Museum Core
เมื่อนักเรียนประวัติศาสตร์กระโดดข้ามกำแพง ตอน...เล่นพระเครื่อง
Museum Core
20 เม.ย. 61 4K

ผู้เขียน : นันทพร ศรียศ

เมื่อนักเรียนประวัติศาสตร์กระโดดข้ามกำแพง ตอน...เล่นพระเครื่อง

 

 

“พระเครื่อง” ถือเป็นคอลเลคชั่นที่ผู้เขียนเลื่อมใสศรัทธามาก ซึ่งพระเครื่องเลื่องชื่อลือชา ที่ใคร่อยากสะสมเป็นการส่วนตัว คือ “พระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีนพิมพ์สังฆาฏิยาว” เป็นพระเครื่องชื่อดังในถิ่นบ้านเกิดของผู้เขียน ถือเป็นหนึ่งในพระดี พิธีสุดยอด ปลุกเสกโดยเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งยุคสมัยนั้นจำนวน 108 รูป เชื่อกันว่ามีพุทธคุณแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่ากันว่าห้อยคอแล้วยิงไม่เข้า


ผู้เขียนเริ่มสะสมพระเครื่องรุ่นนี้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ส่วนความแท้หรือเทียมยังดูไม่เป็น จึงสะสมพระเครื่องรุ่นนี้ให้เยอะไว้ก่อน เห็นแผงพระตรงไหนจะเช่ามาสะสมตลอด นานเข้าก็เริ่มสงสัยว่า “เอ๊ะ! ทำไมพระพุทธชินราชอินโดจีนจึงมีเยอะแยะ และราคาแสนถูก โดยปกติถ้าพระดังแห่งยุคราคาองค์ละเป็นล้านไม่ใช่หรือ” ความโง่เขลานี้หายไปเมื่อพี่เขยกล่าวว่า “เราต้องดูพระแท้พระเทียมไม่อย่างนั้นเราจะหาความศักดิ์สิทธิ์จากตรงไหน คนที่ไม่รู้ว่าองค์ไหนพระแท้พระเทียมก็เช่าพระปลอมไป เราต้องดูตำหนิองค์พระเพื่อชี้ว่าพระนั้นแท้หรือเทียม” ผู้เขียนจึงได้พี่เขยคอยชี้แนะในช่วงแรก


ต่อมาเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองจากตำรา หนังสือ และนิตยสารพระเครื่อง อย่าง ไทยพระคอลเล็กชั่น, เซียนพระ 514, พระเครื่องพระเกจิ, อิสวาสุ, คัมภีร์พระเครื่อง, สุดยอดพระเครื่องพระพุทธชินราช, คนรักพระ ฯลฯ ทำให้เริ่มรู้จักชี้ตำหนิความแท้เทียม ดูลักษณะความเก่า เนื้อองค์พระ ขึ้นเขียวขึ้นแดงขึ้นดำ ความมันความวาวของเนื้อ แต่ผู้เขียนก็อดสงสัยไม่ได้ว่าถ้ารู้ตำหนิพระแล้ว เราจะแน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าแท้หรือเทียม เพราะปัจจุบันนี้มีเทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำเลียนแบบได้เหมือนมาก


หลังจากนั้นก็เริ่มลงสนามหาประสบการณ์จริง โดยเริ่มไปที่ตลาดพระหลังวัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก) เป็นตลาดที่ใหญ่มากราวกับตลาดพระท่าพระจันทร์แห่งที่ 2 พ่อค้าแม่ค้าต่างร้องเรียกเชิญชวนตลอดเส้นทาง ระหว่างนั้นผู้เขียนก็ย้อนระลึกถึงตำรับตำราที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่า “ผิวพระมีความเป็นธรรมชาติ มีความเก่าเดิมทั่วทั้งองค์พระ ซุ้มแก้วชัด พระกรรณข้างซ้ายขององค์พระมีขีดเป็นเส้นเล็ก ๆ เห็นชัดเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของพิมพ์สังฆาฏิยาว หน้านางนิยม A หูขีด ผิวไม่เรียบเสมอกัน พระหัตถ์ข้างขวาทอดลงมาวางที่หน้าพระเพลา มีพระอังคุฐแยกจากพระดัชนีเห็นได้ชัดเจน โค้ดทั้งสองถูกตอกวางในแบบ ‘ข้างขึ้น’ คือหนุมานในโค้ดอกเลาไม่เหยียบโค้ดธรรมจักร ซึ่งเกิดจากการตอกโค้ดอย่างพิถีพิถัน”


เมื่อพบพระที่หมายตาก็หยิบกล้องส่องพระเพื่อส่องดูรายละเอียด ก็พบว่าความผิดเพี้ยนคือสีองค์พระดูไม่เก่า ไม่มีโค้ดใต้ฐาน จึงวางพระแล้วเดินเลยไป สุดท้ายไปเจอแผงพระที่กองเป็นภูเขาของลุงคนหนึ่ง แกบอกว่าพระของแกเป็นพระบ้าน แท้แน่นอน ราคาถูกด้วย แม้จะมีความสงสัยก็อดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องขึ้นมาส่องดู ปรากฏว่าตำหนิต่าง ๆ ของพระตรงตามตำราที่เคยศึกษามา ตัดสินใจเช่ามาราคา 450 บาท ผู้เขียนรู้สึกดีใจมากที่ได้พระแท้ราคาถูกมาครอบครองคิดว่าตัวเองโชคดีเกินบรรยาย ตั้งใจว่าจะเก็บเอาไว้อวดพวกเดียวกัน ยังไงก็ไม่คิดปล่อยเช่าต่ออย่างแน่นอน


กระทั่งผู้เขียนได้มาเรียนในสาขาประวัติศาสตร์ และโบราณคดี บวกกับการเรียนวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา ทำให้เข้าใจที่มา ความสำคัญ บริบทประวัติศาสตร์ของโบราณวัตถุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนสามารถบูรณาการความรู้กับพระเครื่องที่กำลังสะสม จึงทำให้ผู้เขียนอยากรู้อยากเห็นถึงที่มาของพระพุทธชินราชอินโดจีนอย่างยิ่งยวด และเมื่อผู้เขียนเริ่มมองด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา จึงได้เห็นความเกี่ยวข้องกับความเป็นชาตินิยม เกี่ยวโยงทางการเมือง นอกเหนือไปจากการใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

 

พระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีนกับการปลุกความเป็นชาตินิยม


ในช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสายจากภัยสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น และเป็นนายกพุทธธรรมสมาคม(ปัจจุบันคือพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย) ตั้งแต่พ.ศ. 2480 – 2492 มีความคิดสร้างพระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีนขึ้น เพื่อสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และใช้เป็นเครื่องมือปลุกกระแสชาตินิยมแก่คนไทยทั่วประเทศ ซึ่งตามความหมายของ “ชินราช” คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นราชาแห่งชัยชนะ จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธชินราชอินโดจีน” ซึ่งมีนัยของความหมายว่า “ชัยชนะในสงครามอินโดจีนและการเรียกร้องดินแดนคืน”


ในพิธีหล่อและปลุกเสก มีการนิมนต์พระสงฆ์ เกจิอาจารย์ดังจากวัดต่าง ๆ ที่ประชาชนในแต่ละภูมิภาคยกย่องและให้ความเคารพนับถือทั่วประเทศจำนวนรวม 108 รูป โดยมีประธานในพิธีคือสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทโว) ทั้งนี้ชนวนมวลสารที่ใช้จัดสร้างประกอบด้วย ชนวนโลหะของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร แผ่นจารพระคาถาของพระคณาจารย์ดังทั่วประเทศไทย และยังรวมถึงโลหะทองเหลืองที่ประชาชนทั่วประเทศนำมาร่วมบริจาค ในแง่นี้ทำให้เห็นถึงการร่วมจิตร่วมใจของคนในชาติ เป็นช่วงเวลาที่เกิดกระแสชาตินิยมอย่างรุนแรง


นอกจากนี้เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับพระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีน อาจทำให้คิดได้ว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างชาตินิยมด้วยเช่นกัน ดังที่พบในเรื่องเล่ากรณีทหารไทยเข้าโจมตีเขมรที่ศรีโสภณโดยเล่าว่า “…การเข้าตีครั้งนี้ทหารไทย ต้องเจอกับสารพัดอาวุธนานาชนิดและทหารจากอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งมองแล้วยากและน่าจะสร้างความสูญเสียให้ทหารไทยมาก รัฐบาลได้นำพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีนมาแจกให้ทหารที่จะเข้าตีศรีโสภณ ต่อมาเมื่อทหารไทยยกเข้าตีเมืองศรีโสภณ ตำนานที่เล่าขานไว้ว่า ทหารไทยถูกยิงไม่เข้า โดนยิงแล้วล้มมาลุกไล่เข้าตีทหารที่ป้องกันศรีโสภณ อย่างดุเดือด โดยอาวุธฝ่ายตรงข้ามทำอะไรไม่ได้ จนสามารถมีชัยเหนือข้าศึกและยึดศรีโสภณ ไว้ได้…” รวมถึงเรื่องเล่าในเหตุการณ์ส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพา กรณี “กองทัพพายัพ” ที่ยกขึ้นไปบุกเชียงตุงไม่มีผู้ใดเสียชีวิตเพราะห้อยพระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีน ยกเว้นเสียชีวิตเพราะไข้ป่า

 

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า จากการเปิดมุมมองดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ชวนให้ตัวผู้เขียนอยากหาคำตอบเบื้องลึกเบื้องหลังพระเครื่ององค์อื่น ๆ ที่ผู้เขียนสะสมอยู่ จากที่ตัวผู้เขียนเริ่มต้นสะสมด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา แต่เมื่อมาเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เกิดการมองพระเครื่องที่ไปไกลกว่า “ความเชื่อ”

 

 


นันทพร ศรียศ (นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร)

 

 

 

 


บรรณานุกรม

 

ชาตรี ประกิตนนทการ. (2549). พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย. เมืองโบราณ 32, 3 (กรกฎาคม-กันยายน).

 

ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์. (2555). ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่อง: คติความเชื่อและพุทธพาณิชย์. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.


ดีดี-พระดอทคอม. พระพุทธชินราชอินโดจีน พิมพ์สังฆาฏิยาว (องค์มหาปฐม). 17 กันยายน 2558. จาก อ่านออนไลน์


ประชุม กาญจนวัฒน์. (2516). พระเครื่องเลื่องชื่อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ คุณแม่ส้มจีน กาญจนวัฒน์. กรุงเทพฯ: ศรีเมืองการพิมพ์.

 

 

สัมภาษณ์


นางพร้อม อินทิพย์. ชาวบ้านตำบลป่าแดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561.

 

 

Museum Siam Knowledge Center

 

ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่อง: คติความเชื่อและพุทธพาณิชย์. / ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ