Museum Core
หัวใจของฉัน คลับคล้ายลายไม้ในคำแสนแกลลอรี่
Museum Core
19 เม.ย. 66 436
ประเทศไทย

ผู้เขียน : เจ้าจันทร์

            ต้นเดือนมิถุนายน ปี 2565 ผู้เขียนลาออกจากงานประจำที่เมืองหลวง เดินทางกลับมาบ้านเกิดที่จังหวัดแพร่ เมืองเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาสูง เมืองที่ใครหลายคนมองว่าแค่ทางผ่าน และไม่มีสิ่งใดน่าสนใจมากนัก ความคิดนี้ก็คงไม่ผิดแผกอะไรนักเพราะผู้เขียนเองก็คิดเฉกเช่นนั้นเหมือนกัน

            34 ปีที่ลาจากบ้านเกิด ทำให้ผู้เขียนไม่รู้จักจังหวัดแพร่เอาเสียเลย ถนนหนทาง ผู้คน หรือแม้แต่วัฒนธรรมพื้นถิ่นกลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ต้องเริ่มต้นทักทายกันอีกครั้ง ความเป็นคนชอบดื่มกาแฟและชื่นชอบร้านกาแฟเก๋ ๆ ทำให้ผู้เขียนเสาะแสวงข้อมูลจาก Google และสัญญาณจีพีเอสได้นำพาไปสู่ “คำแสนแกลอรี่” พิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดเล็ก ที่มีร้านกาแฟแฝงเร้นอยู่ด้านใน

               ความรู้สึกแรกเมื่อก้าวย่างเข้าสู่ ‘คำแสนแกลอรี่’ คือความร่มรื่นของไม้ใหญ่ที่ปลูกรายล้อมรอบบริเวณ ภายในมีอาคารไม้แทรกตัวอยู่ตลอดแนวของพื้นที่ ตัวเรือนไทยส่วนหน้ายกพื้นสูง ทาทับด้วยสีเข้มเกือบดำ ชั้นล่างถูกจัดทำเป็นห้องแสดงงานศิลปะของอาจารย์อิทธิพล ปัญญาแฝง เจ้าของแกลอรี่แห่งนี้ เรือนบริวารและพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นโดยรอบล้วนปลูกสร้างด้วยไม้แทบทั้งสิ้น  สมกับเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องไม้เสียเหลือเกิน

 

 

ภาพที่ 1 เรือนไม้ภายในแกลอรี่ที่เลือกนำชิ้นงานไม้ต่างรูปแบบมาประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว

 

 

                จากบริเวณด้านหน้าที่ติดกับประตูทางเข้ากำลังปลูกสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งคาดว่าแกลอรี่กำลังขยายพื้นที่ ในตอนแรกผู้เขียนมุ่งหวังจะดื่มกาแฟเพียงอย่างเดียว หากเมื่อเจอเจ้าของร้านชักชวนให้เข้าไปชมด้านในแกลอรี่ ผู้เขียนก็ไม่ปฏิเสธซ้ำยังแปลกใจมากว่าจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้มีแกลอรี่แสดงงานศิลปะซุกซ่อนอยู่ด้วยหรือ ห้องจัดแสดงขนาดเล็กนั้นมีผลงานอันหลากหลาย ทั้งภาพเขียน งานแกะสลักไม้ ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นงานแกะสลักพระพุทธรูป หรือเรียกว่า “ งานแกะสลักแนวพุทธศิลป์ ”  หากแต่ชิ้นงานที่สัมผัสหัวใจเมื่อแรกเห็นกลับเป็นงานแกะสลักพระรูปของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ความอ่อนช้อยในฝีมือของศิลปินที่สลักเสลาเนื้อไม้อันแข็งกระด้างให้กลายเป็นประติมากรรมละม้ายมีลมหายใจ ความชื่นชอบในงานไม้อยู่แล้วทำให้ผู้เขียนและเจ้าของร้านมีบทสนทนาด้วยกันหลากหลาย จนทราบชื่อภายหลังว่าชื่อ "ไข่มุก" ผู้เคยเรียนโรงเรียนมัธยมแห่งเดียวกัน

 

 

ภาพที่ 2: ภาพที่แสดงภายในพิพิธภัณฑ์ มีทั้งภาพจากงานแกะสลัก และภาพวาด

 

 

 

ภาพที่ 3 ประติมากรรมไม้แนวพุทธศิลป์

 

                เมื่อก้าวเดินออกจากห้องแสดงงานศิลปะ รอบบริเวณของแกลอรี่มีกลิ่นอายของความเป็นเมืองไม้ของจังหวัดแพร่อยู่รายล้อม ทั้งตัวศาลาสำหรับนั่งดื่มกาแฟ เก้าอี้นั่งพักผ่อน หรือแม้แต่ของประดับตกแต่งล้วนปั้นแต่งจากไม้ทั้งสิ้น ต้นซุงขนาดพอเหมาะถูกขุดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแนวความยาวของไม้ แล้วเทน้ำใส่ลงไป งานไม้ชิ้นนี้ทำให้ความทรงจำในวัยเยาว์ผุดพรายขึ้นมาเห็นเป็นภาพเรือนไม้ยกสูงแบบล้านนาของยายที่ตรงเชิงบันไดจะมีท่อนไม้ซุงขุดตรงกลางรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่าอ่างไม้ และยายมักเทน้ำใส่ไว้ให้เต็มเสมอเพื่อใช้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน ในอดีตชาวบ้านไม่ได้มีรองเท้าสวมใส่เช่นทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่เดินไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่า เหยียบย่ำทั้งดินโคลนและฝุ่นละออง เมื่อขึ้นบ้านจึงต้องล้างเท้าใส่สะอาดเสียก่อน

                ในความคิดของผู้เขียน อ่างไม้ล้างเท้านับเป็นงานศิลปกรรมจากไม้ที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยชาวบ้านสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเมืองเหนือ เมื่อมาเห็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่นเข้ามาจัดวางอยู่ในพื้นที่แกลอรี่ก็รู้สึกว่าเจ้าของสถานที่ไม่ให้ให้ความสำคัญแค่การแสดงชิ้นงานจากไม้  แต่นำองค์ประกอบของวิถีชีวิตท้องถิ่นเข้ามาสร้างประสบการณ์ให้กับผู้มาเยือนต่างถิ่นแล้วยังกระตุ้นความรู้สึกรักและหวงแหนในอัตลักษณ์ของคนล้านนาอีกด้วย

“ คำแสนแกลอรี่ช่วยให้ได้ย้อนรอยวันวาน และย้ำเตือนเนื้อแท้ในจิตสำนึกของตัวเอง”

 

               ครั้นเมื่อผู้เขียนอยากเห็นวิธีการทำงานเบื้องหลังของศิลปินผู้สร้าง คุณไข่มุกก็นำพาเดินไปสู่บริเวณด้านหลังที่ใช้เป็นพื้นที่ทำงานแกะสลักไม้ของอาจารย์อิทธิพล และสล่าไม้ (ภาษาพื้นถิ่นเมืองแพร่ หมายถึง ช่างไม้) อาคารเปิดโล่งทรงสี่เหลี่ยมมีการแบ่งพื้นที่การทำงานเป็นสัดส่วน มีทั้งงานไม้ที่กำลังแกะสลักอยู่ และบางส่วนก็ทำเสร็จแล้ว นอกจากชิ้นผลงานที่ถูกสร้างสรรค์จนงดงามแล้ว เบื้องหลังก็คือเศษวัสดุของไม้ที่เหลือจากการแกะสลักวางกองรวมกันไว้อย่างเป็นระเบียบเพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านใกล้เคียงนำไปเป็นเชื้อฟืนในครัวเรือน หากมองในแง่ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้วแกลลอรี่แห่งนี้ไม่ได้ทิ้งวัสดุเหลือใช้จากงานสร้างสรรค์ให้กลายเป็นขยะ วัสดุเหลือใช้จากงานไม้ทุกประเภทไม่ถูกทิ้งขว้างอย่างไร้ความหมาย แต่นำมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในชุมชนจนกลมกลืนราวผืนผ้าชิ้นเดียวกัน แม้แต่รากของต้นไม้ใหญ่อาจารย์อิทธิพลก็ไม่ได้ทอดทิ้งหากนำมาเรียงซ้อนขึ้นไปคล้ายรูปทรงปิรามิด กลายเป็นงานศิลปะที่อยู่กลางแจ้ง ตอกย้ำความงดงามจากธรรมชาติให้ปรากฏแก่สายตามนุษย์  

               ไม้แต่ละชิ้นล้วนมีความงดงามในตัวเอง และเป็นวัสดุในท้องถิ่นลำดับต้น ๆ ที่ใครหลายคนนึกถึงยามเมื่อต้องนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ใช้ตกแต่ง ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือแกะสลัก ด้วยคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่น สีสันและลวดลายที่แปลกตา ตามด้วยผิวสัมผัสที่แลดูอบอุ่น  ซึ่งไม้จำแนกออกง่ายๆ เป็น 2 ชนิด คือ ไม้เนื้อแข็งกับไม้เนื้ออ่อนที่มีข้อแตกต่างกัน อย่างไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้แดงมีเนื้อวงปีสีเข้มและเห็นชัดเจนมากกว่าไม้เนื้ออ่อนอย่าง ไม้สัก ไม้ยางพารา ไม้จำปาที่นิยมในการทำเฟอร์นิเจอร์และแกะสลักโดยเฉพาะไม้สักแม้ว่าลวดลายบนเนื้อไม่สวยงามโดดเด่นมากนัก

               ด้วยความหลงใหลในเนื้อไม้และชอบการถ่ายภาพ หลายครั้งที่ผู้เขียนมักใช้พื้นไม้เป็นฉากหลังของภาพ เมื่อเห็นกองไม้เหล่านั้นก็อดเดินเข้าไปดูไม่ได้ รื้อค้นหาเศษไม้ที่มีลวดลายแปลกตา ส่วนตัวผู้เขียนชอบไม้ที่มีลายเสี้ยนชัดเจน โทนสีออกแนวเข้มๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด เศษไม้ที่บรรจงเลือกสรรจะถูกนำมาทำเป็นจานรองถ้วยกาแฟและฐานของแจกันดอกไม้ ซึ่งเป็นของแต่งบ้านที่มีเพียงแค่ชิ้นเดียวเท่านั้น

 

 

ภาพที่ 4 เศษไม้ที่ไม่ได้ใช้แล้วหลากหลายขนาด มีสีสันและลวดลายเฉพาะตัว

 

 

ภาพที่ 5 ลาเต้ร้อนรสชาติละมุนละไม จากร้านกาแฟในคำแสนแกลลอรี่

 

                 แม้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการพูดคุย รื้อหาเศษไม้ที่ได้ติดมือมาหลายชิ้น ผู้เขียนยังไม่ลืมความตั้งใจในตอนแรกด้วยการสั่งกาแฟลาเต้ร้อนมานั่งจิบ และดื่มด่ำกับบรรยากาศอันเงียบสงบภายในแกลอรี่ ทำให้รู้สึกว่า การเพิ่มบริการร้านกาแฟช่วยให้ผู้มาเยือนได้มีทางเลือกในการรื่นรมย์กับสถานที่แห่งนี้ ได้ใช้เวลากับธรรมชาติรอบตัวนอกเหนือจากการเสพงานศิลปะ กลายเป็นทั้งความประทับใจที่บันทึกเก็บไว้ในกล้องถ่ายรูป และความทรงจำในใจ

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ