In Focus
In Content
ความหมายที่ริวิแยร์ (Rivière) นักพิพิธภัณฑสถานวิทยาชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์นิเวศเมื่อ ค.ศ. 1985 ว่าเป็นกระบวนการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาค พิพิธภัณฑ์นิเวศจึงเป็นเครื่องมืออันทรงพลังของชาวบ้านได้ร่วมคิด ร่วมสร้าง และได้ประโยชน์ พิพิธภัณฑ์นิเวศสามารถเป็นห้องทดลองในการศึกษาและพัฒนา
ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรในพื้นที่กับสภาพแวดล้อม ส่วนบุคลากรภายนอกเข้ามาสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ
ในญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์นิเวศเกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายหลายลักษณะ เช่น การฟื้นฟูสังคมในระยะที่คนหนุ่มสาวย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่และมีเพียงผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้คงผลิตและสืบทอดงานฝีมือในระดับครัวเรือน การยกระดับความรู้ความเข้าใจของคนในท้องถิ่นที่มีต่อแหล่งทรัพยากรและสภาพแวดล้อม นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 พิพิธภัณฑ์นิเวศในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น และทำหน้าถ่ายทอดเรื่องราวจากผู้คนกับสมบัติทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่คงอยู่ในถิ่นฐานนั้น
บ้านกับเมือง - ปฏิสัมพันธ์ที่ตอบโต้กัน
สังคมญี่ปุ่นให้ความสนใจในวิถีชีวิตพื้นถิ่นมากขึ้นในระยะหลังสงครามโลก ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเผชิญความสูญเสียและการหวนหาชีวิตดั้งเดิม อีกส่วนหนึ่งให้ความสนใจกับชนบทเพราะต้องการหาช่วงเวลาสั้น ๆ ในการหลีกหนีชีวิตวุ่นวายของเมือง พิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่รวบรวม “วัตถุ” ที่สะท้อนความเป็นชนบทของญี่ปุ่นคือ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหรือที่เรียกว่า Open-Air Museum of Old Japanese Farmhouses ชานเมืองโอซากา จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1956 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมเรือนพื้นถิ่นของชาวนา 12 รูปแบบจากภูมิภาคต่าง ๆ จากเหนือจรดใต้ เรือนเหล่านั้นมีอายุย้อนไปในสมัยเอโดะ (ศตวรรษที่ 17-19) มาจัดแสดงไว้ในสวน
แต่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งคงอยู่บนแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิม ที่อาศัยการคัดเลือกตัวอย่างจากปรากฏการณ์และจัดแสดงในพื้นที่เฉพาะ ในระยะต่อมา ช่วงทศวรรษ 1990 ความสนใจในวัฒนธรรมพื้นบ้านและการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นกระแส เพราะญี่ปุ่นวางแผนพัฒนาภูมิภาค ภายหลังจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง
ในระยะดังกล่าว ญี่ปุ่นเร่งส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและการพื้นฟูชุมชน รวมถึงกระแสความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เรียกว่า living history movement ที่ผู้คนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์และแสวงหาหลักฐานและเอกสารที่บอกเล่าถึงพื้นที่และผู้คน
ภาพ 1 พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเรือนชาวนาญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเกิดจากการรวบรวมตัวอย่างเรือนจากภูมิภาคต่าง ๆ ไว้ในสถานที่เดียวกัน
(ภาพจาก https://www.japan-experience.com/sites/default/files/images/content_images/farm7.jpg)
ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ. 1992 นโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นการทำงานโดยหน่วยงานท้องถิ่นและชาวบ้านในภูมิภาค นอกจากนี้ “แผนงานฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชนบท” คือนโยบายระดับประเทศของญี่ปุ่นที่ต้องการฟื้นฟูท้องถิ่น แผนงานนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง
ที่ระบุถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ภูมิทัศน์ และวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่น
หนึ่งในกระบวนการเพื่อการฟื้นฟูท้องถิ่นได้แก่ พิพิธภัณฑ์สภาพแวดล้อมชนบท หรือ rural environment museum ซึ่งหมายถึง การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลสำหรับการสื่อสารระหว่างกันสมาชิกในท้องถิ่นและต้อนรับผู้มาเยือน นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบเส้นทางที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญ แผนงานฟื้นฟูจึงต้องอาศัยการรับฟังความคิดเห็นและความร่วมมือจากชาวบ้าน
ในการกำหนดทิศทางและกิจกรรม โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือองค์กรกึ่งเอกชนที่สนับสนุนในการจัดการอย่างยั่งยืน
มาสำรวจพิพิธภัณฑ์นิเวศสองแห่งในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 โดยพิจารณาจุดกำเนิดของพิพิธภัณฑ์ทั้งที่มาและเป้าหมายที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ บทบาทของหน่วยงาน
ในท้องถิ่นและชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง การตัดสินใจ และกลไกทางการเงินในระดับต่าง ๆ กัน ในส่วนสุดท้าย ลองพิจารณามุมมองและข้อวิพากษ์วิจารณ์ตัวโมเดลกิจการพิพิธภัณฑ์ที่แตกต่างกันทั้งสองลักษณะ
อาซาฮีอยู่ในเขตยามากาตะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ พิพิธภัณฑ์นิเวศแห่งนี้สร้างขึ้นโดยหน่วยงานท้องถิ่นช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ในเวลานั้น คนญี่ปุ่นรู้จักอาซาอีมาชิเพียงสถานีสำหรับกีฬาในช่วงฤดูหนาวและความงดงามของทิวทัศน์ภูเขา อีกปัจจัยหนึ่งคือ จำนวนประชากรในภูมิภาคที่ลดลงเช่นเดียวกับอีกหลายเมืองในญี่ปุ่น ปัจจุบันอาซาฮีมีจำนวนประชากร 6,366 คน (ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2020) ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่เมื่อครั้งก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นิเวศ
ภาพ 2 ตัวอย่างการกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองอาซาฮีทางตะวันตกในแผนที่ ระบุสถานที่ตั้งศูนย์กลางข้อมูล นาข้าวขั้นบันได แหล่งน้ำแร่ และสถานีกีฬาฤดูหนาว เป็นต้น
(ภาพจาก https://ssl.samidare.jp/~tukiyamaf/asahimachi/c/asahimachi/Pamphlet_English_web.pdf)
องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต้องการใช้พิพิธภัณฑ์นิเวศเป็นเครื่องมือในการสร้างความภาคภูมิใจ และให้ผู้มาเยือนเพิ่มจำนวนมากขึ้นในฤดูร้อน นอกจากนี้ มีสมาคมพิพิธภัณฑ์นิเวศอาซาฮีมาชิ (Asahi-Machi Ecomuseum Association) ที่ทำงานใกล้ชิดกับเทศบาล ร่วมพัฒนากิจกรรม
ในการสืบค้นชุดประสบการณ์ของผู้คนกับสถานที่ และกิจกรรมส่งเสริมศิลปะกับเยาวชน ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุด พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ค.ศ. 2000 โดยมีศูนย์กลางข้อมูลในสำนักงานขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เส้นทางเชื่อมโยงสถานที่และกิจการในท้องถิ่น และโครงข่ายของพิพิธภัณฑ์นิเวศอาซาฮีมาชิ หนึ่งในมรดกของท้องถิ่นที่สร้างความผูกพันให้กับผู้คนคือ อาคารในโรงเรียนประถมศึกษา ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้น
เมื่อ ค.ศ. 1882 สวนแอปเปิ้ลสายพันธุ์ที่หาได้ยาก แหล่งผลิตถ่าน พิพิธภัณฑ์แอปเปิ้ล สปาแอปเปิ้ล สวนองุ่น และโรงงานผลิตไวน์ และสถานที่สำคัญทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า “Air Shrine”
มีการจัดเทศกาลและการร่ายรำในการเซ่นสรวงเจ้าแห่งวายุในเดือนมิถุนายนทุกปี
ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สถานที่ในโครงข่ายพิพิธภัณฑ์นิเวศอาซาฮีมาชิจึงได้รับการสนับสนุนและดูแลเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเงินสนับสนุน
รวมถึงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ในทางหนึ่งพิพิธภัณฑ์นิเวศอาซาฮีมาชิเน้นการบริหารแบบศูนย์กลางกับบริวาร ด้วยโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่อีกทางหนึ่ง บทบาทของชาวบ้านในการกำกับทิศทางของพิพิธภัณฑ์ค่อย ๆ ถูกจำกัด ตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลง
ทาเทยามะเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชิบะทางใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น เมืองนี้ทำหน้าที่เป็นปราการด่านสำคัญในการต่อสู้จากการรุกรานของข้าศึกทางทะเล อาณาบริเวณดังกล่าวจึงปรากฏซากโบราณสถานจากสงคราม เช่น ป้อมปืนใหญ่ ถ้ำใต้ดินที่ใช้ในระหว่างการสู้รบ นอกจากนี้เป็นเขตประมงสำคัญเพราะมีน่านน้ำที่เชื่อมต่อกับเกาหลี จีน รวมถึงอเมริกาเหนือ แนวคิดพิพิธภัณฑ์นิเวศได้รับการประยุกต์ใช้ในทาเทยามะอย่างน่าสนใจ เพราะอาศัยการทำงานด้วยกิจกรรมจดหมายเหตุ (archive activities) และแรงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง
ภาพ 3 เรือนท่านซาโตมิ รูปแบบอาคารยุค Tenshou (1573-1592) ส่วนหลักของอาคารกว้างเพื่อรองรับเรือนยอด ปรากฏหอสังเกตการณ์ชั้นบน
(ภาพจาก https://a1.cdn.japantravel.com/photo/13122-75853/800!/chiba-tateyama-castle-hakkenden-museum-chiba-75853.jpg)
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากเคลื่อนไหวภาคพลเมืองในการอนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกลุ่มต่าง ๆ
จากความสนใจของในประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พัฒนาสู่ขบวนการมรดกที่เรียกว่า NPO Awa Culture Heritage Forum (ACFH) ที่มีเป้าหมายในการค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ เช่น กลุ่มวิจัยและอนุรักษ์มรดกการต่อสู้ (Research and Preservation of Battle Heritage Circle) และกลุ่มอนุรักษ์ปราสาทบนเนินเขาของท่าซาโตมิ (Satomi Lord Mountain Castle Preservation group) เป็นต้น
ภาพ 4 เรือนอนุสรณ์ศิลปิน อาโอกิ ชิเงรุ ที่สร้างผลงานจากแรงบันดาลใจของทาเทยามะ
(ภาพจาก https://s3.ap-northeast-1.amazonaws.com/production.guidoor.jp/images/VEmYBFBoNKbodogrjtIV55J80EXEORi5DEwN4DmZ.jpeg)
กิจกรรมที่ดำเนินการโดย ACHF ประกอบด้วย (1) งานจดหมายเหตุ จากบันทึกข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวบ้าน และสิ่งของจากบ้านเก่า กลุ่มคนทำงานอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่งและต่างสถานที่-เวลา เพื่อให้ได้มุมมองที่แตกต่าง จากนั้น จึงนำมาสู่การประมวลข้อมูล และจัดกิจกรรมลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ (2) การบรรยายสาธารณะที่มีชาวบ้านเป็นวิทยากร (3) การจัด
ชั้นเรียนประวัติศาสตร์ร่วมกับสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของสถานที่
และเกิดความผูกพันกับท้องถิ่น และ (4) การจัดประชุมวิชาการเครือข่ายปกป้องสถานที่สำคัญในทาเทยามะ
ทั้งหมดนี้สะท้อนระบบการทำงานแบบเครือข่ายที่ส่งเสริมให้ผู้คนเรียนรู้หมู่บ้านและภูมิภาคของตน และเชื่อมโยงตนเองกับการลงมือพัฒนาท้องถิ่นด้วยความเอาใจใส่ ในสังคมญี่ปุ่นนั้น เรียกระบบการจัดการเมืองด้วยความเอาใจใส่และความเคารพว่า Machizukuri การทำงานแบบเครือข่าย
เช่นนี้อาศัยเวลาในการทำงานที่สร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
พิพิธภัณฑ์นิเวศในญี่ปุ่นมีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และการพัฒนาให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รัฐบาลกลางและท้องถิ่นยังมุ่งหวังให้พิพิธภัณฑ์นิเวศเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทุนวัฒนธรรมและธรรมชาติในอีกคำรบหนึ่ง
ในหลายกรณี พิพิธภัณฑ์นิเวศของญี่ปุ่นมีโครงสร้างการบริหารที่คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์นิเวศ
อาซาฮีมาชิ นั่นคือความสัมพันธ์แบบศูนย์กลางกับบริวาร งบประมาณและทรัพยากรบุคคลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นปัจจัยหลักในการบริหารกิจการของพิพิธภัณฑ์ หน่วยงานในพื้นที่จึงกำกับทิศทาง รวมถึงคัดสรรสถานที่และมรดกที่ควรค่าแก่การนำเสนอ รูปแบบเช่นนี้อาจไม่สะท้อนเอกลักษณ์อันหลากหลายของท้องถิ่นอย่างแท้จริง อนึ่ง ความเป็นศูนย์กลางกับบริวารฉายภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดี โครงสร้างการจัดการที่ชัดเจนและมั่นคงเช่นนี้นับเป็นปัจจัยทีเอื้อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง
พิพิธภัณฑ์นิเวศจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นด้วยการทำงานของเภาคีเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ทาเทยามะ กลุ่มทำงานในพื้นที่ต่างทำงานตามความสนใจ ทั้งประเด็นทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
และสิ่งแวดล้อม แต่ร่วมมือกันด้วยเครือข่าย นับเป็นการกระจายศูนย์กลางคล้ายไยแมงมุมที่มีจุดเชื่อมระหว่างกันและกัน หัวใจในการบริหารจัดการคือ ส่วนกลางแต่ละแห่งสนับสนุนการทำงานของภาคีที่อยู่ในแวดวงของตน ไม่ใช่การกำกับและควบคุม อย่างไรก็ดี การทำงานทั้งหมดนี้อาศัยความสนใจของบุคคลหรือกลุ่มคน ฉะนั้นการทำงานจึงอยู่ในรูปแบบของอาสาสมัคร คำถามสำคัญคือ เมื่อใดคนทำงานหมดไฟหรือมีอายุมากขึ้น กระบวนการต่าง ๆ จะดำเนินต่อไปอย่างไร
การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์นิเวศจึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัวหรือตัวแบบที่ดีที่สุด แต่จำเป็นที่บุคคล กลุ่มคน และหน่วยงานในท้องถิ่นต้องวางแผนและดำเนินการ และพร้อมในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบการทำงานอยู่เสมอ ดังที่ริวิแยร์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พิพิธภัณฑ์นิเวศคือห้องทดลองในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับสภาพแวดล้อมในแต่ละบริบท.
Cheong, Ilji. “Community Regeneration through Reconstitution of Place Memory: A Case Study of Tateyama Ecomuseum in Japan.” In Proceedings of International Symposium on City Planning 2014. Hanoi: Vietnam Urban Planning and Development Association, 2014.
Davis, Peter. “Ecomuseums and the Democratisation of Japanese Museology.” International Journal of Heritage Studies 10, no. 1 (March 2004): 93–110. https://doi.org/10.1080/1352725032000194268.
Gulec, Fatma Esra. “Re-Evaluation of Architectural Heritages and Japanese Traditional Houses: The Case of Osaka Open-Air Museum of Old Japanese Farmhouses.” Journal of History Culture and Art Research 11, no. 3 (2022): 32–53.
Kamei, H., T. Hashimoto, and A. Okamoto. “A Field Museum Framework Using the Information and Communication Technologies ‘Tanokan (Outdoor Stone Statue) Project’ in Japan.” Kyoto: CIPA Heritage Documentation, 2009.
Kajihara, Hiroyuki. “FIELDWORK AND FEEDBACK: Attempts in Public Anthropology through an Ecomusée in Japan.” 九州人類学研究会, July 10, 2010. https://doi.org/10.15017/2344470.
Navajas, Óscar Corral. “Japan Ecomuseums: Global Models for Concrete Realities.” Cadernos De Sociomuseologia 38, no. 38 (2010): 217–44.
Ohara, Kazuoki. “The Image of ‘Ecomuseum’ in Japan.” Pacific Friends 25, no. 12 (1998): 4.
Ohara, Kazuoki, and Atsushi Yanagida. “Ecomuseums in Current Japan and Ecomusuem Network of Miura Penensula.” In The Third International Conference of Ecomuseums and Community Museums. Rio de Janeiro: Green Lines Institute for Sustainable Development, 2004.
Photo Credits
ภาพปก: Aerial view of Tateyama City from Satomi Castle. Image from https://tateyamacity.com/en/archives/author/zz101155