ก่อนที่จะมีการเปิดตัว ‘Grand Egyptian Museum’ พิพิธภัณฑ์อียิปต์โบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2020 นี้ นายกบแดงจะพามารู้จักกับอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ของประเทศอียิปต์ที่นักท่องเที่ยวสายประวัติศาตร์ต้องห้ามพลาด! นั่นก็คือ Nubia Museum พิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมอียิปต์โบราณกับอารยธรรมนูเบียเข้าด้วยกัน จะน่าสนใจขนาดไหนตามนายกบแดงมาเลยครับ
Nubia Museum หรือ พิพิธภัณฑ์นูเบีย เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่ตั้งอยู่ในเมืองอัสวาน โดยเมืองอัสวานนั้นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญมากเมืองหนึ่งของประเทศอียิปต์ และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง นอกจากสภาพแวดล้อมของเมืองที่น่าอยู่แล้ว เมืองนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอารยธรรมนูเบีย แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่อารยธรรมอียิปต์โบราณ แต่ก็ยังมีแหล่งอารยธรรมแอฟริกาโบราณที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน และยังเป็นรากฐานสำคัญของอาณาจักรต่างๆ ในแอฟริกา อีกหลายอาณาจักร อย่างเช่น อาณาจักรนูเบีย (Ancient Nubia) มหาอาณาจักรแห่งอาฟริกาเหนือ ตั้งอยู่บริเวณทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำไนล์ ปัจจุบันคือดินแดนตอนใต้ของอียิปต์ไปจนถึงตอนเหนือของประเทศซูดาน
ชาวอียิปต์โบราณเรียกอาณาจักรนูเบียว่า ‘อาณาจักรคุช (The Kingdom of Kush)’ นับตั้งแต่สมัยฟาโรห์เซนโวสเร็ตที่ 1 (Senwosret I) เมื่อประมาณเกือบ 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช การผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเรืองอำนาจ ระหว่างอาณาจักรนูเบียและอียิปต์โบราณ ทำให้เกิดการรับอารยธรรมของแต่ละฝ่ายเข้ามาด้วย ทำให้ขนบธรรมเนียม คติความเชื่อ และพิธีกรรม ของอาณาจักรในภูมิภาคแอฟริกาตามลุ่มแม่น้ำไนล์มีความคล้ายคลึงกัน จนปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์นูเบีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1997 ด้วยความร่วมมือจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เนื่องมาจากทางการอียิปต์สร้างเขื่อนอัสวาน ในปี 1960 ทำให้โบราณสถานหลายแห่งของนูเบียต้องจมอยู่ใต้น้ำ จึงมีการเก็บกู้และเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่าให้รอดพ้นจากการสร้างเขื่อนและจมอยู่ใต้น้ำเพื่อนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์นูเบีย ตัวพิพิธภัณฑ์ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอียิปต์ Mahmoud El-Hakim และได้รับรางวัล Aga Khan Award สำหรับสถาปัตยกรรม ในปี 2001 อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์จะมีทั้งหมด 3 ชั้นด้วยกัน คือ ชั้นใต้ดิน เป็นส่วนของร้านค้า และห้องเวิร์คชอป, ชั้น 2 เป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ และชั้นที่ 3 จะเป็นส่วนของห้องสมุด โรงอาหาร ห้องสำหรับเลขานุการพิพิธภัณฑ์ ห้องสำหรับถ่ายเอกสารและไมโครฟิล์ม หลังจากซื้อตั๋วเข้ามายังพิพิธภัณฑ์แล้วสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวจะได้เจอคือ เสาหินโอเบลิสก์ (Obelisk) ที่แกะสลักด้วยข้อความอักษรเฮียโรกลิฟิก และมีรูปสลักลิงบาบูนอยู่ที่ฐาน ภายในพิพิธภัณฑ์จะจัดแสดงเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ถูกค้นพบในบริเวณนี้ รวมถึงภาพเขียนสีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนมาถึงยุคอียิปต์โบราณ และต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันมากกว่า 30,000 ชิ้นที่จัดแสดงอยู่ห้องโถงนิทรรศการ จัดแสดงในสวน และเก็บไว้ที่โกดังอีกส่วนหนึ่ง นิทรรศการจะบอกเล่าถึงเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของชาวนูเบียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงช่วงที่มีการอพยพย้ายหมู่บ้านจากการสร้างเขื่อนอัสวาน
เมื่อเดินมาถึงห้องโถงที่จัดแสดงนิทรรศการจะได้พบกับรูปปั้นขนาดใหญ่ของฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 (King Ramses II) ที่สูงถึงแปดเมตร ยืนตะหง่าอยู่กลางห้องที่ดึงดูดสายตาผู้เข้าชมเป็นอันดับแรกตั้งแต่เดินเข้ามา และรูปปั้นรูปแกะสลักที่น่าสนใจ เช่น รูปสลักของนักบวชแห่งเทพอะมุน ในเมืองธีบส์ มีชื่อว่า Horemakhet, รูปปั้นลิงบาบูน, มัมมี่ที่เป็นนักบวช และมัมมี่แกะ, รูปปั้นทหารชาวนูเบียในยุคอียิปต์โบราณ, รูปแกะสลักเหยี่ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพฮอรัส (Horus) เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า, รูปแกะสลักที่เรียกว่า “บา (Ba)” ตามความเชื่อของชาวอียิปต์นั้นเมื่อเวลาที่คนตายไปแล้วจะมีวิญญาณออกจากร่างกาย ซึ่งวิญญาณที่ว่าคือ “บา” ที่มีหัวเป็นมนุษย์และมีลำตัวเป็นนก
นอกจากนี้ยังมีโมเดลจำลองที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โมเดลจำลองประเทศอียิปต์ แสดงถึงตำแหน่งของสถานที่สำคัญในยุคอียิปต์โบราณ, โมเดลจำลองวิหารฟิเล, โมเดลจำลองวิหารอบูซิมเบล แสดงให้เห็นตำแหน่งเดิมของวิหารซึ่งอยู่ใต้น้ำ กับตำแหน่งใหม่ของวิหารนี้ที่อยู่ด้านบน และโมเดลจำลองบ้านเรือนของชาวนูเบีย และชีวิตของชาวนูเบียในสมัยปัจจุบัน ผู้ที่สนใจและมีโอกาสได้เดินทางไปเยือนประเทศอียิปต์ก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นูเบีย ที่เมืองอัสวาน พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 9.00 น. - 13.00 น. และ 17.00 น. - 21.00 น. อัตราค่าเข้าชม ประชาชนชาวอียิปต์ 20 LE (ประมาณ 41 บาท) นักเรียน 10 LE (ประมาณ 20 บาท) ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 50 LE (102 บาท) นักเรียนต่างชาติ 20 LE (ประมาณ 41 บาท)
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://www.egypttoursplus.com
https://www.egypttoday.com
http://www.xinhuanet.com