Museum Core
ถอดรหัส “ไก่ย่างและกาแฟที่ไม่มีวันหมด” ในละครฉลอง ภักดีวิจิตร
Museum Core
10 พ.ค. 61 20K

ผู้เขียน : อิทธิเดช พระเพ็ชร

ถอดรหัส “ไก่ย่างและกาแฟที่ไม่มีวันหมด” ในละครฉลอง ภักดีวิจิตร

 

 


คงไม่เป็นการเกินเลย หากจะกล่าวว่าในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ละครของผู้กำกับละครที่มีชื่อเสียงอย่างมากบนจอโทรทัศน์เมืองไทยคือ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” หรือที่นิยมเรียกกันในวงการว่า “อาหลอง”


ละครหลายเรื่องของอาหลองประสบความสำเร็จทั้งในแง่ความนิยมจากผู้ชม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ชมต่างจังหวัด) และความมีเอกลักษณ์ของละครจนเรียกกันว่าคือแนว “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม”


ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่น สไตล์ละครอาหลองจึงแทบไม่มีใครหรือค่ายใดบนโลกจอแก้วของไทยทำเหมือน ทำเทียม และเลียนแบบ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าละครอาหลองมีโลกทัศน์ ระเบียบวิธีของตน พูดง่าย ๆ ว่ามี “กฎเหล็กละครอาหลอง” เช่น ต้องระเบิดรถยนต์เก่า ๆ ต้องยิงโดนเปลือกไม้ ปืนลูกโม่สามารถยิงได้ไม่จำกัด ต้องหลงป่า ฯลฯ รวมถึงด้านนักแสดงที่จำต้องมีพระเอกกล้ามโต ตัวร้ายหน้าโหด นางร้ายสุดเซ็กซี่ และที่ขาดไม่ได้เลยคือตัวละครพิเศษที่แสดงโดยลูกชายของอาหลองเอง นั่นคือ กัญจ์ ภักดีวิจิตร กระนั้น เอกลักษณ์สำคัญที่สุดจนเป็นที่กล่าวขานก็คือ การย่างไก่และการต้มกาแฟดำที่ไม่มีวันหมด


เป็นเรื่องประหลาดว่า งานศึกษาเกี่ยวกับละครอาหลองอย่างจริงจังมีน้อยนัก ทั้งที่ละครก็เป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม อันสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการวิจารณ์ละครไทยที่ละเลยความรู้สึกและความนิยมของคนส่วนมากในสังคมไทยจริง ๆ


บทความนี้จึงชวนท่านผู้อ่านถอดรหัสละครอาหลอง ด้วยผู้เขียนจะสมมุติตนเป็น “พรานอ่อง” (หนึ่งในตัวละครเรื่องอังกอร์) ประหนึ่งแกะรอยเท้าเสือ หากแต่เป็นแกะรหัสละครโดยเฉพาะฉากในตำนานอย่างการย่างไก่และการต้มกาแฟดำกินอย่างไม่มีวันหมด


“เรื่องแรกที่ข้าจะต้องบอกพวกเอ็งก่อนเลย” (ทำเสียงแบบพรานอ่อง)


คือ เราไม่สามารถถอดรหัสละครอาหลองด้วยสายตาการมองแบบสัจนิยม (realism) เพราะละครอาหลองไม่ได้ต้องการ “ความจริง” หรือ “ความสมจริง” ดังนั้น เมื่อนักวิจารณ์มองด้วยสายตาสัจนิยมย่อมเห็นว่าละครอาหลองเป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่สมจริงและไม่สมเหตุสมผล แต่ทว่าละครอาหลองก็กลับได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างล้นหลามอยู่ร่ำไป อาหลองเองก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า


“ไม่เบื่อ วิจารณ์ไปเลย เรตติ้งก็พุ่งพรวด ๆ (หัวเราะ) แสดงว่าเขาวิจารณ์ผิด เราเช็คแล้วผิดอยู่แล้วแหละ (ยิ้ม) เราถ่าย เราเป็นช่างภาพมาก่อน ได้ตุ๊กตาทองหลายตัว การสร้างภาพอะไรเราก็สร้างแบบนี้ให้คนดูสบาย ๆ บางทีบางคนให้มุมกล้องเยอะแยะ เราให้ดูสบาย เขาเรียกมุมกล้องคลาสสิก...”


การถอดรหัสละครอาหลองด้วยสายตาสัจนิยมจึงไม่สามารถค้นพบขุมทรัพย์ความสำเร็จได้ เพราะละครอาหลองไม่ได้ต้องการความจริง แต่ภารกิจคือการพาผู้ชม “หนีไปจากความจริง”


แท้จริงแล้ว ละครอาหลองเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลละครช่องหลายสีที่ครองใจผู้ชมต่างจังหวัดมาอย่างยาวนาน เพราะได้ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะพาผู้ชมหนีไปจากความจริง ความจริงในที่นี้หมายถึง สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตประจำวันหรือชนชั้นทางสังคม ที่แม้ผู้ชมจะดำรงอาชีพเป็นพนักงานโรงงาน พ่อค้า เกษตรกรหรือนักเรียน แต่ภายใต้ระบอบสังคมทุนนิยม ปัจจัยการ(ต้อง)ผลิตได้ส่งผลให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ล้วนดำรงอยู่เป็นวัฏจักรวนไปมา


“การเข้าป่า” ในละครอาหลองจึงเหมือนเรือยนต์ รถไฟ เครื่องบินที่พาผู้ชมจำนวนมากหนีจากความซ้ำซากจำเจในชีวิตจริงไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ที่ผู้ชมไม่ต้องเบื่อหน่ายกับการผลิตอะไรซ้ำ ๆ เพื่อให้ผ่าน QC โรงงาน พื้นที่ที่ชาวนาไม่ต้องเศร้าเพราะพ่อค้าคนกลางคอยจะกดราคาข้าวเปลือก หรือพื้นที่ที่นักเรียนไม่ต้องตื่นเช้าเพื่อไปเจอครูไหวใจร้าย เพราะ “ป่า” คือพื้นที่แห่งการผจญภัย มันเต็มไปด้วยความตื่นเต้น และคาดการไม่ได้


การเจอกับค้างคาวผี มนุษย์กินคน งูยักษ์ เสือโคร่ง ผีแม่ม่าย นางไม้ ในป่าเขา จึงมักปรากฏในละครอาหลองเพื่อให้ผู้ชมได้รู้สึกตื่นเต้น สนุกสนานกับชีวิตอีกครั้ง ดังตอนหนึ่งพระเอกจากเรื่อง อังกอร์ 2 ซึ่งเป็นตำรวจมาจากเมืองกรุงถึงกับกล่าวกับพรานอ่องเองว่า “ในชีวิตผม ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน”


อย่างไรก็ตาม แม้ละครอาหลองจะพาผู้ชมหนีไปจากความจริง แต่ก็ยังคงมีรหัสหรือระเบียบกฏเกณฑ์ทางสังคมจริง ๆ บางชุดที่ผู้ชมเห็นแล้วเข้าใจร่วมกัน เพราะหากเป็นคนละชุดก็ย่อมดูละครไม่เข้าใจ ซึ่งรหัสสำคัญที่พรานอ่องชวนถอดก็คือ “ไก่ย่างและกาแฟดำ”


เมื่อกล่าวถึงไก่ย่างในละครอาหลอง แฟนละครจำนวนไม่น้อยคงนึกถึง กัญจ์ ภักดีวิจิตร เจ้าของฉายา “กัญจ์ ย่างไก่” อย่างแน่แท้ ทว่าเมื่อสำรวจละครยอดฮิตอย่าง อังกอร์ ภาค 1, อังกอร์ ภาค 2 และ เสาร์ ๕ ไม่ปรากฏว่ากัญจ์ ภักดีวิจิตร เป็นผู้ย่างไก่อย่างจริงจังเลย เนื่องด้วยละครมักตัดมาสู่ฉากที่ไก่ถูกเสียบไม้รมควันไฟอย่างชวนรับประทานแล้วเสมอ อย่างไรก็ตาม คงมีผู้สงสัยว่าทำไมต้องเป็น “ไก่” อาหลองตอบเรื่องนี้ไว้ว่า


“อ้าว เดินในป่าจะให้ทำอะไร จะให้กินไส้เดือนเหรอ (หัวเราะ) เป็นการผจญภัยนะ ถ้าไม่ปิ้งไก่ ถ้าให้มีอะไรใหม่ ๆ ให้ไปอึ๊บกันบนต้นไม้ไหม (หัวเราะ) กิจกรรมจะมีอะไร มีน้ำตก มีถ้ำ มีอะไรอีกล่ะ..”


แม้จะไม่เคยปรากฏวิธีการได้มาของไก่ และกัญจ์ ภักดีวิจิตร ก็แทบไม่เคยเป็นคนย่างไก่เลยจริง ๆ แต่ไก่ในละครอาหลองก็ไม่ได้มีเพียงความเอร็ดอร่อย เพราะยังแสดงให้เห็นรหัสบางอย่าง นั่นคือ การ “ย่างไก่” มักปรากฏเฉพาะกลุ่มฝ่ายพระเอก (ตัวดี) เท่านั้น แทบจะไม่ปรากฏในกลุ่มฝ่ายตัวร้ายเลย


หากถอดรหัส “การกินไก่” ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะเมื่อไก่ถูกหมุนในกองเพลิงจนสุกเหลืองกลิ่นหอมกรุ่น มิใช่ว่าทุกคนจะลุกขึ้นมาดึงแข้งดึงขาผ่าปีกไก่ไปกิน แต่จะมีตัวละครที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เป็นผู้ฉีกไก่ย่างนำไปแบ่งให้กับคนอื่น ๆ เสมอ คือ ตัวละครที่เป็นผู้หญิงหรือคนที่สูงวัยกว่า


“การกินไก่” ในละครอาหลอง หากมองด้วยสายตาแบบ โครงสร้างนิยม (Structuralism) จึงแสดงให้เห็นการสร้างและปลูกฝังชุดกฏเกณฑ์หรือระเบียบแผนทางสังคมว่าด้วยเรื่อง การแบ่งหน้าที่ ระบบอุปภัมภ์ผู้ให้ผู้รับ และระบบอาวุโส ซึ่งสิ่งที่ทำให้ชุดระเบียบแบบแผนนี้เกิดขึ้นได้ก็คือ ไก่ย่าง


“ไก่ย่าง” จึงมิได้เป็นเพียงแต่อาหาร แต่ยังกลายเป็น “ตัวเชื่อม” (mediator) ให้ชุดระเบียบทางสังคมเป็นไปได้หรือเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือ ได้สร้างชุดระเบียบนี้สู่สายตาผู้ชมจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดาเด็ก ๆ ที่ชื่นชอบฝ่ายพระเอกที่มีความหล่อเหลาเก่งกาจ ได้เห็นภาพชุดระเบียบโครงสร้างการแบ่งหน้าที่ในสังคม ระบบอุปภัมภ์ผู้ให้ผู้รับ และระบบอาวุโส จนเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้คือ วัฒนธรรมอันแท้จริงของสังคมไทย


นอกจากไก่ย่างแล้ว “กาแฟดำ” ซึ่งละครอาหลองนิยมต้มกินกันอย่างไม่มีวันหมด ก็ทำหน้าที่ในลักษณะคล้ายกัน เพราะกาแฟดำเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาอยู่ในป่าจะมัวมานอนหลับอย่างสบายใจแบบนอนอยู่บ้านไม่ได้ ในป่านั้นมีอันตรายจากภูตผีและสิงห์สาราสัตว์ การจะรอดพ้นภัยอันตรายไม่สามารถกระทำได้ด้วยตัวคนเดียว (ยกเว้นจะเก่งแบบพรานอ่อง) ต้องมีคนอื่น ๆ คอยช่วยเหลือและดูแลกัน


เรื่องสำคัญคือ การดื่มกาแฟดำในละครอาหลองไม่ได้เป็นการดื่มเพื่อตนเองเหมือนที่เราดื่มในร้านกาแฟทั่วไป เพราะเป็นการดื่ม “เพื่อคนอื่น”


ในชีวิตอันปกติของมนุษย์ กลางค่ำกลางคืนเป็นช่วงเวลาของการหลับนอนอย่างมิต้องสงสัย แต่สำหรับละครอาหลองกาแฟดำคือ “ตัวเชื่อม” ให้ความไม่ปกติบังเกิดขึ้นได้ การดื่มกาแฟดำเป็นสัญญะว่า สำหรับความปลอดภัยของหมู่คณะในป่า ปัจเจกบุคคลต้องเสียสละวิถีชีวิต เงื่อนไขอันปกติอย่างการหลับนอนของตนให้แก่ความปลอดภัยของหมู่คณะโดยรวม
รหัสของการดื่มแฟดำในละครอาหลองมีจุดมุ่งหมายในการตอบสนองต่อโลกทัศน์และระเบียบวิธีในการอยู่ร่วมกันในสังคมจริง ๆ โลกทัศน์ “ความดี” ในละครอาหลองจึงไม่ใช่เรื่องความเป็นส่วนตัวหรือตัวใครตัวมัน หากแต่เป็นเรื่องของความเสียสละเรื่องส่วนตัว สละเงื่อนไขปกติของตนให้แก่คนอื่น ๆ และหมู่คณะ คือ ต้องเห็นว่าส่วนรวมดีกว่าส่วนตัว ซึ่งโลกทัศน์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีกาแฟดำเป็นตัวเชื่อม


อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ชวนสงสัยอยู่มากคือ เหตุใดละครอาหลองจึงครองใจผู้ชมต่างจังหวัดอย่างเหนียวแน่น ?


ประเด็นนี้อาจขึ้นอยู่กับว่าใครเข้าใจและอยู่กับรหัสโครงสร้างแบบย่างไก่และกาแฟดำ จากการทัศนาจรทั่วป่าเขา พรานอ่องเห็นว่าทั้งระบบอุปภัมภ์ ระบบอาวุโส และการเสียสละเรื่องส่วนตัวเพื่อส่วนรวม สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับชาวบ้านหรือระบบชุมชน


สังเกตว่า ละครอาหลองนั้นพึ่งพิง “อำนาจรัฐ” ค่อนข้างน้อย ตำรวจ ทหาร อัยการ ข้าราชการ แทบไม่มีบทบาทสำคัญโดยตรงเลยในโลกของละครอาหลอง จะปรากฏก็เพียงตอนจบเท่านั้น (ดังเช่นที่นิยมกล่าวในเชิงขบขันว่า ละครไทยตำรวจมักมาตอนจบ) ขณะที่ “อำนาจทุน” ก็มักปรากฏเป็นภาพตัวแทนแห่งความชั่วร้าย ดังเห็นได้จากกลุ่มแก๊งตัวร้ายที่ส่วนใหญ่มีเจ้านายเป็นคนรวย และปรากฏภาพผู้จ้าง ผู้รับจ้างในกลุ่มโดยมีค่าตอบแทนเป็น “เงิน” ล่อใจอยู่เสมอ


แล้วเช่นนั้น กลุ่มพระเอกตัวดี ใช้อำนาจอะไรเข้าสู้เล่า ?


ก็ความร่วมมือร่วมใจและพลังในความสามัคคีร่วมกัน ซึ่งค่านิยมเช่นนี้คือพลังสำคัญของชาวบ้านที่ต่อสู้ในระบบทุนนิยม เพราะในสังคมระบบทุนนิยมที่ชาวบ้านไร้ซึ่งอำนาจรัฐ อำนาจทุน พลังอำนาจสำคัญของชาวบ้านก็คือการรวมกลุ่มเป็นชุมชน


วิถีอำนาจแบบชุมชน (Communitarianism) เป็นวิถีที่ชาวบ้านสามัญชนขาดอำนาจ ไร้อำนาจรัฐราชการ และไม่มีอำนาจทุน อำนาจแบบชุมชนเป็นการรวมหมู่ขึ้นมาเพื่อต่อรองและรักษาให้ได้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนบริหารจัดการและดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านั้นร่วมกับพลังอำนาจในความสัมพันธ์แบบอื่น ๆ ดังนั้น ระเบียบของอำนาจแบบนี้ เรื่องส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว


การย่างไก่ และกาแฟดำที่ไม่มีวันหมด จึงอาจเป็นภาพแทนในการธำรงโครงสร้างและระเบียบทางสังคมในการอยู่ร่วมกันแบบชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ยอมเสียสละเรื่องส่วนตัวให้แก่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะนี้คือโลกทัศน์ ระเบียบวิธี และอำนาจของตน เหตุนี้ ไก่ย่างและกาแฟดำที่ไม่มีวันหมด จะเป็นเรื่องตลกขบขันหรือไม่นั้นจึงไม่สำคัญมากไปกว่า ไก่ไม่ถูกย่าง หรือย่างแล้วแต่ไม่ได้นำมาแบ่งกันกิน เช่นเดียวกับกาแฟที่ไม่มีใครต้มกิน เพราะนั่นหมายความว่า “ตัวเชื่อม” พันธะชุมชนที่เชื่อมทุกคนด้วยกันได้สลายลง


สำหรับผู้ชมต่างจังหวัด ไก่ย่างที่ถูกนำมาแบ่งกันกินและกาแฟที่ไม่หมด จึงเป็นเหมือน “ความหมาย” ที่บอกแก่พวกเขาเสมอว่า โลกทัศน์และระเบียบทางสังคมในเชิงอำนาจของพวกเขานั้นจะยังคงอยู่ตราบที่ไก่ย่างยังถูกแบ่งกันกิน และกาแฟดำที่ต้มไว้จะไม่มีวันหมดลง เพราะพลังอำนาจชุมชนจะสามารถต่อกรกับตัวโกง และนำพาพวกเขาไปพบขุมทรัพย์ความสำเร็จ (ผลประโยชน์) ในท้ายที่สุดได้เสมอ


ท้ายที่สุดท่านผู้อ่านอาจคิดว่าพรานอ่องขี้โม้หรือเปล่า แต่พรานอ่องไม่ใช่พรานโก๊ะ (จากเรื่อง โก๊ะจ๋าป่านะโก๊ะ) จึงไม่ขี้โม้แน่ เพราะวันก่อนพรานอ่องผ่านไปแถวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชาวบ้านมากางเต็นท์นอนชุมนุมประท้วงกันเต็มไปหมด ซึ่งนั่นหมายความว่า ป่าเขาได้กลายเป็นป่าคอนกรีต และไก่ย่าง กาแฟดำได้กลายเป็น ผักน้ำพริก ไปเพียงเท่านั้น

 

 

อิทธิเดช พระเพ็ชร

 

 

 

 

อ้างอิง

 

คุณสมบัติของละครคุณฉลอง (อาหลอง) ภักดีวิจิตร. สืบค้นเมื่อเมื่อ 3 พฤษภาคม 2561, 

 

เอ็มจีอาร์ออนไลน์. (2557). “ฉลอง” ถูกใจ ! ชาวเน็ตจับผิดละคร บอกไม่ให้ปิ้งไก่ คงต้องให้อึ๊บกันบนต้นไม้ !. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2561,

 

เกษียร เตชะพีระ. (2542). จากวิกฤติเศรษฐกิจสู่ประชาสังคม: หนังสือที่ระลึกครบรอบ 60 ปี อาจารย์อัมมาร สยามวาลา. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ