Museum Core
เด็กใต้ พังค์ & สกิน วัยรุ่นมุสลิมกับชีวิตที่ไม่เหมือนเพื่อน
Museum Core
23 ม.ค. 62 29K

ผู้เขียน : ชัชชล อัจนากิตติ

เด็กใต้ พังค์ & สกิน: วัยรุ่นมุสลิมกับชีวิตที่ “ไม่เหมือนเพื่อน”

 

 

 

ปัจจุบันข่าวสารเกี่ยวกับ “ชายแดนใต้” ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งที่เป็นสื่อกระแสหลักและกระแสรอง ทั้งที่อยู่ในโลกออฟไลน์และออนไลน์ ถ้าไม่เป็นการรายงานเหตุร้ายรายวัน ก็มักจะเป็นเรื่องราวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ปัญหาการเมือง หรือสภาพเศรษฐกิจ


แน่นอนว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวใน “ภาพใหญ่” ย่อมมีความสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน “ภาพเล็กภาพน้อย” ซึ่งเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะในแง่มุมทางวัฒนธรรมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


และแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ คงจะยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่น อย่างดนตรีและแฟชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมดนตรีและแฟชั่นนอกกระแสที่คนส่วนใหญ่พบเห็นแล้วคงรู้สึก “แปลก”

 

เมื่อนึกถึงภาพของเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่แต่งตัวด้วยชุดหนังปักหมุด ไว้ผมทรงโมฮอว์ก หรือทำผมเป็นหนามแหลม ย้อมผมสีสันแสบทรวง ใส่กางเกงยีนส์ขาด ๆ รองเท้าบูทหนัง หรือรองเท้าผ้าใบแนวสตรีท เสื้อและกางเกงของพวกเขาเต็มไปด้วยโลโก้วงดนตรีซึ่งชื่อไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก


สำหรับบางคน อาจจะเคยพบเห็น หรือคุ้นเคยกับเด็กหนุ่มในชุด “ยูนิฟอร์ม” ดังกล่าวจากสื่อบันเทิงตะวันตก แต่คงจะมีอีกหลายคนเช่นกันที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน และรู้สึกตั้งคำถามกับที่มาที่ไป วิถีชีวิต และความคิดของพวกเขา...


วัยรุ่นซึ่งเรียกตัวเองว่า “พังค์”

 



จากพังค์ตะวันตก สู่พังค์ไทย ถึงพังค์ชายแดนใต้

 

 

บทความเรื่อง “พังค์กับสัมพัทธนิยมของการปะทะต่อต้าน” ของ อธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นด้านวัฒนธรรม ซึ่งรวมเล่มอยู่ในหนังสือ “วัฒนธรรมต่อต้าน” ตอนหนึ่งได้ระบุถึงที่มาที่ไปของวัฒนธรรมพังค์ที่ก่อตัวในโลกตะวันตก...


เริ่มต้นจากคำว่า “พังค์” (Punk) ซึ่งถือเป็นคำที่มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 ในสังคมอังกฤษ ซึ่งแปลว่า หญิงโสเภณีหรือหญิงขายตัวชั้นต่ำ ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คำนี้ หมายถึง พวกเด็กเหลือขอ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เป็นคำสแลงเรียกผู้ชายขายบริการทางทวารหนักในคุกอีกด้วย


ขณะที่ในโลกของดนตรี คำว่า “พังค์” ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1976 เมื่อวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งใช้เป็นชื่อนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีใต้ดินในนิวยอร์ค จากนั้นนักวิจารณ์ดนตรีในอังกฤษจึงได้หยิบยืมมาใช้เรียกดนตรีใต้ดินซึ่งกำลังก่อตัวในลอนดอนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่ง อธิป ระบุว่าทำให้พังค์มีความหมายถึง “แนวดนตรีสากหู กับแฟชั่นการแต่งตัวเจาะ สัก โมฮอว์ค สกินเฮด” ไปในที่สุด


“พังค์” ในโลกตะวันตก กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ได้รับความสนใจ และขึ้นสู่จุดสุดยอดในช่วง ปี ค.ศ.1976-1979 จากความโกลาหลในคอนเสิร์ตซึ่งเป็นที่โจษจันของวง Sex Pistols วงพังค์ร็อครุ่นบุกเบิก สัญชาติอังกฤษ


อย่างไรก็ตาม การแปะป้ายว่า “พังค์” เป็นดนตรี “ต่อต้านสังคม” โดยวัยรุ่นชนชั้นแรงงาน หรือของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งอย่างเด็ดขาดนั้นก็กล่าวได้ยาก เพราะวัฒนธรรมพังค์มีพัฒนาการและมีผู้คนจากพื้นเพที่หลากหลาย ขณะเดียวกันความคิดทางการเมือง หรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็มีความคลุมเครือมาก เพราะมีตั้งแต่พังค์ฝ่ายขวา พังค์ฝ่ายซ้าย พังค์เหยียดผิว พังค์ต่อต้านการเหยียดผิว พังค์ที่นิยมแนวคิดอนาธิปไตย หรือพังค์ที่ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองอะไรเลยแม้แต่น้อย


นั่นคือภาพอย่างกระชับของ “พังค์” ในโลกตะวันตก ซึ่งถือกำเนิดในทศวรรษ 1980 ก่อนจะค่อย ๆ แพร่กระจายไปทั่วโลก


สำหรับในประเทศไทยเอง การจะระบุที่มาที่ไปของดนตรีชนิดนี้อย่างชัดเจนยังเป็นไปได้ยาก แต่ “ประวัติศาสตร์พังค์ไทย” ยังคงถูกบอกเล่าจากคนในวงการพังค์ในลักษณะการเล่ากันแบบปากต่อปาก


“พังค์เข้ามาในประเทศไทยต้องกลับไปที่ ค.ศ. 2000 แต่ตอนนั้นเค้าเรียกฮาร์ดคอร์หมด เข้ามาทุกแนวทุกกระแส เพราะยุคนั้นเป็นยุคแรกที่เริ่มมี MP3 มีอินเทอร์เน็ต มีการส่งไฟล์กันทางอินเทอร์เน็ต เมื่อก่อนเราจะหาแผ่นจากอเมริกามันยากมาก แต่พอมีอินเทอร์เน็ต มี MP3 มันหาง่ายมาก มันเลยเป็นยุคที่เพลงพวกนี้เข้ามาสู่ประเทศไทย ผมไม่ได้อยู่ในยุคนั้น แต่ได้ยินเขาเล่าให้ฟังมา”


“โล๊ก” นักร้องนำและมือกีตาร์วง KAAB (อ่านว่า “แขบ” เป็นภาษาถิ่นใต้ แปลว่า รีบ) วงพังค์ที่มีพื้นเพอยู่ใน จ. สงขลา และอยู่ในแวดวงพังค์ไทยมาเกือบ 10 ปี กล่าวถึงที่มาที่ไป


ก่อนจะเล่าต่อว่าวงดนตรีพังค์วงแรก ๆ ที่เกิดในประเทศไทยนั้น เป็นวงของฝรั่งซึ่งมาอยู่ที่ จ. เชียงใหม่ ขณะที่วงสัญชาติไทยวงแรก ๆ ซึ่งถือเป็นวงในตำนานไปแล้วในปัจจุบัน คือวง Bangkok Alcohol ซึ่งเป็นวงในแนว “สตรีท พังค์” (Street Punk) มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน คือ การแต่งกายแบบ “ชุดหนัง-หัวหนาม” วงรุ่นหลังที่เกิดตามมาในไทยจึงได้รับอิทธิพล ทำให้แวดวงพังค์ไทยมีวงแนวสตรีทพังค์เป็นส่วนใหญ่


“สำหรับภาคใต้ จริง ๆ ตอนที่มี Bangkok Alcohol วงเดียว ที่สงขลาก็มีวง Obliged of Punk แล้ว ส่วนในสามจังหวัด แวดวงพังค์ก็เกิดมาพร้อม ๆ กับ Obliged of Punk ซึ่งเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากในภาคใต้ ฐานแฟนเพลงก็มาจากสามจังหวัด ในยุคแรกวงพังค์ในสามจังหวัดมีวงอย่าง Antilaw, Outlaw” โล๊ก เล่า


ขณะที่ “มะดี” หรือ ดี นักร้องนำและมือกีตาร์วง Gudank 16 ซึ่งเป็นวงแนวสกินเฮด หรือ “โอ้ย! พังค์” (Oi! Punk) ซึ่งเป็นแนวย่อยแนวหนึ่งของดนตรีพังค์ ผู้มีพื้นเพมาจาก อ. สุไหงโกลก จ. นราธิวาส เล่าว่า เขาฟังเพลงแนวนี้มาเกือบ 10 ปี แต่เริ่มทำวงเป็นเรื่องเป็นราวก็เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา และขยายความให้เห็นภาพของแวดวงพังค์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นแนวสกินเฮด



“เกือบ 10 ปีก่อน ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่มาเลย์ เขาได้รับวัฒนธรรมมาเต็ม ๆ ก็เลยมาเล่น มาเผยแพร่ทางนี้ ทางนี้กระแสก็เลยแรงกว่าสงขลา ส่วนใหญ่มาจากมาเลย์ซึ่งจะเป็นสกินเฮด สตรีทพังค์ในมาเลย์จะไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นสกินเฮด”


สำหรับความหมายของ “สกินเฮด พังค์” นั้น ดี อธิบายว่า


“ส่วนตัว ผมคิดว่าก็เป็นพวกต่อต้าน อาจจะเป็นเรื่องการคอรัปชั่น การเมือง อะไรพวกนี้ แต่สกินเฮดก็มี 2 กลุ่ม พวกสกินเฮดที่รู้จักกันในวงกว้างก็จะเป็นพวก Nazi พวกที่ไม่ยอมรับเชื้อชาติอื่น แต่ว่าจะมีอีกกลุ่ม เป็น สกินเฮดเหมือนกัน แต่พวกนี้จะต่อต้านนาซี ผมก็จะเป็นสกินเฮดที่ Anti-fascist หรือที่เรียกว่า SHARP (Skinheads Against Racial Prejudice) ซึ่งวงพังค์ในมาเลเซียและในบ้านเราก็จะมีกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่”


แม้ดนตรีพังค์และวัฒนธรรมพังค์ในชายแดนใต้ นับจาก พ.ศ. 2543 จะมีอายุกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยุคที่ดนตรีประเภทนี้เฟื่องฟูมาก ๆ เป็นช่วง พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นยุคที่กระแสดนตรีพังค์กลับมาบูมในระดับโลกด้วยความสำเร็จของอัลบั้ม American Idiot ของวงพังค์หัวแถวอย่าง Green Day ซึ่งส่งผลให้กระแสพังค์ทั่วโลกทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด ไม่เว้นแม้แต่แวดวงพังค์ในชายแดนใต้


โล๊ก เล่าบรรยากาศของ “ยุคเฟื่องฟู” ว่า


“วงการพังค์ในตอนนั้นผมจำได้แม่นมาก เมื่อ พ.ศ. 2548 พังค์เยอะกว่าทุกวันนี้มาก เพราะฉะนั้นคอนเสิร์ตพังค์เวลาจัดแต่ละที มีคนดูไม่ต่ำกว่า 300-400 คน ทุกคนแต่งตัวจัดเต็ม คอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะจัดที่โรงหนังเก่า มีเพรสซิเดนซ์กับเฉลิมทอง เก็บค่าตั๋วประมาณ 150 บาท คนจะเยอะมาก หรือในชีวิตประจำวัน เวลาเดินไปไหน เราจะเห็นพังค์เดินตามท้องถนนทั่วไป โดยเฉพาะตามห้างของหาดใหญ่ เราจะเห็นเลย พวกพังค์จะอยู่ตามโรงหนัง มาหัวตั้งมาเลย ตอนนั้นพังค์จะอยู่สามจังหวัดเสียเยอะ แล้วก็แถวสงขลา หาดใหญ่ คนมาดูคอนเสิร์ตก็มาจากทั่วประเทศ สมัยนั้นเฟื่องฟูมาก ไม่เหมือนตอนนี้ที่มีแต่คนดูในท้องถิ่นกันเอง”


แน่นอนว่าเมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุดก็ย่อมต้องเผชิญกับการเสื่อมความนิยม ซึ่งทั้ง โล๊ก และ ดี ก็มีคำอธิบายถึงความนิยมดนตรีพังค์ที่ลดน้อยลงในพื้นที่ไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขาต่างก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของกระแสดนตรีที่มีขึ้นมีลง จากจำนวนหลายร้อยคนในอดีต ในปัจจุบันหายหน้าหายตากันไปกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงวัยรุ่นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็ใช่ว่าเรื่องราวของพวกเขาจะไม่สลักสำคัญ...

 

 

เด็กใต้ พังค์ & สกิน: วัยรุ่นมุสลิมกับชีวิตที่ “ไม่เหมือนเพื่อน”

 

 

อย่าให้มันมาสั่ง อย่าให้มันมาบอก เราต้องอยู่นอกกรอบที่พวกมันตั้งไว้
ชีวิตของเรา ชีวิตพวกเรา จะยอมให้พวกเขามาควบคุมได้ยังไง
Fight for freedom เพื่อเสรีภาพ
Fight for freedom เพื่ออิสรภาพ
Fight for freedom ต่อต้านอำนาจ…

 

เสียงเพลงจังหวะมันส์ ๆ ที่บรรเลงด้วยกีตาร์ เบส และกลอง เครื่องดนตรีเพียง 3 ชิ้น กับเสียงร้องกึ่งตะโกน ในเพลง “Fight for Freedom” ของวง KAAB ทำให้เด็กวัยรุ่นในชุดหนัง บ้างก็ทำผมทรงโมฮอว์ค บ้างก็ทำเซ็ตผมเป็นหนามแหลมสีสันต่าง ๆ กระโดด เต้น และ “แท็ค” โดยการใช้ตัวกระแทกกันไปมาหน้าเวทีคอนเสิร์ตอย่างเมามันส์


หลังจากคอนเสิร์ตเล็ก ๆ แบบเป็นกันเองจบลง เราได้พูดคุยทักทายกัน ซึ่งพวกเขาก็พูดคุยด้วยอัธยาศัยไมตรีเป็นอย่างดี พวกเขาบอกว่าในกลุ่มมีประมาณ 10 คน เดินทางมา จาก อ. สุไหงโกลก จ. นราธิวาส ส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น อายุประมาณ 15-18 ปี เวลามีคอนเสิร์ตพังค์ที่ อ. หาดใหญ่ พวกเขาจะมาพักที่บ้านเช่าของ “ฮากิม” สมาชิกคนหนึ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าโตที่สุดในกลุ่ม ซึ่งขณะนี้กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใน อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา


แม้ในวันนั้นจะไม่มีเวลาได้พูดคุยกันนานนัก แต่จากการพูดคุยกับ “ฮากิม” ในเวลาต่อมา ทำให้ได้รู้จักพวกเขามากขึ้น


“ผมเริ่มสนใจพังค์จากการที่เห็นรุ่นพี่ในโรงเรียนเขาแต่งพังค์ เห็นทีแรกรู้สึกว่ามันเท่ห์ มันแปลก ชอบผมทรงโมฮอว์ก ตอนนั้นก็อาย ไม่กล้าเข้าไปถามรุ่นพี่ ก็เลยเสิร์ชหาใน YouTube ดูว่าเขาแต่งกันยังไง ไปหาเสื้อผ้ามือสองที่ดูแล้วน่าจะเป็นแนวนี้ ตอนแรกเซ็ตผมไม่เป็นก็ใช้กาวเซ็ต เราไม่รู้ว่าต้องใช้สเปรย์ ตอนนั้นเป็นคนเดียวในรุ่นที่แต่งพังค์ ตอนหลังก็เริ่มมีเพื่อน ๆ และต่อมาได้รู้จักกับรุ่นพี่”


เรียกได้ว่าสิ่งแรกที่ “พังค์” ดึงดูดใจวัยรุ่นก็คงจะหนีไม่พ้นเครื่องแต่งกายและทรงผมที่โดดเด่น ก่อนที่พวกเขาจะได้ฟังเพลงและติดใจในเสน่ห์ของดนตรีประเภทนี้ซึ่งมีความหลากหลายทั้งหนักหน่วง มีเมโลดี้ที่ไพเราะ มีจังหวะสนุกสนาน และความยียวน


รวมถึงทัศนคติที่พวกเขาได้รับจากดนตรีชนิดนี้ ดังที่ “จู” หนึ่งในเด็กพังค์จากสุไหงโกลก ซึ่งมีอายุมากกว่าเพื่อนในกลุ่ม เล่าเช่นกันว่า


“เริ่มต้นจากเห็นการแต่งตัว ทรงผม ที่ไม่เหมือนใคร เลยชอบพังค์ ก็ติดตามฟังมาเรื่อย ๆ หลายปีแล้ว สิ่งที่ได้จากพังค์ คือ ความเป็นตัวของตัวเอง”


นอกจาก “ความเป็นตัวของตัวเอง” ดังที่ จู กล่าวถึงแล้ว “เรฟ” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ปัจจุบันขึ้นไปทำงานประจำอยู่ที่ กทม. ได้สะท้อนมุมมองของเขาว่า


“การเป็นพังค์ทำให้ได้เพื่อนที่อยู่กันเหมือนพี่น้อง ไม่มีใครสูง ไม่มีใครต่ำ”


สำหรับชีวิตประจำวันของพวกเขาส่วนใหญ่นั้นก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่ว ๆ ไป คือ ไปเรียน เลิกเรียนก็อาจจะได้พบปะ ไปเดินเที่ยวห้าง หรือตลาด อย่างไรก็ตาม การแต่งกายแบบ “พังค์” ชนิดจัดเต็มนั้น ส่วนใหญ่พวกเขาจะแต่งก็ต่อเมื่อมีงานคอนเสิร์ตหรือมีงานปาร์ตี้พังค์


ส่วนในชีวิตประจำวันพวกเขาก็แต่งกายเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่อย่างน้อยก็อาจจะมีสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงว่าเป็น “เด็กพังค์” ซึ่งการแต่งตัวของพวกเขานั้น จะแต่งมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน โซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่าง facebook ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ทำให้บ่อยครั้งที่พวกเขาจะ “เซลฟี่” ภาพของตัวเองเพื่อแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ในโลกเสมือนจริง นับว่าในโลกออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ใหม่ที่พวกเขาใช้ติดต่อสื่อสารและแสดงตัวตน


“ตอนแรกที่เริ่มหาเสื้อผ้ามาใส่ จะใส่ต้องแอบเอาเข้าบ้าน ไม่ให้พ่อแม่เห็น และจะแต่งก็เฉพาะตอนที่มาเที่ยวหาดใหญ่ หรือมางานปีใหม่ที่หาดใหญ่ ตอนนั้นก็รู้สึกน้อยใจที่บ้านบ้าง แต่พอโตขึ้น พ่อกับแม่เริ่มเข้าใจเรามากขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มแต่งได้ตามสบายมากขึ้น ก็รู้สึกสบายใจขึ้น แต่ก็แต่งให้พอดี เพราะอยู่ในชุมชน แต่ถ้ามาหาดใหญ่ก็แต่งได้เยอะ ส่วนใครจะมองว่าแต่งตัวแปลก ตรงนี้เราไม่แคร์” ฮากิม เล่าอย่างสนุก


แหล่งซื้อเสื้อผ้าของพวกเขานั้นมีทั้งร้านค้าที่ขายของมือหนึ่งและมือสอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นตลาดเปิดท้ายขายของ บางครั้งพวกเขาก็หาเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หมุดหนาม และนำไปให้ร้านเย็บผ้าเย็บให้ หรือไม่ก็ซื้อของมือหนึ่ง อย่างไรก็ดี จากการสอบถามและลงพื้นที่สำรวจราคาเสื้อผ้าในร้านซึ่งขายของสำหรับ “เด็กพังค์” โดยเฉพาะ พบว่าเสื้อผ้า เข็มขัด รองเท้า ส่วนใหญ่มีราคาหลักพันบาท ซึ่งก็นับว่าเป็นราคาที่สูงพอสมควรสำหรับวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะเสาะหาเครื่องแต่งกายที่สามารถดัดแปลงขึ้นได้ด้วยตัวเองเป็นหลัก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย


ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ทรงผม เพลงที่พวกเขาฟัง กิจกรรมการพบปะ การดูคอนเสิร์ต เหล่านี้ล้วนก่อรูปเป็นวิถีทางของ “เด็กพังค์” ในชายแดนใต้ ซึ่งหากจะให้นิยามคงไม่มีใครสามารถให้คำนิยามได้ดีไปกว่าพวกเขาเอง


ดังนั้น เมื่อถามว่า “พังค์ คืออะไร ?” ฮากิม นิ่งคิดไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบอย่างตลก ๆ ว่า ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไร แต่มันเป็นอะไรที่ “ไม่เหมือนเพื่อน” (ไม่เหมือนคนอื่น)

 

 

ความเป็นมุสลิม ปัญหาความไม่สงบ และการใช้ชีวิตในโลกที่เหลื่อมซ้อน

 

 

เดินไปมาอย่างไม่มีจุดหมาย เดินกลับไปแล้วก็เดินกลับมา ทำอย่างนี้ทุกวันไม่เบื่อหรือไง
บางครั้งเรื่องแบบนี้ มันไม่เกี่ยวกับใคร แต่อาจจะโดนเพื่อนเค้าทักว่า...
บียุห์บียะห์..บียุห์บียะห์..

 

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของเพลง “บียุห์บียะห์” ซึ่งแปลว่า “สับสน” เป็นผลงานของวง Gudank 16 สะท้อนให้เห็นสภาวะของการค้นหาตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่น


อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจประการหนึ่งของวัยรุ่นมุสลิมกลุ่มนี้ คือ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลก 2 ใบที่ซ้อนทับกันในบริบทของพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แก่ โลกทางศาสนาภายใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลาม และ โลกทางการเมืองที่มีปัญหาความไม่สงบปะทุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน (ขอสงวนนามผู้ที่ให้ข้อมูลในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนเหล่านี้)


เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความเข้มข้นทางศาสนาอิสลามมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งพฤติกรรมของ “เด็กพังค์” ก็ค่อนข้างเป็น “สีเทา” เช่นคอนเสิร์ตส่วนใหญ่นั้นมักจะมีเครื่องดื่มมึนเมาเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ แม้พวกเขาเองจะไม่ดื่มก็ตาม


ในประเด็นนี้พวกเขาคนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขายัง “เด็ก” การที่จะเสพสิ่งบันเทิงในวัยนี้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ และโดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อถึงวัยหนึ่งที่ต้องทำงานและดูแลครอบครัว “รุ่นพี่” ของพวกเขาส่วนใหญ่ก็จะห่างหายไปจากแวดวง บางคนเลิกแต่งตัว แต่ยังฟังเพลงอยู่ หรือบางคนก็เลิกฟังเพลงไปเลย อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็พยายามปฏิบัติศาสนกิจเท่าที่ทำได้ อาทิ การละหมาดให้ครบถ้วนทั้ง 5 เวลา และการไปมัสยิดทุกวันศุกร์


“เล่นดนตรีก็เล่นได้ แต่ว่าให้อยู่ในขอบเขตของมัน ถ้าเล่นจนลืมเวลาละหมาดก็ไม่ใช่แล้ว มีอุสตาซใน YouTube ที่ผมเคยฟัง เขาพูดถึงเรื่องพังค์สกินอะไรพวกนี้ เขาก็บอกว่าเล่นไปเลย จะแนวอะไร แต่อย่าลืมหน้าที่พื้นฐานของมุสลิมก็พอ ถ้าทำอะไรครบทุกอย่าง ก็ไม่มีปัญหา” เด็กพังค์คนหนึ่ง ระบุ


ที่สำคัญ พวกเขาก็เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ในการเป็น “พังค์” และเป็น “มุสลิม” ไปพร้อม ๆ กัน กล่าวคือ พวกเขาจะไม่สัก ไม่ไว้ผมยาว ไม่ย้อมสีผม (สีผมที่เห็นเวลาไปคอนเสิร์ต พวกเขาใช้การฉีดสเปรย์ ซึ่งเป็นการย้อมเพียงชั่วคราวเท่านั้น) ไม่ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด


อย่างไรก็ดี ในบางกรณี ก็มีการ “เลี่ยงบาลี” อาทิ พังค์มุสลิมที่เป็นผู้ใหญ่บางคน เวลาไปดูคอนเสิร์ต บางครั้งก็มีการใช้วิธีการสูบบุหรี่แบบมวนต่อมวน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึก “เมา”



ขณะที่ในโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกทางการเมืองที่มีปัญหาความไม่สงบปะทุอยู่นั้น แน่นอนว่าแม้พวกเขาจะไม่ได้ฟังดนตรีเหล่านี้เพราะมีเป้าหมายทางการเมือง หรือมีโครงการทางการเมืองใด ๆ อย่างเข้มข้นจริงจัง แต่พวกเขาก็มีทัศนคติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแบบของตัวเอง


“ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะการที่คนในท้องที่ถูกรังแก เป็นเรื่องของความไม่ยุติธรรม เช่น เหตุการณ์ตากใบ” หนึ่งในพวกเขา กล่าว


และบางครั้ง ด้วยการที่พวกเขานิยมแต่งกาย “แปลก ๆ ” ก็มักจะโดนเจ้าหน้าที่ตรวจอย่างจริงจังและได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในบ้านของพวกเขา แม้จะไม่ได้กระทบต่อชีวิตของพวกเขาโดยตรง แต่มันก็ได้กลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตจนทำให้กลายเป็นความเคยชินไปเสียแล้ว


ทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นพลวัตที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ นั่นคือ การที่ผู้คนมีชีวิตตัดข้ามไปมาระหว่างโลกหลาย ๆ ใบ ไม่ว่าจะเป็นโลกในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โลกที่ใกล้ชิดกับค่านิยมแบบตะวันตก หรือแม้แต่โลกแห่งอำนาจทางการเมืองที่แผ่ซ่านมาจากศูนย์กลางรัฐไทย


เหล่านี้นับเป็นหนึ่งใน “ภาพเล็กภาพน้อย” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นใน “ปัจจุบัน”


หวังว่าเรื่องเล่าของวัยรุ่นธรรมดา ๆ กลุ่มหนึ่ง จะเป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่ช่วยเติมเต็ม “ภาพใหญ่” ในการออกแบบโครงสร้างทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใน “อนาคต” ได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

ชัชชล อัจนากิตติ

 

 

 

อ่านเพิ่มเติม

 

Museum Siam Knowledge Center

 

สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย : การค้นหาประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมของ ปาตานี. / กองทุนรุไบยาต และหน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,

 

วัยรุ่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม / ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี บรรณาธิการ.

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ