Museum Core
“วันมาฆบูชา” เป็นพิธีกรรมของราษฎรตอนไหน
Museum Core
07 ก.พ. 63 2K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

“วันมาฆบูชา” เป็นพิธีกรรมของราษฎรตอนไหน

 

 

“วันมาฆบูชา” ถือเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระอรหันต์ 1,250 รูปที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายในวันเพ็ญเดือนมาฆะ เรียกเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์นี้ว่า “จาตุรงคสันนิบาต”

 

ในประเทศไทยยกให้ “วันมาฆบูชา” เป็นหนึ่งในสามวันสำคัญทางศาสนาพุทธและเป็นวันหยุดราชการ พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตร ไปวัดสมาทานศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ถวายสังฆทาน และนิยมเวียนเทียนรอบอุโบสถในช่วงหัวค่ำ แต่รู้หรือไม่ว่าคนสมัยก่อนไม่ได้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับวันมาฆบูชามาก่อน

 

 

มาฆบูชาเป็นพิธีกรรมของพระมหากษัตริย์


การประกอบพิธีกรรมวันมาฆบูชา เพิ่งเกิดขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2394 อันเป็นปีที่เสด็จขึ้นครองราชย์

 

“…ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตได้นิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก 1,250 ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้นกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ 1,250 พระองค์นั้นให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช...”

 

ด้วยพระองค์ระลึกถึงความสำคัญในวันมาฆบูชาดังกล่าวข้างต้น จึงทรงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน โดยทรงนิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน 30 รูป เจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนค่ำพระสงฆ์ทำวัตรเย็น สวดโอวาทปาติโมกข์ จากนั้นทรงจุดเทียนรายรอบพระอุโบสถจำนวน 1,250 เล่ม หลังสดับเทศนาโอวาทปาติโมกข์ทั้งภาษามคธ (บาลี) และภาษาไทย ถวายกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่าง ๆ พระองค์ทรงบำเพ็ญ การพระราชกุศลมาฆบูชา ด้วยพระองค์เองเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด ส่วนใหญ่จะตรงกับเดือนสาม ตามปฏิทินปักขคณนาที่พระองค์ทรงคิดค้นวิธีคำนวณเพื่อกำหนดวันสำหรับประกอบศาสนพิธีในหมู่พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย


และกลายเป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำสืบต่อมาเป็นราชประเพณี ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเสด็จประพาสต้น ก็ทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ณ สถานที่นั้น ๆ เช่น บางปะอิน พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง เป็นต้น


ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งหนึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชกุศลมาฆะบูชาจาตุรงคสันนิบาต ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องจากอยู่ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินในการประลองยุทธเสือป่า ซึ่งบ่งบอกถึงความสำคัญที่พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนี้อย่างไม่ขาด

 

กลายเป็นพิธีกรรมของราษฎร

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นี้เองที่วันมาฆบูชาได้กลายเป็นพิธีกรรมสำหรับราษฎรทั่วไป ใน พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้ราษฎร “เคารพพระศาสนา” ด้วยการบำเพ็ญบุญกุศล ร่วมประกอบพิธีมาฆบูชาในวันดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้พิธีมาฆบูชาจากเดิมที่เป็นการพระราชกุศลในราชสำนัก จึงเริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไปในวงกว้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

  

 

 

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

กรมการศาสนา. พระราชกุศลมาฆบูชา. เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน  เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์

พระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), สมเด็จ. (2561). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 31.  เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์

ราชกิจจานุเบกษา. การพระราชกุศลมาฆบูชา. เล่ม 28, 10 มีนาคม ร.ศ.130, เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์

ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ ประจำปี (พุทธศักราช 2456). เล่ม 30, 30 มีนาคม พ.ศ.2456 เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์

ราชกิจจานุเบกษา. การพระราชกุศลมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต. เล่ม 32, 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2458 เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์

 
 

 
 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ