เปิดตัว ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!
ข่าวสารองค์กร
06 มี.ค. 60 8K

               มิวเซียมสยาม เปิดตัว ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน! นิทรรศการที่จะพาผู้ชมไปร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอย่าง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” โดยมุ่งสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมการเรียนรู้สังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ผ่านบทเรียนครั้งสำคัญในอดีตที่มีผลกระทบต่อเนื่องมายังสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ นิทรรศการฯ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Back to School” โดยจำลองบรรยากาศการเรียนรู้ในลักษณะของห้องเรียน และบางส่วนของโรงเรียน อันประกอบไปด้วย 8 โซน อาทิ โซนกำแพงข่าวเล่าสถานการณ์ สะท้อนวิกฤตต้มยำกุ้งด้วยภาพการ์ตูนของการ์ตูนนิสต์ในยุคนั้น โซนห้องภาระศึกษา แสดงภาระหนี้ที่คนไทยต้องแบกไว้ แม้วิกฤตจะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้ว โซนประสบการณ์ชีวิต นำเสนอสังคมไทยในช่วงฟองสบู่แตก  หนทางเอาตัวรอด โซนวิชาความน่าจะเป็น เผยเหตุปัจจัยของการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง โซนการงานพื้นฐานอาชีพ นำเสนอข้อคิด เพื่อเป็นแนวทางหรือภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นใหม่ไว้ศึกษา ฯลฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของนิทรรศการได้ที่ https://www.museumsiam.org/ve-detail.php?MID=5&CID=20&CONID=2071&SCID=84)

            นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นอุบัติการณ์ครั้งสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย ที่ส่งผลกระทบแทรกซึมไปในแทบทุกอณูของสังคม ทั้งในภาคเมือง ภาคชนบท ภาคธุรกิจ ภาคการเมือง และภาควัฒนธรรม ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาเกือบ สองทศวรรษแล้ว แต่ประดิษฐกรรมมากมายที่กำเนิดจากยุคต้มยำกุ้ง อาทิ การเกิดขึ้นของอาชีพฟรีแลนซ์ การเกิดกระแสธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน การเกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือการเดินตามแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว นั้นยังคงดำรงอยู่และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นรากฐานและลักษณะพิเศษของสังคมไทยในปัจจุบัน

                ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 20 ปี ของวิฤตดังกล่าว มิวเซียมสยาม ในฐานะพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ได้เปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียนชุด “ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!” ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Back to School” ที่หยิบยกวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาให้คนทั่วไปได้ทำความเข้าใจสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ผ่านการจำลองบรรยากาศของห้องเรียนและบางส่วนของโรงเรียน ด้วยเชื่อว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตจะช่วยให้คนไทยเข้าใจและตระหนักถึงการเรียนรู้สังคมไทยผ่านบทเรียนในอดีต ทั้งยังทำให้ได้สืบย้อนการต่อยอดของสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันว่ามีที่มาอย่างไร อันจะนำไปสู่การตัดสินใจกำหนดอนาคตของสังคมร่วมกัน โดยนิทรรศการชุดดังกล่าวจะพาทุกคนไปร่วมถอดบทเรียนจากอดีตผ่าน 8 โซนนิทรรศการ อันประกอบไปด้วย

  • โซน 1 สวนสรุป คือประตูด่านแรกที่จะนำผู้ชมไปเรียนรู้วิกฤตต้มยำกุ้งร่วมกัน ผ่านการนำเสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์   ในรูปแบบของสนามเด็กเล่นบริเวณกลางแจ้ง อาทิ “สไลเดอร์” สะท้อนการล้มคะมำของเศรษฐกิจไทย “ม้ากระดก” แสดงค่าเงินบาทก่อนและหลังลอยตัว “บาร์โหน” สะท้อนความรุ่งเรืองที่ไม่หวนคืนของตลาดหุ้นไทย
  • โซน 2 กำแพงข่าวเล่าสถานการณ์ เป็นการจำลองบรรยากาศกำแพงข่าวในโรงเรียนมาจัดแสดงข้อมูลสถานการณ์ต้มยำกุ้ง โดยใช้ภาพการ์ตูนของ “บัญชา คามิน” การ์ตูนนิสต์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้น มาสื่อสารทั้งข้อมูลและอารมณ์ของยุคสมัยในลักษณะ “ทีเล่น ทีจริง” อันจะช่วยให้ผู้ชมย้อนรำลึกถึงสังคมไทยในยุควิกฤติต้มยำกุ้งได้เป็นอย่างดี
  • โซน 3 ห้องภาระศึกษา โซนนี้ล้อมาจากวิชาพละศึกษา โดยมีเนื้อหาว่าด้วยภาระหนี้ที่คนไทยทุกคนต้อง แบกรับไว้แม้วิกฤตการณ์จะผ่านไปกว่า 20 แล้วก็ตาม ซึ่งจัดแสดงข้อมูลโดยใช้เครื่องมือในการออกกำลัง ได้แก่ ดรัมเบลล์ เป็นสื่อนำ
  • โซน 4 ห้องสันทนาการ เป็นโซนที่จัดให้มีบรรยากาศสบายๆ พร้อมนำเสนอสังคมในยุคฟองสบู่ ผ่านสื่อภาพยนตร์ และวัตถุจัดแสดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไม้กอล์ฟสร้างคอนเนคชั่นธุรกิจ กระเป๋าแบรนด์เนมที่นำเทรนด์ในยุคนั้น เป็นต้น
  • โซน 5 ประสบการณ์ชีวิต เสนอข้อมูลช่วงฟองสบู่แตก และชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นด้านลบ หรือด้านบวก ตลอดจนทางออกต่างๆ ที่คนในสังคมไทยดิ้นรน ณ เวลานั้น เช่น ผ้าป่าช่วยชาติ ตลาดเปิดท้ายขายของ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
  • โซน 6 วิชาความน่าจะเป็น เผยเหตุปัจจัยของการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งใน 5 แนวทาง ผ่านมุมมองของ
    “ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทย อันประกอบไปด้วย ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย คอรัปชั่น        และทุนนิยมพวกพ้อง ภาวะย่ามใจทางศีลธรรม การแข่งขันการลดค่าเงิน และความตื่นตระหนกทางการเงิน
  • โซน 7 การงานพื้นฐานอาชีพ นำเสนอข้อคิด บทเรียน จากคนในอาชีพต่างๆ อาทิ นักเขียน นักแปล สื่อมวลชน นักออกแบบแนวคิด นักทำภาพยนตร์ เจ้าของธุรกิจ ผู้เคยผ่าน หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ผ่านบทสัมภาษณ์เพื่อเป็นแนวทางหรือภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นใหม่ไว้ศึกษา
  • โซน 8 วิชาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต เป็นการสรุปรวบยอด และสร้างการแบ่งปันประสบการณ์ การมีส่วนร่วมของ       ผู้ชมต่อนิทรรศการ ผ่านการแสดงความคิดเห็น

                นอกจากนี้ ในการจัดทำนิทรรศการ  ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!  ยังได้มีการรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากสาธารณชน โดยใช้กระบวนการของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อให้นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน (Inclusive Exhibition) ตามแนวทางของการจัดการพิพิธภัณฑ์สากล ซึ่งทำให้การจัดนิทรรศการครั้งนี้ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การจัดนิทรรศการเพื่อให้การเรียนรู้ แต่ยังสำคัญในแง่ของรูปแบบ และวิธีการได้มาซึ่งความรู้ที่มีที่มาจากประสบการณ์ของบุคคลร่วมสมัย โดยไม่ใช่ความรู้จากนักวิชาการเท่านั้น รวมถึงจะมีการกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบนิทรรศการที่หลากหลาย และเน้นการมีส่วนร่วมของคนทั่วไป เช่น การทัวร์โครงการในพระราชดำริสวนจิตรลดาเพื่อให้เห็นแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงวางไว้เป็นแนวทางเพื่อแก้ปัญหาวิกฤต การเปิดตลาดนัดคนเคยรวย ซึ่งเป็นตลาดขายของแบกะดินในลักษณะที่เกิดเมื่อ 20 ปีก่อน โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปนำข้าวของของตนเองมาขาย เป็นต้น นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย

                ล่าสุด มิวเซียมสยามได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน! พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “ถอดไลฟ์สไตล์คนยุค 2540 ผ่านบทเรียนต้มยำกุ้งวิทยา” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ อย่างไรดี นิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)
ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan ทั้งนี้สำหรับหน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อเข้าได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 413



ย้อนกลับ