Museum Academy 2017
หลักการและเหตุผล
Museum Academy 2017
23 มี.ค. 60 5K

ผู้เขียน : Administrator

โครงการอบรมวิชาการและทักษะปฏิบัติการด้านพิพิธภัณฑ์

 (Museum Academy 2017)

 

 ขออภัย ขณะนี้หมดเขตการรับสมัคร Museum Academy 2017 แล้ว

โปรดติดตามประกาศผลการคัดเลือกผู้ร่วมชั้นเรียนได้ในวันที่ 11 เมษายน 2560 เวลา 12.00 น. 

หลักการและเหตุผล

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ในกำกับของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ได้ดำเนินงานโครงการวิจัยองค์ความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ คือ (1) การเป็นองค์กรการเรียนรู้ขนาดใหญ่ ที่สมบูรณ์ หลากหลายและเป็นองค์กรนำทางด้านฐานความรู้ โดยสอดคล้องกับพันธกิจของ สพร. (2) การสร้างพิพิธภัณฑ์ต้นแบบและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้


นอกจากนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ยังสนับสนุนและร่วมมือเป็นเครือข่ายกับพิพิธภัณฑ์อื่นทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาและพิพิธภัณฑ์ศึกษาที่เหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้โดยการจัดประชุมวิชาการ การจัดเสวนาทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคม ศิลปวัฒนธรรม และชาติพันธุ์วิทยา ที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนในสังคม หรือเรื่องราวในอดีตที่มีผลกับปัจจุบัน อันเป็นการเผยแพร่และต่อยอดองค์ความรู้สู่สาธารณชน

 

โดยฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มีแผนการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษา โดยเห็นว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยมากขึ้น วัฒนธรรมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนในสังคมไทย โดยพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศูนย์การเรียนรู้ในประเทศไทยได้ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งสาระเชิงบันเทิง รวมทั้งสถานที่สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เมื่อพิพิธภัณฑ์มีบทบาทต่อคนในสังคมมากขึ้น บุคลากรในสายงานพิพิธภัณฑ์ก็มีความจำเป็นที่ต้องสร้าง “งาน” ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในสังคม คนทำงานพิพิธภัณฑ์ก็จำเป็นต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้วยเทคนิคและวิธีการอย่างใหม่ โดยผู้ปฏิบัติงานพิพิธภัณฑ์ควรทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งในเรื่องของประเด็นเนื้อหา และวิธีการเรียนรู้ของผู้ชม ซึ่งควรรวมไปถึงรสนิยมการใช้ชีวิตและวิธีการใฝ่หาความรู้ของผู้ชมกลุ่มต่างๆ

 

โครงการอบรมวิชาการและทักษะปฏิบัติการด้านพิพิธภัณฑ์ (Museum Academy 2017) จะทำให้เกิดความตื่นตัวของการทำงานพิพิธภัณฑ์ โดยคาดหวังให้ผู้รับการอบรมเกิดการประยุกต์ใช้กับงานของตน ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือทางวิชาการกับ องค์กรพิพิธภัณฑ์ นักวิชาการ นักปฏิบัติการด้านพิพิธภัณฑ์ บนพื้นฐานของแนวคิด “Learning by Doing” หลักสูตรที่จัดในปีนี้ ประกอบด้วย

 

1.สื่อในพิพิธภัณฑ์ทำอย่างไรให้สนุก?
(Creative Trail in museum)
เรียนรู้วิธีการทำสื่อในงานพิพิธภัณฑ์ การสร้างสื่อหรือเครื่องมืออื่นๆ

เพื่อให้งานการศึกษาในพิพิธภัณฑ์สนุกและมีศักยภาพมากขึ้น
เหมาะสำหรับ นักการศึกษา ภัณฑารักษ์ และครู
วิทยากร : โอ๊ต-พัฒนพงศ์ มณเฑียร
27-29 เมษายน 2560

 

2.การจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์
(Civic space and Museum Supporting Facilities)
เมื่อพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นสถานที่แค่จัดแสดงนิทรรศการแต่มีความหมายและเป็นที่ใช้เวลาของผู้ชม

เราจะวางแผนทางกายภาพพิพิธภัณฑ์อย่างไรให้สอดคล้องกับผู้ใช้พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

เรียนรู้การออกแบบและปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่แห่งความสะดวกสบาย

และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ
เหมาะสำหรับ ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ นักออกแบบสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ภัณฑารักษ์

เจ้าหน้าที่ดูแลงานการใช้พื้นที่ ผู้สนใจการใช้พื้นที่สาธารณะ
วิทยากร : ผศ.ดร.ณัฏฐิณี กาญจนาภรณ์ / อาจารย์ ชนิดา ล้ำทวีไพศาล
4-6 พฤษภาคม 2560

 

3.ภาษาจากของสะสม: การสื่อสารในงานภัณฑารักษ์
(Language of Collections: Mediation in Curatorial Practice)
การทำงานของภัณฑารักษ์ คือ การแปลความและจัดแสดงองค์ความรู้ผ่านการทำงานกับของสะสม

หลักสูตรนี้เน้นการเรียนให้รู้วิธีการและเครื่องมือที่ช่วยในการทำความเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งกับของสะสม

เพื่อให้สิ่งของในนิทรรศการสื่อสารต่อผู้ชมด้วยภาษาของตัวมันเอง
เหมาะสำหรับ ภัณฑารักษ์ นักออกแบบเนื้อหา คนทำนิทรรศการ นักออกแบบนิทรรศการ
วิทยากร : วิภาช ภูริชานนท์ และกิตติมา จารีประสิทธิ์
18-20 พฤษภาคม 2560

 

4.ปฏิบัติการ ‘สวย’ ด้วย ‘แสง’
(Lighting Design for Exhibition)
เรียนรู้การจัดแสงให้วัตถุจัดแสดงโดดเด่นมีชีวิตชีวา สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของวัตถุออกมาได้อย่างชัดเจน

พร้อมกับการออกแบบแสงที่คำนึงถึงเนื้อหาและความปลอดภัยของวัตถุจัดแสดง
เหมาะสำหรับ ภัณฑารักษ์ ช่างเทคนิค นักออกแบบแสง สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน
วิทยากร : ฐะนียา ยุกตะทัต FOS Lighting Design Studio
25-27 พฤษภาคม 2560

 

โดยจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้น จำนวน 4 หัวข้อ หัวข้อละ 3 วัน ซึ่งจะจัดในวันพฤหัสบดี, วันศุกร์ และวันเสาร์ โครงสร้างการอบรมประกอบด้วย การฟังบรรยายแนวคิดและทฤษฎีเฉพาะเรื่องที่มีความทันสมัย การออกภาคสนามเพื่อดูตัวอย่างงาน และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยใช้นิทรรศการของมิวเซียมสยามและพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เป็นฐานการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เข้าการอบรมได้ฝึกกระบวนการคิด การวางแผน และการแก้ปัญหาของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติการจริง

 

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรมและการคัดเลือก การฝึกอบรมเปิดกว้างให้กับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ภัณฑารักษ์ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับสายงานพิพิธภัณฑ์ทุกแขนง โดยผู้สนใจสมัครต้องระบุเหตุผลที่ต้องการเข้าร่วมฝึกอบรมและความคาดหวังต่อการประยุกต์ใช้กับงานหรือความสนใจของตนเอง โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

 

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เห็นว่าโครงการฯ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกันจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ โดยเป็นการลงลึกถึงทฤษฎีและปฏิบัติการที่แตกต่างจากหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของไทย สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงวิชาการพิพิธภัณฑ์ศึกษาได้ ซึ่งจะทำให้บุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์เข้าใจถึงส่วนประกอบต่างๆ ของงานพิพิธภัณฑ์และการสร้างสรรค์งานพิพิธภัณฑ์ให้สามารถสื่อสารกับผู้เข้าชมให้ได้รับประสบการณ์ที่ชัดเจน และสร้างความแปลกใหม่ในการเรียนรู้ นอกจากนี้ บุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์จะได้มีแรงบันดาลใจในการต่อยอดความรู้และทักษะเพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเกิดการพัฒนาในสายงานพิพิธภัณฑ์ต่อไป

 

วัตถุประสงค์

1) เพื่อเชื่อมคนทำงานพิพิธภัณฑ์ โดยมี สพร. เป็นแกนกลางในการส่งมอบองค์ความรู้ เพื่อสร้างภาคีการเรียนรู้ร่วมกันจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ภาคปฏิบัติ และชุมชน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา
2) เพื่อเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาแก่บุคลากรของสพร. และบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องประวัติและพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ บทบาทต่อสังคม นิยามและประเภทของพิพิธภัณฑ์ เทคนิคเชิงปฏิบัติการในงานพิพิธภัณฑ์และวิธีการในการสื่อสาร รวมถึงการบริหารจัดการ การดำเนินงานต่างๆ รูปแบบองค์กร การจัดการ และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

3) เพื่อเพิ่มช่องทางงานบริการทางวิชาการในการบ่มเพาะแนวคิดการจัดการพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ และขยายผลต้นแบบการเรียนรู้สู่สังคม

 

กลุ่มเป้าหมาย :

หลักสูตรละจำนวน 20 คน
นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับสายงานพิพิธภัณฑ์ทุกแขนง และผู้สนใจทั่วไป

 

ผู้สนับสนุน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผู้รับผิดชอบโครงการ
ฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ข้อมูลเพิ่มเติม 02 225 2777 ต่อ 420
อีเมล

แกลเลอรี่
แท็ก :


ย้อนกลับ