Muse Around The World
ส่าหรีสะบัดเมื่อ V&A จัดนิทรรศการผ้าอินเดีย
Muse Around The World
04 พ.ค. 61 2K

ผู้เขียน : Administrator

สารพัดผ้าหลากสีสันพันผ่านพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) หรือ V&A แหล่งรวมงานศิลปะและการออกแบบเพื่อการตกแต่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในวาระที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการผ้าอินเดียในชื่อ The Fabric of India อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล V&A India Festival ที่เป็นมหกรรมรวมเสน่ห์แห่งชมพูทวีปเอาไว้ในที่เดียว 
 
 
นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้เข้าชมเหยียบเข้าสู่โลกแห่งผ้าที่มากกว่าส่าหรีนี้ก็จะพบกับผลงานการออกแบบสถานที่ของกิตตา เกตช์เวนเนอร์ นักออกแบบของแต่งบ้านแนวมินิมัลลิสต์ชาวเยอรมันที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันชอบอะไรที่มันออกจะเซอร์เรียลนิดๆ” ซึ่งผลงานการเนรมิตพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ตให้กลายเป็นคลังผ้าขนาดใหญ่นี้ก็เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้จินตนาการสุดบรรเจิด เล่าประวัติศาสตร์โลกที่ถูกถักทอขึ้นบนผืนผ้าสุดอลังการ
 
 
นิทรรศการแรกของเทศกาลอินเดียแห่ง V&A นี้ ได้จัดแสดงไปแล้วตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา โดยในงานได้รวมรวมงานผ้ากว่า 200 ชิ้นจากศตวรรษที่ 3 ที่จนถึงปัจจุบันพร้อมประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปได้ถึง 6,000 ปีก่อน ทุกชิ้นมีที่มาและหลายชิ้นก็ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน แบ่งออกเป็น 6 องค์ตาม 4 หัวข้อหลักของงานผ้าในอินเดีย ได้แก่ ศาสนา หรูหรา พานิชย์ และแฟชัน มีตั้งแต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อผ้าอาภรณ์แปลกตา เช่น เสื้อยันต์ที่ทหารมุสลิมใช้สวมเอาเคล็ดยามออกศึกซึ่งได้เขียนคำสอนจากคัมภีร์กุรอานเอาไว้บนเสื้อ เป็นต้น ไปจนถึงชิ้นใหญ่ยักษ์อย่างกระโจมขนาดมหึมาของทิพูสุลต่านผู้มั่งคั่งแห่งอาณาจักรไมซอร์ อดีตเมืองหลวงเก่าของอินเดีย ซึ่งทหารอังกฤษไปยึดมาได้เมื่อคราวล่าอาณานิคม ผ้าผืนใหญ่นี้ใช้กางได้เต็มเพดานห้องจัดแสดง รายละเอียดสวยงามคุ้มค่าการแหงนหน้ามอง จนมาถึงเสื้อผ้าล้ำสมัยจากนักออกแบบรุ่นใหม่ที่อินเดียก็ผลิตออกมาไม่น้อยหน้ามหาอำนาจชาติอื่น มีกระทั่งผ้าลายไทยที่ส่งมาขายจากอินเดียในยุคกรุงเก่า ประวัติศาสตร์ชาติอินเดียและประเทศคู่ค้าสามารถศึกษาได้ทางผืนผ้าตระการตาเหล่านี้
 
 
 
ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้คือ ดร.โรสแมรีย์ คริลล์ ภัณฑารักษ์อาวุโสชาวอังกฤษผู้ลุ่มหลงหัวปักหัวปำในงานผ้าของเอเชียใต้ นอกจากประสบการณ์ในงานนิทรรศการหัวข้อเกี่ยวกับเอเชียใต้หลายสิบครั้งแล้ว เธอยังเขียนหนังสือถึงองค์ความรู้นี้ออกมาหลายเล่ม ดร.คริลล์เล่าถึงที่มาที่ไปของงานไว้ว่า “เราเริ่มที่ของสะสมของทาง V&A ก่อนค่ะ ซึ่งมีงานผ้าจากแถบเอเชียอยู่ราว 10,000 ชิ้น นิทรรศการนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับเราในการค้นของสะสมของเราเองแล้วตัดสินใจว่า ชิ้นไหนเหมาะสมที่สุดในการนำเสนอภาพรวมทั้งหมดของประวัติศาสตร์ผ้าทอมือของอินเดียได้"
 
 
งานนี้ดร.คริลล์ร่วมจัดกับดิเวีย พาเทล ภัณฑารักษ์สาวหัวก้าวหน้าจากอินเดียที่นำพาความร่วมสมัยมาทำให้นิทรรศการที่ดูเข้าถึงยากกลายเป็นการผจญภัยในพิพิธภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ พาเทลกล่าวว่า “งานของฉันเน้นไปที่ชิ้นงานร่วมสมัยที่นำเสนอนวัตกรรมที่น่าสนใจของบรรดานักออกแบบอินเดีย ในส่วนนี้ก็ต้องทำการค้นคว้าหนักเหมือนกันค่ะ ต้องบินไปพบดีไซเนอร์ที่อินเดียเพื่อพูดคุยและขอยืมงานมาจัดแสดงด้วย” ผู้เข้าชมงานนี้ถึงได้เห็นทั้งเสื้อผ้าคอลเลกชันล่าสุดจากรันเวย์ในอินเดียไปจนถึงชุดจากอภิมหาภาพยนตร์ทุนสูงเรื่องดังอย่าง ‘Devdas’ ที่ออกแบบโดยซานดีป คอนสลาแห่งห้องเสื้อ Abu Jani-Sandeep Khosla ที่แต่งตัวให้นักแสดงอังกฤษไปเดินพรมแดงมาแล้วมากมาย ซึ่งในเทศกาลนี้ เขาให้ยืมชุดเก่งที่หนักมากจนนางเอกสาว มาธุรี ทีกษิต ใส่เต้นในเรื่องไม่ได้ แต่ก็อลังการจนทิ้งไม่ลงและใช้ใส่ถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ให้หนังได้อย่างเดียว นั่นเพราะงานทำมือชุดนี้ตกแต่งด้วยกระจกทั่วชุด
 
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Theguardian.com, artfund.org และ hali.com
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ