Muse Around The World
สุขภาวะผู้สูงวัย ณ หอศิลป์ดัลวิช
Muse Around The World
29 ส.ค. 67 120

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

สรุปสาระสำคัญจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ Museums and Ageing ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติกับบริติช เคานซิล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 179 คน ในหัวข้อเรื่อง นโยบายและการบริหารงานพิพิธภัณฑ์กับผู้สูงวัยในสหราชอาณาจักร

เจน ฟินด์เลย์ หัวหน้าแผนกกิจกรรมและการมีส่วนร่วมที่หอศิลป์ดัลวิช อังกฤษ ด้วยประสบการณ์ในด้านการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ฟินด์เลย์ออกแบบประสบการณ์ศิลปะที่สร้างความหมายอย่างเท่าเทียมในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์หลายแห่งใน สหราชอาณาจักร เธอมีประสบการณ์ในการทำงานในตำแหน่งสำคัญที่บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี และพิพิธภัณฑ์การขนส่ง ลอนดอน เนื้อหาในการนำเสนอครอบคลุมการมีส่วนร่วม กรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรม และวิธีการประเมินผลกระทบสุขภาวะของผู้สูงวัย

สัมพันธภาพในงานสูงวัยอย่างสร้างสรรค์

หอศิลป์ดัลวิชซึ่งเป็นหอศิลป์สาธารณะแห่งแรกของโลกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และเป็นผู้นำในการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ศิลปะสำหรับผู้สูงวัยมากกว่า 15 ปี ฟินด์เลย์กล่าวถึงหลักการของหอศิลป์ดัลวิชที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ร่วมกัน และการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี แนวทางในการทำงานของของหอศิลป์ดัลวิชมีรากฐานในการทำงานร่วมกับชุมชน การสร้างพันธมิตรในท้องถิ่นนับเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้แผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ ตอบสนองความต้องการของชุมชน นับเป็นการทำงานที่เปลี่ยนแปลงจากการสั่งการสู่การสร้างความร่วมมือ ฉะนั้น กิจกรรมต่างๆ จึงได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความท้าทายของชุมชนและวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ในการทำงาน

แผนงานและกิจกรรมของหอศิลป์ดัลวิชมีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาวะด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของพวกเขา ปัจจัยที่ทำให้การทำงานเพื่อผู้สูงวัยประสบความสำเร็จคือความเข้าใจในความต้องการด้านสุขภาพที่ซับซ้อน ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคม และการเอาชนะข้อท้าทายต่าง ๆ เช่น ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และวิกฤตค่าครองชีพ หอศิลป์ดัลวิชจึงมั่นใจได้ว่าแผนงานและกิจกรรมของตนมีความหมายและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้สูงวัยได้อย่างแท้จริง

หอศิลป์ดัลวิช มีกระบวนการทำงานกับชุมชนอย่างเข้มแข็ง ทั้งในเซาท์วาร์ก แลมเบธ และลิวิแชม แผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนตอบสนองความต้องการของชุมชนโดยรอบหอศิลป์ กิจกรรมต่าง ๆ เน้นการมีส่วนร่วมสำหรับผู้ชมทุกวัยและภูมิหลังที่หลากหลาย แนวทาง 3 ประการในการทำงาน ได้แก่ ความเชื่อมโยง การเรียนรู้ร่วมกัน และสุขภาพและสุขภาวะ (ภาพจาก https://performingmedicine.com/wp-content/uploads/2020/12/Dulwich-Picture-Gallery.-Aging-Well-1-1000x667.jpg

โครงการสำหรับชุมชนที่หลากหลาย

ฟินเลย์นำเสนอโครงการต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของหอศิลป์ดัลวิชในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุด้วยศิลปะ โครงการ “Together Through Art” [ผสานศิลป์] ซึ่งอาศัยความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพจิต South London and Maudsely (SLaM) Mental Health Trust Recovery College[1] โครงการนี้ประกอบด้วยเวิร์กช็อปสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ พัฒนาทักษะ และช่วยให้ผู้เข้าร่วมค้นพบตัวตน กิจกรรมต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการออกแบบด้วยความร่วมมือกับผู้เข้าร่วม เพื่อให้มีความเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบมากขึ้น

อีกหนึ่งโครงการสำคัญคือ “Create and Connect: Dementia Friendly Programming” [สร้างสรรค์และเชื่อมโยง: แผนงานเพื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม][2] โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมเรียนรู้จากผลงานศิลปกรรมที่จัดแสดงและกิจกรรมที่มีความหมายกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในรูปแบบเวิร์กช็อปและการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ด้วยการคิดเชิงภาพ การสะท้อนความคิดด้วยศิลปะสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้สูงวัย วิธีการดังกล่าวนี้มีประสิทธิภาพอย่างมากกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากเนื้อหามุ่งเน้นการรับรู้ในปัจจุบันมากกว่าการระลึกถึงความทรงจำในอดีต หอศิลป์ดัลวิชจัดเตรียมทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการกับของผู้มีภาวะสมองเสื่อม

โครงการ Tessa Jowell Health Centre: Health and Wellbeing [ศูนย์สุขภาพเทสซาโจเวลล์: สุขภาพและสุขภาวะ] เป็นโครงการระยะยาวที่ผสมผสานศิลปะสร้างสรรค์ในการดูแลสุขภาพของสมาชิกในท้องถิ่น ตามแนวทาง “ใบสั่งกิจกรรมสังคม” (social prescribing) ที่เน้นการรักษาผู้ป่วยด้วยกิจกรรม การทำงานของหอศิลป์ดัลวิชในโครงการนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและอิงกับชุมชน ศิลปินและอาสาสมัครทำงานร่วมกับผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยโดยใช้ศิลปะในการพัฒนาจากภายใน เช่น การพัฒนาทักษะในการสร้างสรรค์ผลงาน การทำงานยังให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และสร้างโอกาสในการจัดแสดงผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินกับผู้สูงวัย จึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการ

หอศิลป์ดัลวิชและหน่วยบริการสาธารณสุขลอนดอนตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมมือกันในโครงการศิลปะสร้างสรรค์ที่ศูนย์สุขภาพเทสซา โจเวลล์แห่งใหม่ในอีสต์ดัลวิช โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพในท้องถิ่นผ่านการมีส่วนร่วมทางศิลปะ (ภาพจาก https://www.culturehealthandwellbeing.org.uk/sites/default/files/styles/resized_large/public/2020-12/Greg%20Morrison%20Cultureshock%20%282%29.jpg?h=98bc512e&itok=dDGh6HzU)

ความสำเร็จของแผนงานสร้างสรรค์เพื่อผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่อง

การประเมินผลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานสร้างสรรค์เพื่อผู้สูงวัยของหอศิลป์ดัลวิช ฟินด์เลย์กล่าวถึงความจำเป็นในการประเมินผลแผนงานและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าใจผลกระทบของกิจกรรมศิลปะที่มีต่อผู้เข้าร่วม การทำงานของหอศิลป์ดัลวิชใช้วิธีการประเมินหลากหลาย รวมถึงเครื่องมือวัดสุขภาวะของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL Museum Wellbeing Measures Toolkit)[3] แบบสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึก และหลักการคุณภาพด้านสุขภาพสร้างสรรค์ (Creative Health Quality Principles Framework)[4] เครื่องมือเหล่านี้ช่วยประเมินผลกระทบของกิจกรรมต่อผู้เข้าร่วมและรวบรวมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

การทำงานสูงวัยอย่างสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความเข้าใจในความหลากหลายและความเป็นปัจเจกของผู้สูงวัย ผลลัพธ์จึงมุ่งเน้นให้ผู้สูงวัยเกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเอง องค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งเกิดจากพันธมิตรในการทำงาน พิพิธภัณฑ์หรือสถาบันทางวัฒนธรรมต้องวางเป้าหมายและร่วมกำหนดผลลัพธ์และคุณค่าที่คาดหวังกับทุกภาคส่วนในชุมชน รวมถึงการเข้าใจในความต้องการของชุมชน จุดแข็ง และการมีส่วนร่วม เหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในภาพรวม การทำงานของหอศิลป์ดัลวิชคำนึงถึงผลกระทบของกิจกรรมต่อผู้สูงวัยในระยะยาว การประเมินเป็นระยะเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความเกี่ยวข้อง เจนเน้นย้ำว่าโครงการไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์เสมอไป สามารถเสริมสร้างโครงการที่มีอยู่ด้วยมุมมองและความสามารถใหม่ๆ ได้ ความมุ่งมั่นของแกลเลอรี่ในการสร้างสรรค์สำหรับผู้สูงวัยเห็นได้ชัดจากแนวทางแบบองค์รวม ครอบคลุม และร่วมมือกัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ยั่งยืนในชีวิตของผู้สูงอายุ

ข้อมูลเพิ่มเติม

[1] Together Through Art พัฒนาเวิร์กช็อปสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมทักษะ และสนับสนุนการค้นพบตัวเองของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยเน้นการทำงานร่วมกับสถานศึกษา รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.dulwichpicturegallery.org.uk/learning/schools/partnerships-and-projects/together-through-art/ และhttps://www.dulwichpicturegallery.org.uk/media/12697/school-partnership.pdf 

[2] กิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัยด้วยศิลปะ เน้นการนำเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์ เวิร์กช็อป และการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการและความสนใจของผู้สูงวัย รายละเอียดเพิ่มเติมhttps://www.dulwichpicturegallery.org.uk/learning/older-people/

[3] UCL Museum Wellbeing Measures Toolkit เป็นเครื่องมือในการประเมินสุขภาวะทางจิตใจของบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ชุดเครื่องมือนี้ออกแบบโดยนักวิจัยจากแผนกพิพิธภัณฑ์และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยศิลปะและมนุษยศาสตร์ (AHRC) ชุดเครื่องมือนี้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นและปรับแต่งให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการประเมินผล สำหรับกิจกรรมครั้งเดียวหรือการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ช่วยให้คนทำงานพิพิธภัณฑ์เข้าใจและเพิ่มประสิทธิภาพของงานที่ส่งเสริมสุขภาวะของผู้ชม รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.ucl.ac.uk/culture/sites/culture/files/ucl_museum_wellbeing_measures_toolkit_sept2013.pdf 

[4] Creative Health Quality Principles Framework เป็นแนวทางที่สนับสนุนการพัฒนาและการประเมินโครงการด้านสุขภาพสร้างสรรค์ นำเสนอหลักการปฏิบัติที่ดีและเครื่องมือในทางปฏิบัติสำหรับองค์กรที่มุ่งเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ หลักการดังกล่าวให้ความสำคัญกับบุคคลเป็นศูนย์กลาง เน้นการโอบรับความแตกต่าง และสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.culturehealthandwellbeing.org.uk/sites/default/files/Creative%20Health%20Quality%20Framework.pdf

ภาพปก

Moving Out | Presentation and Screening, 17 มีนาคม 2566: ภาพยนตร์จากผู้ใช้บริการที่ศูนย์บริการสุขภาพเทสซา โจเวลล์ ร่วมกันสร้างสรรค์ เพื่อบอกเล่าถึงสุขภาวะจากการเคลื่อนไหวร่างกายเข้าจังหวะ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหอศิลป์ดัลวิช (ภาพจาก https://www.siobhandavies.com/wp-content/uploads/2023/03/group-in-landscape-2-scaled-e1697800938633-2048x1154.jpg)

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ