การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน (PBE) เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและชุมชน แนวคิดการใช้สถานที่เป็นฐานในการเรียนรู้เกิดจากการประยุกต์ใช้หลักคิดทางการศึกษาในงานของจอห์น ดิวอี และ เปาโล เฟรเร มาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน เน้นการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมและประสบการณ์จริง เพื่อให้นักเรียนสามารถมีความเข้าใจเชิงลึกในสภาพแวดล้อม หลักการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำของดิวอีมุ่งเน้นการศึกษานอกห้องเรียน ส่วนการศึกษาที่สร้างความมั่นใจในผู้เรียนของเฟรเร ส่งเสริมให้นักเรียนมีการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักที่ไหลเวียนในสังคม
บทความนี้จะสำรวจการประยุกต์ใช้สถานที่เป็นฐานการเรียนรู้ในสามกรณีศึกษาจากเอเชีย ได้แก่ ภูฏาน ไทย และไต้หวัน ซึ่งในแต่ละกรณีการออกแบบการเรียนรู้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ระบบนิเวศ และบริบททางวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ ในตอนท้ายของบทความนี้ จะมีการเปรียบเทียบของกรณีเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรอบการออกแบบการเรียนรู้ สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับภูมิหลังทางวัฒนธรรมและการศึกษาที่หลากหลายได้อย่างไร
ความสำคัญของการศึกษาที่มีความหมายและเชื่อมโยงกับชีวิตจริงด้วยการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน (PBE) มีรากฐานจากการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ที่แท้จริงและการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังปรากฏในแนวคิดของนักการศึกษาอย่าง จอห์น ดิวอี และ เปาโล เฟรเร กล่าวว่า การศึกษาไม่ควรเป็นเพียงแค่ความรู้เชิงนามธรรม แต่ควรมีความหมายและเชื่อมโยงกับบริบทของผู้เรียน ปรัชญาการเรียนรู้ของดิวอีให้ความสำคัญกับการลงมือทำและการเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับประสบการณ์ชีวิต นับว่าสอดคล้องกับกรอบแนวคิดของการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน เขาเชื่อว่าการศึกษาไม่ควรเป็นเพียงการรับข้อมูลจากหนังสือ แต่ควรให้ความสำคัญกับ การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ในการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว
กลุ่มนักเรียนและครูของพวกเขากำลังเดินสำรวจย่านประวัติศาสตร์ บางลำพู กรุงเทพฯ ในกิจกรรม การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน (PBE) ที่จัดโดย มิวเซียมสยาม วันที่ 6-7 มีนามคม พ.ศ. 2567 กลุ่มนักเรียนกำลังศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเมืองเก่า ลิขสิทธิ์ © มิวเซียมสยาม 2567
การศึกษาที่มุ่งเน้นการปลดปล่อย ของเฟรเร มีความสำคัญในการทำให้เข้าใจถึงพลังของการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน เฟรเรเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของตนเอง และก้าวออกจากการศึกษาที่มีการจัดช่วงชั้นในการเรียนรู้และเพิ่มจำนวนผู้เรียนในเชิงปริมาณ สำหรับเฟรเรเห็นว่า การศึกษาบนฐานของชุมชนและสิ่งแวดล้อมควรเป็นเครื่องมือในการเสริมพลังให้นักเรียน ผู้เรียนสามารถตั้งคำถามและท้าทายความรู้กระแสหลักและโครงสร้างทางสังคมที่ดำรงอยู่ ฉะนั้น หากออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับปัญหาจริงในสังคม ผู้เรียนสามารถจะตระหนัก เข้าใจ และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน
ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้จากสถานที่และประสบการณ์ย่อมสร้างการเติบโตทางปัญญาและการพัฒนาตนเอง ผู้เรียนเห็นชุมชนของตนเป็นห้องเรียน และใช้เป็นพื้นที่ในการสำรวจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตน วิธีการนี้เปลี่ยนการศึกษาให้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าในสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้เรียนเผชิญกับอนาคต และพัฒนาตนเองเป็นสมาชิกในสังคมที่มีความรู้ มีส่วนร่วม และกระตือรือร้นในชีวิตทางสังคมของชุมชน
การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐานในทัลโฮแกง ประเทศภูฏาน เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนในชุมชนท้องถิ่นและ สภาพแวดล้อม นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งจากตำราเรียนและจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างความรู้ด้วยประสบการณ์ เกิดจากประสบการณ์ส่วนบุคคลและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การออกแบบการเรียนรู้ยังเชื่อมโยงกับความสุขมวลรวมแห่งชาติ (Gross National Happiness - GNH) ของภูฏาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไม่เพียงส่งเสริมการเติบโตทางปัญญา แต่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
การส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งแวดล้อมและการลงมือปฏิบัติ เช่น การเยี่ยมชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน เช่น การปลูกข้าวซึ่งช่วยเชื่อมโยงผู้เรียนกับมรดกท้องถิ่น ในการประเมินผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน กรณีศึกษาของภูฏานใช้ วิธีการประเมินแบบโครงงาน สมุดบันทึกข้อคิดและมุมมอง และ การสังเกตภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่าการออกแบบการเรียนรู้ดังกล่าวเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เรียน การคิดเชิงวิพากษ์ และความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ จึงสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาทางวิชาการกับสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอย่างไรก็ตาม การศึกษายังพบอุปสรรคบางประการ เช่น ข้อจำกัดด้านทรัพยากร และความจำเป็นในการ พัฒนาทักษะของครูให้สามารถใช้การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐานอย่างเต็มประสิทธิภาพในระบบการศึกษาของภูฏาน
การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐานในโรงเรียนมัธยมในชนบทของไทย มุ่งเน้นความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับระบบนิเวศ การอภิปรายในชั้นเรียน และทัศนคติของนักเรียนต่อการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน โดยมีพื้นฐานว่าการเรียนรู้หรือการสร้างความรู้เกิดขึ้นจากสังคม การเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับสภาพแวดล้อมและชุมชน ในกรณีศึกษานี้เชื่อมโยงระหว่างความรู้เชิงวิชาการกับการประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในชีวิตจริง โดยใช้แม่น้ำสงครามเป็นจุดศูนย์กลางในการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ และยึดโยงความรู้ท้องถิ่นเข้ากับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ นักเรียนสร้างปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นเสมือนห้องเรียน และนำมาสู่การพัฒนาความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น
รูปแบบกิจกรรมประกอบด้วยภาคสนามเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำสงครามและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง จากนั้น ใช้การอภิปรายในห้องเรียนและกิจกรรมกลุ่มในการแบ่งปันผลการศึกษาของตนกับเพื่อน ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ ผู้ศึกษาใช้การประเมินในหลายรูปแบบ เช่น แบบทดสอบหลายตัวเลือก ผลงานของนักเรียน และการสังเกตภาคสนาม เพื่อวัดความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับระบบนิเวศ การมีส่วนร่วมในการอภิปราย และทัศนคติของผู้เรียนต่อกิจกรรม ผลการศึกษาชี้ว่าผู้เรียนเข้าใจระบบนิเวศท้องถิ่นมากขึ้นเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม และมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อวิทยาศาสตร์ หลายคนระบุว่าการเรียนรู้ผ่านสถานที่ทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์มีความสนุกและมีความหมายมากขึ้น
การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐานที่ดำเนินการในพิงหลิน ไต้หวัน ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความผูกพันกับสถานที่และความสัมพันธ์กับระบบนิเวศแม่น้ำเป่ยซื่อ แนวคิดหลักของโปรแกรมนี้คือการบูรณาการปัญหาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ โดยมุ่งส่งเสริม “ความรู้สึกของการพึ่งพาอาศัยกัน” กับสถานที่ การเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงโดยใช้ปฏิบัติการภาคสนาม และกิจกรรมเชิงปฏิบัติ ทำให้การเรียนรู้เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง ทั้งนี้ การออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมความผูกพันกับสถานที่ จึงเน้นความเชื่อมโยงทางอารมณ์และความรู้กับสถานที่ เมื่อเกิดความผูกพัน ผู้เรียนสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของตนเองที่เอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
โปรแกรมการเรียนรู้ประกอบด้วยบทเรียน 5 เรื่อง ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน กิจกรรมที่จัดขึ้นเน้นการฝึกทักษะ การสังเกต การเยี่ยมชม การศึกษาแหล่งน้ำ และการสวมบทบาท ในการสวมบทบาท นักเรียนรับบทเป็นสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ส่วนการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการใช้การทดสอบก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม ในการวัดความผูกพันกับสถานที่ และเจตคติต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากความคิดเห็นของนักเรียน และการสังเกตการมีส่วนร่วมในภาคสนาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้โดยใช้สถานที่ ช่วยเพิ่มความผูกพันกับสถานที่โดยเฉพาะนักเรียนที่ไม่เคยเรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำมาก่อน และมีอิทธิพลในเชิงบวกต่อการกระทำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การสวมบทบาททำให้ผู้เรียนเกิดความเห็นอกเห็นใจ และเพิ่มความรับผิดชอบในการอนุรักษ์แม่น้ำ
กรณีศึกษาทั้งสามจากภูฏาน ไทย และ ไต้หวัน มีลักษณะร่วมหลายประการที่เน้นถึงพลังของการเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน ด้วยการเชื่อมโยงการศึกษากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสงครามในไทย แม่น้ำเป่ยซื่อในไต้หวัน หรือชุมชนทัลโฮแกงในภูฏาน ทุกกรณีมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนกับสิ่งแวดล้อม การสำรวจภาคสนาม การวิจัยเกี่ยวกับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน การเรียนรู้เช่นนี้ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องที่ เกี่ยวข้อง และ มีความหมาย สำหรับผู้เรียน
ทุกกรณีใช้แนวทางการเรียนรู้ที่ เน้นประสบการณ์ โดยการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ลงมือทำ เช่น การศึกษาภาคสนาม การเยือนสถานที่ทางประวัติศาสตร์ กิจกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงเนื้อหาทางวิชาการกับสถานการณ์จริง ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในเนื้อหาที่เรียน ตัวอย่างกิจกรรมภาคสนามในไทยและไต้หวันเชื่อมโยงนักเรียนกับสิ่งแวดล้อมและสาระวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เป็นนามธรรมให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้ ทั้งสามกรณี การเรียนรู้ที่มีสถานที่เป็นฐานให้ความสำคัญกับความรู้ท้องถิ่นซึ่งเป็นบริบทในการทำความเข้าใจสถานการณ์ ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ศึกษาในชั้นเรียนมากขึ้น
กิจกรรมที่ใช้สถานที่เป็นฐานในการเรียนรู้โดย มิวเซียมสยาม ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของ เมืองเก่ากรุงเทพฯ ผ่านการมีส่วนร่วมโดยตรงกับสภาพแวดล้อม ลิขสิทธิ์ © มิวเซียมสยาม 2567
ในส่วนการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และความเห็นอกเห็นใจทางประวัติศาสตร์ ผู้เรียนพัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมของตนเอง ในภูฏาน ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่สร้างความสุขมวลรวม ในทำนองเดียวกัน ผู้เรียนในไต้หวันและไทยเข้าใจถึงบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของชุมชนท้องถิ่น การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐานส่งเสริมให้นักเรียนมองชุมชนของตนเชิงวิพากษ์วิจารณ์และพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อเหตุการณ์ในอดีต ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การใช้แนวทางเรียนรู้ดังกล่าวจึงไม่เพียงพัฒนาทักษะทางวิชาการ แต่ยังช่วยปลูกฝังความรับผิดชอบทางสังคมและการรับรู้ประเด็นหรือปัญหาระดับโลก ทำให้ผู้เรียนกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และชุมชนของตน
Bartley-Carter, M. (2024). Place-based education and historical inquiry: Connecting Local History and Scientific Inquiry. Journal of Place-Based Education, 18(4), 145-156.
Fu, W. (2024). PBE and Gross National Happiness in Bhutan: Linking Local Knowledge and Global Understanding. International Journal of Educational Research, 45(3), 125-137.
Smith, B. (2002). Place-based teaching and learning: History lessons that liberate learning and build community outside of the classroom. Journal of Experiential Education, 25(1), 22-30.
Taptamat, M. (2023). Place-Based Education in Rural Thailand: Connecting Ecosystem Learning with Local Communities. Journal of Environmental Education, 39(2), 104-115.
ภาพปก
ในกิจกรรม การเรียนรู้ที่ใช้สถานที่เป็นฐาน (PBE) ที่จัดโดย มิวเซียมสยาม พ.ศ. 2567 นักเรียนใช้สำเนาภาพถ่ายเก่าของสถานที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบรูปถ่ายเก่ากับสภาพปัจจุบันของสถานที่และใช้ สมาร์ทโฟน เพื่อบันทึกภาพสถานที่ในปัจจุบัน หลังจากเดินสำรวจพื้นที่ นักเรียนได้รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ โดยการวิเคราะห์รูปถ่ายเก่ากับรูปที่เขาถ่ายในปัจจุบัน พวกเขาระบุการเปลี่ยนแปลงและอภิปรายเกี่ยวกับสภาพและปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานที่นั้น
ลิขสิทธิ์ © มิวเซียมสยาม 2567