“...ยุคจีไอเมืองอุดร
ยุคเฟื่องฟูวีไอพี
เล่นดนตรีอันเดอร์กราวนด์
ร้องเรื่องราวชาวเฮฟวี่...”
บางส่วนจากเพลง 'กีตาร์คิงส์' ของวงคาราบาว วันนี้เรามาคุยกับ กีตาร์คิงส์ ผู้ชายที่ถือว่าเดินเข้าสู่วัยที่เรียกได้ว่าเป็น 'ผู้สูงอายุ' แล้ว แต่เขายังดูสมาร์ท แข็งแรง ยังโลดแล่นอยู่บนเวทีสร้างความสุขให้กับผู้อื่นมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และจากการที่ได้พูดคุยกัน สัมผัสได้ว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขมาก ๆ คนหนึ่ง เขาคนนั้นก็คือ คุณ 'แหลม มอริสัน' (พิชัย นวลแจ่ม) หรือที่เราเรียกกันว่า 'พี่แหลม' ผู้ชายที่อยู่กับ กีตาร์ที่รัก รักจริงจนกลายเป็น 'คิง'
ทีมงาน Museum’Core ได้มีโอกาสเดินทางไปพูดคุยกับ 'พี่แหลม' ถึงบ้านที่พัทยา จ. ชลบุรี
โตมาในครอบครัวดนตรีไทย
“ผมเกิดมาจากวงดนตรีไทย เพราะที่บ้านเป็นพวกวงพิณพาทย์ ดนตรีไทยแท้ ๆ เลยครอบครัวผม ส่วนผมเล่นดนตรีไทยเป็นนะ ตีกลอง ตีฆ้อง ระนาด แต่เราไม่ชอบที่มันช้า ๆ ผมใจร้อนชอบเร็ว ๆ ฮ่า ฮ่า”
กีตาร์ตัวแรก
“ตัวเราชอบดนตรีมาก หัวใจอยู่แต่กับดนตรี มีดนตรีในหัวใจ แต่หัดดนตรีไทยอยู่พักหนึ่ง ไม่เอาละ หันไปฟังเอลวิส ตอนนั้นอายุประมาณ 13 สนใจกีตาร์เลยขอแม่ซื้อ กีตาร์ตัวแรกเป็นกีตาร์โปร่ง ยี่ห้อ ยามาฮ่า ตัวเบ้อเร่อ ตัวละ 800 บาท นี่ก็แพงแล้วนะในสมัยนั้น เพลงแรก ๆ ที่เล่นก็เล่นเพลงเอลวิส ไปให้ใครสอนก็ไม่มีใครสอนเลยหัดเอง ฮ่า ฮ่า หัดฟังเอง เพราะที่บ้านสอนเต้นรำด้วย น้าสาวสอน เลยได้ฟังเพลงฝรั่งเยอะมากอยู่บ้านฟังเพลงทุกวัน ๆ (เสียงสูง)”
ประสบการณ์ที่หลังวัง
“พวกโก๋หลังวัง แดง ไบเลห์ อะไรพวกนี้คือรุ่นพี่ผมฮะ ผมไม่เกี่ยว ผมหางแถว เขาเป็นรุ่นพี่เรา เขาบู๊กัน ตีกัน ปาระเบิด ฮ่า ฮ่า ดุเดือดมาก ไม่ไหว ผมหนี เผ่นก่อน แต่ที่ผมชอบไปหลังวังเพราะไปนั่งฟังเพลง มีตู้เพลงให้ฟัง แถววังบูรพามีหลายร้าน ส่วนมากร้านเป็นแบบคอฟฟี่ช็อป อะไรแบบนี้ ยุคนั้นไปนั่งกินไอศกรีมกัน แต่งตัวแบบยุค 1970 ใส่ขากระดิ่ง มีขาเดฟบ้าง แต่เมื่อเปลี่ยนแนวเพลงที่ชื่นชอบการแต่งตัวก็เปลี่ยนไป”
เส้นทางนักดนตรี
“ผมบรรจุอยู่วงของคุณ วิสูตร ตุงคะรัต เอลวิสเมืองไทย ผมร้องเพลงของ คลิฟฟ์ ริชาร์ด (Cliff Richard) ผมเกิดจากวงนี้ ได้ฟังเพลงเหล่านี้จากตู้เพลง ส่วนวิทยุก็เปิดเพลงฝรั่งอย่างเดียวเลย ผมได้เปรียบฟังจากที่บ้านที่เป็นโรงเรียนสอนเต้นรำ แต่ถ้าเป็นเพลงไทยก็มี ชรินทร์ นันทนาคร”
“เพลงเฮฟวี่เริ่มเกิดหลังจากที่ผมระเบิด (จุดกระแส) ที่อุดรธานี ประมาณ พ.ศ. 2516 ก่อนผมจะไปเล่นดนตรีที่อุดรธานี GI มาตั้งฐานทัพก่อนประมาณ 2-3 ปี การรวมตัวกันของวง VIP ก็เริ่มจากในแคมป์ (ฐานทัพทหารGI) ที่อุดรธานี ตอนนั้นที่อุดรธานีเป็น 'ศูนย์ร็อคใหญ่'เลยก็ว่าได้ มีการไปรวมวงกันที่อุดรธานี แต่ต่างคนต่างมา สมาชิกบางคนก็มีบ้านอยู่ฝั่งธนฯ บางกอกน้อย มีมือคีบอร์ดเป็นคนมาเลเซีย มีนักร้องนำเป็นอินเดีย พี่เล่นกีตาร์โซโล่ เบสก็เป็นคนแถวบ้าน มือกลองก็คือพี่มันต์ (เอกมันต์ โพธิ์พันทอง) ทุกคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไปรวมตัวกันที่อุดรธานี ตอนนั้นวัยรุ่นไปที่นั่นกันเป็นจำนวนมากเลย ฮ่าฮ่าฮ่า ผมตั้งใจจะเล่นกีตาร์ให้เก่งให้ได้ กีตาร์อยู่ข้างตัวไม่หลับไม่นอนเลย ดีดสนุกเลยคุณ (เสียงสูง) พอทหารในแคมป์ที่เขาออกมาดูผมเล่นดนตรีนอกค่ายเห็นก็เชิญไปเล่นในค่ายเลย”
“ผมนี่ถือว่าเรียนภาษาอังกฤษจากเพลงฝรั่งเลย ไปเดินสายเล่นดนตรีทั่วยุโรป แถบสแกนดิเนเวีย นอเวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ แล้วก็ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออตเตรีย ไปหมดเลย ที่เขาเอาไปทำหนัง 'The Guitar King' กดเพื่อชมYoutube ผมไปอยู่เป็นเวลาเกือบ 15 ปี พูดเยอรมันได้เลยคุณคิดดู ฮ่าฮ่าฮ่า”
ที่มาของชื่อ 'แหลม มอริสัน'
“มาจากเล่นดนตรีในแคมป์ที่อุดรธานี ผมเล่นเพลงสไตล์ของ จิม มอริสัน เยอะมาก ถ้าหลับตาฟังนี่เหมือนมี จิม มอริสัน มายืนร้องเลย ในค่ายจะมีเวทีคอนเสิร์ตประจำอยู่ มีเวทีใหญ่หนึ่งเวที วันหนึ่ง ๆ ก็มีวงดนตรีมาเล่นหลายวง ส่วนนอกแคมป์ก็จะมีบาร์ คล้าย ๆ พัทยาในปัจจุบัน มีบาร์เบียร์ มีวงดนตรีเล่นเยอะมาก 60-70 ร้านได้ เยอะมาก ๆ ลูกค้าก็มากันทั่ว ในค่ายไม่ได้ให้คนทั่วไปเข้าไปแต่ถ้าอยากเข้าก็ขออนุญาตเข้าไปดูได้ มีเมมเบอร์ ขอชื่อ ขอบัตรประชาชน อะไรประมาณนี้ครับ ในนั้นมีเอนเตอร์เทนครบครัน มีให้ชอปปิ้ง มีของปลอดภาษี เยอะมาก บุหรี่ก็ถูก”
อายุ
“โฟตี้โฟ โฟตี้ไฟ” แล้วคุณ ฮ่าฮ่าฮ่า ยุคโก๋หลังวัง” ซึ่งการตอบอายุแบบนี้ของพี่แหลมก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่สำหรับทีมงาน ใครแก้ปริศนาการตอบอายุแบบฉบับพี่แหลมนี้ได้โปรดแจ้งทีมงานกลับมาด้วย
การดูแลตัวเอง
“การดีดกีตาร์คือการออกกำลังกายนะคุณ ผมเล่นชั่วโมงเดียว เสื้อเปียกชุ่ม เหงื่อเต็มเลย ใช้พลังเยอะมาก กีตาร์หนักด้วยคุณ”
เคล็ดลับการเป็นกีตาร์คิงส์
“ใช้เวลากับมัน ฝึกเยอะมากเลย สมัยหัดเล่นเล่นวันหนึ่งประมาณ 6-7 ชั่วโมง อยู่กับกีตาร์ทั้งวันเลย เล่นด้วยใจรัก ใจนี่ชอบดนตรีแต่เล็กเลย ที่บ้านก็ชอบนะมีแอบมาดูด้วย แต่ผู้ใหญ่ ๆ ทั่ว ๆ ไปแค่ดูแปลกเฉย ๆ นะ ความเป็นฮาร์ดร็อค ไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรง แค่สนุกเฉย ๆ”
“ในยุคเดียวกันมี เช่น วงอิมพอสซิเบิ้ล วงไฮโดรสโคป ดนตรีแนวเฮฟวี่ อันเดอร์กราว ที่เล่นกันในเมืองไทย ผมเป็นคนนำเข้ามา 'ไทยร็อค' หลายคนเล่นตามผมกันทั้งนั้นเลย อัสนี, เสกโลโซ ผมเป็นแนวโน้ม เป็นแรงบันดาลใจของเขา อย่าง แอ๊ด คาราบาว เขาไม่ใช่ร็อคแต่เป็นคล้าย ๆ ละติน สามช่า เขาก็มีผมเป็นแรงบันดาลใจ”
“แต่จริง ๆ การเล่นดนตรีของผม คือ เพื่อให้โลกรู้จักประเทศไทยครับ”
ให้แรงบันดาลใจ
“ถ้าเราชอบอะไร เราต้องใช้ความพยายามสูงมากคุณ เราจะชอบบ้างไม่ชอบบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ จะชอบไม่จริงจังไม่ได้ จะไม่เก่ง ต้องรักจริง ๆ เลยคุณ เราจะต้องให้เวลากับมันมากที่สุดครับ อย่างผมในสมองนี่คิดแต่เรื่องเพลง เรื่องกีตาร์ตลอดเลย ฮ่าฮ่าฮ่า สุดยอดมั้ย ผมไม่เครียดเลย ฮ่าฮ่าฮ่า สนุกน่าดู ชีวิตเราสนุกมากเลย ผมใช้เวลากับกีตาร์กว่าครึ่งชีวิต แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ซ้อมละ ฮ่าฮ่าฮ่า ถึงเวลาก็ไปดีดเลย หลังจากที่ใช้เวลากับมันมากแล้ว ตอนนี้ดีดวันละชั่วโมงเดียว ฮ่าฮ่าฮ่า”
“ชีวิตนี้ดีดกีตาร์ไปแล้ว 20 million ครั้ง ฮ่าฮ่าฮ่า”
และพี่แหลมก็ทิ้งท้ายว่า
“ยินดีนะน้องนะ ว่าง ๆ มาเที่ยวใหม่นะ”
ภาพ: แหลม มอริสัน กับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
ถ่ายที่บ้านพัทยา จ.ชลบุรี ถ่ายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562
ภาพ: เสื้อหนังของแหลม มอริสัน ที่ผูกธงชาติไทย ในตอนที่ไปเล่นดนตรีทั่วยุโรป
ถ่ายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562
ภาพ: แหลม มอริสัน สมัยตอนยังเป็นวัยรุ่น
สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2562 จาก, https:// www.facebook.com/แหลม-มอริสัน-198471800192932/
ภาพ: กิจกรรมความบันเทิงของทหารอเมริกัน GI ภายในค่ายรามสูร จ.อุดรธานี
แหล่งแพร่กระจายวัฒนธรรมวัยรุ่นอเมริกันที่วัยรุ่นไทยได้รับผลกระทบ
ซึ่งแหลม มอริสัน ก็ได้รับอิทธิพลเพลงและการแต่งกายมาจากที่นี่
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร จ.อุดรธานี
ภาพ: กิจกรรมความบันเทิงของทหารอเมริกัน GI ภายในค่ายรามสูร จ.อุดรธานี
แหล่งแพร่กระจายวัฒนธรรมวัยรุ่นอเมริกันที่วัยรุ่นไทยได้รับผลกระทบ
ซึ่งแหลม มอริสัน ก็ได้รับอิทธิพลเพลงและการแต่งกายมาจากที่นี่
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร จ.อุดรธานี
รัชนก พุทธสุขา
สัมภาษณ์ คุณแหลม มอริสัน (พิชัย นวลแจ่ม)
ข้อมูลอ้างอิง
เพลง กีตาร์คิงส์ ของวงคาราบาว กดเพื่อชมYoutube
ภาพ
ภาพจากนิทรรศการในค่ายรามสูร อดีตฐานทัพทหาร GI จ. อุดรธานี
ถ่ายภาพโดย: สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์