“...ข้าพเจ้าทราบว่ามีผู้แปลกใจมิใช่น้อยว่า เหตุใดพ่อซึ่งเป็นเจ้าฟ้าหรือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวของทูลหม่อมปู่ที่มิได้รับพระราชทานวังอย่างใหญ่โตสมพระเกียรติยศ จนสามารถทำพินัยกรรมทิ้งวังนั้นไว้ให้ลูกหลานของท่านต่อมา ดังวังบางขุนพรหม ก็ได้เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของทูลหม่อมลุงบริพัตร หรือเสด็จลุงกรมชุมพรก็ได้เคยมีวังของท่าน เช่นเดียวกับวังลดาวัลย์ ของสมเด็จอาชายดังนี้เป็นต้น แม้ว่าถึงแม้สมัยนี้ พี่ ๆ น้อง ๆ ของข้าพเจ้าโดยมากที่ได้รับมรดกวังใหญ่ ๆ เหล่านั้นจะได้ขายเสียแล้วเกือบหมดก็จริงแต่อย่างน้อยก็ได้เงินจากการขายวังใหญ่ ๆ เหล่านั้นมาแบ่งกัน...”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์”
หากหลายท่านรู้จักวังปารุสกวัน ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคนในสายตระกูลของ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แต่หลายคนก็สงสัยว่าเหตุใดวังนี้ถึงไม่เคยเป็นมรดกตกสู่ทายาท
เหตุที่วังปารุสก์ไม่กลายเป็นมรดกเนื่องด้วย แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงกะที่ดินแถวที่เป็นท่าวาสุกรีปัจจุบัน เพื่อที่จะเป็นที่วังของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ตำหนักสองตำหนักที่อยู่ในบริเวณวังปารุสก์ ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อรักษาเป็นของหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ประทับอยู่ในช่วงเวลานั้น ที่ตำหนักใกล้พระบรมรูปทรงม้า นั่นก็คือ ตำหนักจิตรลดา ส่วนเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประทับอยู่ตำหนักปารุสก์ ทั้งสองพระองค์ต่างแยกกันอยู่และมีกำแพงกั้น เข้าใจกันว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถจะย้ายไปอยู่ท่าวาสุกรี ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็จะย้ายไปอยู่วังจันทร์ เวลานั้่นได้เพียงแต่ก่อฐานรากตัวตึก แต่บังเอิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ได้ทรงย้ายจากตำหนักจิตรลดาไปประทับอยู่ในพระบรมหาราชวัง และพระราชวังดุสิต การสร้างตำหนักที่วังจันทร์ก็เป็นอันล้มเลิก อันที่จริงแล้วเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ควรจะได้รับเงินตามธรรมเนียม เพื่อสร้างวังของพระองค์ที่ท่าวาสุกรี และวังนั้นคงได้รับนามว่า ‘วังพิษณุโลก’ ดังเช่น ‘วังสุโขทัย’ และ ‘วังเพ็ชรบูรณ์’ ที่มีต่อมาในภายหลัง แต่บังเอิญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงอยากได้ที่ริมแม่น้ำสร้างท่าวาสุกรี และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงอยากประทับอยู่ที่วังปารุสก์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงทำข้อตกลงกันฉันท์พี่น้องว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จะถวายที่ที่วาสุกรี และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะยกตำหนักจิตรลดาและที่ดินโดยรอบให้ ตกลงให้ทำบริเวณใหญ่ทั้งหมด โดยมีถนนรอบทั้งสี่ด้านเป็นวังปารุสก์ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จึงจัดการรื้อกำแพงระหว่างสองบริเวณเดิม ในตอนที่รื้อกำแพงนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงกล่าวไว้ว่าจำได้ดี
“...เพราะพ่อแน่พระทัยว่าวังปารุสก์เป็นของท่าน ท่านจึงได้จัดติดตราของท่านคือ จักร์และตะบองตามประตูกำแพง ทุกประตูรอบบริเวณวัง ดังข้าพเจ้าเชื่อว่าใคร ๆ ก็จะเห็นด้วยตาของตนได้จนบัดนี้ ถ้าท่านยังคิดว่าวังปารุสก์เป็นของหลวงพระราชทานให้อาศัยอยู่ชั่วคราวแล้วท่านคงจะไม่ติดตราของท่านเป็นแน่ แต่ท่านมิได้ขอพระราชทานโฉนด....”
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ได้ประทับอยู่ในวังปารุสก์ต่อไป แต่ภายหลังงานพระเมรุได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชประสงค์จะใช้ตึกวังปารุสก์เป็นตึกรับแขก เพราะมีเจ้าเดนมาร์คเสด็จมาเยี่ยมไทยในฐานะแขกเมือง จึงโปรดฯให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ย้ายไปอยู่ที่ตำหนักจิตรลดา ตำหนักที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เคยเรียกว่า “เรือนรับแขก”
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลังจากที่คณะราษฎร์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว ปรากฏว่าวังปารุสก์ก็ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ราชการและที่พักของบุคคลสำคัญตลอดมา เช่น วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้วังปารุสก์เป็นสถานที่ทำการและที่พัก
16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งพ้นจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้พำนักอยู่ในวังปารุสกวันสืบต่อไปจนตลอดชีพ ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติสำหรับรัฐบุรุษผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะของพระราชทานรัฐธรรมนูญ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พระยาพลหพลพยุหเสนา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490
ปัจจุบัน วังปารุสก์เป็นที่ทำการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
รัชนก พุทธสุขา
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (ไม่ปรากฏ). ประวัติวังปารุสกวัน. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2563, จาก อ่านออนไลน์