Muse Around The World
ปลุกโลกของแมลงให้มีชีวิตในโลกออนไลน์
Muse Around The World
11 พ.ย. 59 2K

ผู้เขียน : Administrator

ภายใต้แสงไฟสว่างจ้าในห้องบนชั้นสามของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเบอร์ลิน (The Berlin Museum of Natural History) เต็มไปด้วยตู้ลิ้นชักเก็บตัวอย่างของแมลงนานาชนิดที่ถูกตรึงไว้ด้วยหมุดสตัฟฟ์ แมลงเหล่านั้นสีสันสวยงามสดใสราวกับอัญมณีมีค่า และยังคงสภาพเหมือนเช่นครั้งแรกที่มันได้รับเลือกให้เข้ามาอยู่ในคอลเล็กชั่นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ อเล็กซานเดอร์ กรูปา (Alexander Kroupa) นักชีววิทยาพร้อมเพื่อนร่วมงานอีก 14 ชีวิตกำลังทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อนำตัวอย่างแมลงทั้งหมดมาผ่านกระบวนการดิจิตัลเพื่อจัดทำเป็นภาพสามมิติความคมชัดสูงสำหรับเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์
 
 
ไม่เพียงแต่ที่นี่เท่านั้น หากยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งในโลกที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตัลเพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาตัวอย่างที่วางแน่นิ่งอยู่บนหิ้งหรือนอนให้ฝุ่นจับอยู่ในตู้ลิ้นชักได้ออกมาอวดโฉมต่อสายตาประชาชน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวไกลในปัจจุบันทำให้ภาพของตัวอย่างมีความคมชัดสูงและแสดงข้อมูลได้ละเอียดถี่ถ้วนกว่าการสแกนภาพแบบปรกติ นี่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่ออนาคตของการค้นคว้าวิจัยในองค์ความรู้ด้านชีววิทยาและการอนุรักษ์
 
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเบอร์ลินมีตัวอย่างจัดเก็บอยู่มากกว่า 35,000 ลิ้นชัก รวมจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้นกว่า 15 ล้านตัวอย่าง การจัดเก็บตัวอย่างในรูปแบบดิจิตัลนี้จึงต้องอาศัยระยะเวลาที่เนิ่นนานและความตั้งใจอย่างแรงกล้า การดำเนินงานต้องเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบและระมัดระวังที่สุด ทั้งการเคลื่อนย้ายตัวอย่าง การปัดฝุ่นทำความสะอาด และบางตัวอย่างก็ต้องผ่านการสแกนแบบความคมชัดสูงเพื่อให้รายละเอียดยังคงความชัดเจนแม้ภาพจะถูกขยายเพื่อดูระยะใกล้ แต่ละขั้นตอนจะผิดพลาดไม่ได้เนื่องจากตัวอย่างเหล่านี้เปราะบางมาก หากชิ้นส่วนหลุดร่วงหรือแตกหักเสียหายก็จะซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ ยิ่งเป็นตัวอย่างต้นแบบยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ (ตัวอย่างต้นแบบ [type specimens] คือตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่ถือเป็นต้นสายพันธุ์ สัตว์ต่างๆ จะถูกจำแนกตามลักษณะที่เชื่อมโยงและคล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบของสายพันธุ์นั้นๆ)
 
 
ขั้นตอนการจัดเก็บตัวอย่างต้นแบบในรูปแบบดิจิตัลโดยทั่วไปจะประกอบด้วยการสแกนภาพท่อนบน ท่อนล่าง และด้านข้างของตัวอย่าง แต่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเบอร์ลินได้สร้างมิติใหม่ที่เหนือกว่านั้น ตัวอย่างต้นแบบจะถูกวางบนจานหมุนที่อยู่ในกล่องไฟ (lightbox) และใช้เลนส์ถ่ายใกล้หรือเลนส์มาโคร (macro lens) ถ่ายโดยรอบตัวอย่างต้นแบบ และนำไปปะติดปะต่อให้ออกมาเป็นภาพเดียวด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องการดูตัวอย่างต้นแบบนี้เลือกดาวน์โหลดภาพในมุมต่างๆ มาดูได้ถึงร้อยมุม และด้วยเทคโนโลยีการบีบอัดภาพและใช้อัลกอริทึมแบบเดียวกับที่กูเกิ้ลแมพส์ (Google Maps) ใช้ ภาพที่ได้จึงมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปและสามารถขยายดูส่วนต่างๆของตัวอย่างต้นแบบได้โดยสะดวก
 
 
การจัดเก็บตัวอย่างในรูปแบบดิจิตัลของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเบอร์ลินเน้นที่ตัวอย่างแมลง แต่ยังมีอีกหลายสถาบันที่กำลังดำเนินการกับตัวอย่างสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และปลา แต่มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ทำได้ละเอียดลออเทียบเท่าที่นี่ การสร้างภาพสามมิติความคมชัดสูงของทั้งตัวอย่างต้นแบบและตัวอย่างทั่วไปเช่นนี้เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โลกที่นักวิทยาศาสตร์เมื่อทศวรรษก่อนได้แต่ใฝ่ฝันถึง และประโยชน์ที่ได้มิใช่เพียงการต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาดูภาพตัวอย่างเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นนักเรียนนักศึกษาที่สนใจให้มุ่งมั่นมาประกอบอาชีพทางด้านชีววิทยาและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 
 
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Nytimes.com
 
 
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ