ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยมีประวัติการเข้ามาและเผยแผ่คำสอนทางศาสนามาหลายร้อยปีแล้ว คริสต์ศาสนานำความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเผยแพร่ในประเทศไทย ทั้งคำสอน ความรู้ หรือศาสตร์ต่าง ๆ สรรพความรู้และความเป็นมาของคริสต์ศาสนาได้รับการรักษาไว้อย่างดีในสถานที่ที่เรียกว่า หอจดหมายเหตุ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักการเข้ามาของคริสต์ศาสนาในประเทศไทยโดยสังเขป
โครงการของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อจัดส่งพระสังฆราชชุดแรกจำนวน 3 องค์ โดยมีพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 พร้อมกับคุณพ่อยัง เดอ บูร์ช และคุณพ่อเดดีเยร์ ทั้งสามเดินทางมาในฐานะผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาในภูมิภาคตะวันออกไกล นับเป็นชุดแรกของโครงการสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เป้าหมายในครั้งนั้นคือ พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อตและคณะเดินทางไปยังประเทศจีนและเวียดนาม แต่ยังไม่สามารถไปได้ จึงจำเป็นต้องพักอยู่ที่สยามก่อน ดังนั้นประเทศสยามจึงกลายเป็นฐานของธรรมฑูต ในเวลานั้น อยุธยามีคนต่างชาติเดินทางมาค้าขายจำนวนมาก และสยามเองให้อิสรภาพในการเผยแผ่และปฏิบัติศาสนา ในเวลาต่อมา มีการขอให้สยามเป็นศูนย์กลางของมิสซังในเอเชีย และขอธรรมทูตมาช่วยทำงาน
ตั้งแต่เริ่มพันธกิจในประเทศไทย บรรดามิชชันนารีที่เข้ามาพยายามประกาศศาสนากับชนชั้นสูงก่อน ด้วยการศึกษาสภาพแวดล้อมและความต้องการของประเทศในลำดับแรก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก กระนั้นบรรดามิชชันนารีมิได้ลดละความพยายาม จึงทูลขอสมเด็จพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ให้ส่งพระสมณสาสน์และพระราชสาสน์มาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในขณะนั้นพระสังฆราชลังแบร์ต มีความสนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาก จึงพยายามชักชวนให้พระองค์เปลี่ยนศาสนา หากพระมหากษัตริย์เปลี่ยนศาสนาแล้ว ประชาชนพลเมืองก็จะเปลี่ยนศาสนาตามพระเจ้าแผ่นดินของตนไปด้วย แต่ไม่เป็นอย่างที่ท่านคาดการณ์ เพราะในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีขบวนการต่อต้านอิทธิพลธรรมทูตขึ้นแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอิสระในการตัดสินพระทัย
แม้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชปฏิเสธการเปลี่ยนศาสนา แต่พระองค์มิได้ทรงห้ามบรรดามิชชันนารีในการเผยแผ่ศาสนาต่อไป พระองค์ทรงพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างบ้านให้พระสังฆราช และพระราชทานวัสดุสำหรับสร้างวัดให้อีกด้วย นอกจากนี้พระสังฆราชลังแบร์ตขอพระบรมราชานุญาตในการจัดตั้งบ้านเณร นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายใน “การสถาปนาพระศาสนจักรคาทอลิกขึ้นในประเทศไทย”
001: จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางสู่ประเทศสยาม ค.ศ. 1685 และ 1686
โดยบาทหลวงฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี เมื่อครั้งเดินทางมาสยามกับคณะราชทูต
เพื่อถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(ภาพจาก https://catholichaab.com/main/images/books/HAAB_3.jpg)
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เข้ามาเผยแผ่และปฏิบัติงานต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 450 ปี กิจการพระศาสนาเจริญขึ้นตามลำดับ มีประชาชนที่เลื่อมใสและศรัทธาในศาสนาทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย จัดตั้งเป็นสังฆมณฑลปกครองและเผยแพร่ศาสนา มีทั้งหมด 11 สังฆมณฑล ได้แก่ 1. อัครสังมณฑลกรุงเทพ 2. อัครสังมณฑลท่าแร่-หนองแสง (สกลนคร) 3. สังฆมณฑลเชียงใหม่ 4. สังฆมณฑลเชียงราย 5. สังฆมณฑลนครสวรรค์ 6. สังฆมณฑลอุดรธานี 7. สังฆมณฑลนครราชสีมา 8. สังฆมณฑลอุบลราชธานี 9. สังฆมณฑลราชบุรี 10. สังฆมณฑลจันทบุรี 11. สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เกิดการรวมกลุ่มกันของบรรดาประมุขของสังฆมณฑลในประเทศไทย เรียกว่า “สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย” เพื่อการดำเนินงานด้วยความเรียบร้อยและสร้างความก้าวหน้าในกิจการต่าง ๆ ของพระศาสนา
สังฆมณฑลแต่ละแห่งมีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน ล้วนแล้วแต่มีการบันทึกประวัติความเป็นมา เอกสารคำสอน ประวัติบุคคล ภาพเก่า ฯลฯ และมีการจัดเก็บไว้ประจำสำนักงานของสังฆมณฑล
ในแง่ของเอกสารเก่า บันทึกเก่าของสังฆมณฑลไม่เพียงเป็นเรื่องของศาสนาอย่างเดียว แต่ยังเป็นบันทึกที่แสดงบริบทประวัติศาสตร์ของไทย เช่นประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย จากบันทึกทำให้เราทราบว่าการพิมพ์ในประเทศไทยอาจมีมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในหลักฐาน ค.ศ.1662 คณะมิชชันนารีคาทอลิกฝรั่งเศสที่เข้ามาไทยในเวลานั้น พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) แปลและพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทยจำนวน 26 เล่ม หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี 1 เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก 1 เล่มด้วย สังฆราชลาโน สร้างศาลาเรียนขึ้นในที่ดินพระราชทาน ณ ตำบลเกาะมหาพราหมณ์เหนือกรุงเก่า และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้
นอกจากนี้บันทึกต่าง ๆ ทำให้เราเห็นวิถีชีวิต ผู้คน สังคม วัฒนธรรมไปจนถึงการเมืองการปกครองของสยามในอดีต เช่น จดหมายของลาลูแบร์ให้ภาพการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เกือบจะครบถ้วน หรือบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ดสะท้อนสภาวะความสับสนและสถานการณ์ใกล้ภาวะล่มสลายของการเมืองและการปกครองในช่วงปีสุดท้ายของรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอันรุ่งโรจน์ เอกสารทางศาสนาที่มีการรวบรวมไว้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ไทย
002: บันทึกการเดินทางของบาทหลวงกี ตาชาร์ เป็นมิชชันนารีคณะเยสุอิตและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงส่งมายังอาณาจักรอยุธยาถึง 2 ครั้ง
ในบันทึกบอกเล่าทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของสยาม
(ภาพจาก https://catholichaab.com/main/images/books/HAAB_6.jpg)
สำหรับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีเอกสารและบันทึกที่สำคัญมากมายที่จัดเก็บไว้ ณ ตึกพระสังฆราช และตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ เดิมทีเอกสารสำคัญจำนวนมากได้รับการจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย จึงเห็นความจำเป็นในการจัดเก็บเอกสารไว้ ณ สถานที่แห่งเดียวในรูปแบบหอจดหมายเหตุ แนวคิดในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุสืบเนื่องจากบาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ เมื่อ ค.ศ. 1989 ในเวลานั้นท่านศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ท่านต้องการค้นคว้าและใช้เอกสารเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในการทำวิทยานิพนธ์ การรวบรวมเอกสารไว้ในสถานที่แห่งเดียวและจัดตั้งหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงเริ่มขึ้นในเวลานั้น
003: กองเอกสารที่ถูกจัดเก็บไว้ที่บ้านพระสังฆราช
(ภาพจาก https://catholichaab.com/main/images/articles/haab02.jpg)
“คุณพ่อสุรชัย” บันทึกเหตุของการก่อตั้งหอจดหมายเหตุไว้ว่า เอกสารมากมายที่บรรดาพระสังฆราช อุปสังฆราช หรือเลขาฯ พระสังฆราชได้เก็บเอาไว้ ทั้งที่อยู่ในแฟ้มอย่างดี อยู่ในกล่องต่าง ๆ ที่แยกหมวดหมู่ไว้อย่างมีระเบียบ รวมทั้งที่กองไว้ในตู้ และในกล่องถูกทิ้งไว้อย่างนั้น เอกสารมากมายจึงเกิดความเสียหายไปมาก ฉะนั้น ต้องมีการจัดแยกหมวดหมู่หรือประเภท และจำเป็นต้องมีตู้เพิ่มเติม ในการจัดแบ่งเป็นประเภทหนังสือ มีเจ้าหน้าที่มาช่วยจัดการอีก 4 คน งานแยกประเภทเอกสาร ต้องจัดแยกให้ง่ายที่สุดสำหรับการค้นคว้า การจัดหมวดหมู่ให้สอดคล้องกับระบบการบริหารในแต่ละสมัย เอกสารมีอยู่หลายแบบ อาทิเช่น จดหมายติดต่อกับราชการไทย จดหมายจากฝรั่งเศส กรุงโรม รวมทั้งจากพวกมิชชันนารี จากบรรดาสัตบุรุษ จากองค์การต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลืองานมิชชันนารี นอกากนี้ มีเอกสารที่ดิน เรื่องราวของคณะนักบวชในแต่ละสมัย ด้วยจำนวนคนและการเรียนรู้ระบบหมวดหมู่เอกสาร จึงใช้เวลาหลายเดือนในการจัดหมวดหมู่เอกสารจึงสำเร็จลงได้
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก สถานที่มีความสวยงามในเชิงศิลปะและการออกแบบการก่อสร้าง มีห้องขนาดใหญ่หลายห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องเก็บเอกสาร อีกห้องหนึ่งเป็นห้องสมุด โดยมีโถงกลางเป็นห้องอ่านหนังสือ ตู้ที่มีอยู่เป็นของดั้งเดิมจึงเข้ากับลักษณะของห้องอย่างดี
เดิมอาคารโรงพิมพ์อัสสัมชัญนี้เป็นสำนักพระสังฆราช เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1845 โดยพระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์ใช้เป็นสถานที่พำนักและสถานที่ทำงานในการบริหารพระศาสนจักรคาทอลิกในสยามและใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง อาคารหลังนี้เป็นสำนักพระสังฆราชจนถึง ค.ศ. 1933 จึงย้ายไปสร้างสำนักพระสังฆราชหลังปัจจุบัน ส่วนอาคารหลังนี้ใช้เป็นสถานที่พำนักของพระสงฆ์ ต่อมาได้รับการบูรณะ ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของมิสซัง (โรงพิมพ์อัสสัมชัญ) และเป็นสถานที่ตั้งของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
004: อาคารโรงพิมพ์อัสสัมชัญ
(ภาพจาก https://catholichaab.com/main/images/study1/print011.jpg)
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวประวัติศาสตร์ และเอกสารชั้นต้นซึ่งเขียนด้วยลายมือของบรรดามิชชันนารีที่เคยทำงานอยู่ในสยาม เป็นภาษาไทย ภาษาวัด (ภาษาที่ใช้อักษรโรมันในการบันทึกภาษาไทย) ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่น ๆ ซึ่งบางส่วนอายุเก่าแก่ถึงช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และยังมีเอกสารอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ภาพถ่ายโบราณ แผนที่ เอกสารคำสอน ที่ช่วยให้เข้าใจหลักคำสอน สภาพบ้านเมืองและแสดงสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ เมื่อครั้งอดีต
เอกสารที่จัดเก็บในหอจดหมายเหตุเกิดจากการบริหารและการดำเนินงานของฝ่ายและแผนกต่าง ๆ ในองค์กร เช่น จดหมาย เอกสารแผ่นใสในแฟ้มเอกสาร บันทึกข้อมูลประจำวัน แผนที่ ภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง วีดีโอ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของที่องค์กรจัดหา บางฝ่ายหรือแผนกมีการบันทึกข้อมูลบนกระดาษ ฟิล์ม แผ่นจานเสียง ม้วนเทป ซีดี ดีวีดี ฯลฯ เอกสารทั้งหมดของหอจดหมายเหตุฯ ได้นำมาแยกประเภท จัดเป็น 17 หมวดหมู่ งานด้านจดหมายเหตุมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดเก็บข้อมูล งานซ่อมแซมและอนุรักษ์เอกสาร และการแปลงเอกสารในรูปแบบดิจิทัล สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เอกสาร
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพเป็นเขตพื้นที่การปกครองของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ครอบคลุมหลายจังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีอาสนวิหารอัสสัมชัญที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเอกสารสำหรับการสืบค้นไว้อย่างเป็นระบบ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้สืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ดร. (2566). ความสัมพันธ์ ฝรั่งเศส-อยุธยา สู่บันทึกต่างชาติสะท้อนการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_41397
บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์. (2558). History. สืบค้นจาก https://www.catholichaab.com/main/index.php/abouthaab/history
สุชาติ นิมิตบรรพต. (n.d.). นักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรม. https://catholichaab.com/main/index.php/research-and-study/2015-10-20-01-59-22/1684-2017-09-18-03-04-26
Asst.CBCT2003. (n.d.). ประวัติความเป็นมา. สืบค้นจาก https://www.cbct.or.th/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/
อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์. (2562). หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ อาคารโบราณอดีตบ้านพักผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยาม ที่ทำหน้าที่เก็บรักษาเอกสารอันมีค่าของไทยมาเป็นร้อย ๆ ปี. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/historical-archives-of-the-archdiocese-of-bangkok/