Museum Core
มอสโก: open-air museum เถ้าถ่านแห่งวารวันของระบอบสังคมนิยม
Museum Core
10 ก.ค. 61 2K

ผู้เขียน : สุดคนึง บูรณรัชดา

มอสโก: open-air museum เถ้าถ่านแห่งวารวันของระบอบสังคมนิยม

 

ทุกครั้งที่ออกเดินทางผู้เขียนจะหยิบหนังสือไปอ่านด้วยเสมออย่างน้อยหนึ่งเล่ม ในคราวนี้ไม่รู้ว่าด้วยโชคชะตาใดดลให้ผู้เขียนเลือกหยิบหนังสือชื่อ The Remains of the Days นิยายของนักประพันธ์รางวัลโนเบลคนล่าสุด Kazuo Ishiguro หรือในชื่อภาษาไทย “เถ้าถ่านแห่งวารวัน” (แปลโดยคุณนาลันทา คุปต์) ซึ่งเหมาะสมเป็นชื่อหัวเรื่องของการไปออกตระเวนชมเถ้าถ่านแห่งวารวันของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายใจกลางกรุงมอสโก (Moscow) ประเทศรัสเซียครั้งนี้ แทบจะเปรียบได้ว่ากรุงมอสโกทั้งเมืองเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ ของที่จัดแสดงก็คือตัวอาคาร รูปปั้น รวมทั้งผู้คนที่ยังมีผลึกความทรงจำของสหภาพโซเวียตก่อนจะล่มสลาย

 

ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ในยุโรปจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Walking Tour” ซึ่งเป็นการตระเวนดูจุดสำคัญต่างๆ ผ่านการ “เดิน” ใช้ระยะเวลาประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมง โดยรายละเอียดของบทความนี้มาจากการไปร่วม ‘Communist Walking Tour’ โดยไกด์ทัวร์ของเราอาศัยพาเดินชมตึกราบ้านช่อง อาคาร รูปปั้นที่เคยเป็นสัญลักษณ์หรือมีความสำคัญในสหภาพโซเวียต รวมทั้งการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อจะบอกถึงการเรืองสู่อำนาจแห่งคอมมิวนิสต์จนกระทั่งถึงวาระเปลี่ยนผ่าน

 

“ฉันเกลียดสังคมนิยม แต่ก็คิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้น”

(“I hate communism but I missed those times.”)

 

ประโยคดังกล่าวคือประโยคที่ไกด์ชาวรัสเซียจากไซบีเรียนามว่าเอเลน่า เล่าว่าแม่ของเธอเคยพูดให้ฟัง การคิดถึงสังคมนิยมที่ภาพลักษณ์ถูกสาดด้วยการกดขี่ทารุณดูจะเป็นสิ่งเกินจินตนาการสำหรับผู้คนจากโลกเสรีนิยม แต่ก่อนที่จะพาลตัดสินว่าแม่ของเอเลน่าหวนระลึกถึงอดีตเพราะโดนโฆษณาแห่งรัฐล้างสมองนั้น เราควรจะลองมาทำความเข้าใจผ่านการทัวร์คอมมิวนิสต์ในครั้งนี้ว่าทำไมคนบางคนถึงเลือกที่จะคิดถึงสังคมนิยมในมุมมองดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดที่กำลังจะเล่าอาจจะไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัด แต่อาจจะฉายภาพลางๆ ให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อได้

 

 

ก่อนการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ปี 1917 รัสเซียคือจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนทอดยาวตั้งแต่ทะเลบอลติกยันทะเลแปซิฟิก พระเจ้าซาร์ผู้ปกครองจักรวรรดิพระองค์สุดท้ายคือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง (Tsar Nicholas II) ผู้ทรงสูญเสียความนิยมจากไพร่ฟ้าอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการซ่อนเร้นความลับในครอบครัวเกี่ยวกับองค์รัชทายาทที่ทรงประชวรด้วยโรคโรคฮีโมฟีเลีย การเชื่อหมอผีผู้ไร้คนนิยมเช่นรัสปูติน สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่คร่าชีวิตชาวรัสเซียไปจำนวนมาก และความอดอยากที่แพร่กระจายไปทั่ว ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 เกิดการประท้วงจากผู้หญิงจำนวนมากในเปโตรการ์ด (เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงส่งทหารไปจัดการแต่กลายเป็นว่าทหารกลับเข้าไปร่วมการประท้วง การต่อต้านสัมฤทธิ์ผลอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 10 วัน 300 ปีแห่งราชวงศ์โรมานอฟก็สิ้นสุดลง ณ วันที่ 2 มีนาคม 1917 เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ และต้องอพยพครอบครัวเสด็จไปอยู่ในการดูแลของรัฐบาลเฉพาะกาลในไซบีเรีย ก่อนที่จะถูกประหารทั้งครอบครัวเป็นโศกนาฏกรรมอันโจษจันแห่งศตวรรษที่ 20 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 1918

 

 

เมื่อไร้องค์กษัตริย์ การห้ำหั่นระหว่างการเมืองภายในก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเฉพาะกาลสามารถควบคุมรัสเซียไว้ได้สั้นๆ ก่อนที่จะแตกคอกลับกลุ่มบอลเชวิคส์ (Bolsheviks) ซึ่งมีวลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) เป็นผู้นำ เลนินผู้ซึ่งอ่าน “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (Communist Manifesto) ตั้งแต่วัยหนุ่มเฝ้าฝันที่จะทดลองเอาระบอบคอมมิวนิสต์ที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และเฟเดอริก เอนเกิล (Friedrich Engels) กล่าวไว้มาใช้กับประเทศตนเอง สรุปผ่านเป็นสโลแกนสั้นๆ ของบอลเชวิคส์ได้แก่ “ขนมปัง สันติภาพ และผืนดิน” ซึ่งหวังจะให้ทุกคนมีขนมปังตกถึงท้อง ประเทศเลิกสู้รบสงคราม และทุกคนมีที่ดินทำกิน อย่างไรก็ดีเราต่างก็รู้ว่านี่เป็นอุดมคติที่ไม่มีวันไปถึง เอเลน่า ไกด์ของเรายืมคำจากนิยาย Animal Farm ของ George Orwell ว่า “All animals are created equal. But some animals are more equal than others.” (สัตว์ทุกตัวถูกสร้างมาอย่างเท่าเทียม แต่บางตัวเท่าเทียมกว่าตัวอื่น) มาเพื่อบรรยายความฝันของเลนินที่ไม่เคยกลายเป็นความจริงนี้ ในการปฏิวัติเดือนตุลาคมปี 1917 ในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 เลนินนำกลุ่มบอลเชวิคส์เข้ายึดพระราชวังฤดูหนาวอันเป็นสถานที่ปฏิบัติงานจากรัฐบาลเฉพาะกาลและประกาศโค่นล้มยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ในที่สุด

 

 

จุดแห่งการนัดพบสำหรับการเดินทัวร์คอมมิวนิสต์ในครั้งนี้ แม้ในเชิงเส้นเวลาอาจจะกระโดดข้ามประวัติศาสตร์ไปสักนิด แต่ก็เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งคอมมิวนิสต์ตามภาพเหมารวมที่ถูกต้อง สถานที่ดังกล่าวคือ หน้าอาคารสำนักงาน KGB หน่วยซึ่งสรุปโดยย่อว่าทำการ “สืบราชการลับ” ให้แก่สหภาพโซเวียต งานหลักของ KGB ก็คือกรองข่าวให้รัฐ ส่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐไปทำงานอย่างหนักใน Gulac (ค่ายกักกันสมัยสหภาพโซเวียต) หรือส่งสายลับไปต่างประเทศเพื่อนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์กลับมาให้แก่สหภาพฯ KGB ก่อตั้งในปี 1954 และเลิกในปี 1991 ตามการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อาคารสำนักงานใหญ่ KGB นี้ถูกห้ามไม่ให้ถ่ายภาพจนกระทั่งปี 2012 และมีเอกสารจำนวนมากที่แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการเปิดผนึก อาจจะพอกล่าวได้ว่าหน้าที่หลักของ KGB คือการสร้างความกลัว และการจำกัดเสรีภาพทั้งทางร่างกายและความคิด เอเลน่าเล่ามุกตลกที่แทนภาพความกลัวนี้ได้อย่างดีมากว่า  

 

 หน้าอาคารสำนักงาน KGB 

 

 

 

“มีหมาสามตัวคุยกัน หมาอเมริกัน หมาโปแลนด์ หมาโซเวียต ทั้งสามถกกันว่าทำยังไงถึงจะได้มีอะไรกิน

หมาอเมริกัน: ง่ายๆ ก็เห่าขออาหารสิ

หมาโปแลนด์: อาหารคืออะไร?

หมาโซเวียต: เห่าคืออะไร?”

 

 

เมื่อเราเดินถัดมาจากอดีตอาคารสำนักงานใหญ่ KGB ได้ไม่นาน ก็จะพบถนนสายที่แทบจะพลุกพล่านที่สุดในมอสโก ถนนเส้นยาวนี้รุ่มรวยทั้งในประวัติศาสตร์สังคมนิยมและวัตถุนิยมแห่งโลกใหม่ ป้ายรำลึกการปฏิวัติตุลาคมในปี 1917 ของเลนินนั้น อยู่ห่างจากร้านเสื้อผ้า Valentino แบรนด์ไฮเอนด์แห่งโลกเสรีนิยมใหม่ไปอยู่ไม่ถึง 10 ก้าว แถมเมื่อเดินต่อมาไม่ถึงอีกเพียง 3-4 นาทีก็จะพบรูปปั้นบิดาแห่งมาร์กซิสต์ผู้จุดประกายความคิดให้เลนินตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางลานปูนขนาดไม่กว้างมาก ครั้งหนึ่งถนนสายนี้เคยชื่อว่า ถนนมาร์กซิสต์ ซึ่งในทุกวันนี้กลายเป็นความย้อนแย้งเพราะว่ามันกลายเป็นถนนที่ประกอบไปด้วยร้านของแบรนด์แห่งโลกทุนนิยมมากมาย ทั้ง Dolce & Gabbana, Valentino และ Bentley เอเลน่าเล่าให้ฟังว่าในยุคที่สหภาพโซเวียตเรืองอำนาจ รูปปั้นผู้นำมากมายเช่น มาร์กซ์ เลนิน สตาลิน ถูกปั้นขึ้นมาสิริรวมถึง 7000 ตัว แต่เมื่อเกิดการล่มสลาย รูปปั้นเหล่านี้ไม่รู้จะถูกนำไปใช้การอะไร บ้างก็เอาไปเก็บไว้ในสวน ส่วนรูปปั้นมาร์กซ์อันนี้ที่ยังรอดมาได้เพราะว่ามีน้ำหนักอันมากมายถึง 160 ตัน ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนได้ เหลือรอดเป็นเถ้าถ่านแห่งวันวานท่ามกลางบริบทโดยรอบที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

 

 ป้ายรำลึกการปฏิวัติตุลาคมในปี 1917 ของเลนิน

 

 รูปปั้นบิดาแห่งมาร์กซิสต์

 

 

 

จากจุดที่หันหน้าเข้าหารูปปั้นมาร์กซ์ หากหันไปทางซ้ายจะได้พบกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งได้แก่โรงแรมเมโทรโพล (Metropol) ซึ่งเคยเป็นทั้งศูนย์แห่งการต่อต้านบอลเชวิคส์ก่อนที่จะถูกบอลเชวิคส์ยึดเป็นที่ประจำการใหญ่เสียเอง เมื่อถูกยึดโรงแรมเมโทรโพลก็ถูกทำให้กลายเป็นสมบัติชาติ (nationalize) กลายเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เลนินเคยกล่าวสุนทรพจน์ ณ ที่โรงแรมแห่งนี้ สตาลินก็เช่นกัน ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุงจากสังคมนิยมจีนก็เคยพักที่นี่ รัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตในปี 1918 ก็ถูกเขียนขึ้นในห้องใดห้องหนึ่งของโรงแรมแห่งนี้ ประธานาธิบดีเหมาและสตาลินเคยแข่งหมากรุกในโรงแรมแห่งนี้ แต่ไม่มีการเปิดเผยผลการแข่งขัน

 

 โรงแรมเมโทรโพล (Metropol)

 

 

 

เมื่อข้ามถนนเราก็จะได้พบกับสถานที่ซึ่งยังคงความนิยมในฐานะโรงละครบัลเลต์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกหรือบอลชอยเธียเตอร์ (Bolshoi Theatre) แต่ในยุคที่ท่านผู้นำยังประกาศคืนความสุขทุกวันศุกร์ไม่ได้ ท่านผู้นำจำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ไว้รวบรวมมวลชนและประกาศความเป็นไปของกิจการบ้านเมือง โรงละครบอลชอยเป็นตึกสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองที่จะรวบรวมคนไว้ได้มากที่สุด สิริรวมแล้วเลนินกล่าวสุนทรพจน์ที่นี่ไปมากถึง 36 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเดือนพฤศจิกายนปี 1921 ก่อนที่จะป่วยและเสียชีวิตลงในปี 1924 การตายของเลนินก็ประกาศอย่างเป็นทางการที่นี่ สหภาพโซเวียต (Soviet Union) ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการทีโรงละครแห่งนี้ในเดือนธันวาคมปี 1922 มีประโยคหนึ่งบรรยายความเป็นโซเวียตว่า

 

  บอลชอยเธียเตอร์ (Bolshoi Theatre) โรงละครบัลเลต์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

 

 

 

“ถ้าหากว่าประเทศเราเกิดขึ้นที่โรงละครบอลชอย ประวัติศาสตร์ของเราก็ย่อมเป็นส่วนผสมระหว่างสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรมเสมอ”

 

(“If our country was born in the Bolchoi Theatre, our history will always be a mix between comedy and tragedy.”)

 

 

ในยุคที่เสรีภาพถูกจำกัด ศิลปะที่ไม่ทำหน้าที่ส่งเสริมรัฐจึงถูกจำกัดตามไปด้วย เอเลน่าเล่าเรื่องที่ผู้เขียนโปรดปรานที่สุดในการเดินทัวร์ครั้งนี้ให้ฟัง คือ เรื่องแผ่นเสียงเพลงบนแผ่นฟิล์ม x-ray ที่ใช้แล้ว ตั้งแต่ปี 1932 สตาลินตัดสินใจที่จะเซ็นเซอร์ศิลปะทุกแขนง การละคร วรรณกรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งเสียงเพลง ตอนสงครามโลกที่สองสถานการณ์ดีขึ้นมาหน่อย รัสเซียรบอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐอเมริกา คนสามารถฟังดนตรีเช่นแนวแจ๊ซได้ แต่พอเริ่มสงครามเย็น ท่านผู้นำก็ตัดสินใจว่าแจ๊ซไม่เหมาะสมกับระบอบสังคมนิยมอีกต่อไป นักดนตรีแจ๊ซจึงถูกส่งไปค่ายกักกัน gulag แทน แม้ในยุคนั้นตามกฎหมายชาวโซเวียตสามารถซื้อได้เฉพาะเพลงที่รัฐอนุมัติเท่านั้น แต่เป็นดังที่ฟูโกต์กล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีอำนาจที่นั่นมีการต่อต้านขัดขืน” เมื่อคนที่รู้จัก Elvis Presley เคยฟังดนตรีแจ๊ซตั้งแต่สมัยยังไม่ถูกเซ็นเซอร์คิดจะฟังเพลงที่ตัวเองต้องการ ก็ย่อมหาวิธีที่จะฟังให้ได้อยู่ดี ท้ายที่สุดในตลาดมืดก็เริ่มจำหน่ายแผ่นเสียงที่ทำขึ้นจากแผ่นฟิลม์ x-ray มือสอง 

 

 แผ่นเสียงที่ทำขึ้นจากแผ่นฟิลม์ x-ray 

 

 

แน่นอนว่าเสียงเพลง Elvis Presley หรือเสียงเพลงอื่นๆ ย่อมไม่ใช่แค่แผ่นเสียงในตัวมันเอง แต่มันคือ เสรีภาพ ความหวัง โลกตะวันตก ที่คนในโซเวียตยุคนั้นถูกกีดกันไม่ให้ไปรับรู้

 

 

มีคนต่อต้านก็ย่อมมีคนสนับสนุน ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่เทิดทูนเลนินและสตาลิน เด็กหลายคนที่เกิดในยุคนั้นมีชื่อตามผู้นำ เช่น สตาลินา ออกโทบรินา (ตั้งตามการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917) อินดัสตรี และ เมลส์ (ซึ่งเขียนภาษาอังกฤษว่า MELS นำมาจาก Marx, Engel, Lenin และ Stalin)

 

 

เอเลน่าเล่าให้ฟังว่ามีคนพูดถึงช่วงเวลาของยุคสหภาพโซเวียตอย่างโหยหาอดีตว่า “ชีวิตไม่ได้แย่ขนาดนั้น ทุกคนได้การศึกษาฟรี ได้ประกันสุขภาพฟรี ไม่มีใครตกงาน ทุกคนมีสิ่งพื้นฐานทุกอย่างที่ควรได้ การมีลูกเลี้ยงลูกก็ง่ายกว่า ชีวิตมันยากกว่าและง่ายกว่าในเวลาเดียวกัน (Life was harder and easier)” เอเลน่าทวงถามว่าจำนิยายเรื่อง Animal Farm ของ George Orwell ในอันก่อนๆ ได้หรือไม่ว่า “สัตว์ทุกตัวถูกสร้างมาเท่ากันหมด” (All animals were created equal.) เมื่อมองย้อนกลับไปในยุคสหภาพฯ คนก็จะเล่าเป็นเรื่องตลกขบขันว่า “We were equally poor.” – ทุกคนจนเท่ากัน

 

 

มิคาเอล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำคนสุดท้ายแห่งสภาพโซเวียตขึ้นมามีอำนาจในปี 1959 และเปลี่ยนโฉมหน้าของสหภาพโซเวียตไปตลอดกาล  กอร์บาชอฟ คือ คนที่เอเลน่าบอกว่า “โลกรักแต่คนรัสเซียเกลียด” คนรัสเซียมีอายุหลายคนยังคิดว่ากอร์บาชอฟเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความรุ่งเรืองของโซเวียตล่มสลาย กอร์บาชอฟได้รางวัลโนเบลสันติภาพ มีภาพลักษณ์เป็นวีรบุรุษแห่งเสรีนิยมตะวันตกแต่เป็นตัวร้ายแห่งคนรัสเซียในยุคหนึ่ง กอร์บาชอฟเร่งสร้างระบอบเสรีนิยมในสังคมที่อยู่ในระบอบสังคมนิยมมายาวนานอย่างรีบร้อนเกินไป เปิดเผยด้านมืดของสหภาพฯ รวดเร็วเกินไป ก่อนที่จะถึงยุคของกอร์บาชอฟโซเวียตอยู่ในยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า The Period of Stagnation หรือเป็นยุคที่หยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว ทั้งทางเศรษฐกิจ ผู้นำก่อนหน้ากอร์บาชอฟใช้เงินมากไปกับทางการทหารและอวกาศโดยไม่คำนึกว่าเศรษฐกิจจะพังครืน

 

 

นโยบายสำคัญที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และการล่มสลายของโซเวียต คือ “Glasnost” และ “Perestroika”

 

 

Glasnost แปลว่า “ความโปร่งใส” นโยบายนี้ทำให้รัฐบาลเลิกแบนหนังสือต้องห้าม (คนรัสเซียไม่สามารถหาซื้อพระคัมภีร์ไบเบิลได้จนกระทั่งปี 1920) เลิกส่งคนไม่เห็นด้วยเข้าคุก ก่อให้เกิดการส่งเสริมอิสรภาพทางอ้อม และลดอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์เดี่ยวทำให้เกิดการแข่งขัน

 

 

Perestroika ซึ่งหมายถึง “การปรับโครงสร้าง” คือพยายามปรับให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างเลิกดำเนินงานโดยรัฐ ทำให้เกิดธุรกิจที่คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นเจ้าของได้ขึ้น

 

 

แต่นโยบายสองอย่างนี้ก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างใจนึก ผลจาก Glasnost ทำให้ประเทศอย่างเช่นโปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศแรกในรัฐดาวเทียม (satellite states) เริ่มจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ ปลดแอกจากสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟโดนรัฐประหารในเดือนสิงหาปี 1991 และลาออกในเดือนธันวาปีเดียวกัน ซึ่งนับเป็นจุดล่มสลายของสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ กอร์บาชอฟกล่าวว่า

 

“ระบบเก่าล่มสลายก่อนที่ระบบใหม่จะได้เริ่มทำงานเสียอีก ทำให้วิกฤตการณ์ของประเทศยิ่งหนักหนากว่าเดิม”

 

(“The old system collapsed before the new one had time to begin working, and the crisis in the country became even more acute.”)

 

 

การเดินทัวร์ในครั้งนี้จบลงที่ “McDonald” สาขาแรกของรัสเซีย ซึ่งเปิดทำการในวันที่ 31 มกราคมปี 1990 และเป็นสัญลักษณ์ว่าระบอบโลกเก่าเช่นสังคมนิยมไม่สามารถต้านทานระบอบโลกใหม่ที่ใช้ทุนเป็นตัวขับเคลื่อนได้ ณ วันที่เปิด มันเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ทุกวันนี้ก็ยังเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) คนต้องรอคิว 8 ชั่วโมงเพื่อให้ได้เข้าไปในร้าน มีคนไปจัดงานแต่งงานในร้านแม็คโดนัลด์ และที่สำคัญพนักงานชาวโซเวียตได้รับการฝึก “ยิ้ม” แก่ลูกค้าเป็นครั้งแรก

 

 

เอเลน่าจบการทัวร์คอมมิวนิสต์ด้วย 2 ประเด็นที่น่าสนใจ

 

 

1) เอเลน่าบอกว่ามอสโกไม่ใช่รัสเซีย และรัสเซียก็ไม่ใช่มอสโก ความเป็นเมืองของมอสโกไม่อาจเป็นภาพแทนของรัสเซียทั้งประเทศได้

 

 

2) เอเลน่าบอกว่าโลก (กึ่งๆ) เสรีนิยม เป็นสิ่งที่คนรัสเซียยังต้อง “ทำความคุ้นเคย” คนจำนวนมากในรัสเซียเกิดมาพร้อมใบเกิดสหภาพโซเวียต เช่นเอเลน่า การมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การมีของให้เดินเลือกซื้ออย่างไม่จำกัดยังไม่ได้ถูกฝังลงไปในรากและต้องใช้เวลาในการที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ที่เข้ามาประชิดตัว  

 

 

สถานที่ต่างๆ ที่ไปเยือนรวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ฟังและศึกษาเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนเล็งเห็นว่า “เถ้าถ่านแห่งวารวัน” ช่างเป็นวลีที่เหมาะสมกับเมืองเช่นมอสโกเหลือเกิน เพราะที่แห่งนี้คือสิ่งที่คงเหลืออยู่จากระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมโดยมีหลักฐานปรากฏแจ้งให้เห็นอยู่แทบทุกมุมของเมือง ซากแห่งความฝัน ความหวังซึ่งตอนนี้ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งกับโลกใหม่ที่ตนเองเคยปฏิเสธ มอสโกจึงเปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์แบบ open-air ที่ไม่ว่าจะเดินไปทิศทางใดก็สามารถศึกษาการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครองที่มนุษย์ยึดถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดสองขั้วแห่งศตวรรษที่ 20 ได้

 

 สุดคนึง บูรณรัชดา

 

 

อ้างอิง

  • The Russian Revolution 1917. [Video file]. (2016, August 4). Retrieved from YouTube
  • GULAGS .The Cold War  [Video file]. (2017, December 5). Retrieved from YouTube
  • Heartfield, P. (Director). (2016, February 11). X-Ray Audio: The Documentary [Video file]. Retrieved from YouTube
  • Suzdaltsev, ๋ (Writer). (2016, December 25). The Fall of The Soviet Union [Video file]. Retrieved from YouTube

 

Museum Siam Knowledge Center

100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย / มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์.

เบื้องหลังการเยือนกรุงสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซีย :มิติการเมืองใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 / ไกรฤกษ์ นานา.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ