หญิงทั่วโลกกำลังนิยมการดัดผม ดังนั้นร้านตัดผมสำหรับผู้หญิง จึงให้บริการดัดผมด้วย และร้านมักตั้งอยู่ในร้านตัดเสื้อผ้า ซึ่งช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองร้านตัดผมยังคงให้บริการแยกชายหญิงอยู่
ด้วยนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งเสริมให้อาชีพช่างตัดผมเป็นหนึ่งใน 13 อาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย นอกจากเป็นสิ่งที่ต้องการป้องกันไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ ยังเป็นเรื่องของการสาธารณสุขหรือสุขอนามัยของประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับแพร่กระจายของโรคติดต่อต่าง ๆ โดยตรง
เนื้อความในพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2484 ระบุว่า “การแต่งผม หมายความรวมตลอดถึงการตัดผมหรือหนวด การโกนผม ขน หนวด หรือเครา หรือการตัดหนวด การกันหน้าหรือคอ การตัดหรือจัดทรงผม การสระผม การย้อมผม รวมทั้งการนวดหน้าและแต่งหน้าบรรดาซึ่งกระทำแก่คน” โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญไม่แพ้ ขยะมูลฝอย ตลาดสาธารณะ ตลาดเอกชน แผงลอย สถานที่เอกชน โดยหมวด 2 ทั้งหมวดว่าด้วยเรื่องการแต่งผมแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ร้านตัดผม ร้านเสริมสวยจึงอยู่ภายใต้กฎหมายนี้
พระราชบัญญัติสาธารณสุขตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน ให้อำนาจส่วนท้องถิ่นในการออกเทศบัญญัติหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมร้านตัดผม ร้านเสริมสวย โดยการเปิดร้านต้องขออนุญาตเสียก่อน หน้าร้านต้องติดเครื่องหมายทรงกระบอกสีแดงสลับขาวเป็นเกลียว (Barber pole) กำหนดเครื่องใช้ที่จำเป็นในการแต่งผมและวิธีใช้ให้ถูกสุขลักษณะ กำหนดการแต่งกายและการรักษาความสะอาดของช่างตัดผม และช่างตัดผมต้องมี “ใบอนุญาตให้เป็นผู้รับจ้างแต่งผม”
ซึ่งข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติของท้องถิ่นแต่ละแห่ง มีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน แทบจะเหมือนกันทุกประการ ขอยกตัวอย่าง เทศบัญญัติของเทศบาลกรุงเทพ เรื่อง ควบคุมการแต่งผม พุทธศักราช 2491 เพื่อให้เห็นถึงบทบาทของร้านตัดผม ร้านเสริมสวยในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด ดังนี้
“สถานที่รับจ้างแต่งผม” ต้องมีเครื่องใช้อันจำเป็นดังต่อไปนี้ 1) เก้าอี้นั่งหรือนอนที่มั่นคงและสะอาด 2) ผ้าคลุมตัวสีขาว สะอาด ป้องกันการเปรอะเปื้อน 3) ผ้าสะอาดสำหรับพันคอ ไม่ให้ผ้าคลุมสัมผัสโดนคอ 4) ผ้าขนหนูสะอาดสำหรับเช็ดหน้า เช็ดคอ และเช็ดศีรษะ 5) กรรไกร มีดโกน หวี แปรงสำหรับปัดผม 5) สบู่สำหรับฟอกตัวหรือโกนหนวด น้ำยาไลโซล 5% หรือแอลกอฮอล์ 70 – 98 % หากเป็นช่างตัดผมที่ไม่ได้ประจำร้าน หรือ ช่างตัดผมเร่ ก็ต้องมีเครื่องใช้อันจำเป็นติดตัวไปด้วย (ข้อ 2 – ข้อ 6)
โดยเครื่องใช้ดังกล่าวข้างต้นต้องถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ ผ้าพันคอ ผ้าขนหนูเช็ดหน้าให้ใช้กับลูกค้าได้เพียงครั้งเดียว เมื่อนำไปซักให้สะอาดจึงสามารถนำมาใช้อีกได้ ให้ล้างกรรไกร มีดโกน แปรงทาหนวดและผม หวี ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง ต้องทำความสะอาดแปรงปัดผมให้สะอาดอยู่เสมอ
ช่างตัดผม ช่างเสริมสวยต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อย และต้องสวมเสื้อคลุมที่สะอาด เมื่อจะตัดผมต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้งเสียก่อน และขณะทำการแต่งผมจะต้องมีผ้าสะอาดปิดปากและจมูก
ผู้ขอใบอนุญาตเป็นช่างตัดผมต้องได้รับการตรวจร่างกาย และมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้เป็นโรคต้องห้ามที่ได้ระบุไว้ ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วหากเป็นโรคก็ห้ามรับจ้างหรือให้บริการในขณะเดียวกันก็ห้ามไม่ให้ช่างตัดผมให้บริการแก่ผู้ที่ “เป็นโรคติดต่ออันน่าจะแพร่ไปเพราะการแต่งผม คือ โรคเรื้อน วัณโรค โรคคุดทะราด ไข้ทรพิษ อีสุกอีใส ไข้หัด หรือโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราหรือเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อไวรัสอันเป็นที่น่ารังเกียจ หรือเป็นพาหะของโรคดังกล่าวแล้ว”
หากมีการกระทำใด ๆ ในอันที่จะมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน หรือจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ทำการแก้ไขหรือระงับเหตุนั้น หรืออาจสั่งพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ รวมทั้งมีโทษตามกฎหมาย
หากนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้กับร้านตัดผม-ร้านเสริมสวยต่าง ๆ อย่างจริงจัง เช่น การทำความสะอาดอุปกรณ์ทำผมก่อนและหลังการให้บริการ ช่างตัดผมต้องใส่หน้ากากผ้า ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด เป็นต้น รวมทั้งใช้มาตรการเพิ่มเติมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ที่เพิ่งประกาศใช้ล่าสุด เช่น การคัดกรองอาการป่วยของช่างตัดผมและลูกค้าผู้ใช้บริการ ให้เว้นระยะห่างระหว่างเก้าอี้ตัดผมอย่างน้อย 1.5 เมตร และควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด จัดการให้มีการระบายอากาศภายในร้านที่ดี ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยในการดำเนินการเพื่อสุขอนามัยของ ประชาชน
ที่สำคัญร้านตัดผมจะได้ไม่กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดต่าง ๆ โดยที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างมั่นใจไร้กังวล
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
วชิรญาณวิเศษ เล่ม 2 แผ่น 3 หน้า 18 อ่านออนไลน์
วชิรญาณวิเศษ เล่ม 2 แผ่น 5 หน้า 34 อ่านออนไลน์
วชิรญาณวิเศษ เล่ม 6 แผ่น 36 หน้า 433 – 434 อ่านออนไลน์
วชิรญาณวิเศษ เล่ม 6 แผ่น 37 หน้า 447 - 448 อ่านออนไลน์
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการแต่งผม พ.ศ. 2518 เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ “ร้านแต่งผม – เสริมสวย” เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
คู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรม กลุ่มที่ 1 (สีขาว) เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง ควบคุมการแต่งผม พ.ศ.2491. ในหนังสืองานศพ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิจารณ์เลขกิจ (ใหญ่ กฤษณามระ) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 14 พฤศจิกายน 2503 เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558. เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
สมศักดิ์ ชลาชล. (2550). เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยธุรกิจทำผม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์