ถ้ากล่าวถึง Salvador Dali (ซัลวาดอร์ ดาลี) ศิลปินเอกชื่อดัังระดับโลกชาวสเปนท่านนี้ แฟนคลับสายศิลปะ ต้องรู้จักเป็นอย่างดี แม้ว่า ซัลวาดอร์ ดาลี จะเสียชีวิตไปนานมากแล้ว แต่ผลงานของเขาก็โดดเด่นและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะบิดาแห่งวงการศิลปะแบบเหนือจริง The great master of surrealism วันนี้นายกบแดงจะพาทุกท่านไปชมมรดกของศิลปินเอกท่านนี้ที่ได้ทิ้งไว้ให้แก่คนรุ่นหลังผู้มีใจในรักงานศิลปะได้มาเสพงานศิลป์ของเขาแบบเต็มๆ ได้ที่ โรงละครและพิพิธภัณฑ์ดาลี “The Dalí Theatre-Museum” ประเทศสเปน
ก่อนจะไปชมโรงละครและพิพิธภัณฑ์ดาลี เราไปทำความรู้จักกับศิลปินชื่อก้องโลกท่านนี้กันสักเล็กน้อยก่อนดีกว่า ซัลวาดอร์ ดาลี เกิดเมื่อปี 1904 ที่ฟิเกอรัส ในประเทศสเปน ช่วงชีวิตในวัยเด็กของดาลีได้รับการดูแลจากครอบครัวเป็นอย่างดีราวกับพระราชา เพราะครอบครัวของเขาคิดว่าดาลีคือลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วกลับชาติมาเกิด รวมถึงความพพยายามที่จะปลูกฝังให้ดาลีเข้าใจอย่างนั้นไปด้วย สำหรับความสามารถด้านศิลปะของเขาเริ่มฉายแววตั้งแต่อายุได้เพียง 10 ขวบ เท่านั้น และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างดี เริ่มต้นจากการวาดรูปทิวทัศน์ที่สวยงามในแคว้นคาตาลัน อันเป็นบ้านเกิดของเขาเอง
จนกระทั่งในปี 1928 เขาได้เข้าร่วมกับศิลปินลัทธิเหนือจริง ที่มุ่งหมายเน้นความเพ้อฝันเหนือจินตนาการ และช่วงนี้เองที่เขาได้พบกับ ปาโบล ปีกัสโซ ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อผลงานศิลปะของเขาในเวลาต่อมา รวมทั้งการหันไปสนใจแนวทางเซอร์เรียลลิสม์อย่างจริงจัง หลังจากนั้นหนึ่งปีดาลี ได้พบกับ Elena Ivanovna Diakonova หรือ Gala หญิงสาวอันเป็นที่รักซึ่งในขณะนั้นเป็นภรรยาของ Paul Éluard กวีแนวเหนือจริงชาวฝรั่งเศส ทั้งคู่หลงรักกันอย่างรวดเร็ว เขารู้สึกว่าไม่อาจจะแยกจากเธอได้ จึงย้ายมาปักหลักอยู่ที่ฝรั่งเศสและคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในกรุงปารีส จนทั้งคู่ย้ายไปอยู่ในชนบทอย่างสันโดษเพียง 2 คน และสร้างงานศิลปะเพื่อดำรงชีพด้วยการจัดแสดงงานเพื่อที่จะขายรูป กาล่า เป็นเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างของเขา รวมไปถึงแรงบันดาลใจในผลงานของเขาอีกด้วย ซึ่งผลงานศิลปะของดาลีที่ถ่ายทอดออกมาเริ่มแสดงให้เห็นถึงความเป็นเซอร์เรียลลิสม์มากขึ้นๆ ตามลำดับ
ผลงานที่สร้างชื่อและเป็นภาพที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกของดาลีในวัยเพียง 27 ชื่อว่า “The Persistence of Memory” เป็นภาพเหนือจริงของนาฬิกาพกที่กำลังหลอมเหลวซึ่งดูเหมือนจะแฝงความหมายของการปฏิเสธว่า เวลาไม่ใช่เป็นสิ่งที่กำหนดตายตัว ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความโดดเด่นของภาพทำให้ต่อมาภาพนี้ได้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา และเป็นสัญลักษณ์ของภาพเหนือจริงที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันล้ำลึก ผลงานชิ้นสุดท้ายของดาลีถูกสร้างขึ้นในปี 1983 ชื่อว่า The Swallow’s Tail ที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีความวิบัติ (Catastrophe theory) ของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส René Thom
ดาลีเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในปี 1989 ด้วยวัย 84 ปี ร่างเขาได้รับการฉีดน้ำยาอาบศพและใช้ผ้าห่อไว้แบบมัมมี่ตามความประสงค์ของเขาและถูกฝังไว้ที่ Dalí Theatre and Museum ซึ่งตัวดาลีเองได้ร่วมกับทางการทำการออกแบบปรับปรุงโรงละครเก่าสถานที่ซึ่งเขาเคยจัดนิทรรศการภาพเขียนของตัวเองครั้งแรกตอนเป็นเด็กเพื่อเป็นที่จัดแสดงผลงานของเขาเอง ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ดาลีต้อนรับผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาชมผลงานของดาลีมากกว่าล้านคนในแต่ละปี
Dalí Theatre and Museum เปิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1974 มีเอกลักษณ์ตั้งแต่ลักษณะโครงสร้างภายนอก เป็นอาคารขนาดใหญ่สีแดงตกแต่งด้วยขนมปังคาตาลันสีเหลืองขนาดเล็ก (catalan breads) และไข่ทองคำขนาดยักษ์ และโดมที่ออกแบบโดยสถาปิกชื่อดัง Emilio Perez Pinero และ Alexandre Bonaterra ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมือง และเมื่อผู้เข้าชมได้เข้าไปชมในตัวพิพิธภัณฑ์จริงๆ จะได้รับรู้ถึงประสบการณ์ที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว
คอลเล็กชั่นที่จัดแสดงใน แต่ละห้องนิทรรศการจะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะหลายแขนงกว่า 1,500 ชิ้น เช่น งานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพวาด, งานแกะสลัก, โฮโลแกรม, ภาพ 3 มิติ, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, แฟชั่น, สถาปัตยกรรม ฯลฯ ตลอดชีวิตของดาลีคงเอกลักษณ์ความแปลกพิลึกไม่เหมือนใคร ทั้งผลงานและชีวิตจริง ดาลีคือหนึ่งในศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นและมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะมากที่สุดในศตวรรษที่ 20
ตัวพิพิธภัณฑ์เริ่มตั้งแต่เดินเข้าไปในบริเวณลานตรงกลาง ผู้เข้าชมจะสะดุดตากับ รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ผู้หญิงเปลือยกายขนาดใหญ่ยืนอยู่บนฝากระโปรงหน้ารถ ด้านหลังเป็นหอคอยขนาดใหญ่ บริเวณผนังรอบๆ ตกแต่งด้วยหุ่นสีทองที่มีลักษณะของแขนแตกต่างกันไป นับว่าเป็นงานศิลปะที่น่าทึ่งและชวนให้คิดตั้งแต่เริ่มเลยทีเดียว เมื่อเดินเข้าไปในห้องโถงใหญ่ ที่ถูกออกแบบให้เพดานเป็นทรงกลมแก้วขนาดใหญ่ไว้สำหรับเปิดรับแสงจากธรรมชาติ ผนังรอบๆ จัดแสดงภาพศิลปะผลงานที่ผ่านมาของดาลี เป็นภาพขนาดใหญ่ ประดับด้วยผ้าม่านกำมะหยี่สีแดงทำให้บรรยากาศเหมือนเป็นโรงละคร
สำหรับไฮไลท์ของ Dalí Theatre and Museum คือ Mae West room ที่มีลูกเล่นในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ออกมาเหมือนใบหน้าของดาราสาวในตำนาน Mae West โดยภาพวาดบนผนังเป็นดวงตา เตาผิงเป็นจมูก โซฟารูปปากสีแดง และผ้าม่านสีบลอนด์เป็นผม และการจะถ่ายภาพหรือมองเห็นเป็นรูปร่างหน้าตาได้นั้นจะต้องอยู่ในมุมและองศาที่ถูกต้องถึงจะมองเห็นภาพใบหน้าของดาราสาวได้ชัดเจน
ภาพ "Lincoln in Dalivision" หนึ่งในภาพวาดของดาลีที่ถูกลอกเลียนแบบมากที่สุด เป็นภาพหญิงสาวยืนเปลือยหันหลัง เบื้องหน้าเป็นท้องทะเล หากมองจากระยะปกติทั่วไป แต่ถ้าผู้เข้าชมถอยห่างออกมาจากภาพนี้ประมาณ 20 เมตร (ประมาณ 66 ฟุต)จะมองเห็นภาพนี้เป็นใบหน้าของ Abraham Lincoln ในลักษณะเป็นภาพโมเสก นั่นเอง และแน่นอนว่าหญิงสาวที่เปลือยกายอยู่ในภาพก็คือ กาล่า ภรรยาสุดที่รักของดาลีนั่นเอง
แน่นอนว่าภาพวาดต่างๆ ที่ถูกจัดแสดงจะต้องมีภาพของภรรยาสุดที่รักของดาลีรวมอยู่ด้วย เพราะกาล่า ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขามากมาย รวมไปถึงผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของดาลี “The Persistence of Memory” ภาพนาฬิกาพกที่กำลังละลาย และผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาก็จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เช่นเดียวกัน รวมถึงผลงานหน้าตาประหลาดๆ แต่แฝงไปด้วยปรัชญาและแง่คิดต่างๆ
สำหรับผู้ที่สนใจและมีใจรักในงานศิลปะ แต่ไม่สามารถเดินทางไปถึงประเทศสเปนได้ ทาง Dalí Theatre and Museum ก็อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชมจากทั่วโลกได้เข้ามาเสพงานศิลป์ ในยุคที่โลกไร้พรมแดนและสังคมอินเตอร์เนตอันกว้างไกล ก็ทำให้สามารถเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แบบออนไลน์กันได้ ซึ่งการชมแบบออนไลน์นี้อนุญาตให้เดินเล่นบริเวณชั้นล่างและห้องจัดแสดงบางห้องเท่านั้น สามารถเข้าไปชมกันได้ที่ https://www.salvador-dali.org/en/museums
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://www.seasonedtravelr.com/dali-museum/
https://magazine.bellesdemeures.com