สื่อการเรียนรู้
เกมก่อร่างสร้างเรือนไทย
สื่อการเรียนรู้
25 พ.ย. 58 2K

ผู้เขียน : Administrator

เกมก่อร่างสร้างเรือนไทย


 

1.หลังคาเรือนไทยภาคกลางทำไมต้องหน้าจั่ว?
ด้วยสภาพภูมิอากาศในเขตภาคกลางเป็นแบบร้อนชื้นมีฝนตกชุก ช่างไทยจึงออกแบบหลังคาให้มีลักษณะรูปทรงจั่วสูงเพื่อช่วยในการระบายอากาศภายในให้หมุนเวียนถ่ายเทได้ดี เย็นสบายไม่ร้อน ความลาดเอียงของหลังคาช่วยให้น้ำฝนไหลระบายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ขังซึม หลังคาหน้าจั่ว เป็นเอกลักษณ์บ้านเรือนไทยที่แสดงถึงความสวยงามอ่อนช้อยของปั้นลม และตัวเหงาที่ใช้ปิดแนวกระเบื้องหลังคาให้เรียบร้อยและกันลมพัดกระเบื้องปลิว
2.เสาบ้านเรือนไทยสู้น้ำท่วม
จากสภาพภูมิประเทศพื้นที่ภาคกลางเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก บ้านเรือนไทยจึงต้องตั้งเสาสูงเพื่อยกพื้นเรือนหนีน้ำท่วม และในสภาพปกติพื้นที่บริเวณใต้ถุนยังใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
ลักษณะของเสาเรือนมักใช้ไม้ทั้งต้นเนื่องด้วยมีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้ดี โดยช่งจะใช้วิธีเอนปลายเสาเข้าด้านในสอบเข้าหากัน เพื่อช่วยในการถ่ายเทน้ำหนักของตัวเรือนมายังพื้นดิน ความเอียงของเสายังทำให้ตัวเรือนมีความมั่นคงแข็งแรง ช่วยต้านกระแสลมหรือกระแสน้ำได้อีกด้วย
3.มหัศจรรย์ฝาปะกนเรือนไทย ไม่ใช้ตะปู
รูปแบบผนังของฝาเรือนไทยภาคกลางมีลักษณะพิเศษ ฝาปะกนเป็นฝาบ้านสำเร็จรูปแสดงถึงภูมิปัญญาช่างไทยที่ได้คิดค้นวิธีการนำไม้ชิ้นเล็กๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นผนังบ้านด้วยวิธีการเซาะร่องและสอดยึดกันอย่างเป็นระบบ ผนังแต่ละด้านนำมาประกอบเข้ากับโครงตัวเรือน ยึดติดด้วยเดือยไม้และถอดประกอบได้เป็นชิ้นส่วน สะดวกต่อการปลูกสร้างและขนย้าย โครงสร้างของผนังมีคุณสมบัติยืดหยุ่นเนื่องจากประกอบกันขึ้นจากไม้ชิ้นเล็กๆ และยังช่วยระบายอากาศได้ดี ส่วนฝาเรือนแบบขัดแตะจะใช้ไม้ไผ่มาสานขัดกันเป็นฝาผนังทำให้ผนังมีช่องว่างและความโปร่ง นิยมใช้เป็นฝาผนังเรือนครัวเพื่อระบายควันและหมุนเวียนอากาศ
4.ทำไมต้องใช้กระเบื้องมุงหลังคา?
หลังคาบ้านเรือนไทยมีลักษณะลาดชันและอ่อนช้อย การมุงหลังคาจำเป็นต้องใช้กระเบื้องขนาดเล็กวางเรียงเป็นแถวและซ้อนเหลื่อมกันเพื่อให้น้ำหนักของกระเบื้องกดทับ เสริมความแข็งแรงไม่ให้เลื่อนหลุดและช่วยให้น้ำฝนไหลผ่านได้ดี การใช้กระเบื้องมามุงหลังคาบ้านนอกจากแข้งแรงทนทานแล้วยังแสดงถึงสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ที่เป็นเจ้าของเรือนได้อีกด้วย

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ