เจมส์ ซี สก็อตต์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเสนอไว้ในหนังสือ The Art of Not Being Governed ว่ามนุษย์มีชีวิตอยู่กันเป็นสังคมโดยปราศจากรัฐมาอย่างยาวนาน และการมีชีวิตโดยปราศจากรัฐหรืออำนาจที่อยู่เหนือพวกเขาขึ้นไป ก็น่าจะเป็นธรรมชาติมนุษย์มากกว่าการอยู่ใต้อำนาจรัฐหรือเป็นสมาชิกของรัฐ หน่วยทางสังคมที่เรียกว่า “หมู่บ้าน” หรือแม้แต่ความเป็น “ชาติพันธุ์” เองก็เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ของการปกครองรัฐสมัยใหม่เท่านั้น ในแง่นี้ การที่เราบอกว่าตัวเราเองเป็นใครในกรอบของความเป็นชาติหรือแม้แต่คนหมู่บ้านไหน ก็เป็นเพียงผลผลิตของการขยายอำนาจรัฐเข้าไปปกครองเท่านั้น แน่นอนว่าสำหรับสก็อตต์แล้ว ก่อนหน้าการขยายอำนาจการปกครองของรัฐ ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะไร้รัฐหรือที่เขาเรียกว่า โซเมีย (Zomia)
การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่มีอาณาเขตและดินแดน รวมถึงอำนาจเหนือดินแดนที่ชัดเจนตายตัว แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าอำนาจของรัฐในศตวรรษที่ 19 จะสามารถแผ่ขยายครอบคลุมทุก ๆ พื้นที่ของชีวิตผู้คนในอาณาเขตที่เรียกว่าสยามหรือไทย ความเป็นไทยจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในฉับพลันทันที แต่กลับเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ ขยายออกไปตามความสามารถและเครื่องมือเครื่องไม้ที่รัฐในแต่ละช่วงเวลาพอจะมีได้
เช่นเดียวกัน ในภาคเหนือของไทยซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าและเขานั้น รัฐไทยใช้เวลาอย่างยาวนานกว่าที่จะทะลุทะลวงเข้าไปได้ นั่นหมายความว่าความเป็นไทยของพื้นที่ชายขอบรอบนอกเป็นสิ่งเกิดขึ้นอย่างล่าช้ามากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่บนที่ราบที่อำนาจของรัฐเข้าถึงได้ง่ายกว่า
การแยกระหว่างชาวบ้านกับชาวเขาก็เป็นภาพสะท้อนของการขยายตัวของความเป็นไทยแบบที่ไม่สม่ำเสมอกันของพื้นที่ต่าง ๆ ในงานของสก็อตต์ชี้ว่า ชาวบ้านในฐานะที่เป็นคนพื้นราบนั้นอยู่อาศัยใกล้ชิดกับอำนาจรัฐมากกว่าชาวเขา และคำว่าชาวเขาเองก็มีนัยของการปฏิเสธหรือการไม่ยอมอยู่ภายในขอบเขตหรืออำนาจของรัฐด้วย
เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเย็นในทศวรรษ 1950 รัฐไทยในฐานะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเป็นไทยให้แก่ชาวเขา เป้าหมายสำคัญก็คือการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มักจะแพร่หลายได้ดีกว่าในบริเวณป่าเขา การสร้างความเป็นไทยที่ผู้คนในบริเวณต่าง ๆ ยอมรับว่าตนเองเป็นคนไทยอย่างสนิทใจก็คือเครื่องมือในการป้องกันการขยายตัวของภัยจากคอมมิวนิสต์เหล่านี้
ในปี 1954 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาเริ่มสำรวจบริเวณป่าเขาและบริเวณต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ยากของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทคโนโลยีการบินและการถ่ายภาพทางอากาศจากเครื่องบินที่บินสูงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการสำรวจและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ การถ่ายภาพทางอากาศที่นำเข้ามาโดยสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งแผนที่มาตรฐานจำนวนมากที่มีรายละเอียดการตั้งถิ่นฐานของผู้คนซึ่งรัฐไทยเองไม่เคยหรือไม่สามารถมองเห็นมาก่อน แผนที่จึงเปรียบเสมือนการมองเห็นของรัฐ ในขณะเดียวกัน การมองเห็นเหล่านี้ก็คือความสามารถในการปกครอง
แผนที่มาตรฐานของไทยฉบับ L708 ที่มีความละเอียด 1:50,000 ก็คือแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศฉบับแรกที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาทำให้กับประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการในปี 1954 และเสร็จสิ้นในอีกทศวรรษถัดมาถือเป็นแผนที่มาตรฐานฉบับแรกที่มีความละเอียดและแม่นยำที่สุด ซึ่งอาศัยการแปลภาพถ่ายทางอากาศให้มาอยู่ในรูปของแผนที่ที่ละเอียดในขนาดที่ว่าสามารถมองเห็นได้แม้กระทั่งหลังคาบ้าน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง การทำแผนที่จังหวัดและแผนที่เมืองฉบับ L9012 ซึ่งมีความละเอียดถึง 1:12,500 ก็ถูกจัดทำขึ้นและถูกใช้งานโดยกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐอเมริกาในปี 1961 แผนที่เหล่านี้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญให้แก่ฝ่ายความมั่นคงในการปฏิบัติการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย แน่นอนว่าการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลานี้ก็คือการสร้างความเป็นไทยให้แก่ผู้คนที่ไม่เคยเป็นคนไทย
สุเทพ สุนทรเภสัช นักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกของไทยเคยเรียกตนเองว่าเป็น “ผู้เติมช่องว่างลงในแผนที่” เล่าอยู่เสมอว่าเมื่อเขาไปสำรวจหมู่บ้านชาวเขาในบริเวณแม่กก จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กับคณะนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลในปี 1964 เขาถือแผนที่ทหารไปด้วยเสมอ และแผนที่ดังกล่าวก็คือแผนที่ฉบับ L708 ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นเอกสารลับที่มีเฉพาะหน่วยความมั่นคงเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ สุเทพเล่าว่าแผนที่ชุดนั้นช่วยให้เขาและคณะจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลสามารถเข้าถึงหมู่บ้านที่ไม่มีใครเคยเข้าถึงมาก่อนได้ และเขาก็เรียกหมู่บ้านเหล่านั้นว่าเป็นหมู่บ้านชาวเขา
การเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านของสุเทพและคณะ อาศัยรถจิ๊บของสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาและจากหน่วยงานที่ชื่อว่า USIS ของสหรัฐอเมริกาเข้าไปทำการสำรวจ เมื่อไปถึงจุดสิ้นสุดถนนแล้ว พวกเขาก็เดินป่าเข้าไปด้วยการใช้เครื่องมือของนักสำรวจทางภูมิศาสตร์ การสำรวจที่ใช้เวลาต่อเนื่องและทำซ้ำถึงสามครั้งในช่วง 16 ปี (1964-1979) ทำให้เรารู้ว่ายังมีกลุ่มชนที่เรียกรวม ๆ ว่า “ชาวเขา” ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ต่าง ๆ และรู้ได้ว่าบ้านเรือนถิ่นฐานของพวกเขาอยู่ตรงไหนกันแน่ในทางภูมิศาสตร์ นั่นคือ การสามารถระบุพิกัดที่ตั้งบ้านเรือนของชาวเขาได้เป็นครั้งแรก
สิ่งที่ตามมาจากการกำหนดพิกัดของหมู่บ้านชาวเขาในแผนที่ก็คือ “การพัฒนา” ในสองทศวรรษแรกของสงครามเย็นซึ่งเราถือว่าเป็นยุคพัฒนานั้นไม่ได้นำโดยนักเศรษฐศาสตร์ แต่นำโดยฝ่ายความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ โดยเฉพาะบริเวณป่าเขาที่การพัฒนาเข้าไปสู่ชาวเขาได้ด้วยกองทัพ อาวุธปืน และความจงรักภักดีต่อชาติ นักพัฒนาจากฝ่ายความมั่นคงอาศัยข้อมูลจากแผนที่ทหารและการสำรวจของนักมานุษยวิทยาที่จดบันทึกไว้ในการเข้าถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวเขา พวกเขาเข้าไปช่วยพัฒนาถนนหนทาง ให้ยารักษาโรค และพัฒนาอาชีพ รวมถึงพวกเขายังนำเอาความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแจกรูปในหลวง (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ) และพระราชินี (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ) ธงชาติ และรูปพระพุทธชินราช
นอกจากที่การพัฒนาจะมุ่งไปสู่การสร้างความจงรักภักดีแล้ว การพัฒนายังต้องการให้ชาวเขาหยุดเคลื่อนที่หรือย้ายถิ่นฐานด้วย ลูเชียน แฮงค์ส และเจน แฮงค์ส นักมานุษยวิทยาที่สำรวจชาวเขาในภาคเหนือร่วมกับสุเทพเคยกล่าวถึงธรรมชาติของชาวเขาว่า
“เราได้เป็นพยานพบเห็นการสลายตัวไปของหมู่บ้านจำนวนมาก และการที่หมู่บ้านที่สลายไปเหล่านั้นไปรวมตัวกันใหม่เป็นหมู่บ้านเดียวหรือหลาย ๆ หมู่บ้าน การแยกตัวออกจากหมู่บ้านเดิมของครอบครัวหลายครอบครัวเพื่อไปก่อตั้งหมู่บ้านใหม่เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป... เราไม่รู้เลยว่าจะมีสักวันหนึ่งหรือไม่ที่ทุก ๆ หมู่บ้านในภูมิภาคนี้จะใช้ชีวิตปกติในที่ใดที่หนึ่งอย่างยาวนาน มโนทัศน์ว่าด้วยช่วงอายุขัยของหมู่บ้าน (village life-span) กลายมาเป็นอุปสรรคต่อความรับรู้ที่พวกเรามีต่อสิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้าน ต่อให้หมู่บ้านของชาวเขาบนที่สูงบางแห่งจะมีอายุยืนยาวถึง 60 ปีหรือจะอยู่ยาวนานเป็นศตวรรษ พวกเราพบว่า หมู่บ้านเหล่านั้นกลับสลายหายไปได้อย่างหน้าตาเฉยเมื่อพวกเขาหาบ้านใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ และเมื่อความคาดหวังต่อผลผลิตในการเพาะปลูกของพวกเขาถูกรบกวนด้วยโรคร้ายหรือความตาย”
สำหรับรัฐไทยและมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ลัทธิคอมมิวนิสต์เติบโตได้ก็ด้วยการเคลื่อนที่และอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งของผู้คน ดังนั้น ภารกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานี้ก็คือการเชื้อชวน (แกมบังคับ) ให้ผู้คนที่เรียกรวม ๆ ว่า “ชาวเขา” ตั้งถิ่นฐานอยู่กับที่เป็นหลักแหล่งและไม่เคลื่อนย้ายไปไหน นั่นก็หมายความว่า ชาวเขาต้องมีหมู่บ้าน (village) ของตัวเอง และรัฐต้องสามารถระบุได้ว่าคนแต่ละคนอยู่หมู่บ้านไหน ซึ่งแน่นอนว่าที่ตั้งของหมู่บ้านก็ต้องถูกเติมลงไปในช่องว่างของแผนที่ที่ทำขึ้น
ต่อมาในทศวรรษ 1970 และ 1980 การสำรวจยังดำเนินต่อไปอีกหลายครั้งโดยหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องการให้ชาวเขาทุกคนอยู่ในระบบระเบียบและทะเบียนรายชื่อของรัฐไทย ความน่าสนใจของงานสำรวจในยุคหลังก็คือ ในขณะที่การตั้งถิ่นฐานของชาวเขาในทศวรรษ 1960 เป็นไปอย่างไม่แน่นอนหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่เป็นหลักแหล่ง แต่ด้วยเวลาเพียงทศวรรษและสองทศวรรษต่อมา ชาวเขาในภาคเหนือของไทยล้วนแล้วแต่หยุดอยู่กับที่ไม่ย้ายไปไหนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเขากลายมาเป็นสมาชิกของหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งอย่างถาวร และทุกหมู่บ้านก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเรียกในทะเบียนของรัฐ หลายแห่งมีชื่อภาษาไทยที่สละสลวยงดงามสมกับที่เป็นไทย
ในเวลาต่อมา ความเป็นไทยที่อำนาจของรัฐเอื้อมมือไปถึงชาวเขาชาวดอยดังกล่าวได้ทำให้ชาวเขาหลายคนกลายมามีบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน ซึ่งสะท้อนว่าพวกเขามีสัญชาติไทย และแน่นอนว่าการยอมรับการมีสัญชาติไทยก็มีนัยของการยอมรับความเป็นไทยและการเป็นคนไทยด้วย
พัฒนาการของการมีเครื่องไม้เครื่องมือในการนิยามความเป็นไทยของชาวเขานั้นก็เช่นเดียวกับเรื่องของแผนที่และการตั้งถิ่นฐาน พวกเขาไม่เคยมีบัตรประชาชนมาก่อน และรัฐเองก็ไม่เคยรู้ว่าพวกเขามีกี่คนและชื่ออะไร จุดเริ่มต้นของการมีสิ่งบ่งชี้ความเป็นไทยของชาวเขาในภาคเหนือก็คือการถือ “เหรียญชาวเขา” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มพระราชทานให้แก่ชาวเขาในปี 2509 โดยกระจายไปถึง 20 จังหวัด เหรียญชาวเขาแต่ละเหรียญจะระบุหมายเลขประจำเหรียญและจังหวัด เมื่อทรงพระราชทานแก่ใคร กระทรวงมหาดไทยก็จะทำทะเบียนชื่อของคนคนนั้นไว้ให้ตรงกับหมายเลขประจำเหรียญและจังหวัดที่พวกเขาอาศัยอยู่ เหรียญชาวเขาจึงเป็นบัตรประชาชนใบแรกของชาวเขาในประเทศไทยก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นคนไทยเต็มตัวในทศวรรษต่อมา
อาจกล่าวได้ว่าความเป็นไทยสำหรับชาวเขาในภาคเหนือของไทยนั้นเป็นสิ่งใหม่ เป็นสิ่งประดิษฐ์ของรัฐไทยและมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐไทยหรือฝ่ายความมั่นคงมีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอ และเครื่องมือที่ว่าก็เริ่มต้นตั้งแต่การนำเข้าเครื่องบินและกล้องถ่ายภาพทางอากาศจากสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงการทำแผนที่มาตรฐานที่มีความละเอียด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวเขารักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จนถึงการยอมรับที่จะตั้งถิ่นฐานที่แน่นอนอยู่ในหมู่บ้านที่รัฐจัดหาให้ และการออกบัตรประชาชนเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ในท้ายที่สุด
ในแง่นี้ ความเป็นไทยสำหรับชาวเขาของไทยก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิม แต่เป็นสิ่งใหม่ที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาทีละนิด ๆ ผ่านบริบทของสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2559). จักรวรรดิอเมริกันกับกำเนิดของสาขาวิชามานุษยวิทยาในประเทศไทย. ใน วรารักษ์ เฉลิมพันธุศักดิ์ บก. ความเชื่อมโยงที่มากกว่ากายภาพ: พลังผลัก (ที่อ่อนเบา) ของมรดกทางประวัติศาสตร์และแง่มุมทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์อาเซียนและการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2559). “มานุษยวิทยาจักรวรรดิ: การสร้างหมู่บ้านชนบทไทยในยุคสงครามเย็น”. รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม).
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น. (อยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์)
แล่ม จันท์พิศาโล. (11 พฤศจิกายน 2559). “เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา" จากบัตรประชาชนมาเป็นของสะสมอันสูงค่า. จาก อ่านออนไลน์
James C. Scott. (2015). The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia. Singapore: NUS Press.
Lucien M. Hanks and Jane R. Hanks. (1980). A Socio-Economic Survey of Religions in Chiang Rai and Chiang Mai Provinces North of the Mae Kok Valley with Special Reference to the Uplands, 1964-1974. in A Report on Tribal Peoples in Chiengrai Province North of the Mae Kok River: Bennington-Cornell Anthropological Survey of Hill Tribes in Thailand.
Museum Siam Knowledge Center
ชุดการเรียนรู้: กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. / โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา