สำหรับความทรงจำของคนที่เกิดหรือเติบโตในช่วงหลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา งานฉลองรัฐธรรมนูญคงเป็นมหกรรมที่ไม่อยู่ในความทรงจำหรือไม่คิดว่าสังคมไทยจะเคยจัดงานมหกรรมเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอาคารร้านรวงที่ตกแต่งประดับประดาด้วยภาพสัญลักษณ์พานแว่นฟ้ารัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ที่ราษฎรหลากหลายอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในงาน ทั้งหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ คณะจำอวด ยี่เก ตลอดจนราษฎรทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่า “งานราษฎร์” ในพื้นที่พระนครและต่างจังหวัดเช่นนี้ ดูจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วในสังคมไทย
บทความนี้ จึงขออนุญาตพาท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แม้ว่าท่านจะอยู่หลังหน้าจอคอมพิวเตอร์/โทรศัพท์ แต่ขอให้นึกเสียว่าได้อาบน้ำประแป้งจนหอมฟุ้งเพื่อไปเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญด้วยกันกับผู้เขียนเทอญ
กำเนิดวันฉลองรัฐธรรมนูญ
งานฉลองรัฐธรรมนูญเริ่มจัดเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในปีแรกมีกำหนดการจัดงาน 3 วัน วันแรกเป็นงานในส่วนพระราชพิธี อีกสองวันเป็นการฉลองและแสดงมหรสพทั้ง ลิเก ละคร โขน งิ้ว และภาพยนตร์ โดยจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง อย่างไรก็ตาม เวลาและสถานที่ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญปีต่อ ๆ มาจะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคมของทุกปี และสถานที่จัดงานก็สลับเปลี่ยนไปมาตามความเหมาะสม เช่น วังสราญรมย์ สวนลุมพินี สวนอัมพร เขาดินวนา เป็นต้น ทั้งนี้ ในต่างจังหวัดก็มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาเดียวกัน แต่จำนวนวันและเวลาแตกต่างกันออกไปตามงบประมาณและศักยภาพของแต่ละจังหวัด (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2552: 164-165)
งานฉลองรัฐธรรมนูญนั้นเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎร จุดประสงค์ของงานก็คือ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ราษฎรทั่วไปรู้จักรัฐธรรมนูญ และเข้าใจระบอบการปกครองใหม่ รวมถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่เรื่อง เอกราชของประเทศ การรักษาความสงบ การบำรุงเศรษฐกิจ ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ความมีเสรีภาพ และการบำรุงการศึกษา
อย่างไรก็ดี สัญญะที่ปรากฏในงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างเด่นชัดคือ เรื่องความเสมอภาค อาจเพราะเมื่อพิจารณาความแตกต่างทางอุดมคติและโลกทัศน์ทางการเมืองระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ผ่านหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประเด็นเรื่องความเสมอภาค ดูจะสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของระบอบการเมืองทั้งสองมากที่สุด
ภาพขบวนแห่รัฐธรรมนูญ ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการประกอบสร้างความหมาย
ของรัฐธรรมนูญในฐานะบ่อเกิด “ความเสมอภาค” ทางสังคม
ซึ่งเป็นอุดมคติหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ที่มา: ออนไลน์
เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่าสิ่งสำคัญในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั่นคือ รัฐธรรมนูญ ดังปรากฏให้เห็นทั้งในส่วนของอาคารสถานที่ ร้านค้า ห้องนิทรรศการ กิจกรรมการละเล่น ตลอดถึงป้ายโฆษณาต่าง ๆ เรียกได้ว่าท่านสามารถเห็นภาพรัฐธรรมนูญตลอดทั้งงาน โดยอาจ “ถอดรหัส” งานฉลองรัฐธรรมนูญโดยกว้างออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านกิจกรรม ด้านมหรสพความบันเทิง และด้านความเป็นพื้นที่สาธารณะแบบงานราษฎร์
ด้านสถาปัตยกรรม
เมื่อท่านผู้อ่าน เดินเข้าสู่งานฉลองรัฐธรรมนูญ ท่านจะได้พบกับร้านของหน่วยงานต่างๆทั้งราชการและเอกชน สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ท่านรู้สึกตื่นตาตื่นใจก็คือ รูปทรงของอาคารและร้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่มีรูปทรงแบบเรขาคณิตเรียบง่าย หลังคาตัดเรียบ อันแตกต่างไปจากสถาปัตยกรรมในระบอบเก่าที่มีรูปแบบเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ที่ตกแต่งและประดับไปด้วยความวิจิตรแบบ “ฐานานุศักดิ์”
รูปแบบสถาปัตยกรรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) มีลักษณะเด่นที่ความเรียบง่าย รูปทรงเส้นสายอาคารดูแข็งกร้าว หลังคาตัดแบนเรียบเกลี้ยงไร้ลวดลายประดับตกแต่ง ซึ่งหากพิจารณาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ-สถาปัตยกรรม แม้รูปแบบดังกล่าวจะมีความโน้มเอียงในแนวทางศิลปะแบบฝ่ายซ้ายที่เรียกว่า “สัจนิยมแนวสังคม” (Social Realism) หรือมีรูปแบบที่คล้ายกับงานศิลปะภายใต้อุดมการณ์แบบ ฟาสซิสต์ ในอิตาลี (Fascist Art) หรือ นาซี ในเยอรมัน (Nazi Art) แต่ทว่าในเชิงแนวคิดทางการเมืองไทย รูปทรงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการตอบสนองจำเพาะทางสังคมการเมืองอย่างสำคัญ เพราะสัญญะในสถาปัตยกรรมแบบนี้ได้สะท้อนความหมายในเรื่อง “ความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ขณะที่รูปทรงสถาปัตยกรรมในระบอบเก่าที่เป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว สะท้อนความหมายเรื่อง “ระดับชั้น” ทางสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้นในการใช้ภาษา บรรดาศักดิ์ ธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มบุคคลในสังคม รวมถึงในเชิงสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจทั่วไปในสังคมต่อการประดับหรือเขียนลวดลายว่า วัสดุหรือลวดลายประดับแบบใดใช้กับเจ้านายหรือขุนนางเท่านั้น ราษฎรมิสามารถตกแต่งหรือใช้ลวดลายในแบบเดียวกันได้
ดังนั้น รูปทรงอาคารหรือร้านค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญจึงให้สัญญะทางการเมืองแบบคู่ตรงข้ามกับงานสถาปัตยกรรมในระบอบการเมืองเดิม (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2552: 6-19) โดยให้ความหมายและสร้างอุดมคติในเรื่อง “ความเสมอภาค” ซึ่งก็เป็นการประกอบสร้างความหมายให้ต่อตัวรัฐธรรมนูญด้วย เพราะฉะนั้น สัญลักษณ์รัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนสำคัญของการประดับตกแต่งร้านอาคารต่าง ๆ ไปในตัว โดยจะถูกนำมาประดับบนที่สูงหรือวางไว้บนสุดของอาคารเสมอ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศสูงสุด เป็นบ่อเกิดความเสมอภาคทางการเมือง และยังเป็นการสร้างความรู้สึกแก่ผู้พบเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการ “เทิดทูน” อีกด้วย
ซุ้มประตูทางเข้า งานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2482
จะสังเกตเห็นป้ายรัฐธรรมนูญ และแท่งเสา 6 ต้น อันหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ, 2552: 171
ร้านกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับรางวัลที่ 2
ในการประกวดตกแต่งร้านประเภทเผยแพร่รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2480
ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นเทพบุตรถือสายฟ้า 6 แฉก อันหมายถึงหลัก 6 ประการ
และรัฐธรรมนูญขนาดใหญ่วางไว้บนสุดของร้าน
ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ, 2548: 165
ด้านกิจกรรมภายในงาน
เมื่อท่านผู้อ่านตื่นตากับรูปทรงอาคารภายในงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว หากนึกสนุกอยากร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน ก็มีหลากหลายกิจกรรม เริ่มตั้งแต่หากท่านเป็นผู้มีฝีไม้ลายมือทางด้านมวย รัฐบาลก็ได้จัดให้มีการแข่งขันมวยชิงถ้วย “รัฐธรรมนูญ” และเหรียญที่ระลึก ซึ่งเป็นการแฝงสัญญะของรัฐธรรมนูญในฐานะรางวัลอันสูงสุด หรือหากท่านเป็นผู้มีความสามารถทางด้านศิลปะหรือการแสดงก็สามารถเข้าร่วมการประกวดต่าง ๆ ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ เช่น การประกวดละคร บทเพลง บทกวี การประกวดปาฐกถาและสุนทรพจน์ ต้องเป็นไปเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและชักจูงให้ผู้ดูผู้ฟังเกิดความ “เลื่อมใส” รัฐธรรมนูญ การประกวดงานประณีต ศิลปกรรม ก็ต้องเป็นงานที่แสดงให้เห็นภาพรัฐธรรมนูญ สำหรับต่างจังหวัดก็ได้มีการส่งเพลงพื้นเมืองเข้าประกวดด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเทพทอง เพลงปรบไก่ เสภาและสักวา โดยมีเงื่อนไขว่าเพลงต้องเป็นไปในทางชักจูงให้เกิดความเลื่อมใสต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน และเมื่อชาวบ้านต่างจังหวัดกลับยังภูมิลำเนาจะต้องขับร้องให้คนในจังหวัดของตนฟังด้วย (มานิตย์ นวลละออ, 2540: 69-75)
งานในส่วนนี้ จึงเป็นกลยุทธ์ในการเผยแพร่และปลูกฝังความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ผ่านรางวัลและกิจกรรมสันทนาการทั้งในเชิงที่เป็นลักษณะแบบทางการและวัฒนธรรมการร้องเล่นแบบชาวบ้าน
ตัวอย่างงานศิลปกรรม ในศาลาศิลปากร งานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480
โดยมีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญอยู่บนฐานหลัก 6 ประการ
ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ, 2552: 139.
ด้านมหรสพความบันเทิง
หากท่านต้องการมาเที่ยวสนุกสนานอย่างเดียว งานฉลองรัฐธรรมนูญก็มีมหรสพให้ท่านได้รับชมทั้ง ลิเก รำวง โขน งิ้ว การแสดงมายากล แสดงสัตว์ประหลาด ฯลฯ หรือหากท่านผู้อ่านมีคนรัก ก็ขอแนะนำให้ชวนกันมาเที่ยวช่วงกลางคืน เพราะในช่วงค่ำจะมีการจุดดอกไม้เพลิงสวยงาม ซึ่งคงให้บรรยากาศโรแมนติกสำหรับคู่รัก อย่างไรก็ดี งานกิจกรรมที่ดูจะได้รับความนิยมที่สุดก็คือ การประกวดนางสาวไทย
การประกวดนางสาวไทย เริ่มขึ้นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ในชื่อ “การประกวดนางสาวสยาม” ต่อมาใน พ.ศ. 2482 ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ทำให้หลังจากนั้นการประกวดจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “การประกวดนางสาวไทย” จวบจนปัจจุบัน
การประกวดนางสาวไทยเป็นกิจกรรมใหญ่และเป็นกิจกรรมหลักที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผู้เห็นว่า เป็นกลยุทธ์ของคณะผู้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในการใช้เป็นเครื่องมือดึงคนให้มารู้จักกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ให้คนดูนางงามเป็นหลัก แล้วพลอยได้ดูรัฐธรรมนูญเป็นของแถม โดยกิจกรรมประกวดนางสาวไทยถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหลักที่มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งภายหลังงานฉลองรัฐธรรมนูญได้ถูกยกเลิกไปแล้ว การประกวดก็ยังคงมีอยู่ กระนั้น คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าการประกวดนางสาวไทยนั้นเป็นมรดกของงานฉลองรัฐธรรมนูญนั่นเอง แม้ว่าหลายคนจะลืมเลือนเรื่องนี้ไปแล้วก็ตาม (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2548: 135-138)
พื้นที่สาธารณะแบบงานราษฎร์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
แม้งานฉลองรัฐธรรมนูญจะจัดขึ้นโดยคณะจัดงานของรัฐบาล แต่การที่งานฉลองรัฐธรรมนูญกลายเป็น “มหกรรมแห่งชาติ” อย่างยิ่งใหญ่ได้นั้นเพราะ เป็นงานที่เปิดพื้นที่ “สาธารณะ” ให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง ทั้งในส่วนของการเป็นผู้จัด ผู้สนับสนุน และผู้ชม กล่าวคือ เปิดให้คนทุกอาชีพ ทุกสังคมได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยกันในงานภายใต้แนวคิด “ความเสมอภาค” ทางการเมือง ดังปรากฏว่ามีชาวบ้านราษฎรได้เข้าร่วมและขนสิ่งของมาช่วยเหลือ เช่น เครื่องดื่ม อาหาร น้ำแข็ง มะพร้าวอ่อน ให้ยืมสายไฟ ยืมไม้มาทำโรงมหรสพ บริจาคดอกไม้เพลิง และนำคณะละครหรือภาพยนตร์เข้าร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ปรากฏว่ามีคนดูล้นทุกโรงมหรสพ (ปรีดี หงษ์สต้น, 2555-2556: 125-126)
ภาพพ่อค้าหาบแร่ เข้าไปขายของในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483
แสดงให้เห็นถึงความเป็นงาน “ราษฎร์” ในเชิงพื้นที่สาธารณะ
ส่วนซ้ายมือน่าจะเป็นขวดเบียร์ยักษ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตเป็น “พ่อค้าหรือผู้ประกอบการไทย”
ที่มา: ปรีดี หงษ์สต้น, 2555-2556: 138.
ลักษณะของความเป็น “งานราษฎร์” ยังเห็นได้จากกลุ่มพ่อค้าหรือผู้ประกอบการไทยในงาน กล่าวคือ ในเชิงของความนึกคิดทางสังคมการเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลุ่มซึ่งเรียกตนเองว่า “พ่อค้าหรือผู้ประกอบการไทย” ได้มีบทบาทในการเป็นแรงสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจในระบอบการเมืองเดิมนั้นอยู่ในลักษณะแบบการค้าเสรี จึงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยหรืออุตสาหกรรม “ทารก” ภายในประเทศไม่สามารถต่อสู้กับผู้ประกอบการธุรกิจจากต่างประเทศได้ ภายใต้สภาวะการพยายามหาแรงสนับสนุนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรจึงมีความพยายามดึงกลุ่มผู้ประกอบการไทยเข้ามาเป็นแรงสนับสนุน ทั้งจากสถาบันการเมืองโดยตรงหรือผ่านงานกิจกรรมของรัฐบาล (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2553: 121-160) เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเลยก็ว่าได้ ดังที่คณะผู้จัดงานเห็นว่า
“สำหรับพระนครและธนบุรี...จะเชื้อเชิญองค์การเอกชนต่าง ๆ ...เช่นสมาคมพ่อค้าโรงสีแสดงถึงกิจการโรงสี โรงงานทอผ้าแสดงการทอผ้าตัวอย่าง ฯลฯ..ส่วนตามจังหวัดต่าง ๆ ...ก็อาจจัดให้มีการแสดงกิจการย่อย ๆ ของอุตสาหกรรมประจำบ้าน (Home Industry) เช่น การเลี้ยงไหม ทอผ้าและทำเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำนองงานศิลปหัตถกรรมที่เคยมีมาแล้ว” ทั้งนี้ “เพื่อประชาชนและชาวกสิกรที่มาชมงานย่อมจะได้เปิดหูเปิดตาในสาระประโยชน์ด้วย ไม่ใช่มาดูมหรศพมหกรรมกลางเมืองแต่อย่างเดียว” ( อ้างใน ปรีดี หงษ์สต้น, 2555-2556: 130-131)
การหายไปของงานฉลองรัฐธรรมนูญ
งานฉลองรัฐธรรมนูญนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงช่วงสงครามโลกใน พ.ศ. 2484 จึงได้หยุดชะงักลง ขณะที่ปีต่อมา พ.ศ. 2485 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพระนครจึงไม่สามารถจัดงานได้ แล้วจึงกลับมาจัดอีกครั้งใน พ.ศ. 2486 “เพื่อเป็นการส่งเสริมขวัญกำลังใจ” ให้แก่ประชาชน ทว่าใน พ.ศ. 2489 ก็เกิดเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทำให้บ้านเมืองไม่อยู่ในสภาวะที่จะจัดงานรื่นเริงได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงหลังทศวรรษ 2490 จะยังคงมีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอยู่ แต่แนวคิดในการจัดงานนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 คณะราษฎรได้หมดบทบาททางการเมืองลง ขณะที่ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม”ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ ดังปรากฏในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่มีการเพิ่มเนื้องานใหม่เข้ามาเป็นจุดเน้นแทนในชื่อ “โครงการงานสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและฉลองรัฐธรรมนูญ 2490” โดยที่ในเชิงสถาปัตยกรรมของร้านอาคารก็เปลี่ยนไปเป็นลักษณะแบบ “ไทยประยุกต์” ที่ให้น้ำหนักกับจารีตทางศิลปกรรมมากขึ้น จึงได้ปรากฏรูปทรงอาคารร้านรวงทรงสามเหลี่ยมหนั่วจั่วตกแต่งลวดลาย อันเป็นรูปทรงสถาปัตยกรรมในระบอบการเมืองเก่า และพานรัฐธรรมนูญก็มิได้ถูกเชิดชูหรือเป็นสัญลักษณ์เด่นของงานอีกต่อไป (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2552: 181-183)
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญของงานฉลองรัฐธรรมนูญที่หายไปในช่วงหลังทศวรรษ 2490 ก็คือ การเป็นพื้นที่สาธารณะในเชิง “งานราษฎร์” ได้ถูกตัดขาดลง เหตุเพราะกองการจัดงานได้สั่งห้าม “ไม่ให้” มีกิจกรรมที่มีการพนันทุกชนิด ห้ามการแสดงที่หยาบ ห้ามการแสดงที่ต้องขยายเสียงดังรบกวน รวมไปถึงการแสดงแบบ “งานวัด” เช่น การแสดงมายากล แสดงสัตว์ประหลาด รำวง โดยหากประสงค์จะเข้าไปแสดงต้องมีหนังสืออนุญาตเท่านั้น วัฒนธรรมและวิถีการละเล่นของชาวบ้านราษฎรถูกคณะจัดงานเห็นว่าเป็นเรื่อง “เสื่อมเสียศีลธรรม” รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าประเภทหาบเร่ก็ต้องถูกไล่ออกจากบริเวณงานด้วย ขณะเดียวกันนัยของงาน “ฉลองรัฐธรรมนูญ” ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นการฉลอง “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” (ปรีดี หงษ์สต้น, 2555-2556: 137) อันเป็นการเมืองวัฒนธรรมในการให้ “ความหมายใหม่” ต่อที่มาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมที่ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2558: 21-23)
งานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา จึงอยู่ในลักษณะของการเป็น “งานรัฐ” หรือ “งานหลวง” เพราะราษฎรทั่วไปมิได้เข้ามามีบทบาทส่วนร่วมโดยตรงภายในงาน ต้องมีหน้าที่ “รับฟัง” และ “ปฏิบัติตาม” ในฐานะผู้ชมที่ดีเท่านั้น
และแล้วงานฉลองรัฐธรรมนูญ ก็จบสิ้นลงอย่างเป็นทางการภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปีพ.ศ.2501 อันเป็นยุคสมัยที่สังคมการเมืองไทยไม่มี “รัฐธรรมนูญ” ขณะเดียวกัน วันที่ 10 ธันวามคม ซึ่งเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” ก็ถูกประกาศให้เป็น “วันสิทธิมนุษยชน” ทับซ้อนลงไป แม้ปัจจุบันจะยังคงมีวันรัฐธรรมนูญ แต่งานพิธีก็จำกัดเฉพาะราชสำนักหรือส่วนรัฐบาลเท่านั้น และความหมายของงานก็เป็นไปเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ
งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นมหกรรมแห่งชาติแห่งความหลัง ที่ผู้คนได้หลงลืมและไม่อยู่ในความทรงจำ เหลือไว้แต่เพียงการได้ท่องเที่ยวผ่านหนังสือพิมพ์หรือภาพถ่ายเก่า ๆ ในหอจดหมายเหตุ หรือผ่านจากการอ่านบทความต่าง ๆ เฉกเช่นที่ท่านผู้อ่านที่ได้ท่องเที่ยวไปกับผู้เขียนในบทความนี้ เท่านั้น.
อิทธิเดช พระเพ็ชร
ชาตรี ประกิตนนทการ. (2548). คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ”. กรุงเทพฯ: มติชน.
ชาตรี ประกิตนนทการ. (2552). ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ: มติชน.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2553). การปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2558). การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ/. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
ปรีดี หงษ์สต้น. (2555-2556). “มองงานฉลองรัฐธรรมนูญในแง่การเมืองวัฒนธรรมหลังการปฏิวัติ 2475”. ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ,16. 123-139.
มานิตย์ นวลละออ. (2540). การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท รุ่งเรืองรัตน์พริ้นติ้ง จำกัด.
Museum Siam Knowledge Center
การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. /ชาตรี ประกิตนนทการ
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. /นครินทร์ เมฆไตรรัตน์