โดยพื้นฐานผู้สูงวัยที่มีสุขภาวะเกิดขึ้นจากองค์ประกอบในสองลักษณะ นั่นคือ การรักษาสัมพันธภาพทางสังคม และการทำกิจกรรมที่สร้างเสริมศักยภาพของตนอย่างต่อเนื่อง ในระยะหลายปีนี้ เราเห็นแผนงานและโครงการของภาครัฐและประชาสังคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงวัยได้รวมตัวกัน และประกอบกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ การรู้เท่าทันสื่อ หรือกิจกรรมในการดูแลสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชนหรือคนพัฒนาคอนเทนต์สร้างสรรค์รายการและเนื้อหาในสื่อออนไลน์ที่ฉายภาพบทบาทของผู้สูงวัยในสังคม
ความพยายามเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับภาวะสูงวัย ที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในหลายลักษณะ เช่น ความสามารถทางกายที่มีประสิทธิภาพลดลง ความผูกพันหรือความเชื่อมั่นในตนเองที่น้อยลงตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น ในหลายกรณี ผู้สูงวัยถูกจำกัดในการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ ฉะนั้น การสร้างเสริมสุขภาวะจึงมุ่งเน้นให้ผู้สูงวัยเห็นความสำคัญของตนเองในการดูแลสุขภาพกายและใจ
อังกฤษเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พัฒนาการส่งเสริมสุขภาพทดแทนการบำบัดและรักษา โดยชุมชนและสถาบันในระดับท้องถิ่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสุขภาวะของปัจเจกบุคคล เช่น ห้องสมุด ศูนย์ออกกำลังกาย ศูนย์ศิลป์ สวนสาธารณะ ศูนย์ชุมชน หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ที่มีกิจกรรมในหลากหลายลักษณะที่สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้สูงวัย กิจกรรมดังกล่าวสามารถสร้างสังคมขนาดเล็กที่เป็นโอกาสในการเรียนรู้และเปิดสู่ความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ๆ
ย้อนกลับไปกว่าห้าทศวรรษ ศิลปะกับสุขภาพเริ่มประเด็นที่ได้รับความสนใจในอังกฤษ แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นแผนงานอย่างจริงจังจากหน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) สถานพยาบาลหลายแห่งคงมองเรื่องของศิลปะในการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ หรือการออกแบบผนังให้แสดงศิลปะกลางแจ้ง จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 เกิดการส่งเสริมให้ย่านชุมชนมีบทบาทด้วยการใช้ศิลปะในการส่งเสริมสุขภาพของสมาชิกในชุมชนดังปรากฏในเอกสาร Arts and Health Care (1988)
รัฐบาลโทนี แบลร์ พรรคนิวเลเบอร์ (New Labour) ให้ความสำคัญกับศิลปะมากขึ้นด้วยการจัดสรรกองทุนเพื่อสนับสนุนศิลปะ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ชาติ นับเป็นช่วงเวลาที่องค์กรศิลปะ การละคร พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ ได้รับแรงหนุนอย่างชัดเจน รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้พลเมืองเข้าถึงศิลปะอย่างถ้วนหน้า ศิลปศึกษาจึงเติบโตในหลักสูตรของสถานศึกษา และการจัดสรรงบประมาณในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้ชุมชนผู้มีรายได้ต่ำเข้าถึงได้
สำหรับศิลปะกับสุขภาพ พรรครัฐบาลในเวลานั้นเล็งเห็นประโยชน์ในการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมกับการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ จนเกิดเป็นแผนงาน ‘Corporate Plan 2003-2006’ ของสภาศิลปะอังกฤษ (Arts Council England) และ ค.ศ. 2007 วาระศิลปะกับสุขภาพได้รับการบรรจุไว้ในแผนงานของสภาศิลปะอังกฤษและกระทรวงสาธารณสุข โครงการและกิจกรรมในการส่งเสริมให้ศิลปินทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เช่นโรงพยาบาลและคลินิก ในการพัฒนาสุขภาวะทางใจและอารมณ์ของผู้ป่วย
Social prescribing จึงเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานสาธารณสุขกับวัฒนธรรม
เป้าหมายคือการใช้กิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมในการบำบัดรักษาผู้ป่วย โดยมีหน่วยงานทางสาธารณสุขเป็นต้นทางในการส่งต่อผู้ป่วยในระบบ (referred patients) ให้กับหน่วยงานทางวัฒนธรรมในการดูแล ด้วยการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และติดตามผลลัพธ์ในการพัฒนาสุขภาพใจและอารมณ์ของผู้ป่วย และรายงานกลับไปยังหน่วยบริการสาธารณสุข
ปัจจัยที่เอื้อให้ social prescribing ประสบความสำเร็จยังเกิดจากบุคลากรอีกสองส่วน บุคลากรที่จัดกิจกรรม (อาสาสมัครหรือบุคลากรจัดจ้าง) ที่จะต้องเข้าใจความต้องการและธรรมชาติ
ของผู้ป่วยที่มารับบริการ และบุคลากรที่เป็นผู้ประสานงาน โดยมีชื่อเรียกที่ต่าง ๆ นานา ได้แก่ community navigator, community connector, social prescribing coordinator แต่ link workers กล่าวได้ว่า ผู้ประสานงานมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นบุคลากรที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสถานบริการสุขภาพ และร่วมวางแผนกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับบริการ นอกจากนี้ ผู้ประสานงานจะต้องรู้จักชุมชน และหน่วยจัดกิจกรรมหลากหลายประเภทในพื้นที่ รวมถึงการติดตามและส่งผลจากการร่วมกิจกรรมของผู้ป่วยกลับไปยังแพทย์ผู้รักษา
การทำงานของพิพิธภัณฑ์ในฐานะยาใจไม่ได้วางเป้าหมายในการจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่มุ่งหวังให้กิจกรรมเหล่านั้นช่วยพัฒนาสุขภาวะของคนในชุมชน ในงานวิจัยพิพิธภัณฑ์ (2017) วางเป้าหมายในศึกษาผลลัพธ์ของกิจกรรมเพื่อผู้สูงวัยที่เผชิญกับความโดดเดี่ยวทางสังคมในพื้นที่ชนบท ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของกิจกรรมใน 4 ด้านที่ช่วยเยียวยาใจให้ผู้สูงวัย
พิพิธภัณฑ์คงเดิม ที่เพิ่มเติมคือความหมาย ในแต่ละกิจกรรม ผู้สูงวัยใช้เวลาร่วมกันและสร้างบทสนาซึ่งกันและกัน พิพิธภัณฑ์จึงกลายเป็นสถานที่ในการพบปะ ทั้งคนที่รู้จักหรือไม่รู้จักกันมาก่อน ช่วงเวลาในกิจกรรมจึงถมช่องว่างของความรู้สึกให้กับผู้สูงวัย ในหลายวาระ บทสนทนาสร้างโอกาสในการเรียนรู้ระหว่างกัน แต่ละคนแบ่งปันประสบการณ์ในอดีต เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้สูงวัยจึงยึดโยงตนเองกับกลุ่ม
พิพิธภัณฑ์เป็นฟันเฟืองให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความต่อเนื่องของกิจกรรมในระยะเวลาสิบสัปดาห์เป็นอีกกลไกในอีกลักษณะ การพบปะตลอดกิจกรรมช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ละคนเริ่มทำความรู้จักกันในช่วงสัปดาห์แรก และพัฒนาเป็นความสนิทสนมในระยะต่อมา นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษาในท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจึงเชื่อมโยงตนเองกับประสบการณ์ใหม่ในพื้นที่
การเดินทางค้นหาตนเอง การเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้งสร้างโอกาสให้คนสูงวัยอยู่กับตัวเอง กลับไปทบทวนกับทักษะที่เคยเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่เคยคุ้นชิน และนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาสร้างความหมายใหม่หรือฟื้นฟูทักษะที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ในหลายครั้ง ผู้สูงวัยมองข้าม
ข้อจำกัดทางกายและทางใจในวัยชราด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป และลงมือทำในสิ่งที่ทำได้แทนการดูแคลนตนเอง
ทุกกระบวนการอำนวยความสัมพันธ์ งานเขียน การเล่าเรื่องจากวัตถุ หรืองานศิลปะ ล้วนเป็นกิจกรรมในรูปแบบกระบวนการ และชวนให้ผู้สูงวัยเข้าหากัน กิจกรรมสร้างโอกาสให้ผู้คนลงมือทำบางอย่างร่วมกัน และลดทอนอคติหรือวางเฉยกับการตัดสินคนอื่น สมาชิกจึงเชื่อมโยงตนเองกับผู้อื่น และเชื่อมโยงกับสังคมในวงกว้าง
พิพิธภัณฑ์กับสุขภาพมิได้เกิดขึ้นเพียงการจัดกิจกรรมเป็นครั้งคราวให้กับกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม กลุ่มผู้สูงวัยหรือผู้ป่วย แต่เป็นบทบาทที่พิพิธภัณฑ์ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการวางแผน การดำเนินงาน และการประเมินผลที่ช่วยพัฒนากิจกรรมให้ตอบโจทย์สมาชิกชุมชน
ในการจัดกิจกรรมหลายครั้ง ผู้สูงวัยบางคนรักษาระยะห่าง และไม่ยินดีเข้าร่วมกิจกรรมในระยะแรก พิพิธภัณฑ์จึงต้องสร้างคนทำงานที่เข้าใจความต้องการของผู้สูงวัย และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในกิจกรรม พิพิธภัณฑ์และหน่วยบริการทางสังคมจะช่วยรักษาสายสัมพันธ์ภายหลังการจัดกิจกรรมกันอย่างไร
หากมองในภาพที่ใหญ่มากขึ้น พิพิธภัณฑ์จะทำงานนี้ได้สำเร็จ คงต้องอาศัยองค์ประกอบนานา เช่น นโยบายของการทำงานเพื่อสุขภาวะของสังคมที่ชัดเจน ความร่วมมือกับหน่วยบริการสาธารณสุขที่คงเส้นคงวา บุคลากรผู้ประสานงานและผู้จัดกิจกรรมอย่างเพียงพอ หรืองบประมาณที่จัดสรรให้สำหรับการทำงาน เป็นการเฉพาะ ความท้าทายย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลาและในหลายระดับ และรอให้พิพิธภัณฑ์ร่วมเดินบนเส้นทางอันยาวไกล จนวันหนึ่งพิพิธภัณฑ์จะเป็นยาใจให้สังคมอย่างที่ตั้งหวังไว้
ปรางวลัย พูลทวี. (2018). “ให้พิพิธภัณฑ์ช่วยดูแล: โมเดลการใช้พิพิธภัณฑ์เพื่อสุขภาวะในโลกที่เหนื่อยล้า,” สืบค้นจากhttps://themomentum.co/museum-now-arts-on-social-prescription/
Drinkwater, Chris, Josephine Wildman, and Suzanne Moffatt. “Social Prescribing.” BMJ, March 28, 2019, l1285. https://doi.org/10.1136/bmj.l1285.
Huckaby, Sarah N. “Museums on Prescription: Incorporating Museum Staff Perspectives.” MuseumsForward 1, no. 1 (n.d.): 1–36.
Rowe, J. W., and R. L. Kahn. “Successful Aging.” The Gerontologist 37, no. 4 (August 1, 1997): 433–40. https://doi.org/10.1093/geront/37.4.433.
Stickley, Theodore, and Ada Hui. “Social Prescribing through Arts on Prescription in a UK City: Participants’ Perspectives (Part 1).” Public Health 126, no. 7 (July 2012): 574–79. https://doi.org/10.1016/j.puhe.2012.04.002.
Todd, Carolyn, Paul M. Camic, Bridget Lockyer, Linda J.M. Thomson, and Helen J. Chatterjee. “Museum-Based Programs for Socially Isolated Older Adults: Understanding What Works.” Health & Place 48 (November 2017): 47–55. https://doi.org/10.1016/j.healthplace.2017.08.005.
ภาพปก จาก https://www.theguardian.com/world/2022/sep/17/museums-on-prescription-brussels-tests-cultural-visits-to-treat-anxiety#img-1