Museum Core
ทะเลสาบน้ำเค็มโอคโปสี แหล่งเกลือหล่อเลี้ยงชีวีหญิงอีโบ
Museum Core
22 พ.ค. 66 747

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               เกลือ... เครื่องปรุงคู่ครัวที่ต้องมีติดบ้าน ผู้คนใช้เกลือเพื่อถนอมอาหาร รวมถึงปรุงแต่งรสชาติให้กับเมนูต่างๆ ในสมัยดึกดำบรรพ์ เกลือมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์อารยธรรม จักรวรรดิโบราณต่างๆ ในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นกานา (Ghana) มาลี (Mali) หรือซงไก (Songhai) ล้วนมั่งคั่งขึ้นได้เพราะการค้าเกลือทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเกลือเป็นเครื่องปรุงที่มีค่าเทียบเท่าทองคำอย่างแท้จริง และแม้กาลเวลาจะผันแปร แต่เกลือยังคงอยู่คู่วิถีชีวิตของผู้คนไม่เปลี่ยนแปลง และในวันนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ที่ผูกพันกับเกลือมาแต่บางบรรพ์ สตรีในชุมชนดังกล่าวผลิตเกลือคุณภาพมานานนับศตวรรษ จนทำให้ดินแดนนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเกลือประจำชาติ (Salt of The Nation) หญิงเหล่านี้เป็นใคร และเพราะเหตุใดเกลือจึงมีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตของพวกหล่อนจนไม่อาจแยกจากกัน

               ลึกเข้าไปทางตะวันตกของกาฬทวีป ณ ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไนจีเรีย เป็นที่ตั้งของ “รัฐเอโบนยี (Ebonyi State)” ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็น “ชาวอีโบ (Igbo)” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดินแดนนี้ขึ้นชื่อเรื่องความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เอโบนยีถูกปกคลุมด้วยป่าฝนเขตร้อน และยังอุดมไปด้วยสินแร่ล้ำค่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว สังกะสี และหินอ่อน แต่สิ่งที่ทำให้เอโบนยีมีชื่อเสียงโด่งดังจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากเกลือชั้นดีที่ผลิตจาก “ทะเลสาบโอคโปสี (Okposi Lake)” ทะเลสาบน้ำเค็มในเขตโอฮาโอซารา (Ohaozara) ทางตอนใต้ของรัฐ เกลือจากทะเลสาบโอคโปสีมีความพิเศษกว่าแหล่งเกลืออื่นๆ ในประเทศ เนื่องจากมีเพียงสตรีอีโบเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงทะเลสาบและบริเวณใกล้เคียง

               ชาวอีโบมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนักล่าสัตว์สองคนจาก “ชุมชนโอคโปสี อะชารา (Okposi Achara)” นามว่า “เอควานา ชีตา (Ekwana Chita)” และ “อูตา อะนู (Uta Anoo)” ทั้งคู่ตามรอยสัตว์มาทั้งวัน เมื่อใกล้พลบค่ำก็เกิดความกระหายน้ำ สองนักล่าดั้นด้นหาแหล่งน้ำจืดในป่าใหญ่ ครั้นเสาะหาอยู่นาน พวกเขาก็มาถึงทะเลสาบแห่งหนึ่ง ทว่าเมื่อเริ่มดื่มของเหลวดับกระหาย ทั้งสองกลับสบถสาบานเป็นการใหญ่ เพราะน้ำในทะเลสาบเค็มปร่าจนไม่อาจดื่มได้ พวกเขานำความไปเล่าต่อเมื่อมาถึงหมู่บ้าน สตรีที่ได้ฟังเกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า บางทีสองนักล่าอาจพบสิ่งล้ำค่าเข้าให้แล้ว พวกหล่อนจึงใช้เวลายามว่างจากงานบ้านไปสำรวจทะเลสาบที่ว่า ครั้นลองผิดลองถูกอยู่นาน หญิงอีโบก็คิดหาวิธีสกัดเกลือจากน้ำเค็มในทะเลสาบจนสำเร็จ เหล่าเพศแม่ต่างถ่ายทอดวิธีลับในหมู่ชน จนกลายมาเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดในชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้

               ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าเหตุการณ์ในตำนานเกิดขึ้นเมื่อใด แต่การผลิตเกลือที่โอคโปสี อะชาราและชุมชนใกล้เคียงก็ปรากฏให้เห็นมานานกว่า 4 ศตวรรษ นอกจากทะเลสาบโอคโปสีแล้ว รัฐเอโบนยียังมีแหล่งเกลือใกล้กับเมืองหลวงอะบาคาลิคี (Abakaliki) และในรัฐเอนูกู (Enugu State) ที่อยู่ติดกันก็มีแหล่งเกลือที่เมืองอูบูรู (Uburu) ไม่ไกลจากแม่น้ำอะสู (Asu River) อย่างไรก็ตาม เกลือจากโอคโปสีได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากน้ำในทะเลสาบมีความเข้มข้นของเกลือสูงจากตะกอนเกลือที่ทับถมมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้การผลิตเกลือที่โอคโปสียังสามารถทำได้ตลอดทั้งปี แตกต่างจากเมืองอูบูรูที่ผลิตเกลือได้แค่ในฤดูแล้งเท่านั้น ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจึงนิยมมาจับจ่ายซื้อขายเกลือที่ “โอเดนอีโบ โอกโปสี (Odenigbo Okposi)” ตลาดค้าเกลือประจำถิ่นที่กลายมาเป็นแหล่งค้าเกลือแห่งสำคัญในประเทศไนจีเรีย

 

ภาพที่ 1 ตลาดค้าเกลือในรัฐเอโบนยี

แหล่งที่มาภาพ: Jovago.com. Ebonyi State: Salt of the Nation. (2016). [Online]. Accessed 2023 Feb 1. Available from: https://www.modernghana.com/lifestyle/8704/ebonyi-state-salt-of-the-nation.html

 

               ดังที่กล่าวถึงไปในข้างต้น มีเพียงสตรีอีโบจากชุมชนโอคโปสี อะชาราและ “โอคโปสี โอควู (Okposi Okwu)” ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงทะเลสาบ ในอดีตทั้งสองชุมชนเคยมีข้อพิพาทว่า ใครคือเจ้าของทะเลสาบน้ำเค็ม ชาวโอคโปสี อะชาราอ้างว่าคนของตนคือผู้ค้นพบทะเลสาบ ขณะที่ชาวโอคโปสี โอควูยืนกรานว่าแหล่งน้ำตั้งอยู่ในเขตของตน ข้อพิพาทครั้งนั้นจบลงเมื่อ “อูเนเค อูชา (Uneke Ucha)” ผู้อาวุโสจากหมู่บ้านโอคโปสี โอควูสังหารบุตรชายหัวปีของตนที่ทะเลสาบเพื่ออ้างสิทธิ์ครอบครองแหล่งน้ำ โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้สองชุมชนยอมโอนอ่อนแก่กัน สตรีจากสองหมู่บ้านจึงมีสิทธิ์ตักน้ำในทะเลสาบโดยไม่มีผู้ใดหวงห้ามอีกต่อไป

 

ภาพที่ 2 สตรีอีโบตักน้ำในทะเลสาบโอคโปสี

แหล่งที่มาภาพ: Nigeria Galleria. Okposi Salt Lake. (2021). [Online]. Accessed 2023 Feb 1. Available from: https://www.nigeriagalleria.com/Nigeria/States_Nigeria/Ebonyi/Okposi-Salt-Lake.html

 

               ในสมัยโบราณ ชุมชนอีโบมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติตามก่อนเข้าถึงทะเลสาบโอคโปสี อันได้แก่ 1. มีเพียงสตรีที่ได้รับอนุญาตให้ตักน้ำ ห้ามบุรุษคนใดเข้าใกล้ทะเลสาบเป็นอันขาด 2. สตรีที่มีรอบเดือนและเด็กหญิงที่ยังไม่ได้ออกเรือนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้ทะเลสาบ 3. ห้ามขับถ่ายในแหล่งน้ำและบริเวณโดยรอบ 4. หญิงทุกคนต้องถอดรองเท้าก่อนลงไปในทะเลสาบเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของน้ำเกลือ และ 5. สตรีต่างถิ่นสามารถเข้ามาตักน้ำได้แค่ในวันโอริเอ (Orie) ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนตามปฏิทินอีโบเท่านั้น

               ทะเลสาบโอคโปสีมีส่วนสำคัญในพิธีเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่ของเด็กหญิงในชุมชน หลังเสร็จสิ้นการร่วมคู่ในเรือนหอ กลุ่มสตรีอาวุโสเชื้อเชิญให้เจ้าสาวคนใหม่ร่วมตักน้ำที่ทะเลสาบเพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกหล่อนนำน้ำเค็มที่ได้ไปผสมกับดินโคลนเพื่อสร้าง “เอเว (Ewe)” หรือกระท่อมที่สตรีเป็นเจ้าของ และใช้โคลนที่เหลือก่อเป็นเนินดินที่เรียกว่า “โอคเปเรเด (Okperede)” เมื่อเนินดินถูกแดดจะเกิดผลึกเกลือตามธรรมชาติ ถือเป็นการเก็บรักษาเกลือแบบดั้งเดิม เมื่อหญิงใดต้องการนำเกลือมาใช้ หล่อนทุบก้อนดินเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำมาผสมกับน้ำจากทะเลสาบกรองลงในภาชนะ รอการต้มเพื่อทำเกลือต่อไป

               กรรมวิธีการทำเกลือที่โอคโปสีเริ่มต้นจากการตักน้ำขึ้นมาจากทะเลสาบ น้ำเค็มที่ได้ถูกนำมาพักที่ “โอฮู เอเว (Ohu Ewe)” หรือกระท่อมใกล้ทะเลสาบที่กลุ่มสตรีใช้ผลิตเกลือ พวกหล่อนนำขี้เถ้า ทราย และเส้นใยจากผลปาล์มตากแห้งใส่ลงใน “โอฟูฟู (Ofufu)” หม้อดินที่มีรูเล็กๆ ตรงก้น ก่อนรองก้นหม้อด้วยใบตองหรือกาบมะพร้าว หญิงอีโบเทน้ำเค็มลงในโอฟูฟูที่เตรียมไว้ แล้ววาง “อิเต อะจา (Ite Aja)” ชามขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เพื่อรองน้ำเกลือที่กรองสิ่งสกปรกออกแล้วทีละหยด น้ำเกลือที่ถูกกรองจนใสเรียกว่า “โอชิชิ (Ochichi)” โอชิชิจะถูกเทใส่ภาชนะจากโอฮู เอเวเพื่อนำไปต้มต่อที่บ้านหญิงแต่ละคน สตรีอีโบจะต้มโอชิชิใน “โอเร โอฮู (Ore Ohu)” หรือหม้อดินขนาดใหญ่ให้เหลือเพียงผลึกเกลือเมื่อน้ำแห้ง และเมื่อน้ำระเหยจนหมด เกลือที่เหลือถูกปั้นเป็นก้อนใน “อึนจา อาบา (Nja Agba)” ภาชนะที่ใช้ในการปั้นเกลือเพื่อรอการประกอบอาหารต่อไป

 

ภาพที่ 3 การทำเกลือแบบดั้งเดิมในชุมชนโอคโปสี

แหล่งที่มาภาพ: Okereke, Chris Sanctus. Ebonyi state: Ihe mere steeti a ji bụrụ "elelịa nwa ite". (2019). [Online]. Accessed 2023 Feb 1. Available from: https://www.bbc.com/igbo/afirika-48262039

 

               ชาวอีโบเชื่อว่าเกลือจากโอคโปสีมีประโยชน์เหลือหลาย พวกเขาใช้เกลือในการปรุงอาหาร รักษาโรค และประกอบพิธีกรรม คนท้องถิ่นนิยมดื่มโอชิชิหรือน้ำเกลือที่กรองแล้วเพื่อรักษาอาการปวดมวนท้อง ชาวบ้านใช้น้ำจากทะเลสาบมาล้างแผลเพราะเชื่อว่าน้ำเค็มช่วยป้องกันไม่ให้บาดแผลเน่าเปื่อย ในพิธีแต่งงานของผู้คนในชุมชนใกล้ทะเลสาบ คู่บ่าวสาวจะชิมเกลือร่วมกัน ถือเป็นการตกลงปลงใจในการครองคู่ นอกจากนี้ เกลือยังเป็นหนึ่งในสินสอดที่เจ้าบ่าวใช้สู่ขอเจ้าสาวจากครอบครัว และถูกใช้เป็นของขวัญในพิธีขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงพิธีต้อนรับการเกิดของทารกสู่อ้อมอกครอบครัว

               ในอดีตก่อนสมัยอาณานิคมเกลือถูกใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนแทนเงินตราในชุมชนใกล้ทะเลสาบ ก้อนเกลือที่นำมาปั้นมีขนาดและชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ได้แก่ เอซุนนู (Ezunnu) ก้อนเกลือ 1.5 กิโลกรัม และอึนนัวคาจา (Nnuakaja) ก้อนเกลือ 5 กิโลกรัม เกลือ 20 อึนนัวคาจาสามารถใช้แลกม้าเร็วได้ 1 ตัว ต่อมาเมื่ออังกฤษปกครองดินแดนนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกลือยังคงถูกใช้แทนเงินตราอาณานิคม เกลือ 12 อึนนัวคาจามีค่าเท่ากับเงิน 1 ชิลลิงก์ และเกลือ 2 เอซุนนูมีค่าเท่ากับเงินครึ่งเพนนี การแลกเปลี่ยนดังกล่าวได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในดินแดนอีโบร่วมกับหอยเบี้ยและเงินเหรียญมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

               ทุกวันนี้ แม้ว่าเกลือจากโอคโปสีจะไม่ได้ถูกใช้แทนเงินตราเหมือนอย่างเก่า แต่เกลือจากทะเลสาบน้ำเค็มยังคงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตสตรีชาวอีโบ แตกต่างจากเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์ เกลือจากทะเลสาบเป็นแหล่งรายได้ที่ไม่ขึ้นอยู่กับฝนฟ้าและโรคภัย กลุ่มสตรีจึงยังคงผลิตเกลือต่อไปเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว อย่างไรก็ดี แม้จะมีชื่อเสียงระดับประเทศ ทว่าหญิงชาวบ้านยังคงเผชิญกับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรที่ยากลำบากระหว่างบ้าน ทะเลสาบ และตลาด มลพิษจากสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ หรือแม้แต่การถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางที่รับเกลือไปขาย ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตเกลือโอคโปสีทั้งสิ้น เราจึงได้แต่หวังว่าภาครัฐจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือกลุ่มสตรีผู้ทำเกลือท้องถิ่น ทั้งการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัย รวมถึงการตั้งราคาซื้อขายที่เป็นธรรม เพื่อให้วัฒนธรรมการทำเกลือโอคโปสียังคงอยู่คู่ชุมชนต่อไป ดังที่เคยเป็นมานานกว่าสี่ร้อยปี

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Chukwu, Gloria. Igbo Women and Economic Transformation in Southeastern Nigeria, 1900-1960.

London: Routledge, 2005.

Isichei, Elizabeth. A History of the Igbo People. London: Palgrave Macmillan, 1975.

Iwuchukwu, Juliana Chinasa et al.. Traditional Salt Processing Activities of Rural Women in Ebonyi

State, Nigeria, Journal of Agricultural Extension Vol. 25 (4): 72 – 80. Ilorin: EScience Press and Center for Community Learning (CCL), 2021.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ