Museum Core
พระศิวะดุร้ายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Museum Core
22 พ.ค. 66 1K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : เตชวัน ปัญญาวุฒิธรรม

               ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะเอเชียและโบราณวัตถุจำนวนมากที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยแบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องศิลปะเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี และห้องศรีวิชัย ซึ่งไล่เรียงกันเป็นลำดับให้เราได้ชื่นชมตามห้วงเวลาที่ไหลเวียนไปในยุคสมัยที่กำหนดขึ้นโดยประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก่อนส่งผู้ชมเข้าสู่ยุคสมัยถัดไปที่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

               ห้องจัดแสดงห้องสุดท้ายในอาคารมหาสุรสิงหนาท คือ ห้องศรีวิชัย ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุในยุคศรีวิชัยที่ค้นพบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและวัตถุจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ภายในห้องนี้มีวัตถุจัดแสดงเป็นจำนวนมาก แต่วัตถุจัดแสดงชิ้นเด่นแห่งยุคสมัยคงหนีไม่พ้นพระอวโลกิเตศวรสำริด จากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังคงมีวัตถุอีกหลายชิ้นที่ตั้งโดดเด่นดึงสายตาจากผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นพระวิษณุศิลาองค์โตจากเขาพระเหนือ พระพุทธรูปปางนาคปรกจากไชยา หรือพระพิฆเนศวรจากเกาะชวา ทว่า มีวัตถุที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งที่มีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ไม่ควรที่จะพลาดชม นั้นก็คือ “พระวฏุกไภรวะ” จากเมืองเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

 

ภาพที่ 1 ห้องศรีวิชัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

พระวฏุกไภรวะคือใคร?

               เทพองค์นี้คงไม่ใช่เทพที่ชื่อคุ้นหูหรือเป็นที่รู้จักกันมากนักสำหรับคนไทย แต่ถ้าหากกล่าวถึงชื่อ พระศิวะหรือพระอิศวร คงคุ้นเคยหรือรู้จักมักคุ้นกับมหาเทพพระองค์นี้กันเป็นอย่างดี ซึ่งพระวฏุกไภรวะหรือพระวฏุกไภรพ ก็คือปางหนึ่งของพระศิวะ หากแต่ปรากฏในรูปของพระศิวะปางดุร้าย

               “วฏุกะ” เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤตที่แปลว่า เด็กผู้ชาย ส่วน “ไภรวะ” ก็คือ พระศิวะปางดุร้าย ดังนั้น พระวฏุกไภรวะ จึงหมายถึง พระศิวะปางดุร้ายในรูปของเด็กผู้ชาย ซึ่งในคัมภีร์ลิงคปุราณะและสกันทะปุราณะกล่าวว่า พระวฏุกไภรวะเป็นร่างที่ปรากฏขึ้นเพื่อปราบความดุร้ายของกาละซึ่งทำให้เหล่าเทพหวาดกลัว อีกทั้งในคัมภีร์
ลิงคปุราณะยังระบุอีกว่าพระศิวะในรูปของเด็กผู้ชายยังแบ่งภาคเป็น 8 รูป เพื่อปกป้องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 8 แห่ง โดยการสร้างพระศิวะในรูปแบบที่ดุร้ายนั้น มีแนวคิดที่มุ่งประสงค์เพื่อปราบความชั่วร้ายอื่น ๆ ที่คอยเบียดเบียนเหล่ามนุษย์ และเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายทั้งปวงให้ออกไป โดยการบูชาพระศิวะไภรวะนั้น มีความนิยมอยู่ในหมู่ผู้นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ลัทธิกปาลิกะ อันเป็นลัทธิที่เหล่าโยคีเปลือยกาย เอาขี้เถ้าทาตัว สวมสายยัชโญปวีต ใส่เครื่องประดับที่ทำจากกระดูกคน และกินอาหารจากถ้วยหัวกะโหลก ซึ่งเป็นลัทธิที่เก่าแก่ที่สุดลัทธิหนึ่งของ
ไศวนิกาย

 

 

ภาพที่ 2 ประติมากรรมพระวฏุกไภรวะ จัดแสดง ณ ห้องศรีวิชัย

 

ไฉนจึงไม่ควรพลาดชม?

               สำหรับพระวฏุกไภรวะในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนั้น เป็นพระวฏุกไภรวะซึ่งพบที่เมืองเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นเมืองโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งในคาบสมุทรภาคใต้ โดยพระวฏุกไภรวะองค์นี้ เป็นประติมากรรมศิลา นูนสูง ศิลปะโจฬะ สูง 51 เซนติเมตร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 มีลักษณะยืนตรงแบบสมภังค์ ทรงเปลือยพระวรกาย มีสามพระเนตร มีเขี้ยว พระเกศาสยายออกเป็นเปลวเพลิง พระเกศาค่อนไปด้านหลังประดับพระจันทร์เสี้ยว สวมสร้อยลูกประคำยาวถึงเข่า สวมสายยัชโญปวีตรูปงูและสายกฏิสูตร ประดับเครื่องพระดับเป็นสร้อยคอ ต่างหู กำไลมือ และกำไลเท้า มี 4 พระหัตถ์ โดยพระหัตถ์ขวาล่างถือบ่วงบาศ พระหัตถ์ขวาบนถือฑมรุ (บัณเฑาะว์หรือกลองสองหน้า) พระหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยหัวกะโหลก และพระหัตถ์ซ้ายบนถือตรีศูล และมีสุนัขอยู่ข้างหลังพระองค์

                ประติมากรรมพระวฏุกไภรวะองค์นี้ เป็นประติมากรรมพระวฏุกไภรวะองค์แรกและเพียงองค์เดียวที่พบในประเทศไทย จึงถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญยิ่งที่ไม่สามารถหาชมจากที่ไหนได้อีกในประเทศ ดังนั้น ผู้ที่ไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือผู้ที่สนใจจึงไม่ควรจะพลาดชม โดยประติมากรรมองค์นี้ จัดแสดงอยู่ใกล้กับองค์พระสุริยเทพ ด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์เด่นจากไชยา ในห้องศรีวิชัย ซึ่งสามารถเข้าชมได้ตามเวลาทำการปรกติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือ วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 8.30 - 16.00 น. หรือ
ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ ก็สามารถรับชมพระวฏุกไภรวะองค์นี้ รวมถึงวัตถุชิ้นอื่น ๆ ได้จากหน้าจอโทรศัพท์ของท่านผ่านระบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (finearts.go.th) ซึ่งในระบบนี้ ยังคงเป็นพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก่อนมีการปรับปรุง จึงสามารถรับชมประติมากรรมพระวฏุกไภรวะ ได้ที่ห้องศิลปะชวา ส่วนจัดแสดง (2) อาคารมหาสุรสิงหนาท

 

 

ภาพที่ 3 ประติมากรรมพระวฏุกไภรวะ บนระบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum)

 

               ท้ายนี้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีวัตถุจัดแสดงอีกจำนวนมากที่อาจไม่ได้โดดเด่น ไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และไม่ดึงดูดสายตาของผู้เยี่ยมชม ทว่า วัตถุเหล่านั้นต่างมีเรื่องราวของตัวเองที่น่าสนใจ ตั้งรอให้ทุกท่านได้ชื่นชมและถอดรหัสเรื่องราวของพวกเขา ดังนั้น เมื่อคุณได้ไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คราใด อย่าลืมที่เข้าไปสำรวจวัตถุที่อาจหลบซ้อนสายตาของคุณอยู่ ซึ่งอาจทำให้คุณได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจจากวัตถุนอกสายตาเหล่านั้น เฉกเช่นเรื่องราวของพระวฏุกไภรวะพระองค์นี้

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ