ในขณะที่การร่วมกันทำร่วมกันกิน ตามประเพณีที่มีมาแต่เดิมของไทยได้เริ่มสูญหายไปตามวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ได้มีประเพณีหรือธรรมเนียมอย่างใหม่เกิดขึ้นมาด้วย โดยยังอาศัยกาลเดิมแต่ประดิษฐ์ประเพณีใหม่ขึ้น ดังเช่นการให้ของขวัญตามธรรมเนียมสากลหลังการเปลี่ยนมาใช้วันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากลคือวันที่ 1 มกราคม ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2484 ที่ทำให้เกิดประเพณีประดิษฐ์การให้ของขวัญขึ้น รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด การเลี้ยงฉลองแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งประเพณีบางอย่างได้ผูกเอาความหวานในเชิงสัญลักษณ์ของขนมเค้ก ขนมหวาน ช็อคโกแลต ให้มีความหมายถึงความหวานชื่นในกาลดังกล่าว ดังปรากฏมาเป็นรูปแบบของวัตถุคือการให้ของขวัญที่มีรสหวานแทนความหมายของพิธีกรรมดังกล่าว เช่น งานเลี้ยงวันเกิดที่มีของหวานพวกเค้ก ช็อกโกแลต ไอศกรีม และทอฟฟี่เป็นสัญลักษณ์ งานแต่งงานที่มีเค้กแต่งงานและของหวานเป็นสัญลักษณ์ของความหวานชื่น รวมทั้งการซื้อของฝากและการให้ของขวัญที่มักจะเป็นของหวานด้วย
หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ หรือในนามแฝงที่เขียนเชลล์ชวนชิมว่า 'ถนัดศอ' ได้เล่าให้ฟังว่าประเพณีปีใหม่ที่นิยมให้ของขวัญเป็นของหวานจำพวกเค้กนี้เกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง ราวทศวรรษ 2490 เพราะเมื่อถึงปีใหม่ซึ่งแต่เดิมก็คือวันสงกรานต์ ชาวบ้านก็ไปทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา แต่เมื่อคนไทยเปลี่ยนไปใช้วันขึ้นปีใหม่แบบสากลก็ยังคงประเพณีการทำบุญตักบาตรในวันปีใหม่กันอยู่ ขณะเดียวกันก็ได้เกิดประเพณีการให้ของขวัญในเทศกาลปีใหม่ ที่ไม่ได้เป็นประเพณีไทยมาแต่ดั้งเดิม ซึ่ง ‘ถนัดศอ’ กล่าวว่า “เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่เกินยี่สิบปีมานี้เอง ทีนี้ใครต่อใครเห็นง่ายดีก็เลยทำตามกันมาจนร้านเครื่องกระป๋องและเจ้าขนมเค้กรวยไปตาม ๆ กัน” เนื่องจากคนไทยนิยมให้เค้กและกระเช้าเครื่องกระป๋องของนอกเป็นของขวัญปีใหม่กันมาก
ในขณะที่ ‘ถนัดศอ’ จะต่อต้านการให้เค้กเป็นของขวัญปีใหม่มาโดยตลอด โดยเริ่มพูดรณรงค์เรื่องให้เปลี่ยนมาใช้ขนมและของที่ทำในประเทศไทยมาให้เป็นของขวัญตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2507 แล้ว เหตุผลหนึ่งที่ยกขึ้นมาอ้างให้เห็นถึงข้อเสียก็คือทำให้เสียเงินให้ต่างประเทศในการซื้อแป้งสาลี เนย และเครื่องประกอบอย่างอื่นนับเป็นการฟุ่มเฟือย และแนะนำให้ของขวัญที่เป็นขนมไทย ๆ พร้อมแหล่งซื้อที่ขึ้นชื่อให้ด้วยตลอดทุกปี ซึ่งได้ผลที่น่าพอใจเพราะปรากฏว่าขนมไทยพวกขนมแห้ง ผลไม้แช่อิ่มที่ทำใส่กล่องสวย ๆ เก็บไว้กินได้นานขายดีจนบางเจ้าทำไม่พอขาย ส่วนเครื่องกระป๋องก็แนะนำให้ใช้ขององค์การอาหารสำเร็จรูป (อ.ส.ร.) ที่ผลิตในประเทศแทนของจากต่างประเทศ
การรณรงค์ให้ใช้ขนมไทยของ ‘ถนัดศอ’ เรียกได้ว่ากระทำมาต่อเนื่องทุกปี เพราะในปีก่อนหน้าก็ได้เสนอให้ใช้ขนมไทยโบราณหลายอย่างให้เป็นของขวัญ ต่อมาได้เขียนในคอลัมน์นั้นว่ามีผู้เห็นด้วยอย่างมากต่อการรณรงค์ให้ใช้ขนมไทยเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการอนุรักษ์ขนมไทยแบบโบราณที่เก็บเอาไว้ได้นานโดยไม่เสียรสชาติ เช่น ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว กะละแม ขนมบ้าบิ่น ฝอยทอง วุ้นกรอบ และขนมทองเอก เอาไว้ไม่ไห้สูญหายเพื่อให้ลูกหลานได้ดูอีกด้วย และยังแนะนำร้านที่สามารถไปหาซื้อได้หลายร้าน ที่น่าสังเกตคือร้านที่แนะนำมักจะเป็นร้านที่มีฝีมือทำขนมอย่าง ‘ชาววัง’ และมีชื่อเสียงซึ่ง “ประดาท่านเหล่านี้อยู่กันตามรั้วตามวังและบ้านใหญ่ ๆ อย่างวังเสด็จฯ พระองค์วาปีทำลูกชุบสวยงามนัก...บ้านพระยาวรพงศ์ฯ ถนนพระอาทิตย์ทำขนมไทยทุกชนิด เยี่ยมทั้งฝีมือและรสชาติ”
ความนิยมในการให้ของขวัญปีใหม่เป็นของหวานและได้รับความนิยมกันอย่างมากดังจะเห็นได้ว่ามีการจัดงานประกวดกันในงานชุมนุมแม่บ้านครั้งที่ 9 พ.ศ. 2509 มีรายการประกวดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือการจัดขนมเป็นของชำร่วยในปีใหม่ตามคติไทยขึ้นด้วย ก็คือการประกวดจัดกระเช้าของขวัญให้สวยงามเพื่อให้กันในวันปีใหม่
เมื่อได้เห็นเทศกาลปีใหม่ของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปคล้ายกันกับของฝรั่งมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อหาของขวัญปีใหม่ก็ทำให้ ‘ถนัดศอ’ รำลึกถึงบรรยากาศของปีใหม่ไทยหรือวันตรุษสงกรานต์แต่เดิม ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการขึ้นปีใหม่แบบสากลในวันที่ 1 มกราคม เมื่อ พ.ศ. 2484 แทนการขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ที่มีมาก่อนหน้านั้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังที่รำพึงว่า
“หวลนึกถึงบรรยากาศวันเถลิงศกสมัยตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งผิดกับเดี๋ยวนี้อย่างลิบลับ แต่ก่อนนั้นดูอะไรไปเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อน พอใกล้วันปีใหม่ก็เตรียมของใส่บาตรกันอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นก็ไปรดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ ใครมีฝีมือทางขนมก็ทำแจกกันกิน ไม่ต้องซื้อหาของขวัญจนชุลมุนอย่างทุกวันนี้...บรรยากาศอย่างนี้จะหาดูได้ในชนบทที่ความเจริญแผนใหม่ยังแผ่เข้าไปไม่ถึง แต่ก็เหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว ถ้าไม่รีบไปดูเสียในปีสองปีนี้ ต่อไปอาจจะไม่หลงเหลือให้ดูกันเลยก็ได้ใครจะไปรู้”
ถึงแม้จะได้มีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาให้ของขวัญที่เป็นขนมไทยหรือสินค้าแปรรูปจากผลไม้อย่างพวกผลไม้กวนแบบไทยมาโดยตลอด แต่จนถึงปลายทศวรรษ 2520 การให้ของขวัญในเทศกาลปีใหม่ก็ยังนิยมให้ของหวานจำพวกเค้ก ช็อคโกแลต ผลไม้ รวมทั้งเครื่องกระป๋อง ซึ่งเคยนิยมกันมาตั้งแต่สองทศวรรษก่อน แม้แต่การเจาะตลาดของบริษัทที่ขายช็อคโกแลตก็อาศัยการให้ของขวัญในเทศกาลปีใหม่จัดชุดของขวัญสำหรับเป็นของกำนัลกัน ด้วยการมุ่งเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่จะซื้อเป็นของขวัญสำหรับเด็ก การรณรงค์ให้เปลี่ยนไปให้ของขวัญเป็นขนมไทยในเทศกาลปีใหม่ก็เปลี่ยนมาอ้างถึงความประหยัดว่า “ปัจจุบันอาหารแพงนัก ให้อาหารเป็นของขวัญ ผู้ที่ได้รับคงยินดีแน่ เปลี่ยนจากขนมเค้กเป็นผลไม้ไทยแท้หรือขนมไทย ๆ บ้าง ขนมไทยมีให้เลือกหลายอย่างล้วนเก็บได้นานกว่าขนมเค้กทั้งสิ้น วุ้นกรอบ มะพร้าวและข้าวเหนียวแก้ว ฝอยทอง ขนมกลีบลำดวน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พอ ๆ กับผลไม้แช่อิ่มสารพัดชนิด จัดใส่ภาชนะได้อย่างสวยงาม น่าทึ่งกว่าขนมเค้กเป็นไหน ๆ”
นัยสำคัญประการหนึ่งของการรณรงค์ให้ใช้ขนมไทยเป็นของขวัญปีใหม่ แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการบริโภคได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการบริโภคมูลค่าการใช้สอยของขนม มาเป็นการบริโภคเชิงสัญญะที่ ‘ความเป็นไทย’ ถูกนำมาเป็นสัญญะสำคัญในการบริโภคขนมหวานแบบไทย ๆ
ในปัจจุบันการให้กระเช้าของขวัญปีใหม่ยังดำรงอยู่ แต่ของขวัญที่จัดในกระเช้าได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เค้กอาจจะไม่นิยมกันแล้วสำหรับผู้ซื้อกระเช้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ในบางพื้นที่เช่นแถบภาคใต้การให้เค้กอย่างเค้กเมืองตรังที่ไม่แพงมากและไม่ได้มีครีมแต่งหน้าก็ยังเป็นของขวัญที่ลูกหลานจะซื้อไปฝากผู้ใหญ่กัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วของขวัญปีใหม่ที่จัดสำเร็จรูปแล้ววางขายตามห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายมักเป็นอาหารสำเร็จรูป และบางทีก็มีข่าวว่าเป็นของที่ใกล้หมดอายุอีกด้วย ซึ่งโดยหลักจะมีเหล้า กาแฟ อาหารกระป๋อง ของหวานพวกช็อคโกแลต ขนมปังกรอบ เวเฟอร์ ฯลฯ โดยมีให้เลือกหลายราคาตามกำลังซื้อ เป็นที่นิยมกันมากเพราะสะดวกไม่ต้องเสียเวลาซื้อและจัด แต่ก็น่าสังเกตว่าของสำเร็จรูปเหล่านั้นมักหลีกของหวานที่ต้องมีอยู่ในกระเช้าไปไม่พ้น
นอกจากการนิยมให้ของหวานพวกเค้ก ช็อคโกแลต เป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่แล้ว การฉลองวันเกิดและงานแต่งงานเป็นอีกสองพิธีกรรมที่คนนิยมให้เค้กหรือไอศกรีมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความหวานชื่นในพิธีกรรมการเฉลิมฉลองที่คนในสังคมสมัยใหม่ให้ความสำคัญกันมากขึ้น เพราะพิธีกรรมดังกล่าวเป็นของปัจเจกมากกว่าของชุมชน นับเป็นการเสริมสร้างตัวตนของปัจเจกให้เด่นชัดขึ้นในสังคมบริโภค ดังที่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้ปรารภถึงการจัดวันเกิดของเด็กในทศวรรษ 2500 ว่า เนื่องจากบ้านเมืองทุกวันนี้เจริญขึ้นมากในด้านวัตถุและความสะดวกสบายต่าง ๆ ทำให้ชีวิตประจำวันของคนเราเปลี่ยนแปลงไปมาก บางสิ่งบางอย่างเป็นของใหม่ที่คนอายุสี่สิบไม่เคยได้พบได้เห็นหรือได้ทำเมื่อวัยเด็ก “อย่างเช่นการจัดงานวันเกิดของเด็กในสมัยนี้ มีการเลี้ยงเพื่อน ตัดขนมเค้ก ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อสามสิบปีก่อนอย่างมากที่เด็กจะทำได้ก็เพียงใส่บาตร แล้วพกเงินสักบาทสองบาทมาเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวเพื่อน ๆ ก็จัดว่าเก๋เต็มที่แล้ว”
การเฉลิมฉลองที่ต้องอาศัยแรงงานและความสัมพันธ์ของชุมชนในการประกอบอาหารพิเศษเฉพาะที่เป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรม ต้องหลีกทางให้กับสัญลักษณ์ที่ผลิตจากระบบทุนนิยมมากขึ้น อย่างเช่น ในงานแต่งงานสมัยก่อนต้องมีขนมมงคลที่ทำยากและต้องใช้ฝีมือที่ประณีตอย่างมาก เช่น ขนมโพรงแสม ขนมกง หรือการกวนสังขยาเอาไว้เลี้ยงแขกต้องใช้แรงงานและความชำนาญ มาถึงทุกวันนี้ทั้งแรงงานและคนที่ชำนาญก็หายากและงานก็ไม่ได้จัดในชุมชนอีกต่อไปแต่มาจัดในโรงแรมหรือสถานที่จัดงานอื่นนอกชุมชน การซื้อขนมเค้กแต่งงานที่หรูหรานอกจากจะดูดีและทันสมัยแล้วก็ยังเป็นการตัดปัญหาเรื่องต้องจัดเตรียมทำขนมได้อย่างหมดสิ้นด้วย
ชาติชาย มุกสง
รอง ศยามานนท์, (2522). ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช
ถนัดศอ (นามแฝง-ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์). “เชลล์ชวลชิม,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 12: 11 (5 กันยายน 2508)
ถนัดศอ (นามแฝง-ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์), “เชลล์ชวนชิม,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 15: 28 (1 มกราคม 2512)
ถนัดศอ (นามแฝง-ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์), “เชลล์ชวนชิม,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 15: 29 (5 มกราคม 2512)
ถนัดศอ (นามแฝง-ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์), “เชลล์ชวนชิม,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 15: 31(19 มกราคม 2512)
ถนัดศอ (นามแฝง-ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์), “เชลล์ชวนชิม,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 16: 26 (21 ธันวาคม 2512)
ถนัดศอ (นามแฝง-ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์), “เชลล์ชวนชิม,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 16: 29 (28 ธันวาคม 2512)
โทรกีรติ์ (นามแฝง-อรวินท์ ทรอกิ), “ของขวัญปีใหม่,” สตรีสาร. 33: 40 (4 มกราคม 2524)
“สหพัฒน์ออกกิ๊ฟเซ็ทเจาะตลาดปีใหม่หลังฉกแคนดอสจากแองโกล,” ฐานเศรษฐกิจ. 3: 147 (12-17 ธันวาคม 2526)
“สัปดาห์ปริทัศน์,” สตรีสาร. 19: ฉบับพิเศษ (27 พฤศจิกายน 2509)
ขนมของแม่. (นิทาน) / กฤษณะ กาญจนาภา.