Muse Around The World
สำรวจพิพิธภัณฑ์เมืองในยุโรปและอเมริกา: เปิดประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์เมืองในต้นศตวรรษที่ 20
Muse Around The World
04 ต.ค. 67 186

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

พิพิธภัณฑ์เมืองในไทยเกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาชน” พ.ศ. 2540 ที่กำหนดบทบาทของส่วนปกครองท้องถิ่นทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครที่มีโครงกาพัฒนาพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว การเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม และจำนวนประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน

บททบทวนแนวคิดของพิพิธภัณฑ์เมืองนี้ ชวนผู้อ่านย้อนไปทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์เมืองในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งในยุโรปและอเมริกา ที่มีเป้าหมายในการสร้างสถาบันทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองก่อนการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพิพิธภัณฑ์เมืองยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในศตวรรษที่ 20 แต่ละแห่งเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์และออกแบบการบริหารกิจการที่แตกต่างกัน

พิพิธภัณฑ์เมืองที่ฉายภาพความรุ่งเรืองในอดีตและปัจจุบัน

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายเมืองใหญ่ในยุโรป การปฏิวัติอุตสาหกรรม การขยายเมือง และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงกายภาพของเมือง นอกจากนี้ ประชากรเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่องานและโอกาสในชีวิต กลุ่มชนชั้นนำทางสังคมและการเมืองให้ความสนใจกับการบันทึกความเป็นไปในอดีต สมาคมประวัติศาสตร์ในหลายเมืองเกิดขึ้น ด้วยความต้องการในการอนุรักษ์หลักฐาน เอกสารเก่า เศษซากและสิ่งประดับอาคารที่ถูกรื้อถอนจากการพัฒนา รวมถึงเครื่องใช้ประจำวันจากบ้านคหบดี บ้านคนสามัญ แผนที่ ภาพถ่ายเก่า พิพิธภัณฑ์เมืองในช่วงเวลานั้นจึงเป็นคลังวัตถุที่กลายเป็นสัญลักษณ์ให้กับคนในเมืองและการบันทึกช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านในสังคม

บริบทยุโรป

พิพิธภัณฑ์นครลอนดอน (Museum of London) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เกิดจากการรวมพิพิธภัณฑ์กิลด์ฮอลล์ กรุงลอนดอน ที่ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1826 ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมของเมือง และหลักฐานทางโบราณคดี ต่อมามีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ลอนดอน (London Museum) เมื่อ ค.ศ. 1912  ณ พระราชวังเคนซิงตัน มีงานสะสม เช่น ภาพวาด เครื่องแต่งกายของชาวเมือง จากนั้น เกิดการควบรวมกิจการทั้งสองแห่ง เมื่อ ค.ศ. 1965 และอยู่ในการดูแลของรัฐบาล โดยมีบรรษัทลอนดอน (the Corporation of London) และสภามหานครลอนดอน (Greater London Council) ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 พิพิธภัณฑ์ขยายกิจการในอีกหลายแห่ง ปัจจุบันประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นใน (central London) ด็อกแลนด์ส (Docklands) และแฮกนี (Hackney) หน่วยงานรัฐที่ดูแลในปัจจุบันคือ มหานครลอนดอน (Greater London Authority) (Museum of London n.d.)

พิพิธภัณฑ์คาร์นาวาเลต์ (Carnavalet Museum) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จัดตั้งเมื่อ ค.ศ. 1866 โดยนายกเทศมนตรีฮุสส์มัน ช่วงเวลานั้นเกิดโครงการพัฒนาเมืองขนานใหญ่ อาคารเก่าหลายหลังถูกรื้อถอนและชุมชนแออัดถูกจัดการ นำมาสู่การเรียกร้องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของเมือง ในที่นี้ “มรดกเมือง” ได้รับการนิยามด้วยชนชั้นนำทางสังคม และมีเป้าหมายในการรเก็บซากอาคาร สิ่งประดับอาคาร รวมถึงเครื่องเรือน สิ่งของในชีวิตประจำวัน ภาพถ่ายและภาพวาดของเมืองในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง จากนั้น 14 ปีให้หลัง พิพิธภัณฑ์จึงเปิดให้สาธารณชนเข้าชม (Postula 2012) ปัจจุบันเทศบาลเมืองนครปารีสจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะสำหรับบริหารกิจการพิพิธภัณฑ์ในความรับผิดชอบ ที่เรียกว่า Paris Musées พันธกิจหลักคือการดูแลงานสะสมที่เป็นสมบัติของเทศบาลนครปารีสและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ของเทศบาล (Paris Musées n.d.)

ภาพ 1 ปารีสในปลายศตวรรษที่ 19 ในโครงการพัฒนาขนานใหญ่ของรัฐ เป็นปัจจัยหนึ่งในการผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์คาร์นาวาเลต์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของกรุงปารีสจากองค์ประกอบสถาปัตยกรรมและอื่น ๆ
(ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/46/Demolition_of_Butte_des_Moulins_for_Avenue_de_l%27Op%C3%A9ra%2C_1870.jpg)

พิพิธภัณฑ์เมอคิชส์ (Märkisches Museum) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จัดตั้ง ค.ศ. 1874 ในระยะดังกล่าว เมืองเกิดการขยายตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มสมาคมประวัติศาสตร์เบอร์ลิน (Verein für die Geschichte Berlins) รวมตัวกันเพื่อจัดเก็บเอกสาร ภาพถ่าย และศึกษาพัฒนาการของเมือง ตั้งแต่ ค.ศ. 1865 และเสนอให้สภาเมืองพิจารณาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในระดับภูมิภาค มีการจัดซื้องานสะสมที่มีอายุย้อนไปถึงยุคกลางของยุโรป ด้วยเงินบริจาคของสมาชิกสมาคมและปัจเจกบุคคล และการบริจาคสิ่งของจากคนเบอร์ลิน (Wikipedia n.d.) ปัจจุบันมูลนิธิพิพิธภัณฑ์นครเบอร์ลิทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์จำนวน 6 แห่งในนามของชตัดต์มิวเซียม เบอร์ลิน (Stadtmuseum Berlin) และดำเนินกิจกรรมด้วยแนวคิด “Museums- und Kreativquartier” หรือพิพิธภัณฑ์และย่านสร้างสรรค์ (Stadtmuseum Berlin n.d.)

พิพิธภัณฑ์กรุงบรัสเซลส์ (Musée de la Ville de Bruxelles) กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อ ค.ศ. 1860 บูลส์ (Buls) นายกเทศมนตรีและเวาเตอร์ส (Wauters) ซึ่งเป็นนักจดหมายเหตุที่มีความสนใจและแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ของเทศบาล โดยเปิดทำการเมื่อ ค.ศ. 1887 ในวังกษัตริย์ (Maison du Roi) วัตถุจัดแสดงเชื่อมโยงกับกรุงบรัสเซลส์และมรดกวัฒนธรรมสำคัญอย่างงานหัตถกรรมพรม เทศมนตรีในเวลานั้นต้องการส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์เมืองเป็นสถานที่ของการถ่ายทอดความรู้และบ่มเพาะพลเมืองไม่ต่างจากครอบครัวและโรงเรียน และต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวลาเดียวกัน (Postula 2012)

ภาพ 2 คอลเลคชั่นของวังกษัตริย์ สถานที่ดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์กรุงบรัสเซลส์ ที่จัดเก็บศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สะท้อนพัฒนาการของเมือง
(ภาพจาก https://collections.heritage.brussels/medias/objects/30/52035-X1966-1-2.jpg)

พิพิธภัณฑ์รอตเตอร์ดัม (Museum Rotterdam) เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดตั้ง ค.ศ. 1905 จากการรวมตัวของชนชั้นนำเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ (Museum of Antiquities) จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งคือการให้ความรู้กับชนชั้นแรงงาน เพราะเป็นกลุ่มประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการพัฒนาให้รอตเตอร์ดัมเป็นเมืองท่า ในระยะต่อมาพัฒนาสู่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์รอตเตอร์ดัม และวางเป้าหมายในการสร้างภาพความยิ่งใหญ่ของรอตเตอร์ดัมในอดีต สิ่งสำคัญพิพิธภัณฑ์กลายเป็นแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ให้กับเมือง  เพื่อทดแทนความสูญเสียจากเหตุการทิ้งระเบิดเมื่อ ค.ศ. 1940 (van Renselaar and van Dijk 2012, 3)

บริบทอเมริกา

พิพิธภัณฑ์นครชิคาโก (Chicago History Museum) นครชิคาโก มลรัฐอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดตั้งเมื่อ ค.ศ. 1856 ในนามชื่อของ “สมาคมประวัติศาสตร์ชิคาโก” เป็นองค์กรวัฒนธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์ในการบอกเล่าเรื่องราวของนครแห่งนี้ สมาคมฯ เน้นการจัดเก็บเอกสารและวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อตั้งเมือง มหาอัคคีภัย (Great Fire) ค.ศ. 1871 และสิ่งที่สะท้อนความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี งานสะสมส่วนใหญ่ถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์มหาอัคคีภัย จึงมีการจัดซื้อเอกสารและศิลปวัตถุและวัตถุประวัติศาสตร์อื่น ๆ และขยายพื้นที่เป็นสองอาคารเมื่อ ค.ศ. 1920 (Museum History and Chicago History Museum n.d.) พิพิธภัณฑ์ดำเนินงานในรูปแบบสมาคมที่ระบุว่า “สมาคมประวัติศาสตร์ชิคาโกที่จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สาธารณะในการอนุรักษ์วัตถุประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาและคนรุ่นต่อไป” (Chicago History Museum 2014)

ภาพที่ 3: ไดโอรามา เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในชิคาโก ปี 1871 ประมาณปี 1931 สร้างโดย Display and Model Studios, Incorporated ชิคาโก อิลลินอยส์ คณะกรรมการสมาคมประวัติศาสตร์ชิคาโก ปี 1932.136
(ภาพจาก https://collections.carli.illinois.edu/digital/collection/chm_museum/id/1725/)

พิพิธภัณฑ์เปาลิสตา (Museu Paulista) นครเซาเปาโล ประเทศบราซิล ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1893 มีวัตถุประสงค์ในการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของนครเซาเปาโล เริ่มต้นจากการสะสมศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุที่เชื่อมโยงกับอารยธรรม และขยายสู่เรื่องราวของประเทศบราซิล เช่น ยุคอุตสาหกรรมกาแฟ ยุคนักสำรวจและนักล่าทาสช่วงระหว่างศตวรรษที่ 16 กับ 18 ที่เรียกว่า Bandeirantes exploration และแนวคิดสาธารณรัฐที่สถาปนาในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเซาเปาโลในเวลาต่อมา (Oliveira 2011)

พิพิธภัณฑ์กรุงวอชิงตัน (City Museum of Washington) กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้น ค.ศ. 1899 โดยสมาคมประวัติศาสตร์โคลัมเบีย สมาคมฯ เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ในการขยายตัวของเมืองขยายตัว และจำนวนผู้อพยพที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเท่าทวี จึงต้องการรวบรวมและอนุรักษ์สิ่งของที่กำลังสูญหายไปกับความเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีการจัดแสดงจนถึง ค.ศ. 1956 เมื่อได้รับการบริจาคคฤหาสน์จากภริยาอดีตเจ้าของกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960 จึงจ้างผู้อำนวยการที่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพ และบริหารจัดการเนื้อหาที่ให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์สังคมมากขึ้น ค.ศ. 2003 พิพิธภัณฑ์เปิดนิทรรศการด้วยรูปแบบที่ทันสมัยในเวลานั้น ด้วยหวังว่าจะเป็นสถานที่ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมือง (Liebhold 2004)  แต่พิพิธภัณฑ์เปิดดำเนินการเพียง 18 เดือนให้หลังและปิดตัวลงเมื่อ ค.ศ. 2005 ด้วยจำนวนคนที่เข้าชมต่ำกว่าที่คาดการณ์ เพราะพิพิธภัณฑ์ตั้งไม่ไกลจากเนชั่นนัลมอลล์ อันที่เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ของสถาบันสมิธโซเนียน โอกาสในการได้ส่วนแบ่งผู้ชมจากพิพิธภัณฑ์จึงเป็นไปได้ยาก (Trescott 2004)

พิพิธภัณฑ์นครนิวยอร์ก (Museum of the City of New York) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จัดตั้ง ค.ศ. 1923 ณ คฤหาสน์เกรซีของคหบดี มีเป้าหมายในการบันทึกเรื่องราวของนครนิวยอร์ก ตั้งแต่ช่วงประวัติศาสตร์อาณานิคม การทยานขึ้นสู่มหานคร มีสิ่งจัดแสดงเช่นภาพถ่าย เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับอาคาร เครื่องเรือน วัตถุเหล่านี้ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการของสังคม เศรษฐกิจ และสังคม และจัดแสดง ต่อมาย้ายที่ทำการมายังฟิฟธ์อเวนิว ค.ศ. 1932 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ดูและวัตถุจัดแสดง 750,000 ชิ้น (Museum of the City of New York, n.d.) ดำเนินงานในรูปแบบหน่วยงานไม่แสวงหากำไร และได้รับทุนอุดหนุนจากเงินบริจาค แหล่งทุน และการหารายได้พิเศษจากกิจกรรมและการขายสินค้าที่ระลึก (BKD CPAs & Advisor 2019, 9)

ลักษณะสำคัญของพิพิธภัณฑ์เมืองในศตวรรษที่ 20

พิพิธภัณฑ์เมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของสมาคมประวัติศาสตร์และกลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มคนดังกล่าวให้ความสำคัญกับวัตถุพยานต่าง ๆ จากซากอาคารจากการรื้อถอน เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเมือง ภาพถ่ายของเมืองในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รวมถึงสิ่งพิมพ์ เพราะเมืองเผชิญกับโครงการพัฒนาขนานใหญ่ของรัฐ หรือเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญ เช่น มหาอัคคีภัยในนครชิคาโก ผลกระทบจากสงครามในเมืองรอตเตอร์ดัม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ พบลักษณะสำคัญดังนี้

  • พิพิธภัณฑ์เมืองในศตวรรษที่ 20 มักเกิดจากความพยายามของกลุ่มชนชั้นนำ ปราชญ์ และนักสะสมที่สนใจในประวัติศาสตร์ ชนชั้นนำดังกล่าวต้องการรวบรวมวัตถุพยานสำหรับการศึกษาและค้นคว้า และจัดแสดงเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวของเมือง เช่น สมาคมประวัติศาสตร์ในหลายเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ชนชั้นนำในกรุงปารีสและนครเบอร์ลินที่เห็นความเปลี่ยนแปลงจากโครงการพัฒนา ซากอาคารและเครื่องเรือนจากการรื้ออาคาร หรือสิ่งของในชีวิตประจำวันของชุมชนแออัด รวมถึงเอกสารสิ่งพิมพ์ที่แสดงภาพของเมืองกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
  • พิพิธภัณฑ์เมืองบางแห่งเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบาย พิพิธภัณฑ์กลายเป็นกลไกที่สร้างความชอบธรรมให้การพัฒนาเมือง เช่น เมื่อเกิดกระแสอนุรักษ์ “มรดกเมือง” จากการขยายถนนและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่มีขนาดใหญ่ นายกเทศมนตรีกำหนดให้พิพิธภัณฑ์คาร์นาวาเลต์ นครปารีส ทำหน้าที่เป็น “พิพิธภัณฑ์โบราณคดีนครปารีส” เพื่อเปิดทางให้กับโครงการพัฒนาดังกล่าว
  • พิพิธภัณฑ์เมืองวางเป้าหมายในการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้สู่คนสามัญ พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันทางสังคมที่ให้การศึกษา (to educate) เป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้ นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้พลเมืองได้เข้าใจประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของเมือง นำมาสู่ความภาคภูมิใจในเมืองที่ตนอยู่อาศัย
  • พิพิธภัณฑ์เมืองกลายเป็นสถาบันที่ศึกษาประวัติศาสตร์สังคม นอกเหนือจากการสั่งสมเครื่องเรือน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจากอาคารสำคัญ หรือเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมือง พิพิธภัณฑ์เมืองจำนวนหนึ่งสนใจกับชีวิตของคนสามัญ เช่น ชิคาโก รอตเตอร์ดัม ผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองและมีบทบาทในความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของเมือง และสั่งสมวัตถุที่เคยผลิต ใช้ประโยชน์ และไหลเวียนอยู่ในสังคม เหล่านี้เป็นวัตถุหลักฐานที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงคนกับสภาพแวดล้อม
  • จุดร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับจดหมายเหตุของเมือง วัตถุหลักฐานประเภทเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ กิจกรรมของคนในเมือง เช่น บันทึก แผนที่ ผังเมือง ผังอาคาร เอกสารที่เกิดจากการทำงานหน่วยงาน ภาพถ่าย คำให้การของคนในเมือง หรือคำบอกเล่าจากความทรงจำ และงานเขียน นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่พิพิธภัณฑ์สั่งสมและให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยในการถ่ายทอดสภาพของเมืองในช่วงเวลาต่าง ๆ
  • การบริหารจัดการดำเนินไปตามองค์กรที่จัดตั้ง เช่น พิพิธภัณฑ์คาร์นาวาเลต์ ปารีส พิพิธภัณฑ์กรุงบรัสเซลส์ พิพิธภัณฑ์เมืองรอตเตอร์ดัม เป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของทางการท้องถิ่น หลายแห่งอาศัยการบริหารจัดการโดยมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยสามารถระดมทุนและแสวงหารายได้ให้กับพิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์นครชิคาโกที่ดำเนินการโดยสมาคมพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์หกแห่งของนครเบอร์ลินที่บริหารโดยมูลนิธิ  

จึงเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์เมืองในศตวรรษที่ 20 อาศัยการทำงานด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้แก่ การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม งานวิจัยเพื่อสื่อสารความรู้สู่สาธารณะ งานสื่อสารด้วยนิทรรศการและกิจกรรม และการบริหารองค์กรโดยกลุ่มคนที่มีสิทธิอำนาจ พิพิธภัณฑ์เมืองจึงมุ่งเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมือง หรือ Museum about cities (Hebditch 1995) ฉะนั้น นิยามและความหมายของ “มรดกเมือง” จึงมาจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานวัฒนธรรมหรือองค์กรภาครัฐเป็นสำคัญ (Albert 2019)

บรรณานุกรม

Albert, Joan Rocal. 2019. “At the Crossroads of Cultural and Urban Policies. Rethinking the City and the City Museum.” In The Future of Museums of Cities, edited by Jelena Savić, 14–25. Frankfurt: CAMOC: ICOM International Committee for Collections and Activities of Museums of Cities.

BKD CPAs & Advisor. 2019. “Museum of the City of New York Independent Auditor’s Report and Financial Statements.” BKD CPAs & Advisor. https://www.mcny.org/sites/default/files/2020-07/MCNYFS19.pdf.

Chicago History Museum. 2014. “Chicago History Museum Code of Ethics Guiding Principles.” Chicago History museum. https://www.chicagohistory.org/wp-content/uploads/2016/12/CHM-CodeofEthics.pdf.

Hebditch, Max. 1995. “Museums about Cities.” Museum International 47 (3): 7–11.

Liebhold, Peter. 2004. “The Washington City Museum” 26 (4): 73–82.

Museum History and Chicago History Museum. n.d. “Chicago’s Oldest Cultural Institution.” Education. Chicago History Museum. n.d. https://www.chicagohistory.org/about-the-building/#:~:text=Museum%20History,-Today&text=Founded%20in%201856%20and%20incorporated,Great%20Chicago%20Fire%20of%201871.

Museum of London. n.d. “Our Organisation, Our Story.” Museum of London. n.d. https://www.museumoflondon.org.uk/about-us/our-organisation.

Museum of the City of New York. n.d. “Our Mission.” Museum of the City of New York. https://www.mcny.org/about.

Oliveira, Cecília Helena De Salles. 2011. “Paulista Museum at USP: History and Challenges.” Estudos Avançados 25 (73): 229–40. https://doi.org/10.1590/S0103-40142011000300025.

Paris Musées. n.d. “L’établissement Public Paris Musées.” Paris Musées. n.d. https://www.parismusees.paris.fr/fr/l-etablissement-public-paris-musees.

Postula, Jean-Louis. 2012. “City Museum, Community and Temporality: A Historical Perspective.” In Our Greatest Artefact: The City. Essays on Cities and Museums about Them, edited by Ian Jones, Eric Sandweiss, Marlen Mouliou, and Chet Orloff, 31–43. Istanbul: CAMOC. https://camoc.mini.icom.museum/wp-content/uploads/sites/4/2018/12/CAMOCBookOurGreatestArtefactTheCity.pdf.

Renselaar, Irene van, and Nicole van Dijk. 2012. “The Urban Realm as Museum Laboratory. The Participation Programmes of Museum Rotterdam.” CAMOC News 4:1–3.

Stadtmuseum Berlin. n.d. “Independent and Non-Independent Foundations.” n.d. https://www.stadtmuseum.de/en/foundations.

Trescott, Jacqueline. 2004. “City Museum to Close Its Galleries.” News. Washington Post. October 9, 2004. https://www.washingtonpost.com/archive/politics/2004/10/09/city-museum-to-close-its-galleries/bee71506-d149-44f7-9829-36575d13a65b/.

Wikipedia. n.d. “Märkisches Museum.” Wikipedia. n.d. https://en.wikipedia.org/wiki/M%C3%A4rkisches_Museum.

ภาพปก: พิพิธภัณฑ์คาร์นาวาเลต์, กรุงปารีส, ห้องนั่งเล่นของ Hôtel de Breteuil
ห้องนี้โดดเด่นด้วยการตกแต่งแบบฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยงานไม้ปิดทองอย่างประณีต เพดานที่มีลวดลายซับซ้อน และเครื่องเรือนโบราณ ห้องนี้สะท้อนวิถีชีวิตที่หรูหราของชนชั้นสูงในปารีส และแสดงให้เห็นถึงมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคนั้น
(ภาพจาก https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEieBMXGl9mVbD2O18kWJ2CP__ZK_848nRy9ZR7uEwUuCeLI3Osk3FFIE_-gMAcok_asVM135rYWbyR1gCcykx7cgHCanKzG4KcwP_uho9eTwwdVxQKHwh8LCznz9DksVhKOv7NT7QbBnnc/s640/800px-Mus%25C3%25A9e_Carnavalet_Paris_-018.JPG)

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ