กระแสการเรียกร้อง ทวงคืนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากประเทศเจ้าของวัฒนธรรม หรือเจ้าของสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติต่อประเทศผู้มั่งคั่งในฝั่งตะวันตก เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นประเทศเจ้าของวัฒนธรรม อย่างอียิปต์ อินเดีย จีน เขมร และไทยเป็นต้น โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกจากประเทศเจ้าของเกิดจากประเทศเจ้าอาณานิคมขนย้ายไปและเกิดจากการโจรกรม ลักลอบค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย
กล่าวถึงเฉพาะกรณีของประเทศไทย กระแสการเรียกร้องทวงคืนโบราณวัตถุนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่มีวิธีการและการประสานความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย วัตถุชิ้นที่เป็นจุดเริ่มต้นการทวงคืน คือชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่จัดแสดงในสถาบันศิลปะในต่างประเทศ โดยบุคคลสำคัญทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้ไปพบโดยบังเอิญ
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน กรณีการเรียกร้องขอคืนโบราณวัตถุทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นเรื่องราวที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นกระแสของข้อขัดแย้งที่ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมหรือสมบัติของชาติของไทยกับพิพิธภัณฑ์ในต่างแดน นับเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการเรียกร้องและทวงคืนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วง พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อคราวที่ท่านได้รับเชิญไปบรรยายสถาบันแห่งนั้น เมื่อกลับมาเมืองไทย หม่อมเจ้าสุภัทรดิศจึงทำหนังสือรายงานไปที่อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นเพื่อขอทับหลังคืน และคนไทยทั้งภาครัฐและประชาชนได้ร่วมแรงร่วมใจทำทุกวิถีทางในการขอคืนทับหลังกลับมาไทยจนกลายเป็นกระแสการทวงคืนมรดกหรือสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติขึ้น และใช้เวลาประสานงานกว่า10 ปี ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ว่ากันว่างดงามที่สุดได้เดินทางถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 และนำไปติดตั้งไว้ที่เดิมคือ ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คือบุคคลสำคัญผู้จุดกำเนิดกระแสทวงคืน และสร้างแนวทางรวมถึงกระบวนการเรียกร้องทวงคืนสมบัติวัฒนธรรมที่ใช้มาถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 1 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งเป็นประติมากรรมแสดงเรื่องราว ว่าด้วยการกำเนิดจักรวาลใหม่ตามคติศาสนาฮินดู กล่าวถึงขณะเมื่อพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร หรือทะเลนํ้านม ระหว่างนั้นเองบังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์ภายในดอกบัวคือพระพรหม ผู้ทรงสร้างสรรพ สิ่งในจักรวาลขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทับหลังแผ่นนี้ถูกพบว่าตกลงมากองรวมอยู่กับกองหิน เมื่อคราวที่กรมศิลปากรสำรวจปราสาทหินพนมรุ้ง ในโครงการสำรวจโบราณสถานภาคอีสาน ประมาณ พ.ศ. 2503-2504 แต่ปรากฎว่าทับหลังแผ่นนี้ได้ถูกลักลอบนำออกไปขายส่งไปยังต่างประเทศในช่วง พ.ศ. 2508-2510 (ภาพจาก https://i2.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2023/03/%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%872503NG-web2.jpg?resize=768%2C759&ssl=1)
กระแสการเรียกร้องทวงคืนโบราณวัตถุอย่างทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้นเกิดขึ้นและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั้น สืบเนื่องมาจากการที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ไปพบทับหลังที่จัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ท่านแน่ใจทันทีว่านี่คือทับหลังที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่น่าจะถูกลักลอบนำออกมานอกประเทศไทย
“เมื่อเห็นก็ทราบทันทีว่ามาจากปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สามารถบอกได้เพราะเคยผลิตหนังสือให้กรมศิลปากร ซึ่งเคยมีการตีพิมพ์ทับหลังชิ้นนี้ในหนังสือมาก่อน ผมเป็นคนตรวจปรู๊ฟเอง จึงจำได้อย่างแม่นยำ จึงทำหนังสือรายงานไปที่อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นเพื่อขอทับหลังคืน” (พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงนิพนธ์ พ.ศ. 2537 เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 72 พรรษา)
ในการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีการหาหลักฐานต่าง ๆ จึงพบว่าเป็นการโจรกรรมไปจริง ต่อมาจึงมีการรณรงค์ในการเรียกร้องทับหลังดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และใช้เวลากว่า 10 ปีทับหลังจึงกลับคืนสู่ดินแดนประเทศไทย
ขบวนการโจรกรรมและลักลอบนำโบราณวัตถุขายต่างประเทศก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 60 ปี โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยหายไปจำนวนมากน่าจะราว พ.ศ. 2500 ถึง 2520 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม) เป็นยุคที่คนไทยสูญเสียศิลปวัตถุล้ำค่ามากที่สุด โบราณวัตถุหลายชิ้นคนไทยอาจจะไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ แต่นำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้เขียนถึงโบราณวัตถุหลายชิ้น โดยระบุไว้ในบทความว่า เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไป เช่นบทความ “โบราณศิลปวัตถุที่ถูกลักลอบออกนอกประเทศไทย” “โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบจากเมืองศรีเทพ” เป็นต้น โบราณวัตถุที่กล่าวถึงในบทความมีทั้งพระพุทธรูปสมัยทวารวดี พระพุทธรูปและเทวรูปแบบเขมร ทับหลังจำนวนหลายสิบชิ้นและมีรูปถ่ายประกอบ ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งที่ใช้ในการทวงคืนโบราณวัตถุในเวลาต่อมา
ในขบวนการโจรกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขโมย โจรกรรม ลักลอบค้าโบราณวัตถุนั้นล้วนมีใบสั่ง ดังที่ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กล่าวไว้ว่า “เบื้องหลังการโจรกรรมวัตถุโบราณของไทย มีตัวการใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยมาจาก 2 ชาติมหาอำนาจในยุโรป โดยเฉพาะชายคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่เวลานี้ลูกหลานเขากำลังถูกดำเนินคดีอยู่ด้วย และเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ญาติของเขาจึงตัดสินใจคืนโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งให้กับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งถึงวันนี้ โบราณวัตถุบางส่วนยังติดค้างในประเทศไทย” นอกจากนี้ ชาวบ้าน นายทุน นักสะสม พ่อค้าตลาดมืด บริษัทประมูลโบราณวัตถุ ก็เป็นกลไกในขบวนการที่ทำให้โบราณวัตถุออกนอกประเทศ
กรณีใบสั่งนี้ก็ยังเกิดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งล่าสุดคือการขโมยพระพุทธรูปทรงเครื่องจากวัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมากลุ่มโจรถูกติดตามและกดดันอย่างหนักจากประชาชนในท้องที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจจนโจรต้องทิ้งงาน
ภาพที่ 2 พระพุทธรูปทรงเครื่อง สมัยอยุธยา ถูกโจรกรรมจากวัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี
และนำมาทิ้งไว้ริมถนน เนื่องจากมีการติดตามจากประชาชนและการกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(ภาพจาก https://s.isanook.com/ns/0/ud/1856/9282254/431025663_7277333752313757_24.jpg?ip/resize/w728/q80/jpg)
โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุจำนวนมากไม่ได้ถูกจัดเก็บหรือจัดแสดงอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแหล่งกำเนิด เนื่องจากถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกขายในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และกระจัดกระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือสถาบัน รวมทั้งอยู่ในการครอบครองของนักสะสมโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ
ประเทศไทยจึงออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถาน เก็บรักษาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นไว้เป็นสมบัติของชาติ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยป้องปรามการลักลอบ โจรกรรม อีกทั้งยังมีมาตรการในการป้องกันการลักลอบนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้มีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการนำโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 เพื่อป้องกันการลักลอบนำโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการใช้กฎหมายป้องกันได้ดีในระดับหนึ่ง
แม้ว่ากฎหมายจะไม่ทำให้การโจรกรรมและการลักลอบนำโบราณวัตถุศิลปวัตถุออกนอกประเทศหมดไป แต่กฎหมายเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียกร้องและทวงคืนโบราณวัตถุ
การเรียกร้องทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ค้นคว้า แสวงหาแนวทางและวิธีการทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ถูกลักลอบนำออกไปขายในต่างประเทศ การจัดตั้งกลุ่มรณรงค์ทวงคืนโดยเอกชน อย่างเช่น “กลุ่มสำนึก 300 องค์” นักวิชาการ และการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศฯ ของภาครัฐ โดยใช้ช่องทางกฎหมาย และการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศที่นำโบราณวัตถุซึ่งถูกโจรกรรมเข้าประเทศ ทำให้เราได้โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบค้าไปต่างประเทศ กลับคืนมาสู่ประเทศไทย
คณะกรรมการฯ นักวิชาการ และกลุ่มเอกชน ต้องทำงานในการรวบรวมข้อมูลหลักฐานเอกสาร ภาพถ่าย เพื่อเป็นหลักฐานในการขอคืนโบราณวัตถุซึ่งอยู่ฝในการครอบครองของพิพิธภัณฑ์ สถาบัน และการสะสมส่วนบุคคลอีกจำนวนหลายร้อยรายการ
สำหรับหลักฐานสำคัญที่คณะทำงานใช้ในการทวงคืนมาตั้งแต่ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ คือ “รูปถ่ายโบราณวัตถุ” ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ารูปถ่ายโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุชิ้นนนั้นยังอยู่ในประเทศไทย ในช่วง พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีที่ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เริ่มบังคับใช้ นอกจากนี้เอกสารเก่าเป็นหลักฐานสำหรับใช้ประกอบ อย่างเช่นการทวงคืนทับหลังปราสาทเขาโล้นและปราสาทหนองหงส์ จนสำเร็จ
แม้การทวงคืนโบราณวัตถุแต่ละชิ้นต้องใช้เวลานานหลายปี ทั้งการรวบรวมเอกสาร รูปถ่าย การประสานงาน แต่กลุ่มผู้ติดตามทวงคืนก็ไม่ละทิ้งและยังทำงานอย่างหนักต่อเนื่อง เพื่อนำ “สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ” กลับคืนสู่ประเทศ
ภาพที่ 3 ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์
(ภาพจาก https://t1.blockdit.com/photos/2023/03/6426fca31208b129a556afa8_800x0xcover_iYdk4SYS.jpg)
จากกระแสทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ริเริ่มไว้ สืบสานต่อมาถึงกลุ่มเอกชน นักวิชาการและรัฐบาลที่แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุสำคัญ ๆ ถึงปัจจุบัน 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ ตัวอย่างโบราณวัตถุ ส่วนประกอบสถาปัตยกรรม คือทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ เป็นการติดตามขอทวงคืนจากสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายปีจนได้รับกลับคืนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ล่าสุดการทวงคืน “โกลเด้นบอย” เป็นศิลปะแบบเขมร พุทธศตวรรษที่ 16 จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในนิวยอร์ก ก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการส่งมอบเมื่อปลาย พ.ศ. 2566
ภาพที่ 4 ประติมากรรมสำริด “Golden Boy” มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นโบราณวัตถุที่ได้รับมอบคืนจากประเทศสหรัฐอเมริกาชิ้นล่าสุด
(ภาพจาก https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ajZ6ZubxFbpvYP7XJSgXv4mJZrt4MH.webp)
การโจรกรรมลักลอบค้าโบราณวัตถุของไทยไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย เกิดขึ้นมายาวนานหลายสิบปี โดยมีกลุ่มนายหน้า พ่อค้าคนกลาง ทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมเป็นขบวนการโจรกรรม ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครอบป้องกันโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาณฯ พ.ศ. 2504 แต่การโจรกรรมลักลอบค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายก็ยังมีอยู่
กระแสการทวงคืนโบราณวัตถุศิลปวัตถุของคนไทย เกิดจากการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล พบทับหลังชิ้นนี้ ณ สถาบันศิลปะแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และทรงจำได้ว่าเป็นทับหลังที่เคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จึงสันนิษฐานว่าทับหลังที่จัดแสดงอยู่นี้น่าเป็นการนำไปอย่างผิดกฎหมาย การทวงคืนทับหลังจึงเริ่มขึ้นเมื่อท่านเดินทางกลับมายังประเทศไทย
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 กระแสการเรียกร้องถูกจุดขึ้นในประเทศไทย หลังจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับพร้อมใจกันตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกในนามประชาชนไทย ด้วยการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับมาตุภูมิ กระแสเรียกร้องที่รุนแรงส่งผลให้ ทับหลังฯ ถูกส่งคืนกลับมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531
การติดตามทวงคืนโบราณวัตถุศิลปวัตถุของไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน เป็นการเจราจาระหว่างไทยกับคู่กรณีโดยตรง และอาศัยแรงกดดันผ่านสื่อและเสียงของประชาชน จนทำให้คู่กรณีต้องส่งคืน แม้ว่าโบราณวัตถุบางชิ้นจะใช้ระยะเวลาทวงคืนนับ 10 ปีก็ตาม
โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยถูกโจรกรรมลักลอบนำไปขายต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศไทยและสังคมโลก เพราะโบราณวัตถุที่ถูกขโมยทุกชิ้นมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และเป็นอัตลักษณ์ของประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด การทวงคืนโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุกลับคืนสู่ประเทศจึงเป็นการสงวนรักษามรดกไว้ในฐานะสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติและของแผ่นดิน มรดกวัฒนธรรมล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมถึงมีคุณค่าทางจิตใจของคนในชาติ.
กฤตนัย จงไกรจักร. (9 มิถุนายน 2564). “โบราณวัตถุที่รัฐบอกว่ายากกว่าหาไดโนเสาร์ วันนี้เราทวงคืนกลับมาได้สำเร็จ” ทนงศักดิ์ หาญวงษ์. The Momentum. สืบค้นจาก https://themomentum.co/closeup-tanongsak-hanwong/.
ธนิก เลิศชาญฤทธิ์. (11 เมษายน 2565). สร้างอัตลักษณ์ชาติด้วย "มรดก" อารยธรรมโบราณ ผ่านการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรู. ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_37533.
มติชนออนไลน์. (13 มีนาคม 2567). กว่า 30 ชิ้นยังสาบสูญ อ.โบราณคดี เตือน ใครรับซื้อโบราณวัตถุวัดประตูสาร เสี่ยงเจอรวบ. มติชน. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4470623.
มติชนออนไลน์. (22 พฤศจิกายน 2565). มรดกของเอเชียอาคเนย์ที่ถูกฉกชิงอย่างไม่รู้จบ เราจะหยุดการโจรกรรมวัฒนธรรมได้อย่างไร. มติชน. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_3689193.
พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา. (29 กันยายน 2560). คุยเรื่องลักลอบขุดของโบราณจากมุมมองเศรษฐศาสตร์: (ตอนที่ 2) "Micro-Level". ThaiPublica. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2017/09/econoarchaeology4/.
รัศมี ชูทรงเดช. (2543). จากทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์: ถึงการลักลอบโบราณวัตถุข้ามชาติ. จดหมายข่าวโบราณคดี, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1. สืบค้นจาก http://www.resource.lib.su.ac.th/resource/web/file.php?filetype=pdf&resource_id=1155.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2531). โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบออกนอกประเทศไทย. วารสารศิลปวัฒนธรรม, 9(9), 30-44. สืบค้นจาก http://subhadradis.su.ac.th/index.php/677y-7ebd-d9w6.
ไทยพีบีเอส. (5 กรกฎาคม 2565). ขุดภูเขาหาสมบัติ ส่งขายสหรัฐฯ ตามใบสั่งนายทุนต่างชาติ. Thai PBS News. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/317255.
ภาพปก จาก https://scontent.fbkk11-1.fna.fbcdn.net/v/t1.6435-9/193800721_1716505305221678_233090359570027102_n.jpg?_nc_cat=101&ccb=1-7&_nc_sid=13d280&_nc_ohc=7RklXYcP_FsQ7kNvgEqPnmE&_nc_ht=scontent.fbkk11-1.fna&oh=00_AYAkrAcnwxijGRp14-Ii7aULtMAKK6Cnz9ABQvQ5qGGkaA&oe=66DD0386