Museum Core
#เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว เหตุผลที่มิวเซียมต้องเปลี่ยนนิยามซ้ำแล้วซ้ำเล่า
Museum Core
28 ธ.ค. 61 3K

ผู้เขียน : นลิน สินธุประมา

#เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว
เหตุผลที่มิวเซียมต้องเปลี่ยนนิยามซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

 

เคยตั้งอกตั้งใจจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่ไหนสักแห่งแต่ทันทีที่ย่างเท้าเข้าไปแล้วกลับรู้สึกผิดหวังหรือถึงขั้นหงุดหงิดงุ่นง่านว่า “นี่มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์นี่!!” บ้างไหม? หรือเคยไหมที่อ่านรีวิวพิพิธภัณฑ์ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนท่องเที่ยว แล้วพบเจอคอมเม้นท์ที่โดดขึ้นมาด้วยการโวยวายอย่างเกรี้ยวกราดว่า “นี่มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ อย่าไปเสียเวลากับมันเด็ดขาด!” ทั้ง ๆ ที่รีวิวอื่น ๆ ก็ออกจะพออกพอใจแท้ ๆ ? หรืออาจเคยไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์สักแห่งแล้วเกิดอาการตะลึงพรึงเพริศ “เพิ่งรู้ว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแบบนี้ก็ได้ด้วย?”


ไม่ว่าใครจะเคยมีประสบการณ์แบบไหน หรือเคยพบเจอเรื่องทำนองนี้หรือไม่ ปรากฏการณ์ที่มีคนออกมาเถียงกันว่า “พิพิธภัณฑ์คืออะไรและควรจะเป็นแบบไหนกันแน่” ไม่ใช่แค่เรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นเรื่องที่คนทำพิพิธภัณฑ์เองถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และยังคงถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ นิยามและหน้าตาของพิพิธภัณฑ์จึงถูกปรับเปลี่ยนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบศตวรรษที่ผ่านมา เพื่อที่พิพิธภัณฑ์ผู้เคยต้องข้อครหาว่าน่าเบื่อและอึมครึมจะได้กลายเป็นคนนั้น คนที่ใจเธอต้องการเสียที


สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (International Council of Museum : ICOM) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1946 ด้วยการสนับสนุนจาก UNESCO เพื่อให้มาดำเนินการด้านพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ ได้ปรับเปลี่ยนนิยามของคำว่า Museum และขอบเขตในการระบุว่าสถานที่แบบไหนคือ “มิวเซียม” มาแล้วถึง 8 ครั้ง! นับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง หมายความว่าในรอบ 72 ปีที่ผ่านมา ICOM ปรับนิยามของคำว่า Museum ในทุก 5-15 ปี


แรกเริ่มเดิมทีในปี 1946 ICOM ให้คำอธิบายคำว่า Museum เอาไว้ว่า “The word "museums" includes all collections open to the public, of artistic, technical, scientific, historical or archaeological material, including zoos and botanical gardens, but excluding libraries, except in so far as they maintain permanent exhibition rooms.” คำอธิบายเริ่มแรกของคำว่า Museum จึงแทบไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าว่าพิพิธภัณฑ์คือ “คอลเลคชั่น” หรือ “ชุดของสะสม” ที่เปิดให้ “สาธารณชน” ได้เข้าชม และบอกขอบเขตว่าคอลเลคชั่นแบบไหนบ้างที่นับเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ (ในที่นี้ สวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ก็นับเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ห้องสมุดไม่นับเป็นพิพิธภัณฑ์เว้นแต่จะมีห้องที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเอาไว้ด้วย)


คำสำคัญที่แบ่ง “museum” ออกจาก “private collection” คือคำว่า “public” ทั้งนี้ก็เพราะพิพิธภัณฑ์ในยุโรปมีจุดกำเนิดมาจาก private collection หรือชุดของสะสมส่วนตัวของบรรดาชนชั้นสูงในยุโรป เมื่อศตวรรษที่ 16-17 อันเป็นยุคแห่งการตื่นรู้ทางปัญญา ยุคที่ผู้คนหันกลับไปศึกษาภูมิปัญญาและอารยธรรมในอดีต ทั้งยังเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมและช่วงเวลาแห่งการถือกำเนิดของความเป็นรัฐชาติด้วย การมีชุดของสะสมเป็นศิลปะชั้นเอก โบราณวัตถุล้ำค่า หรือของหายากจากที่ต่าง ๆ นานาไว้ในครอบครองจึงเป็นเหมือนการแสดงสถานะทางสังคมของเจ้าของ ทั้งยังแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองมั่งคั่งของชาตินั้น ๆ ด้วย ในยุคก่อนหน้านั้น คริสตจักรและเชื้อพระวงศ์มักเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์ศิลปะและมีคอลเลคชั่นส่วนตัวไว้ในครอบครองมากที่สุด และคอลเลคชั่นเหล่านี้ไม่ได้เปิดให้ใครเข้าชมกันง่าย ๆ การสงวนการเข้าถึงชุดสะสมล้ำค่าเหล่านี้เปรียบเสมือนการกุม “อำนาจแห่งองค์ความรู้” เอาไว้ในมือ ทว่า เมื่อเข้าสู่ยุคเรอเนสซองซ์ ผู้เป็นเจ้าของชุดสะสมเหล่านี้ก็เริ่มนำคอลเลคชั่นของตัวเองมาเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมมากขึ้น ด้วยมุมมองว่าพิพิธภัณฑ์จะช่วยให้การศึกษาและบ่มเพาะให้คนมีความเป็น “อารยะ” มากขึ้น (educate and “civilize” the general public) การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงมักเป็นไปเพื่อตอบสนองเรื่องชาตินิยมและความยิ่งใหญ่ของเจ้าอาณานิคม


การจัดแสดงในลักษณะนี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ในด้านหนึ่ง วิธีการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ในยุคแรกก็ถูกมองว่าเป็นความพยายามจะครอบงำทางวัฒนธรรม ทั้งยังเปิดโอกาสให้เจ้าของชุดสะสมเหล่านี้ได้แสดงสถานะและความรุ่งโรจน์ของตัวเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การถือกำเนิดขึ้นของมิวเซียมก็เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปมีโอกาสได้เข้าถึงองค์ความรู้มากขึ้นด้วย (แม้จะเป็นชุดความรู้ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์หรืออุดมการณ์บางอย่างก็ตามที) การเปิดคอลเลคชั่นส่วนบุคคลให้สาธารณชนได้เข้าชม (open to the public) จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ขึ้น รวมถึงเป็นเหตุให้ในศตวรรษต่อ ๆ มาก็มีพิพิธภัณฑ์ผุดขึ้นราวดอกเห็ด จนนำมาสู่การตั้งองค์กรต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดูแลและสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงองค์กรอย่าง ICOM ที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้วย


อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาขาขึ้นของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้คงอยู่ชั่วนิรันดร์ เมื่อเวลาผ่านไป คนจำนวนไม่น้อยเริ่มเบือนหน้าหนีจากพิพิธภัณฑ์ จากเดิมที่คนทั่วไปจะต้อง “ง้อ” เจ้าของคอลเลคชั่นเพื่อให้ได้มีโอกาสเข้าไปชมชุดสะสมเหล่านั้น ไป ๆ มา ๆ กลับกลายเป็นว่าพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายเริ่มพบวิกฤตไม่มีผู้เข้าชมและยังต้องข้อครหาว่า “อึมครึม” และ “น่าเบื่อ” อีกด้วย พิพิธภัณฑ์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จึงต้องเริ่มปรับตัวเข้าหาผู้ชม และเกิดพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น


หนึ่งในตัวอย่างที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนคือพิพิธภัณฑ์ประเภท Discovery museum ซึ่งมักเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือพิพิธภัณฑ์เด็กที่มองว่า “all knowledge is a result of research” หรือ “ความรู้ทั้งมวลล้วนเป็นผลพวงจากการค้นคว้า” พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เน้นการจัดแสดงที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม การเล่น หรือการทดลองอะไรบางอย่างเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และสร้างข้อค้นพบด้วยตัวเอง พิพิธภัณฑ์ในยุคต่อมาจึงหันมาให้ความสำคัญกับการ “บริการสังคม” กันมากขึ้น โดยเฉพาะการบริการด้านการศึกษา การปรับตัวและการตระหนักถึงบทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือพิพิธภัณฑ์เด็กเท่านั้น แต่แผ่ขยายไปถึงพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท กระทั่งในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นักวิชาการในสายพิพิธภัณฑ์วิทยา (museology) และพิพิธภัณฑ์ศึกษา (museum studies) จึงเริ่มพัฒนาแนวคิดและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะช่วยพลิกโฉมหน้าของพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง จนเกิดเป็น new museology ขึ้นมา


และอาจเป็นเพราะการปรับตัวอย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่ทำให้นิยามของคำว่า “museum” ในศตวรรษนี้ต้องปรับตาม


ในปี 1951 ICOM ปรับนิยามของพิพิธภัณฑ์โดยเพิ่ม “หน้าที่” ของพิพิธภัณฑ์เข้าไป ว่าพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่อนุรักษ์ ศึกษา บำรุง และจัดแสดงคอลเลคชั่นต่าง ๆ หลังจากนั้นในปี 1961 ก็เพิ่ม “จุดประสงค์” ของพิพิธภัณฑ์เข้าไปอีกว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษา สร้างการเรียนรู้ และให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ นิยามที่เลือนลางในตอนแรกจึงค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นนิยามที่หน้าตาใกล้เคียงกับนิยามในปัจจุบัน เมื่อปี 1974


“A museum is a non-profit making, permanent institution in the service of the society and its development, and open to the public, which acquires, conserves, researches, communicates, and exhibits, for purposes of study, education and enjoyment, material evidence of man and his environment.”


พันธกิจที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นการรับใช้และจรรโลงสังคม นอกจากพิพิธภัณฑ์จะต้องดูแลรักษา ศึกษาวิจัย และจัดแสดงข้าวของแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังต้องคำนึงถึงภารกิจในการให้การศึกษาไปพร้อม ๆ กันด้วย ครั้นจะเพียงแต่ให้ความรู้ก็ยังไม่พอ ยังต้องคำนึงถึงการให้ความเพลิดเพลินเจริญใจแก่ผู้เข้าชมและการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจด้วย ภาพจำของพิพิธภัณฑ์ในยุโรปบางแห่งจึงไม่ใช่เพียงสถานที่ที่คุณครูพาคณะนักเรียนมาทัศนศึกษากันเป็นกลุ่มใหญ่เท่านั้น แต่พิพิธภัณฑ์ยังพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดให้มีมุมกาแฟอันน่ารื่นรมย์หรือจัดพื้นที่สวนเล็ก ๆ สำหรับเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดให้คนได้เข้าไปนั่งเล่นเดินเล่นกันอย่างสบายอกสบายใจด้วย


แต่นิยามที่เริ่มดูเข้าที่เข้าทางในปี 1974 ก็ยังถูกปรับเปลี่ยนมาอีกหลายครั้ง เริ่มจากคำเจ้าปัญหาอย่างคำว่า “man and his environment” ที่ถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า “people and their environment” ในปี 1989 สืบเนื่องมาจากกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรีที่เริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s-1970s หนึ่งในความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศคือการเรียกร้องให้ใช้ภาษาที่ปราศจากเพศ (gender-neutral language) ในทศวรรษ 1970s Casey Miller และ Kate Swift สองนักเรียกร้องสิทธิสตรีชาวอเมริกัน เขียนหนังสือเรื่อง The Handbook of Nonsexist Writing และชี้ให้เห็นว่าภาษาอังกฤษนั้นเต็มไปด้วยคำที่สื่อความหมายถึงผู้ชาย (เช่น man, his, he ฯลฯ) ที่ใช้เรียกรวมกลุ่มคนทั้งหมดโดยไม่สนใจว่าในกลุ่มคนนั้น ๆ ยังมีคนเพศอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย อย่างคำว่า “man” ที่แปลว่า “มนุษย์” ทั้ง ๆ ที่มนุษย์บนโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์เพศชายเพียงอย่างเดียว การออกมาเรียกร้องให้คนตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากถ้อยคำในภาษาจึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภาษาในเอกสารราชการของหลายองค์กรทั่วโลก รวมถึง ICOM ด้วย หลังจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดขอบเขตของคำว่าพิพิธภัณฑ์อีก 2 ครั้งในปี 1995 และ 2001 กว่าจะกลายมาเป็นนิยามล่าสุดที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ในปี 2007


“A museum is a non-profit, permanent institution in the service of society and its development, open to the public, which acquires, conserves, researches, communicates and exhibits the tangible and intangible heritage of humanity and its environment for the purposes of education, study and enjoyment.”


คำสำคัญที่เปลี่ยนไปในนิยามล่าสุดนี้ คือการเปลี่ยนจากคำว่า “material evidence” เป็น “the tangible and intangible heritage” การปรับนิยามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในวงการพิพิธภัณฑ์


แต่ไหนแต่ไรมา คนมักมีภาพจำว่าพิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่เก็บรวบรวม “ข้าวของ” เอาไว้ สิ่งที่แยกพิพิธภัณฑ์ออกจากห้องสมุดก็คือพิพิธภัณฑ์เป็นเจ้าของชุดสะสมของวัตถุที่ “จับต้องได้” ไม่ใช่ความรู้ที่ถูกบันทึกไว้เป็นตัวหนังสือ ในอดีต “วัตถุจัดแสดง” จึงเป็นเสมือนตัวชูโรงของพิพิธภัณฑ์ ผู้คนดั้นด้นไปถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ก็เพื่อจะชมภาพโมนาลิซ่า ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่ในนิยามใหม่นี้ สิ่งจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีเพียงวัตถุที่ “จับต้องได้” (tangible) อีกต่อไป แต่ยังรวมถึงสิ่งนามธรรมที่ “จับต้องไม่ได้” (intangible) ด้วย


ดังนั้น นอกจากพิพิธภัณฑ์ในยุคปัจจุบันจะมีการจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ แล้ว หลาย ๆ แห่งก็มีการจัดแสดงวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา รวมไปถึงสารพัดองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันไป ในประเทศไทยเองก็มียุคหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกำลังเฟื่องฟู จนเกิดแนวคิด “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” และมองว่า “ชุมชนคือพิพิธภัณฑ์” นั่นคือมองว่าการเป็นพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการจัดแสดงข้าวของในตัวอาคารเท่านั้น แต่วิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งหมดนั่นแหละที่เป็นองค์ความรู้ที่พร้อมจะเปิดให้สาธารณชนเข้าไปเรียนรู้ได้


อย่างไรก็ตาม แม้ ICOM จะไม่ได้เปลี่ยนนิยามของคำว่า museum มาตั้งแต่ปี 2007 แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีองค์กรเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ที่นิยามพิพิธภัณฑ์แตกต่างออกไป รวมถึงนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่านิยามเหล่านี้ยังคงต้องได้รับการทนทวนอีกหลายครั้ง ข้อถกเถียงอย่าง “พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องมีวัตถุจัดแสดงหรือไม่” ยังคงเป็นประเด็นร้อน “พิพิธภัณฑ์จะมีบทบาทในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร” ยังคงเป็นคำถามที่ท้าทาย หรือแม้กระทั่ง “พิพิธภัณฑ์ต้องเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจริงหรือ” ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องขบคิด


หากกลับไปย้อนดูนิยามพิพิธภัณฑ์ของ ICOM ควบคู่กับพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ จะพบว่า “นิยาม” ไม่เคยกำหนดพิพิธภัณฑ์ นิยามทำได้เพียงวิ่งไล่ตามสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ “เป็น” พิพิธภัณฑ์เริ่มมีแนวคิดเรื่องการให้บริการการศึกษามาหลายสิบปีก่อนที่ ICOM จะบรรจุพันธกิจนั้นลงไปในนิยามของพิพิธภัณฑ์ และนิยามก็ยังต้องคอยปรับตามความเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์อีกหลายครั้ง ดังนั้น สิ่งที่กำหนดความเป็นไปของพิพิธภัณฑ์จริง ๆ ไม่ใช่นิยามแต่เป็น “สังคม” ต่างหาก


เหตุผลที่พิพิธภัณฑ์ต้องเปลี่ยนนิยามบ่อยก็เพราะบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้คนคาดหวังจากพิพิธภัณฑ์ไม่เหมือนเดิม พิพิธภัณฑ์จึงต้องปรับตัวตามความต้องการของสังคม ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตลอดชีวิตที่จะช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้พลเมือง พิพิธภัณฑ์จำนวนไม่น้อยยังให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อทุกคน (universal design) เพื่อให้ใคร ๆ ก็เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือผู้ทุพพลภาพ และเมื่อไม่นานมานี้เอง ประเทศแคนาดาเพิ่งเริ่มทดลองจ่ายยาให้คนไข้ด้วยการ “ไปพิพิธภัณฑ์ฟรี” เพราะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะสามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีแห่งความสุขในสมองได้ เป็นไปได้ว่าหากการทดลองครั้งนี้มอบผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ในอนาคตพิพิธภัณฑ์ก็อาจก้าวเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์ได้ด้วย


พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกต่างก็พยายามปรับตัวตลอดมาเพื่อจะอยู่รอด ทั้งยังพยายามที่จะรักษา “ความเป็นพิพิธภัณฑ์” เอาไว้ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่าพิพิธภัณฑ์ต้อง “เป็น” อะไรบ้าง? เป็นผู้เก็บรักษาข้าวของ? เป็นผู้ทำนุบำรุงความรู้? เป็นผู้ให้การศึกษา? เป็นผู้สร้างความเพลิดเพลินเจริญใจ? เป็นผู้จรรโลงสังคม? เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อความรู้กับผู้คน?


คงยากที่จะหานิยามตายตัวมาบอกว่าพิพิธภัณฑ์คืออะไรกันแน่ แต่คงไม่ยากเกินไปที่ทั้งคนทำพิพิธภัณฑ์และคนเข้าชมพิพิธภัณฑ์จะมานั่งแลกเปลี่ยนกัน และร่วมกันบอกว่าพิพิธภัณฑ์ที่ทุกคนวาดฝันนั้นเป็นอย่างไรกันแน่


แล้วคุณล่ะ อยากให้พิพิธภัณฑ์เป็นแบบไหน

 

 

นลิน สินธุประมา

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

 

Development of the Museum Definition according to ICOM Statutes (2007-1946). (n.d.). Retrieved from อ่านออนไลน์


Gender-neutral language. (2018, October 12). Retrieved October 25, 2018, from อ่านออนไลน์

 

Museology. (2018, August 21). Retrieved October 25, 2018, from อ่านออนไลน์

 

Smith, H. L. (1917, August). The Development of Museum and Their Relation to Education. The Scientific Monthly, 5(2), 97-119. Retrieved from อ่านออนไลน์

 

Solly, M. (2018, October 22). Canadian Doctors Will Soon Be Able to Prescribe Museum Visits as Treatment. Retrieved October 25, 2018, from อ่านออนไลน์

 

เบน แอนเดอร์สัน. (2009). “สำมะโนประชากร, แผนที่, พิพิธภัณฑ์” ใน ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการการแปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า 297-342.

 

วิเชียร วิไลแก้ว. (2000). พัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ไทย: กรณีศึกษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 

Museum Siam Knowledge Center

ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ บทเรียนจากคนอื่น. / สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ