Museum Core
เมืองสมุทรสงคราม ได้ชื่อมาจากตำแหน่งเจ้าเมืองเแม่กลอง ที่ปลายน้ำแม่กลองในสมัยกรุงศรีอยุธยา
Museum Core
19 เม.ย. 66 1K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               ‘แม่กลอง’ เป็นลุ่มน้ำที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของผู้คนต่างๆ เก่าแก่ที่สุด ในบริเวณพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เกิดจากแม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อยไหลมารวมกันที่ อ. เมืองกาญจนบุรี  จ. กาญจนบุรี ไหลผ่าน จ. ราชบุรี และ จ. สมุทรสงคราม ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ที่ อ. เมืองสมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ 132 กิโลเมตร

               ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดราชบุรีได้อีกชื่อหนึ่งว่า ‘แม่น้ำราชบุรี’ แม่น้ำแม่กลองมีพื้นที่ลุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, บางส่วนของสุพรรณบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แถมยังแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำย่อย 14 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ แม่น้ำแควใหญ่, ห้วยแม่ละมุง, ห้วยแม่จัน แม่น้ำแควใหญ่ตอนกลาง, แม่น้ำแควใหญ่ตอนล่าง, ห้วยขาแข้ง, ห้วยตะเพียน, แม่น้ำแควน้อยตอนบน, ห้วยเขย็ง, ห้วยแม่น้ำน้อย, ห้วยบ้องตี้, แม่น้ำแควน้อยตอนกลาง, แม่น้ำภาชี และทุ่งราบแม่น้ำแม่กลอง อันเป็นบริเวณที่ จ. สมุทรสงคราม ตั้งอยู่

                ชื่อ ‘แม่กลอง’ ประสมขึ้นจากสองคำคือ คำว่า ‘แม่’ และคำว่า ‘กลอง’

                ‘แม่’ เป็นคำศัพท์ร่วมของประชากรหลาดหลายเชื้อชาติในอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ มีใช้หลายเผ่าพันธุ์ แต่ออกเสียงต่างกันในแต่ละสำเนียงของแต่ละพื้นที่วัฒนธรรม เช่น เขมรออกเสียง ‘เม’ เป็นต้น

                แต่ไม่ว่าจะออกเสียงแตกต่างกันไปเช่นไรก็ตาม คำว่า “แม่” ในความหมายแต่ดั้งเดิมนั้น นอกจากที่จะหมายถึง เพศหญิง แล้ว ก็ยังมีความหมายอย่างอื่นที่เหมือนกันไปหมดในทุกวัฒนธรรม คือ ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ประธาน หรือคำอื่นๆ ที่มีความหมายทำนองเดียวกันนี้

                กลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไทย-ลาว จึงยกย่องลำน้ำใหญ่เป็น ‘แม่’ เช่น ภาคกลางและภาคใต้ของไทยเรียก ‘แม่น้ำ’ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนภาคเหนือ กับภาคอีสานเรียก ‘น้ำแม่’ เช่น น้ำแม่ปิง, น้ำแม่อิง, น้ำแม่โขง เป็นต้น

                ประเด็นที่น่าสงสัยมากทีเดียวว่า ชื่อแม่น้ำ ‘แม่กลอง’ อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันอาจเป็นการเรียกตามประเพณีลาว โดยเรียกว่า ‘น้ำแม่กลอง’ มาก่อน แล้วค่อยปรับมาเรียก ‘แม่น้ำแม่กลอง’ ตามประเพณีนิยมอย่างกรุงเทพฯ ในภายหลังก็เป็นไปได้

ภาพที่ 1: ลำน้ำแม่กลองบริเวณ อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม

ภาพถ่ายทางอากาศถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2543

แหล่งที่มาภาพ: หนังสือ มรดกวัฒนธรรมชุมชนอัมพวา

 

ภาพที่ 2: แม่น้ำแม่กลอง ในเขต จ. กาญจนบุรี

แหล่งที่มาภาพ: หนังสือ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา

จังหวัดกาญจนบุรี

 

               คำว่า “กลอง” เพี้ยนมาจากคำว่า “คลอง” ที่มีรากอยู่ในภาษามอญว่า “โคฺลง” หรือ “คฺลง” ซึ่งในพจนานุกรมมอญ-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2513 บอกว่าอ่านว่า “โคล้ง” เหมือนกันทั้ง 2 คำ และให้ความหมายว่า “ทาง”

               คำมอญว่า “โคฺลง” กับ “คฺลง” แผลงมาเป็นคำไทยว่า “คลอง” บางที่ก็แปลงเป็นคำว่า “โขง”, “ของ” หรือ “คง” ตามแต่ถนัดลิ้นในแต่ละท้องถิ่น นานเข้าก็กลายเป็นชื่อเฉพาะของแม่น้ำสายนั้น อย่างที่ไทยเรียก แม่น้ำโขง ส่วนลาวเรียก น้ำของ หรือแม่น้ำคง (คือ แม่น้ำสาละวิน) ในประเทศเมียนมาร์

               ชื่อของแม่น้ำ “แม่กลอง” จึงควรจะแผลงมาจากคำมอญว่า “โคฺลง” หรือ “คฺลง” คือ “คลอง” หมายถึง เส้นทางคมนาคมทางน้ำ เช่นเดียวกัน

               ดังนั้น คำว่า “แม่กลอง” จึงเป็นชื่อของแม่น้ำมาก่อน แต่ต่อมาได้กำเนิด “เมืองแม่กลอง” ขึ้น ดังปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1991-2031) ทรงตราขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ. 1998 ในพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ได้กำหนดไว้ว่า

                        “พระสมุทรสาคร             เมืองท่าจีน

                        พระสมุทรสงคราม          เมืองแม่กลอง

                        พระสมุทรปราการ           เมืองปากน้ำ

                        พระชนบุรีย์                    เมืองชน

                        ขึ้นพระประแดงอินปัญญาซ้าย”

           

                คำว่า ‘สมุทรสงคราม’ นั้น ผูกขึ้นจากคำสองคำคือ คำว่า ‘สมุทร’ และคำว่า ‘สงคราม’ โดยคำว่า ‘สมุทร’ นั้นมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ‘ทะเล’ (ตรงกับคำบาลีว่า ‘สมุทฺท’) ดังนั้นชื่อตำแหน่งนี้จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับการสงครามทางทะเล ซึ่งควรหมายถึงการเป็นผู้ปกป้องเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา 

                มีหลักฐานว่า ในช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231) นั้น เมืองแม่กลองมีป้อมปราการตั้งอยู่ในเมือง ดังปรากฏในบันทึกของมงซิเออร์ เซเบเรต์ ซึ่งอยู่ในคณะทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีมงซิเออร์ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2230-2231

                มงซิเออร์ เซเบเรต์ นั้นได้แยกตัวกลับก่อนคณะทูตทั้งหมด โดยได้เดินทางไปลงเรือกำปั่นฝรั่งเศส ที่เมืองตะนาวศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองค้าขายทางทะเลที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ระหว่างทางเซเบเรต์ได้ผ่าน เมืองแม่กลอง และได้บรรยายลักษณะของเมืองลงในบันทึกของท่านว่า

               “ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2230 ข้าพเจ้าได้ออกจาก (เมือง) ท่าจีน เพื่อไป (เมือง) แม่กลอง ตามทางระหว่างท่าจีนกับแม่กลองนี้ มีบางแห่งน้ำตื้น ต้องใช้กระบือลากเรือเหมือนวันก่อน แต่ตอนที่ตื้นวันนี้ยาวกว่าวานนี้และลำบากกว่าวานนี้มาก

               เวลาเย็นข้าพเจ้าได้ได้ไปถึงเมืองแม่กลอง ซึ่งไกลจาก (เมือง) ท่าจีน ระยะทางประมาณ 10 ไมล์ครึ่ง

               เมืองแม่กลองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองท่าจีนและตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำแม่กลอง และอยู่ห่างทะเลประมาณ 1 ไมล์ น้ำรับประทานในเมืองนี้เป็นน้ำที่ดี

               เมืองแม่กลองนี้หามีกำแพงเมืองไม่ แต่มีป้อมเล็กๆ สี่เหลี่ยมอยู่ 1  ป้อม มุมป้อมนั้นมีหอรบอยู่ 4 แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมาก ก่อด้วยอิฐ คูก็หามีไม่ แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม กำแพง หรือรั้วใน ระหว่างหอรบนั้นทำด้วยเสาใหญ่ๆ ปักลงในดิน และมีเคร่าขวางถึงกันเป็นระยะ ๆ”

               ในขณะที่ปรากฏชื่อ ‘เมืองแม่กลอง’ ตั้งอยู่ที่ตอนปลายของแม่น้ำ คือทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ในเอกสารสมัยอยุธยาก็ปรากฏชื่อเมืองต่างๆ อยู่ทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน อย่างน้อยอีก 3 เมือง ได้แก่ เมืองกาญจนบุรี, เมืองไทรโยค และเมืองศรีสวัสดิ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำแม่กลองตลอดทั้งสาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการสงคราม หรือการคมนาคมค้าขายต่างๆ

                เฉพาะในส่วนของเมืองแม่กลองนั้น ได้ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุจากการขยายตัวเรื่องการค้านานาชาติของกรุงศรีอยุธยา จึงมีการขุดคลองลัดหลายแห่งเพื่อให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2245-2251) สืบเนื่องทุกรัชกาลจนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2275-2301) เมืองแม่กลองก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เมืองสมุทรสงคราม’ ตามชื่อตำแหน่งเจ้าเมือง แล้วใช้เรียกสืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

ภาพที่ 3: เมืองแม่กลอง ริมฝั่งน้ำแม่กลอง

แหล่งที่มาภาพ: หนังสือ คนแม่กลอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547

 

ภาพที่ 4: ปัจจุบันเมืองแม่กลองเก่ามีตลาดใหญ่คือ ตลาดแม่กลอง ชาวบ้านเรียก ‘ตลาดร่มหุบ’
เพราะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟแม่กลอง เวลารถไฟผ่าน พ่อค้าแม่ขายจะต้องหุบรถให้รถไฟ
จนได้ชื่อว่า ตลาดร่มหุบนั่นเอง

แหล่งที่มาภาพ: https://www.baansiriporn.com/%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B8%9A/)

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ